อัจจายิกสูตร กิจที่ควรรีบด่วนทำ


    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โลณผลวรรคที่ ๕ อัจจายิกสูตร ข้อ ๕๓๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างเหล่านี้ ๓ อย่างเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีชาวนาในโลกนี้ ต้องรีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย ครั้นแล้วต้องรีบเร่งเพาะพืชลงไป ครั้นแล้วรีบเร่งไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายเอาน้ำออกเสียบ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีชาวนานั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า ข้าวเปลือกของเราจงเกิดในวันนี้ พรุ่งนี้จงมีท้อง มะรืนนี้จงหุงได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ สมัยที่ข้าวเปลือกของคฤหบดีชาวนานั้น มีความแปรของฤดู เกิดก็ดี มีท้องก็ดี หุงได้ก็ดี มีอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กิจที่ควรรีบทำของภิกษุ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑ การสมาทานอธิจิตตสิกขา ๑ การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของภิกษุ ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า จิตของเราจงพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานในวันนี้แหละ หรือมิฉะนั้นก็ในวันพรุ่งนี้ หรือในวันมะรืนนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ สมัยที่จิตของภิกษุนั้น ผู้ศึกษาอธิศีลอยู่ก็ดี ผู้ศึกษาอธิจิตตอยู่ก็ดี ผู้ศึกษาอธิปัญญาอยู่ก็ดี หลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น มีอยู่ เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

    ต้องอดทนหรือเปล่าที่จะรอผล ซึ่งความจริงแล้วไม่มีเหตุอย่างอื่นเลย นอกจากการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อให้เกิดปัญญาที่ยังไม่เกิด ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง

    แต่ปัญญานี้ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ที่ปัญญานี้จะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อเจริญเหตุ ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ใช้คำว่ารีบเร่ง ไม่ใช่ให้รีบเร่งกระทำอย่างอื่นเลย ไม่ใช่ว่าให้รีบเร่งไปที่อื่น หรือว่าให้รีบเร่งที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่รีบเร่ง คือ เดี๋ยวนี้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพธรรมเมื่อสักครู่ก็ดับไปแล้ว จะเป็นกุศล จะเป็นอกุศล จะเป็นโลภะ จะเป็นโทสะ หรือจะเป็นโมหะคือการหลงลืมสติ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะก่อนนี้อย่างไร ก็ดับไปแล้ว ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวลเลย

    เหตุที่จะต้องรีบเร่งกระทำ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริงในขณะนี้ระลึกได้ ทางตากำลังเห็น เป็นลักษณะรู้ชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง นี่เป็นการเริ่มระลึกรู้ รีบเร่งที่จะระลึกรู้ลักษณะของการเห็นที่กำลังปรากฏ ที่กำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ทางหูก็เหมือนกัน กำลังมีเสียงปรากฏ กำลังมีสภาพธรรมที่รู้เสียง ไม่ใช่การที่จะตื่นเต้น จดจ้อง ที่ว่าเดี๋ยวนี้จะเริ่มระลึกรู้ล่ะ ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังคิด หรือกำลังเพียรที่จะทำอย่างนั้น แต่เป็นลักษณะของสติซึ่งเกิดระลึกรู้ในลักษณะของสภาพได้ยิน สภาพที่กำลังรู้เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นสภาพรู้เสียงที่กำลังปรากฏทางหู ไม่ใช่ตัวตน เหตุทีละเล็กทีละน้อยอย่างนี้ เป็นการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะถึงวันที่ปัญญาคมกล้า สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องมาจากการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้ายังเห็นเป็นคนนั้น เป็นคนนี้ เป็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งนี้อยู่ ก็ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ยังไม่ถึงขั้นของปัญญาที่จะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมหรือรูปธรรมอะไรเลยสักอย่างเดียว เพราะว่ายังไม่สามารถแยกรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมที่ต่างกัน ทางตาไม่ใช่ทางใจ ทางตาเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ต้องเริ่มแยกขาดจากกันเสียก่อน และถ้าไม่ระลึกรู้บ่อยๆ ย่อมไม่มีเหตุที่จะไปหวังผลว่า จะประจักษ์สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไ ม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และเกิดดับ แต่ผลย่อมมี ถ้าเหตุมี คือ ระลึกไปเรื่อยๆ

    รีบเร่ง คือ ทุกขณะที่สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้โดยไม่หลงลืม ไม่ใช่เป็นการบังคับ แต่อาศัยการฟังบ่อยๆ เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องของสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ย่อมเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จึงค่อยๆ รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ ไม่ใช่ในขณะที่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะต้องสามารถแยกสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อกัน ซึ่งแต่ละทวารนั้นก็มีสภาพธรรมที่ต่างกัน คือ สภาพรู้ กับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่สภาพเดียวกันเลย

    นี่เป็นการอบรมปัญญาที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นอกจากนี้ไม่มีหนทางอื่นที่จะดับกิเลส เพราะว่ากิเลสที่จะต้องดับก่อน คือ ความเห็นผิด ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 570


    หมายเลข 13211
    21 ต.ค. 2567