ข้อปฏิบัติผิดจะพาให้ไปถึงไหนได้


    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังอีกฉบับหนึ่งเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๔๖๖/๑ บางพลัด ต.บางพลัด อ.บางกอกน้อย จ.กรุงเทพ

    วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพ

    ผมมีความรู้ในด้านกัมมัฏฐาน จะขอถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ผมจะออกแสดงตัวจริงๆ ได้ในด้านไหนดี แต่ผมเรียนในด้านนี้ ทางขอพรจากพระพุทธองค์ และได้เดินธุดงค์ไปจังหวัดอยุธยา พักแรมข้างทางรถไฟ และรถยนต์เป็นเวลา ๖ คืน และกลับมาสำเร็จวิชานี้ที่บ้าน ในตอนต้นเดือนที่แล้ว เพราะผมขอหูทิพย์ จนสำเร็จ และมีหูทิพย์เชื่อมโยง แต่มีคอยว่าแดก และขอให้ผมหยุดยั้ง ดังนั้นผมขอถามท่านอาจารย์ว่า ผมจะมีทางยุติได้หรือไม่ จะทำอย่างไรให้หูทิพย์หลุดไปจากการเชื่อมโยง แต่พระพุทธองค์ได้บอกผมไว้ตอนจากไปว่า อีกประมาณ ๔ ปีเศษ ผมจะได้พบกับท่านอีก

    ตอนนี้ผมเป็นคนยากจน เพราะมีคนคอยกลั่นแกล้ง และยังไม่มีเงินที่จะสนับสนุนในด้านวิชาที่สำเร็จ แต่ในบางพลัดนั้น มีคนไม่ค่อยดีเลย เขาหาว่าผมหยิ่ง ไปสั่งสอน และให้วิชาแก่ผู้อื่น ให้การร่วมมือกับผู้อื่น ผู้อื่นจึงมีคนดึงจดหมายที่ส่งไปแล้วถึง ๒ ฉบับ ถ้าอาจารย์จะกรุณาเขียนจดหมายมาตอบผม ขอให้เขียนส่งที่ ... (ท่านก็เขียนตำบลที่อยู่ของท่าน)

    สุ. สำหรับท่านผู้นี้ ขอเรียนว่า ถ้าท่านฟังธรรมไปเรื่อยๆ และไม่กังวลกับเรื่องหูทิพย์ของท่าน หมดไปเมื่อไร ก็จะทำให้ท่านเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น และวันหนึ่งก็อาจจะทำให้ท่านประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาในทางที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่คลาดเคลื่อนได้ แต่ถ้าไม่ใช่อาศัยการฟังธรรม ไม่พิจารณาในเหตุผลแล้ว ก็ย่อมจะผิดไปเรื่อยๆ และคงจะไม่มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดช่วยเอาหูทิพย์ออกจากตัวท่านได้

    ท่านผู้ฟังมีความเห็นอะไรในเรื่องนี้บ้างไหม ท่านจะเกื้อกูลผู้ฟังท่านนี้ประการใดบ้าง ในความคิดของท่าน

    ผู้ฟัง …. (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ก็ดีที่ท่านไม่ยกย่องในทางเสีย เพราะว่าจะทำให้เสียยิ่งขึ้น ถ้ากล่าวสนับสนุนว่าท่านมีหูทิพย์ ซึ่งไม่ใช่ความจริง คนที่เข้าใจผิดอยู่แล้ว ก็จะยึดมั่นยิ่งขึ้น เข้าใจว่าตัวเองมีหูทิพย์จริงๆ แต่เหตุต้องสมควรกับผล

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้ฟังท่านนี้ ที่ท่านจะได้หูทิพย์นั้น ท่านเจริญอบรมอย่างไร และหูทิพย์ของท่านได้ยินอะไร ได้ยินเสียงอะไรที่ว่าเป็นทิพย์ เพราะว่าการที่จะมีคุณวิเศษคือหูทิพย์ จะต้องอาศัยเหตุที่ถูกต้อง คือ การอบรมฌานสมาบัติจนชำนาญคล่องแคล่วจริงๆ และเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาเสียก่อนว่า ก่อนที่จะอบรมเจริญฌานสมาบัติให้เกิดฌานจิตขึ้นได้จริงๆ นั้นจะต้องทำอย่างไร ไม่ใช่เพียงฟัง และท่านก็คิดว่า ฌานจิตได้เกิดขึ้นแล้วกับท่าน หรือคิดว่าหูทิพย์คุณวิเศษต่างๆ เกิดขึ้นแล้วกับท่าน ประการสำคัญที่ท่านจะพิจารณาได้โดยไม่ยาก คือ พระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีรูปธรรมนามธรรมเกิดขึ้นอีกเลย เพราะฉะนั้น บุคคลที่ท่านพบไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน

    น่าคิดไหม ข้อปฏิบัติผิดจะพาให้ไปถึงไหนได้ พาไปไหนๆ ก็ได้ จนกระทั่งถึงกับเข้าใจว่า ตัวท่านเองมีหูทิพย์ และถามดิฉันว่า ทำอย่างไรให้หูทิพย์หลุดไปจากการเชื่อมโยง หูทิพย์นี่ เวลามีแล้วเอาออกไม่ได้ ก็เป็นเรื่องลำบาก ขอเรียนให้ท่านผู้ฟังพิจารณาว่า การที่จะเดินทางตรงๆ และถูกจริงๆ ต้องประกอบด้วยเหตุผลจริงๆ เพราะถ้าเป็นหนทางที่ไม่ถูก เป็นหนทางที่ผิดไปทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว ก็จะทำให้ผิดไปได้ไกลมากทีเดียว

