ท่านอาจารย์แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น
ขอตอบจดหมายของท่านซึ่งเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๘๕/๘๘ ร้านปั๊มเหล็กรุ่งธรรม ตำบลบุคคโล ตรอกศาลเจ้าโกบ๊อ ธนบุรี นครหลวง ท่านแสดงชื่อของท่าน และต่อไปมีข้อความว่า
ผมฟังท่านอาจารย์บรรยายธรรมมานานแล้ว ที่ชอบมากคือ อาจารย์ได้ยกเอาพระสูตรต่างๆ มาพูด ถ้าท่านอาจารย์ยกมาพูดเสียทั้งหมดก็ไม่มีปัญหาอะไรที่จะต้องขัดแย้งกันเป็นธรรมหมู่ ธรรมพวก ธรรมเรา ธรรมเขา พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านเป็นผู้แสดงธรรมเข้ากับเหตุการณ์ สถานที่ อุปนิสัย นี้เป็นพระญาณของพระองค์ท่าน ก็ถ้าเราๆ นี้เล่า ก็พอจะคาดคะเนได้ ที่พระองค์ชอบมาก คือ การอนุโลมไปตามวิสัยของเขา แล้วเชื่อมธรรมเข้าไป ก็คือ ดักใจคนด้วยพระปัญญาอันชาญฉลาด
อาจารย์ครับ ก็การสร้างสมบุญบารมีมาต่างกัน มันเข้ากันได้ยาก ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์อยู่ที่เดียวกัน ก็ยังยิ่งหย่อนกว่ากัน ไม่ใช่ว่าไม่ตั้งใจ มันเป็นอนิจจัง ดอกบัว ๔ เหล่าก็อย่างนั้น มันเหมือนกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แนวทางที่จะได้ก็ต่างกัน แม้แต่อุบายก็ต่างกัน เรื่องที่อาจารย์ไม่อนุโลม หรือไม่เป็นไปตามอุปนิสัยของผู้ปฏิบัติ ผมฟังมานาน บางครั้งอาจารย์ก็เสียดสีอาจารย์อื่น คือ ฟังแล้วไม่เข้ากับธรรมเพื่อละอภิชฌาโทมนัสในโลกออกเสียเลย
เช่น ในเช้าของวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน อาจารย์พูดว่า “เดิน อาจารย์บางท่านก็ว่าเดินไม่เป็น” ดังนี้เป็นต้น นี่เป็นคำพูดของผู้แสดงธรรมขาดองค์ธรรม คือ แสดงธรรมกระทบตน และผู้อื่น มันเป็นอย่างไร ก็เป็นดังนี้ คำว่า กระทบตน ยังไม่รู้สึกตัว ดูซิว่าเป็นกิเลสหยาบหรือละเอียดอย่างไร ล่วงออกมาทางไหน และกระทบผู้อื่นนั้น ก็คือ มันไปกระทบกับคำสอนของเขาเข้า เพราะคำพูดเป็นปฏิปักษ์กัน ผมไม่เข้าใจเลยว่า อาจารย์ทำไมไม่รู้ถึงอุบายต่างๆ กันเพื่อให้เกิดปัญญา ให้เกิดความสงบ เพราะอุปนิสัยมันต่างๆ กัน สัตว์ในโลกนี้มากภูมิเกิด พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ก่อนตรัสรู้พระองค์ก็ใช้อุบาย คือ อุบายทางใจ และต้องหาสถานที่ด้วย กัมมัฏฐาน ๔๐ ใน ๔๐ อย่างนี้ เป็นอุบายให้จิตเขาเข้าทำการงาน เข้าไปตั้งไว้เพื่อให้จิตเขาอยู่ เรื่องรายละเอียดมันมากมาย เมื่อจิตอยู่ ก็จะให้จิตเขาเข้าหาอุบายพิจารณารูปนามอีกทีหนึ่ง อันนี้จะไม่ต้องใช้สถานที่หรือ เพราะเจ้าจิตนี้ดิ้นรนซัดส่าย นิวรณ์ครอบงำ อย่างอาจารย์นี้ก็มีการเพ่งเล็ง และขัดเคืองใจอยู่ การพูดธรรมนี้ต้องมีคุณธรรมพระอนาคามี ถึงแม้ผู้ปฏิบัติจะยังไม่ถึงคุณธรรมนั้นก็ตาม
เอาล่ะ มาพูดถึงเรื่องการเดิน หรือการสอนเดินนิดหน่อย คือ การสอนเดินนี้เป็นประโยชน์มาก เพราะเป็นอิริยาบถหนึ่งในมหาสติปัฏฐาน ๔ ในกายานุปัสสนา คือ ตามรู้เห็นแม้เล็กน้อย หรือจุดน้อยในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นไปด้วยอาตาปี เพียร สัมปชาโน รู้สึกอยู่เสมอ สติมา มีสติ ไม่เผลอ พูดกันอย่างง่าย เป็นอยู่อย่างนี้ เป็นวิชา นำอภิชฌา โทมนัส กายกรรม มโนกรรม วจีกรรมออก ไม่มี ขณะปฏิบัติอยู่ จนกว่าจะตื่น หรือถึงขั้นพุทโธ ถ้าเผลอ เป็นอวิชชา อกุศลก็เข้ามา นี้เป็นอุบายไม่ใช่ของจริง แต่เป็นอุบายเพื่อให้เห็นของจริง จำเป็นต้องหาสถานที่วิเวกไหม จึงจะมีจิตสู้ปกติได้ ถ้าไม่เข้าใจดูมรรคองค์ที่ ๘ ไม่ต้องอธิบาย อาจารย์อธิบายเอง
