ฟังเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. สภาพธรรมมีอยู่ตลอดเวลา เห็นก็มี ได้ยินก็มี ผมรู้สึกว่า ตัวผมเองช่างโง่เหลือเกิน เห็นก็ยังไม่รู้ ได้ยินก็ยังไม่รู้ คือ ยังไม่เข้าใจว่าเห็นมีนัยที่ควรรู้เพียงใด แต่เมื่อเจริญสติปัฏฐานไปบ้างแล้วก็มีความรู้สึกว่า ขณะเห็นก็ดี หรือขณะได้ยินก็ดี มีสภาพธรรมที่ลึกซึ้งของคำว่าเห็นมาก จากการฟังบ่อยๆ เหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ เกิดสติระลึกรู้ในสภาพธรรมนั้น แต่ก็เคยคิดว่า ที่อาจารย์บรรยายจะเป็นไปได้หรือ อย่างเช่นสติที่ระลึกรู้ในกลิ่น หรือในรสทางลิ้น ก็เคยนึกว่า ชาตินี้คงไม่มีทาง ฟังๆ ไปก็ระลึกทางตาบ้างเล็กๆ น้อยๆ ทางหูบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ระยะหนึ่งเคยระลึกได้ทางลิ้น เป็นอยู่ระยะหนึ่งหลายเดือน แต่ขณะนี้ได้หายไป สำหรับทางจมูกนั้น แทบจะไม่เคยระลึกเลย นึกว่าชาตินี้ก็คงจะไม่ได้ระลึกทั่วทั้ง ๖ ทวาร
แต่สภาพธรรมเป็นอนัตตาจริงๆ ในระยะที่อาจารย์ไม่ได้บรรยายอยู่ประมาณ ๒ เดือน สติระลึกรู้ที่จมูกมากกว่าทางตา ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว หรือจะเป็นเพราะว่าระยะนี้ผมเดินผ่านกองขยะบ่อย และมักจะไปได้ที่กองขยะเสมอๆ เพราะเป็นสภาพธรรมที่รุนแรงกว่าสภาพธรรมที่พื้นๆ แต่สิ่งที่ปรากฏทางลิ้นคือรส ได้หายไป ได้แต่การคิดนึกเรื่องรส
สำหรับสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ ธัมมารมณ์ ทางใจ ขณะนี้กำลัง คิดนึก ซึ่งการคิดนึกอาจารย์พูดเสมอๆ ว่า ทางตาแล้วก็มาทางใจ ทางหูแล้วก็ต้องทางใจ เพราะฉะนั้น ทางใจจะมีสภาพธรรมมากกว่าเพื่อน ซึ่งก็ได้ระลึกแล้วบ้างแล้ว สรุปแล้วเวลานี้สภาพธรรมทั้ง ๖ ทวาร ได้เริ่มระลึกแล้วทุกทวาร คิดว่าไม่หมดหวัง คงจะต้องเจริญสติต่อไป
มีคำถามถามอาจารย์ว่า อะไรจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อไป และเราก็ไม่รู้ว่า อะไรอีกที่จะมาข้างหน้าที่สติปัฏฐานจะระลึกรู้ในสภาพธรรมอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นอนัตตา ก็พอเข้าใจ แต่สำหรับท่านผู้อื่นไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร คงต้องให้อาจารย์ ขยายความต่อไป
สุ. ที่พูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจบ่อยๆ ก็เพื่อให้เห็นว่า การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะฟังพระธรรมในระดับขั้นใด การศึกษา ทั้งพระวินัยปิฎกก็ดี หรือพระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎกก็ดี การศึกษาเรื่องจิตประเภทต่างๆ เจตสิกประเภทต่างๆ รูปประเภทต่างๆ พร้อมทั้งปัจจัยของจิต เจตสิก รูป ซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นก็ดี เราคงไม่ได้ฟังมาแต่เฉพาะในชาตินี้ ชาติเดียว แต่ผู้ที่มีความสนใจในพระธรรมที่ฟังในชาตินี้ก็แสดงให้เห็นว่า ได้เคยมี ความสนใจศึกษา และฟังพระธรรมในชาติก่อนๆ มาแล้ว แต่เมื่อถึงชาตินี้ลืมหมด ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังซ้ำอีก
เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็จะรู้ได้ว่า เป็นผู้ที่ได้เคยศึกษา เข้าใจ และอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพนามธรรม และรูปธรรมในชาติก่อนๆ มามากน้อยแค่ไหน ซึ่งท่านพระสารีบุตรเพียงฟังท่านพระอัสสชิ ท่านก็สามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเพียงท่านพระอัสสชิกล่าวคาถาสั้นๆ ว่า ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุ เท่านั้น ท่านไม่มีความสงสัยในคำว่า ธรรม เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมของแต่ละบุคคลในแต่ละชาติ เป็นการแสดงให้รู้ถึงการอบรมเจริญสติ และปัญญาในขั้นของ การฟัง การพิจารณา และสติปัฏฐานในชาติก่อนๆ ด้วย เพราะว่าการฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมทั้งหมดเพื่อให้รู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ที่กล่าวถึงเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทุกครั้ง ก็เพราะว่าเป็นสภาพธรรม ที่มีจริงกำลังปรากฏ และธรรมที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดจะเกื้อกูลให้รู้ให้เข้าใจในขณะที่กำลังเห็นว่า เป็นเพียงสภาพรู้ เพื่อจะถ่ายถอนความเป็นตัวตนว่า ไม่ใช่เราที่เห็น เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงมากมายทีเดียวที่ได้มีการศึกษามาแล้วในชาติก่อนๆ และในชาตินี้ ซึ่งในชาตินี้ทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไปอีก และเมื่อเกิดใหม่ ก็แล้วแต่ว่า จะมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจากการฟังในชาตินี้เท่าไร และเมื่อได้ฟัง พระธรรมอีกในชาติต่อไป จะสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขั้นของการฟัง หรือในขั้นของการระลึกรู้ลักษณะของเห็น ลักษณะของได้ยิน ลักษณะของได้กลิ่น ลักษณะของลิ้มรส ลักษณะของสภาพธรรมที่คิดนึก ทั้งนามธรรม และรูปธรรม และจะสามารถอบรมเจริญปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมได้เพิ่มขึ้นแค่ไหน
การศึกษาธรรมต้องทราบประโยชน์ว่า เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็รู้ด้วยตัวเองว่า มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพียงใด เป็นการทดสอบผลของการศึกษาพระธรรมทั้งหมด ทั้งในชาติก่อนๆ และในปัจจุบันชาตินี้ด้วย
สามารถตอบได้ ใช่ไหม ผลของการศึกษาธรรมในชาติก่อนๆ และในชาตินี้ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพียงใด
ไม่ได้ถามว่า เป็นจิตอะไร เป็นอเหตุกจิตหรือมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง ไม่ได้ถามว่า นามธรรม และรูปธรรมเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันอย่างไร แต่เข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้เท่านั้นนี่คือผลจากการศึกษา
เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญามาบ้างแล้ว ก็มีสิ่งที่จะ สอบปัญญาของตนเองได้ เช่น มีกิเลสมาก หรือมีกิเลสน้อยตามความเป็นจริง เมื่อได้ฟังพระธรรมเข้าใจแล้วก็รู้ว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสคือความไม่รู้อย่างมากทีเดียว และเมื่อรู้ว่ามีกิเลสมากอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป นี่ก็เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เข้าใจหนทางประพฤติปฏิบัติถูกต้องก็รู้ว่า เพียรเพื่อเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมโดยการฟัง และโดยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่อยาก ที่จะหมดกิเลสโดยวิธีอื่น
ที่มา ...