สักกายทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิ


    ถ. คำว่า สักกายทิฏฐิ แปลว่าการยึดขันธ์ ๕ เป็นของตน ใช่ไหม เวลาที่เรานั่งเฉยๆ บางครั้งจิตเรานึกถึง นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นึกไปโดยที่เราไม่ตั้งใจ อย่างนี้เป็นสัญญาหรือเปล่า เป็นสักกายทิฏฐิหรือเปล่า

    สุ. สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง

    ถ. ก็เป็นสักกายทิฏฐิชนิดหนึ่ง ใช่ไหม

    สุ. สัญญาเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ส่วนมิจฉาทิฏฐิเป็นอกุศลเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต

    ถ. ที่หนูยกตัวอย่าง เป็นสักกายทิฏฐิหรือเปล่า

    สุ. สักกายทิฏฐิ คือ ในขณะนั้นมีความเห็นเกิดขึ้นยึดถือว่าเป็นเรา ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม และมีความเข้าใจว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ตัวตน มีความเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า การที่จะกล่าวว่าขณะใดเป็นสักกายทิฏฐิ หรือขณะใดไม่เป็นสักกายทิฏฐิ ขอให้เป็นความเข้าใจของท่านผู้ฟังเอง

    การที่จะไปถามใครๆ ว่า อันนี้เป็นไหม อันนั้นเป็นไหม นี่เป็นกุศลไหม หรือนั่นเป็นอกุศลไหม คนอื่นไม่สามารถตอบได้ เพราะว่าเขาไม่รู้สภาพจิตของบุคคลอื่น แต่ทุกคนสามารถรู้สภาพจิตของตนเองได้ทุกๆ ขณะ

    จะต้องมีหลัก คือ มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะใดเป็นสักกายทิฏฐิ และขณะใดไม่ใช่สักกายทิฏฐิ เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ถ้าไม่ศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียดก็จะปะปนกัน ไม่สามารถแยกได้ว่า จิตขณะไหนเป็นกุศล และ จิตขณะไหนเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า อกุศลจิตมีกี่ประเภท และอะไรบ้าง เช่น ความเห็นผิดทั้งหมด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก เกิดกับเฉพาะโลภมูลจิต ในขณะที่มีความเห็นเกิดขึ้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    ถ้าสนทนากับหลายท่านที่ยังไม่เคยฟังพระธรรมเลย ทุกท่านจะบอกว่า เป็นตัวตนแน่ๆ ตายแล้วก็เกิด คนนี้เป็นคนนี้ สัตว์เป็นสัตว์ แต่ตามความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เกิดกับรูปธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    นามธรรม และรูปธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป และก็มีปัจจัยให้เกิดขึ้น และก็ดับไป สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ โดยที่ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เช่น ได้ยินในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไป ขณะที่ได้ยินไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงจิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้นรู้เสียงคือได้ยินเท่านั้น และก็ดับ จึงกล่าวว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน

    สิ่งใดที่เกิดขึ้น มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น และสิ่งนั้นก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลที่เที่ยง แต่ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมเลยก็เข้าใจว่า มีสัตว์ มีบุคคล ที่เที่ยง เมื่อตายก็สิ้นสภาพ และก็เกิดเป็นบุคคลใหม่ หรือเป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง ประเภทใด ถ้าเห็นอย่างนี้ เป็นสักกายทิฏฐิ

    ถ. แต่เมื่อกี้นี้ที่หนูถาม ก็ไม่ได้เป็นสักกายทิฏฐิ คิดว่าไม่ใช่

    สุ. ฟังให้เป็นความเข้าใจของตัวเองก่อน จะได้พิจารณา และสามารถรู้ได้ว่า ขณะใดเป็น ขณะใดไม่เป็น เวลาเห็นดอกไม้สวยๆ ชอบไหม

    ถ. ชอบ

    สุ. ทันทีเลยหรือเปล่า

    ถ. ใช่

    สุ. ไม่ต้องรอเลยหรือ

    ถ. ใช่

    สุ. ไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่เห็นก็ชอบแล้ว ใช่ไหม นั่นคือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่มีความเห็นใดๆ เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ต้องมานั่ง ปุจฉาวิสัชนาถามกันเรื่องสักกายทิฏฐิ เรื่องความมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน

    ความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้พระโสดาบันก็ยังมี เพราะว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ได้ดับความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ท่านดับความเห็นผิดเป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้โดยเทียบกับพระอริยบุคคลว่า เมื่อพระอริยบุคคล ขั้นพระโสดาบัน และพระสกทาคามี ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์คือไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง แต่สำหรับปุถุชนผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลมีโลภมูลจิต ๘ ดวง คือ เพิ่มโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์อีก ๔ ดวง

    แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีความยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ได้คิดถึง ความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นก็ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ตอบ ตัวเองได้ไหมในขณะนั้น

    ถ. อีกอย่าง หนูสงสัยมานานแล้ว เวลาหนูไหว้พระเสร็จ หนูชอบคิดว่า ขอบารมีขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ขอให้ลูกรอดพ้นจาก ภัยอันตรายทั้งปวง อาจารย์คิดว่า เป็นการติดชนิดหนึ่งหรือเปล่า คงจะติด ใช่ไหม