พระผู้มีพระภาคท่านพูดว่า เป็นฆราวาสคับแคบ เป็นพระดี กายวิเวก แล้วจิตต้องฝึกอีก ผมเคยได้อ่านว่า ไม่อยู่ร่วมคลุกคลีกับหมู่คณะ ถ้าจะพูดคุยก็พูดคุยโดยจิตไม่หวั่นไหว ถ้าเป็นชาย หญิงเป็นมลทิน ถ้าหญิง ชายเป็นมลทิน พระสาวกของพระพุทธเจ้า แล้วไม่หาที่วิเวกแทบจะไม่มี อย่าเอาคน ๒ คน หรือส่วนมากที่เกิดมาพร้อมเพื่อจะรอรับการตรัสรู้ของพระองค์มาเป็นที่ตั้งเลย เรามันเป็นแตงโมปลายเครือแล้ว ความลึกซึ้งของธรรม บรรลุธรรมนี้ลึกซึ้งเช่นไร แค่ไหน ครั้งตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ท้อพระทัยไม่ใช่หรือ
ป.ล. การปฏิบัติ ก็ปฏิบัติที่กายใจนี้แหละ ต้องให้ได้อุบายมีกำลังก่อน ตามโพธิปักขิยธรรมนั่นแหละ ทำกสิณก็ดี สติปัฏฐานก็ดี แล้วแต่อุปนิสัยของแต่ละบุคคลที่จะไปจับเอาส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่เหมือนกัน บางทีไม่เป็นไปตามองค์ของกสิณที่จำกัดไว้ก็ได้ แต่ก็อยู่ในกสิณ ในสติปัฏฐานนั้นแหละ ทุกอย่างต้องหาสถานที่ทั้งนั้น ต้องให้เป็นไปเพื่อความวิเวกทั้งนั้น อย่าลืมว่า พูดธรรมต้องใช้คุณธรรมของพระอนาคามีในขณะพูดจับใจคนเป็น ตอนนี้ผมไม่ได้ใช้คุณธรรมของพระอนาคามีหรอก เพราะผมยังไม่ได้พูดธรรม เพียงแต่ค้านอาจารย์ จิตเป็นฝ่ายบาป พอเลิกเขียนก็ฝึกต่อไป ผมจะรอรับฟังคำตอบของอาจารย์ เพื่อที่อาจารย์จะอธิบายความให้หลุดออกจากคำที่ผมกล่าวนี้
ผมขอให้อาจารย์เจริญสุข เจริญธรรม ตลอดกาลนิพพานเทอญ
สุ. ขอบพระคุณท่านสำหรับคำอวยพร แต่ที่ท่านบอกว่า ตอนนี้ผมไม่ได้ใช้คุณธรรมพระอนาคามี เพราะยังไม่ได้พูดธรรม เพียงแต่ค้านอาจารย์ ค้านด้วยธรรมหรือเปล่า ถ้าค้านด้วยธรรมก็เหมือนกับพูดธรรม เว้นเสียแต่ท่านจะไม่ได้คัดค้านด้วยธรรม จึงจะไม่ใช่เป็นการพูดธรรม
จดหมายฉบับนี้ ขอเรียนตอบว่า เรื่องใหญ่ที่สุดของการที่ท่านเห็นว่าเป็นการขัดแย้ง เป็นการคัดค้าน ก็เพราะว่ายังมีความเข้าใจผิดในเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถ้าท่านมีความเข้าใจถูกต้องในการอบรมเจริญปัญญา เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะไม่มีปัญหาเรื่องของสถานที่เลย
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง เวลาที่ท่านเข้าพรรษา ท่านก็ไปอยู่วัด เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานที่นั่น ไม่ใช่เป็นผู้เข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ที่สำคัญกว่าสถานที่ ควรที่จะได้พิจารณาว่า ท่านเข้าใจถูกต้องในเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้วหรือยัง เพราะว่าตราบใดที่ยังเข้าใจผิดอยู่ ก็จะมีปัญหาอยู่เสมอในเรื่องของสถานที่
