เลื่อมใสในบุคคลที่มีข้อประพฤติปฏิบัติผิด
พระคุณเจ้า อาตมาคุยกับพระรูปหนึ่ง แนะนำให้ท่านฟังธรรมที่อาจารย์บรรยาย เรื่องสติปัฏฐาน ท่านบอกว่า เมื่อก่อนผมก็เคยฟัง อาจารย์ก็ยังไม่บรรลุอะไรสักที เพราะเขาเห็นอาจารย์ยังแต่งตัวอยู่ อาตมาก็บอกว่า เป็นเรื่องของท่าน ก็ไม่เห็น ท่านจะแต่งตัวอะไร ท่านก็อยู่ธรรมดาของท่าน
สุ. ถ้าบรรลุแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วเป็นอย่างไร
พระคุณเจ้า เขาบอกว่า ไม่มีสักกายทิฏฐิ ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีสีลัพพตปรามาส
สุ. พระโสดาบันบุคคลต่างจากพระอรหันต์ ต่างจากพระอนาคามี ต่างจากพระสกทาคามีหรือเปล่า หรือพระโสดาบันบุคคลก็เหมือนพระอรหันต์ เหมือนพระอนาคามีบุคคล เหมือนพระสกทาคามีบุคคล
นี่คือการไม่เข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง
เรื่องของความเลื่อมใสในบุคคลที่มีข้อประพฤติปฏิบัติผิด เพราะว่ามีความ ไม่เข้าใจในธรรม และไม่ใช่มีแต่เฉพาะในสมัยนี้ แม้แต่ในสมัยก่อนนานแสนนานมาแล้วก็มี ตามข้อความในอรรถกถา ปกิณณกนิบาต อุททาลกชาดกที่ ๔ ท่านปุโรหิตทูลพระราชาผู้ทรงเลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส โดยกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระราชา ถ้าบุคคลเป็นพหูสูต ไม่ประพฤติธรรม ก็จะพึงกระทำกรรม อันลามกทั้งหลายได้ แม้จะมีเวทตั้งพันอาศัยแต่ความเป็นพหูสูต ยังไม่บรรลุ จรณธรรม จะพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้เลย
พระผู้มีพระภาคตรัสชาดกเรื่องนี้ เมื่อภิกษุรูปหนึ่งบวชในพระศาสนา อันประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ แล้วยังอาศัยการหลอกลวงเพื่อต้องการปัจจัย ๔
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อน เธอก็หลอกลวงเหมือนกัน
ไม่มีปัญญา จะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร แต่ก็ยังกล่าวว่าเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะกล่าวว่าเป็นพระโสดาบัน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่ง ประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น เรื่องของความเข้าใจผิด หรือการไม่พิจารณาไตร่ตรอง และ มีความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใสนั้น ก็ไม่ใช่แต่ในสมัยนี้ แม้แต่ในสมัยก่อน ก็มีมานานแล้ว
ที่มา ...