    สุ. ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสัจจะ ท่านพระองคุลีมาล ก็แสดงสัจจะ

    . อย่างนี้เป็นการแสดงสัจจะหรือ

    สุ. ในขณะนั้นคิดอย่างไร คนอื่นตอบให้ไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาของตัวเอง ที่ฟัง และเข้าใจว่า สัจจะ คือ การกล่าวคำจริง แม้คำนั้นจะเป็นสิ่งซึ่งอาจจะไม่มีใครรู้ แต่ผู้ที่สามารถกล่าวถึงความจริงนั้นให้คนอื่นรู้ได้ ก็เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในสัจจะ เพราะฉะนั้น ก็ขออำนาจของสัจจะ ความจริงนี้ ซึ่งเป็นกุศลในการที่จะกล่าวคำจริง เพื่อที่จะให้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีเหตุจำเป็นเฉพาะหน้าอะไร ซึ่งก็ต้องเป็นกุศลเท่านั้น จึงจะช่วยได้ อย่างอื่นช่วยไม่ได้ และต้องเป็นกุศลของตนเองด้วย ไม่ใช่กุศลของ บุคคลอื่น ถ้ากุศลของบุคคลอื่นช่วยได้ สัตว์ทั้งหลายจะไม่มีความทุกข์เลย เพราะว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณา

    ถ. สักกายทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิ อย่างเดียวกันหรือเปล่า

    สุ. ขึ้นชื่อว่าทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดทั้งนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นความเห็นผิด ในข้อไหน ถ้ากล่าวถึงสักกายทิฏฐิ ก็เป็นมูลของความเห็นผิดอื่นๆ ทั้งหมด ถ้าดับสักกายทิฏฐิแล้ว ทิฏฐิอื่นๆ จะมีไม่ได้เลย มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ จะต้องดับหมดด้วย

    ถ. มิจฉาทิฏฐิที่ท่านแสดงไว้ว่ามี ๑๐ อย่าง ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล บิดาไม่มี มารดาไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี ก็ถือว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    สุ. เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ถ. ต่างจากสักกายทิฏฐิอย่างไร

    สุ. สักกายทิฏฐิ คือ ยึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นตัวตน

    ถ. แต่ผู้ที่ยังมีสักกายทิฏฐิอยู่ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    สุ. ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว ก็เป็นความเห็นผิด มิจฉาในภาษาบาลี ก็แปลว่า ผิด เท่านั้นเอง

    ถ. ถ้าอย่างนั้น ทุกคนที่ยังมีโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์อยู่ ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น

    สุ. ขณะใดที่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย

    ถ. เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    สุ. ก็ภาษาบาลีธรรมดา มิจฉา แปลว่า ผิด ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น เพราะฉะนั้น ภาษาไทยก็ใช้คำว่า ความเห็นผิด ธรรมดา

    ถ. ในโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ท่านใช้คำว่า ทิฏฐิ เฉยๆ ไม่มีคำว่า มิจฉาทิฏฐิ

    สุ. เพราะว่าเป็นหมวดของอกุศลจิต จึงไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า มิจฉาทิฏฐิ แม้แต่ในอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ก็ใช้คำว่า ทิฏฐิเจตสิก เพราะว่าเป็นอกุศลอยู่แล้ว

    ถ. คิดว่า ถ้าเป็นสักกายทิฏฐิ รู้สึกว่าจะเบาๆ หน่อย แต่ถ้าพูดว่า มิจฉาทิฏฐิ รู้สึกว่ารุนแรงเหลือเกิน

    สุ. ก็แล้วแต่ หมายความว่า เข้าใจมิจฉาทิฏฐิว่าอย่างไร ถ้าเข้าใจ คำแปลตรง คือ มิจฉา แปลว่า ผิด ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะ เป็นสักกายทิฏฐิหรือทิฏฐิอื่นทั้งหมดที่ผิด ก็คือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดนั่นเอง แล้วแต่ว่าจะเป็นความเห็นผิดขั้นรุนแรง ร้ายแรง เช่น เห็นว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เป็นต้น ถ้าเห็นอย่างนั้นก็จะมีการทำทุจริตกรรมอย่างมาก เพราะคิดว่า กรรมไม่มีผล นั่นก็เป็นความเห็นผิดที่มีกำลัง

    ถ. เป็นมิจฉาทิฏฐิที่มีกำลัง

    สุ. แน่นอน

    ถ. ถ้าสักกายทิฏฐิ ธรรมดา ถือว่าเป็นความเห็นผิดที่ไม่ถึงขั้น ปฏิเสธบุญ ปฏิเสธบาป ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง

    สุ. ไม่ถึงมิจฉาทิฏฐิประเภทอื่น แต่เป็นมูลของมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย ตราบใดที่สักกายทิฏฐิยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็เป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ เกิดขึ้นได้


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1867


    หมายเลข 13220
    23 ต.ค. 2567