เลขสูตร ท่านเป็นบุคคลประเภทใด


    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เลขสูตร ข้อ ๕๗๒ มีข้อความที่ท่านผู้ฟังจะน้อมพิจารณาว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทใด ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน ๑ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน ๑ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหินเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้น ก็นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นหิน ไม่ลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ ย่อมตั้งอยู่ยั่งยืน แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมโกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้น ก็นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดินเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน ลบเลือนไปโดยเร็วเพราะลม และน้ำ ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมโกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้น ไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำ หยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คงสมานไมตรี กลมเกลียว ปรองดองกันอยู่ เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ จะขาดจากกันก็ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คงสมานไมตรีกลมเกลียวปรองดองกันอยู่ นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

    ท่านผู้ฟังฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่า ไม่เกี่ยวกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย แต่ความจริงท่านอาจจะเคยเป็นบุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน คือ เป็นผู้ที่จดจำสิ่งที่ผ่านมาแล้วไว้หนาแน่น ถ้าเป็นความโกรธ ก็โกรธฝังใจไม่ลบเลือน ไม่ลืม อย่างนั้นจะดีไหม หรือเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และก็รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ขณะที่ระลึกถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นที่สบอารมณ์ สิ่งที่ไม่พอใจอย่างฝังใจทีเดียว แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมดีขึ้น คือ เห็นความไม่มีสาระ ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่ใช่สัตว์ ความไม่ใช่บุคคล แม้ในลักษณะของความที่เคยจำ เคยโกรธ เคยไม่พอใจ เคยฝังใจไว้ รอยขีดที่แผ่นหินนั้น ก็จะค่อยๆ คลายจนกระทั่งในที่สุด เป็นเพียงรอยขีดในน้ำได้ เพราะว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ด้วยปัญญาที่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย และสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    อาจจะระลึกถึงสิ่งที่ไม่พอใจ ที่ฝังใจไว้ บางท่านอาจจะนานมาก แต่ถ้าเจริญสติระลึกรู้บ่อยๆ ว่า ความฝังใจในสิ่งที่ไม่พอใจนั้น เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรม ก็จะเห็นความไม่มีสาระ ถึงแม้ว่าไม่อาจที่จะเลิกคิด แต่เวลาที่ระลึกได้ในขณะใดที่คิด ก็รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะทำให้ความไม่พอใจที่เคยสะสมฝังใจอย่างเหนียวแน่นมาก ค่อยละคลาย จนกระทั่งในที่สุดไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ท่านหวั่นไหวได้ ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ก็ตาม

    เพราะฉะนั้น ท่านก็จะเห็นคุณของพระธรรมพร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานว่า ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในสูตรไหน ด้วยเรื่องอะไร ท่านเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้บ้างหรือเปล่า และจะเป็นบุคคลนั้นนานมากน้อยเพียงไร ถึงแม้ว่าจะเคยเป็น ก็เปลี่ยนได้ด้วยปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นความไม่มีสาระ ความไม่มีประโยชน์ในการที่จะไปจดจำ หรือว่าฝังใจในความโกรธที่เกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ซึ่งไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไรเลย ถ้ายังคงยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะให้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าทรงแสดงเรื่องของความโกรธ ก็ขอให้พิจารณาตัวของท่านว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทไหน ถ้าโกรธลึก โกรธนาน ฝังใจ จดจำ ซึ่งไม่ดี ก็จะตื้นขึ้น ด้วยการที่เกิดปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ นอกจากนั้นไม่มีหนทางอื่น เพราะเหตุว่าความจำก็เป็นอนัตตา ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาไม่ให้ไปคิดไปจำในสิ่งซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว เพราะเหตุว่าสัญญาเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจำ ย่อมระลึกถึงความโกรธซึ่งเคยเกิดแล้วก็ได้ แต่ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านก็จะเห็นโทษเห็นคุณของอกุศลธรรม และกุศลธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และอบรมเจริญธรรมฝ่ายกุศลยิ่งขึ้น

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะต้องระลึกรู้ ที่จะต้องขัดเกลา ที่จะต้องละคลายด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ชีวิตจริงๆ ตามธรรมดา ตามปกติของแต่ละท่านที่เคยสะสมมา แล้วแต่ว่าท่านจะเป็นคนประเภทใด มีกิเลสชนิดไหน มากน้อยประการใด ก็จะต้องละคลายไปด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    สำหรับเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ท่านจะเห็นได้ว่า ผลค่อยๆ เกิดตามกำลังของปัญญา ซึ่งค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามเหตุ คือ สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมนั้นบ้าง รูปธรรมนี้บ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง จนกว่าจะเป็นความรู้จริงๆ ที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งท่านที่ตรัสรู้แล้ว ได้ประจักษ์แล้ว และได้ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อผลที่จะเกิดขึ้น เมื่อเหตุได้เกิดเจริญอบรมอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งผลย่อมเกิดได้ แต่ว่าผลที่จะเกิดต้องแล้วแต่เหตุ ขึ้นอยู่กับเหตุ คือ สติ และปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 570


    หมายเลข 13210
    21 ต.ค. 2567