สำหรับที่ท่านต้องการให้ตอบ เพื่อที่จะอธิบายความให้หลุดออกจากคำที่ท่านกล่าว ข้อที่ ๑. ที่ท่านเขียนมาว่า บางครั้งก็เสียดสีอาจารย์อื่น ขอเรียนให้ทราบว่า การที่พูดถึงธรรมเท่าที่ได้บรรยายแล้วทั้งหมด ก็ด้วยการไตร่ตรองแล้วหลายครั้งก่อนพูด ด้วยการพิจารณาแล้วพิจารณาอีกว่า ควรหรือไม่ควรพูด เพื่อประโยชน์หรือโทษแก่ผู้ฟัง ถ้าท่านจะคิดว่า เป็นการกล่าวเสียดสี โดยท่านถือว่า ไม่ตรงกับคำสอนของท่านผู้อื่น ขอให้ท่านคิดถึงว่า ก่อนที่จะได้กล่าว ก่อนที่จะได้พูดข้อความนั้นไป ไม่ใช่พูดไปเพราะหลงลืมสติ ขาดสติ หรือด้วยอกุศลจิต แต่ได้คิดแล้วคิดอีกหลายครั้งว่า สมควรหรือยังที่จะพูด เมื่อถึงเวลาที่สมควร คือ เมื่อท่านผู้ฟังมีความเข้าใจบ้างในเรื่องของการพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง ก็ได้ยกเหตุผลในธรรมขึ้นกล่าวตามที่คิดว่า จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาข้อปฏิบัติของท่านผู้ฟัง ให้มีความเข้าใจในข้อปฏิบัติที่ถูกต้องยิ่งขึ้น และไม่มีสักครั้งเดียวที่จะกล่าวโดยไม่ได้ยกธรรมขึ้นแสดงในเหตุผลว่า ที่เป็นอย่างนั้นๆ เพราะเหตุผลประการใด
เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เป็นการพูดโดยไม่ได้คิด คิดก่อนทุกครั้ง บางอย่างบางประการก็คิดหลายครั้ง และบางอย่างบางประการก็คอยเวลาที่ว่า สมควรหรือยังที่จะพูด เพราะว่าโดยมากท่านผู้ฟังยังติดเรื่องสถานที่ โดยไม่พูดถึงข้อปฏิบัติ ท่านยกเรื่องสถานที่ขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ เพื่อที่จะปิดบังข้อปฏิบัติของสถานที่นั้นว่าปฏิบัติอย่างไร
โดยมากทุกท่านที่ค้าน ท่านจะยกเพียงว่า สถานที่เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติของท่านเลยในสถานที่นั้นๆ ว่า ท่านปฏิบัติตรง คือ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าปฏิบัติคลาดเคลื่อนจากความเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ- ปัฏฐานอย่างไร
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้แสดงเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานมากหลายประการ แต่ท่านที่ยังติดอยู่ในข้อปฏิบัติซึ่งไม่ตรง คือ ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ก็ยังมี ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญเพื่อประโยชน์ที่ท่านจะได้พิจารณา จึงได้กล่าวถึงเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติ กับการไม่เป็นผู้ที่มีปกติ เช่น เรื่องการเดิน
ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเดินตามปกติได้หรือไม่ได้ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ฟัง ซึ่งท่านจะได้คิดให้ถ่องแท้ว่า สภาพธรรมที่เป็นปัญญา เป็นสภาพธรรมที่ส่องลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัด ลักษณะที่เป็นรูป เป็นรูป ลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นนามธรรม อะไรจะรู้ได้ สติระลึกพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ จนปัญญาคมกล้าสามารถกระทำกิจของปัญญา คือ ส่องหรือแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เห็นสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง นั่นจึงจะเป็นปัญญาที่ควรจะเจริญอบรม แต่ไม่ใช่เป็นการไปทำความไม่ปกติขึ้นมารู้ และก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้
