ประวัติของท่านปุกกุสาติ พาหิยะ และกุมารกัสสปะ


    ขอกล่าวถึงอดีตประวัติของท่านปุกกุสาติ เพื่อจะได้ทราบว่า ในชาตินั้นท่านมีใครเป็นสหายบ้าง และในชาติที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระเจ้าปุกกุสาตินั้น ท่านไม่ได้พบสหายในชาติก่อนของท่านเลย แต่ครั้งหนึ่งในสมัยพระผู้มีพระภาคทรง พระนามว่า กัสสปะ ข้อความใน อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค อรรถกถา ปายาสิราชัญญสูตร มีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว พระศาสนากำลังเสื่อม พระภิกษุ ๕ รูปทำบันไดขึ้นไปยังภูเขา เจริญสมณธรรม ภิกษุผู้เป็นสังฆเถระ (หัวหน้า) ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันที่ ๓ ภิกษุผู้เป็นอนุเถระ ได้เป็นพระอนาคามีในวันที่ ๔

    เมื่อจุติจากชาตินั้นแล้ว ท่านก็ไปเกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส

    อีก ๓ รูป ไม่บรรลุมรรคผล

    จะเห็นได้ว่า สหาย ๕ ท่าน ขึ้นไปเจริญสมณธรรมบนภูเขา แต่การสะสมที่ต่างกันทำให้พระสังฆเถระผู้เป็นหัวหน้าได้เป็นพระอรหันต์ ส่วนพระอนุเถระได้เป็น พระอนาคามี อีก ๓ ท่าน แม้เป็นเพื่อนกัน เจริญสมณธรรมในที่เดียวกัน แต่ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลเลย

    ทั้ง ๓ ท่านนั้น เมื่อจุติแล้วได้เกิดในเทวโลก และในมนุษย์ตลอดสมัย ที่ว่างพระพุทธศาสนานั้น เมื่อถึงสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ อดีตพระภิกษุทั้ง ๓ รูป ซึ่งได้จากสวรรค์มาสู่โลกมนุษย์นั้นก็มีวิถีชีวิตที่ต่างกัน ตามกรรม คือ แม้แต่การเกิดก็เกิดในที่ต่างกัน และการบรรลุมรรคผลของท่าน ก็ต่างกัน และไม่ได้เป็นสหายกันอีกด้วยในชาตินั้น

    ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ภิกษุรูปหนึ่งเกิดในราชตระกูล ในกรุงตักกสิลา แคว้นคันธาระ เป็นพระราชาทรงพระนามว่า ปุกกุสาติ บวชอุทิศ พระผู้มีพระภาค มุ่งมายังกรุงราชคฤห์ ได้สดับพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค ที่โรงช่างหม้อ ก็บรรลุอนาคามิผล

    ตามที่ท่านผู้ฟังได้ทราบแล้วจากข้อความใน ธาตุวิภังคสูตร

    ภิกษุรูปหนึ่งเกิดในตระกูลที่ท่าเรือชื่อสุปัฏฏนะ ใกล้ทะเลแห่งหนึ่ง ท่านมี ชื่อว่าพาหิยะ ซึ่งภายหลังมีชื่อว่าทารุจีริยะ เพราะว่าท่านเป็นผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้ โดยที่ก่อนนั้นท่านได้โดยสารเรือไปในมหาสมุทร เมื่อเรือแตกก็เอาปอพันเปลือกไม้แห้ง ทำเป็นผ้านุ่งห่ม คนก็หลงผิดเข้าใจว่าท่านเป็นพระอรหันต์ เพราะเห็นว่าท่านคงจะเป็นผู้ที่มักน้อย เพราะว่าไม่นุ่งห่มตามปกติ แต่เอาปอพันเปลือกไม้แห้งทำเป็น ผ้านุ่งห่ม แต่สหายของท่านผู้เป็นพระอนาคามีบุคคลซึ่งอยู่ในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส เป็นผู้ที่เห็นความเป็นไปของสหายทั้งหมดของท่าน เมื่อเห็นว่าท่านพาหิยะมีความ หลงผิด เข้าใจผิด ก็ได้เตือนให้ท่านรู้ว่าท่านไม่ใช่พระอรหันต์ และให้ท่านไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคที่พระนครสาวัตถี ท่านได้เดินทางไป ๑๒๐ โยชน์ในคืนเดียว เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ขณะที่พระองค์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ท่านทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรง แสดงธรรมถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยย่อ

    คือ สั้นมาก มีข้อความเพียงว่า รูปที่เห็นแล้ว จงเป็นเพียงแต่ว่าเห็น เป็นต้น

    ท่านเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกผู้ตรัสรู้เร็ว คือ บรรลุเป็น พระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาขณะที่ฟังธรรม และท่านถูกแม่โคขวิดขณะแสวงหาบาตร และจีวร พระผู้มีพระภาคทรงให้นำสรีระออกจากเมือง เผาแล้วกระทำสถูปไว้

    นี่เป็นท่านที่ ๒

    อีกรูปหนึ่งเกิดในครรภ์ของกุลสตรีในกรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นผู้ที่ปรารถนาบวช ก่อนแต่งงาน แต่มารดาไม่อนุญาต ท่านจึงต้องแต่งงาน ภายหลังเมื่อแต่งงานแล้ว ก็ขออนุญาตอ้อนวอนสามีบวชอีก โดยไม่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ ภิกษุณีทั้งหลายเห็น นางมีครรภ์จึงถามท่านพระเทวทัต ท่านพระเทวทัตก็บอกว่า นางไม่เป็นสมณะ

    พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ท่านพระอุบาลีเถระวินิจฉัย ท่านพระอุบาลีเถระก็เชิญนางวิสาขามิคารมารดามาสอบถามพระภิกษุณีรูปนั้น ก็ได้ทราบว่า นางตั้งครรภ์ ก่อนบรรพชา

    เมื่อภิกษุณีนั้นคลอดบุตรแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดชุบเลี้ยงทารกนั้น แล้วพระราชทานนามว่ากัสสปะ เมื่อถึงวัยได้บรรพชาทารกนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า กุมารกัสสปะ เพราะว่าท่านบวชตอนที่เป็นเด็ก และท่านเป็นบุตรเลี้ยงของ พระเจ้าปเสนทิโกศล

    วันหนึ่ง เทพคือพรหมชั้นสุทธาวาสผู้เป็นอดีตสหายของท่าน ได้ให้ท่านเรียนปัญหา ๑๕ ข้อ แล้วทูลถามพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนาปัญหาจบ ท่านก็บรรลุอรหันต์ และเป็นผู้ที่เป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร

    จะเห็นได้ว่า เป็นสหายกัน ท่านหนึ่งเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่สมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ อีกท่านหนึ่งเป็นพระอนาคามีในชั้นสุทธาวาสภูมิ อีกท่านหนึ่งได้เป็นพระเจ้าปุกกุสาติ ได้บรรลุธรรมเพียงเป็นพระอนาคามี แต่อีก ๒ ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ และเป็นเอตทัคคะด้วย นี่เป็นวิถีชีวิตที่ต่างกัน


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1915


    หมายเลข 13222
    25 ต.ค. 2567