    ผู้ฟัง เรื่องพบพระผู้มีพระภาค ผมได้ฟังมา ๒ แห่ง เป็นพระอาจารย์มีชื่อเสียงอยู่ทางบ้านผม อยุธยา ท่านเข้าฌานแล้วท่านก็ขึ้นไปอยู่ชั้นดาวดึงส์ ที่พระจุฬามณี ได้พบพระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่พระจุฬามณีพร้อมด้วยพระอรหันต์ ถ้าจะให้เราพูด ก็แปลว่าท่านเคลิ้มไปแล้ว พระพุทธเจ้าเข้านิพพานแล้วจะมีอะไรเหลืออยู่ บาลีมีว่าอย่างนี้ อนฺตมโส สุปินํ ตาปิ พระนิพพานแม้จะในฝันก็ไม่มี

    สุ. ขอเรียนถึงเหตุผลในการปฏิบัติธรรม เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา เพราะว่าโดยมากที่ท่านปฏิบัติกันคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง เป็นเพราะเข้าใจความหมายของคำว่าปฏิบัติธรรมผิด เพราะถ้าจะแปลออกมาเป็นภาษาไทย ท่านก็เข้าใจว่าเป็นการทำ ท่านอาจจะคิดว่า ต้องกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น โดยการไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใด นั่นเป็นการทำ แต่ว่าการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นการเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้แก่ สัมมาสติ เป็นต้น

    เมื่อได้อบรมเจริญ คือ เกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ย่อมจะมีความชำนาญในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และปัญญาซึ่งสำเหนียก สังเกต ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็เริ่มรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    การปฏิบัติธรรม คือ การอบรมความเข้าใจถูกให้เกิดขึ้น

    การปฏิบัติธรรม คือ การอบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่ต้องไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใด ทำอาการกิริยาที่ไม่เป็นปกติ และคิดว่า นั่นคือการปฏิบัติธรรม แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

    การปฏิบัติธรรม คือ การอบรมเจริญปัญญา ความเข้าใจถูกให้เกิดขึ้น นั่นคือปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ความสงบ

    เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นการอบรมปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติเกิด ขณะใดที่ปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือ ปฏิบัติธรรมให้เกิดความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น อย่าลืม ปฏิบัติธรรม คือ การอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง และไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติ นอกจากมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งตามปกติแล้ว มรรค ๕ องค์ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก สัมมาสังกัปปะ การจรดในลักษณะของอารมณ์ที่ถูก สัมมาวายามะ ความเพียรซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง เว้นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๖ ดวง ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ เป็นต้น คือ ขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน เหล่านี้ ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นสัมมาวายามะซึ่งเป็นวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ต้องเป็นห่วงที่จะต้องไปเป็นตัวตนที่จะทำความเพียรประการหนึ่งประการใดเลย เพราะว่าขณะใดที่สติเกิด จะมีแต่เฉพาะสติอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีโสภณธรรม เจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น สัมมาวายามะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ในมรรคมีองค์ ๕ ก็มี สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ๑ สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ สัมมาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก ๑ สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ๑ และสัมมาสติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    นี่คือ การปฏิบัติธรรมของเจตสิกซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติแล้วจะมีมรรคเกิดร่วมกันเพียง ๕ องค์ จนกว่าขณะใดที่โลกุตตรจิตเกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งชัดลักษณะของนิพพานธาตุ ขณะนั้นจึงประกอบพร้อมกันทั้ง ๘ องค์ รวมทั้งเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็น โสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การทำอะไรที่ผิดปกติ แต่เป็นการกระทำความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมให้เกิดขึ้น โดยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติเนืองๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้ามีการระลึกได้ ก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ขณะนี้มีสภาพธรรมใดปรากฏทางไหน ยังไม่เคยระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นการหลงลืมสติ แต่เมื่อระลึกได้ ก็ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อศึกษา สังเกต สำเหนียก ให้เกิดความรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน คือ เป็นเพียงสภาพของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ หรือเป็นสภาพของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ไม่ใช่เป็นการทำความผิดปกติให้เกิดขึ้น ถ้าเข้าใจความเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ปัญหาเรื่องสถานที่ไม่มี แต่ตราบใดที่ยังมีปัญหาเรื่องสถานที่ แสดงให้เห็นว่า ยังไม่เข้าใจชัดในการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัตินี้สำคัญที่สุดที่จะเป็นเหตุให้บรรลุผล คือ ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจ ๔ ได้หรือไม่ ถ้าข้อปฏิบัติผิด คลาดเคลื่อน ก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ แต่ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะทำให้ปัญญาเพิ่มขึ้น รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏชัดเจนขึ้น จนประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม ๔ ได้


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 563


    หมายเลข 13215
    21 ต.ค. 2567