นี่คือประโยชน์ที่เข้าใจว่าจะเกิด สำหรับท่านผู้ฟังที่พิจารณาในเหตุผล ถ้าท่านฟัง และลองคิด ลองพิจารณาถึงลักษณะสภาพของปัญญา ซึ่งเป็นสภาพรู้ชัดแทงตลอด ส่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เห็นชัดเจนว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเป็นอย่างไรตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น อย่าปกปิดข้อปฏิบัติ แต่ควรพิจารณาข้อปฏิบัติในสำนักต่างๆ ว่า เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฎฐานหรือไม่ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ- ปัฏฐานแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้เลย
ถ้าท่านไปรู้ขณะที่ไม่เป็นปกติ อบรมเจริญสิ่งที่ท่านคิดว่ารู้ชัด แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ในสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติได้ จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อถึงแม้ว่าท่านจะอบรมอย่างไร ก็ไม่ใช่การอบรมปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ
กำลังเดินตามปกติ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังเดินตามปกติ เมื่อไรปัญญาจะเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะที่กำลังเดินตามปกติไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การที่จะสามารถรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ที่จะรู้อย่างนี้ได้ต้องเกิดจากอะไร เหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ได้ ก็จะต้องมาจากเหตุที่ตรง คือ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติทีละเล็ก ทีละน้อยเพิ่มขึ้นจนกว่าจะเป็นความรู้ชัด เหตุกับผลต้องตรงกัน
ถึงแม้ว่าจะได้กล่าวถึงเหตุ และผล โดยเฉพาะในเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งควรอบรม ไม่ใช่ไปอบรมการเป็นผู้ไม่ปกติ นั่ง นอน ยืน เดิน แต่ท่านไม่คิดถึงประโยชน์ของการพิจารณาธรรม ท่านเห็นเป็นการเสียดสี เพราะท่านไม่ได้ดูจุดประสงค์ หรือประโยชน์ของการที่จะพิจารณาว่า ข้อปฏิบัติอย่างไรถูก อย่างไรผิด อย่างไรจะทำให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะแสดงเหตุผลแล้ว ท่านก็ยังกล่าวว่า การไปหัดเดินนั้นถูกแล้ว ทำไมต้องหัดเดิน ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องหัดนั่ง หัดอะไรหมดทุกอย่าง ซึ่งไม่ใช่ปกติเลย แล้วปัญญาจะสามารถรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติได้เมื่อไร ในเมื่อไปทำความไม่ปกติให้เกิดขึ้น และเข้าใจว่ารู้ในขณะนั้น
ถ้าเหตุกับผลตรงกัน ที่ปัญญาจะรู้สภาพธรรมตามปกติได้ ก็ต่อเมื่ออบรมสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ นี่ต้องเปลี่ยนเหตุแล้วใช่ไหม ที่ท่านบอกว่าจะเป็นอุบายให้จิตอยู่ และภายหลังจะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมภายหลังนั้นคือเมื่อไร ตอนไหน
ถ้าเป็นการเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติเมื่อไร เมื่อนั้นปัญญาจึงจะค่อยๆ เกิดขึ้น รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติได้ แต่ถ้ายังกระทำการไม่ปกติอยู่ ก็จะรู้แต่การไม่ปกติ ถ้าจะรู้การเป็นปกติได้ ก็จะต้องเริ่มเหตุ คือ การระลึกรู้ตามปกติ
