วิธุรชาดก


    ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย ชาดก วิธุรชาดก

    ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยว่า ชาดกต่างๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญ สติปัฏฐานอย่างไรหรือไม่ ซึ่งก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ-ญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะให้ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ทรงบำเพ็ญบารมี คือ การเจริญสติปัฏฐานในอดีตด้วย ถ้าเพียงแต่ ทรงปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น ในพระชาติต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญบารมี ท่านผู้ฟังจะเห็นข้อความที่มีประโยชน์มากในการดำเนินชีวิตของพุทธบริษัท ซึ่งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเพราะถ้าท่านเพียงแต่จะเจริญสติปัฏฐานโดยที่ไม่สำรวจชีวิตของท่านเลยว่า ชีวิตของท่านนั้นเป็นกุศลอย่างไร หรือว่าเป็นอกุศลอย่างไร แม้ว่าท่านพากเพียรที่จะดับกิเลส ท่านอาจจะเพิ่มกิเลสให้หนาแน่น ซึ่งยากแก่การที่จะละคลาย ยากแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ข้อความโดยย่อใน วิธุรชาดก มีว่า

    พระนางวิมลา มเหสีของท้าววรุณนาคราช ปรารถนาหทัย คือ หัวใจของ วิธุรบัณฑิต

    เรื่องของปาณาติบาต เป็นเรื่องที่ต้องการหัวใจของบัณฑิต เพราะรู้ว่ายากอย่างยิ่งที่จะได้มา เพราะว่าบัณฑิตย่อมเป็นผู้ที่ฉลาด เพราะฉะนั้น การที่จะได้หทัย หรือหัวใจของบัณฑิต ก็เป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่จะได้

    และปุณณกยักษ์ก็มีความปรารถนาในธิดาของท้าววรุณนาคราชผู้มีนามว่า อิรันทดี ท้าววรุณนาคราชได้ให้ปุณณกยักษ์ไปเอาหัวใจของวิธุรบัณฑิตมาให้ก่อน จึงจะยกธิดาให้ปุณณกยักษ์

    นี่เป็นชีวิตธรรมดาปกติ เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังทรงบำเพ็ญพระบารมี และในพระชาตินั้น เป็นวิธุรบัณฑิต

    เมื่อได้ทราบเงื่อนไขอย่างนี้ ปุณณกยักษ์ก็ได้ไปท้าพนันสะกากับพระราชา เพราะว่าวิธุรบัณฑิตเป็นผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรมแก่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราช เพราะฉะนั้น ปุณณกยักษ์ก็ได้ไปท้าพนันสะกากับพระราชา เมื่อชนะพระราชาแล้ว ก็ได้ทูลขอพระราชทานทรัพย์อันประเสริฐของพระองค์ คือ วิธุรบัณฑิต

    ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก

    ปุณณกยักษ์กราบทูลพระราชาว่า

    ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์บัณฑิตมีนามว่าวิธุระ เป็นแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์เหล่านั้น ข้าพระองค์ชนะพระองค์แล้ว โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์เถิด

    พระราชาตรัสตอบว่า

    วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นตัวของเรา เป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกาะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา ท่านไม่ควรจะเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา วิธุรบัณฑิตนั้นเช่นกับชีวิตของเรา คือ เป็นตัวเรา

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ควรจะได้ทราบว่า ทรัพย์ของท่านทั้งหมดที่มีอยู่ กับปัญญา ทรัพย์อะไรจะประเสริฐกว่ากัน สำหรับผู้ที่เห็นค่าของปัญญา ย่อมเห็นว่าปัญญานั้นประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหมด

    ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า

    การโต้เถียงกันของข้าพระองค์ และพระองค์ จะพึงเป็นการช้านาน ขอเชิญเสด็จไปถามวิธุรบัณฑิตกันดีกว่า ให้วิธุรบัณฑิตนั้นแล ชี้แจงเนื้อความนั้น วิธุรบัณฑิตจะกล่าวคำใด คำนั้นจงเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้งสอง

    พระราชาตรัสว่า

    ดูกร มานพ ท่านพูดจริงแท้ทีเดียว และไม่ผลุนผัน เราไปถามวิธุรบัณฑิตกันเถิดนะ เราทั้งสองคนจงยินดีตามคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น

    ปุณณกยักษ์เมื่อได้พบวิธุรบัณฑิตแล้ว ได้ถามว่า

    เทวดาทั้งหลายย่อมรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุรัฐชื่อวิธุระ เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาส หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา

    ผู้ที่ต้องการ ต้องเป็นผู้ที่ฉลาดพอที่จะถามให้บุคคลนั้นตอบ เพื่อจะได้สิ่งที่ตนต้องการ