จะเสียเวลาไปทำการไม่ปกติขึ้นมาทำไม ในเมื่อท่านเองก็ทราบว่า เมื่อพระผู้มี-พระภาคทรงตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะทรงแสดงพระธรรม เพราะความลึกซึ้งของธรรมที่ปรากฏตามปกตินี้ลึกซึ้งจริงๆ ยากแก่การที่จะรู้ได้ ถ้าไม่อบรมเหตุให้ถูกต้อง
สภาพธรรมในขณะนี้ ลึกซึ้งเพราะเกิดดับทุกขณะ ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมตามปกติในขณะนี้ มีความลึกซึ้งอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามปกติ จะต้องอาศัยเหตุที่ถูกต้อง คือ การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ที่ท่านเขียนมาว่า การสอนเดินนั้นมีประโยชน์มาก เพราะเป็นอิริยาบถหนึ่งในมหาสติปัฏฐาน ในกายานุปัสสนา
ซึ่งเท่าที่ได้ศึกษามาในมหาสติปัฏฐานทั้งหมด มีพยัญชนะที่ว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติ เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ มีสติเฉพาะหน้า คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ไม่มีข้อความว่า ให้มีการผิดปกติ หรือให้มีการเดินผิดปกติ หรือสอนเดิน ซึ่งไม่ใช่ตามปกติ ไม่มีการที่จะสอนให้เดิน ที่ไม่ใช่เป็นปกติของการเดิน
ท่านเขียนมาว่า นี้เป็นอุบาย ไม่ใช่ของจริง และท่านก็คิดว่า การกระทำอย่างนั้นเป็นอุบายที่มีประโยชน์
ขอเรียนให้ท่านพิจารณาในเหตุผลว่า ในเมื่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน มีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง การที่จะรู้ได้ก็ต้องอาศัยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ เพราะฉะนั้น ควรที่จะเริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลา
เป็นการถูกต้องที่ว่า ชีวิตของฆราวาสคับแคบ เพราะถึงแม้ว่าจะอยู่บ้านใหญ่ ห้องใหญ่ แต่กิเลสกลุ้มรุมเสียจนแคบ เพราะไม่อิสระจากกิเลส เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่ผู้ใดเห็นโทษของชีวิตฆราวาสที่คับแคบ ใคร่ที่จะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ- สติปัฏฐานในเพศของสมณะ ก็สามารถที่จะกระทำได้โดยการอุปสมบทเป็นภิกษุ เพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต
แต่อย่าคิดว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นของง่ายเพียงในชาตินี้ชาติเดียว ถ้าดูชีวิตของพระสาวกที่ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านอบรมปัญญาอบรมการเจริญสติปัฏฐานเป็นกัปๆ นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ครั้งสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ หลายพระองค์ กว่าที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ผิดจากการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ ต้องเป็นการตรงต่อสภาพธรรมที่ปรากฏด้วย ขอให้ท่านพิจารณาว่า เพื่อประโยชน์หรือเพื่อโทษของท่านผู้ฟัง ถ้าเป็นเหตุเป็นผล เพื่อจะให้ท่านผู้ฟังพิจารณา ย่อมเป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่แสดงเหตุผล ถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องเหตุผล มุ่งที่จะกระทบกระทั่งผู้อื่น นั่นเป็นอกุศล แต่ถ้ามีเหตุผลที่จะให้ท่านผู้ฟังพิจารณา ท่านก็ควรพิจารณาในเหตุผลว่า ควรจะเป็นอย่างไร
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 562