    วิธุรบัณฑิตตอบว่า

    ในหมู่นรชน ทาสมี ๔ จำพวก คือ ทาสครอกจำพวก ๑ ทาสไถ่จำพวก ๑ ทาสที่ยอมตัวเป็นข้าเฝ้าจำพวก ๑ ทาสเชลยจำพวก ๑ แม้ข้าพเจ้าก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว ความเจริญก็ตาม ความเสื่อมก็ตาม จะมีแก่พระราชา แม้ข้าพเจ้าจะไปยังที่อื่นก็คงเป็นทาสของสมมติเทพนั้นเอง ดูกร มานพ พระราชาเมื่อจะทรงพระราชทานข้าพเจ้าให้เป็นค่าพนันแก่ท่าน ก็พึงพระราชทานโดยธรรม

    นี่คือผู้ที่เป็นบัณฑิต คือ เป็นผู้รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง แต่ละท่านจะเป็นใคร มีภาระ มีกิจ มีหน้าที่อย่างไร มีฐานะ สภาพความเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอย่างใด ผู้ที่รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็รู้ตามสภาพความเป็นจริงนั้น

    ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลพระราชาว่า

    วันนี้ ความชนะได้มีแก่ข้าพระองค์เป็นครั้งที่ ๒ เพราะว่าวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์อันข้าพระองค์ถามแล้ว ได้ชี้แจงปัญหาแจ่มแจ้ง พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ ไม่ทรงยอมให้วิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์

    พระราชานั้นเห็นว่า วิธุรบัณฑิตเป็นผู้ที่มีค่าที่สุด เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทรงให้ วิธุรบัณฑิตแก่ปุณณกยักษ์ แต่เมื่อวิธุรบัณฑิตกราบทูลพระราชาว่า พระราชาควรที่จะให้วิธุรบัณฑิตเป็นค่าพนันแก่ปุณณกยักษ์

    พระราชาตรัสว่า

    ดูกร กัจจานะ ถ้าวิธุรบัณฑิตชี้แจงปัญหาแก่เราทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราเป็นทาส เราหาได้เป็นญาติไม่ ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิตผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด

    แต่ก่อนที่จะไป เนื่องจากว่า วิธุรบัณฑิตก็เป็นปราชญ์ผู้ฉลาดอย่างยิ่งในธรรม พระราชาจึงได้ตรัสถามธรรมก่อนที่วิธุรบัณฑิตจะจากไปว่า

    ท่านวิธุรบัณฑิต คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างไร จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างไร จะพึงมีความไม่เบียดเบียนได้อย่างไร และอย่างไรมาณพจึงชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้ไปยังโลกหน้าแล้วจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร

    การดำเนินชีวิตปกติประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านจะต้องจากโลกนี้ไปโลกหน้าแต่ว่าจะไปอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตเป็นปกติประจำวันนี่เอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ท่านวิธุรบัณฑิต ผู้มีคติ มีความเพียร มีปัญญา เห็นอรรถธรรมอันสุขุมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลพระราชาในโรงธรรมสภานั้นว่า

    ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก ไม่ให้สวรรค์นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยม กล่าวถ้อยคำจับใจ อ่อนโยน ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าว น้ำทุกเมื่อ ผู้ครองเรือนถึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ

    คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างนี้ จะพึงมีการไม่เบียดเบียนกันได้อย่างนี้ และมาณพพึงปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปยังโลกหน้า จะไม่เศร้าโศกได้ด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าข้า

    (นี้) ชื่อฆราวาสปัญหา

    ถ้าทุกท่านจำได้ทั้งหมด และประพฤติตามได้ทั้งหมด ท่านจะเป็นผู้ที่ปลอดภัยจริงๆ เริ่มตั้งแต่ ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว เคยเป็นอย่างนี้ไหม บริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ซึ่งไม่สมควรสำหรับผู้ครองเรือน แต่ควรเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะว่าท่านไม่สามารถจะอยู่ได้ลำพังคนเดียวในโลก

    ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก เป็นเรื่องของธรรมทั้งนั้น ซึ่งถ้อยคำที่ให้ติดอยู่ในโลกนั้น ไม่ให้สวรรค์นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ

    ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น

    นอกจากนั้นยัง เป็นผู้สงบเสงี่ยม กล่าวถ้อยคำจับใจ อ่อนโยน ผู้ครองเรือนพึงเป็นคนสงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ

    นอกจากนั้น ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้วหมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ นี่ชื่อว่าฆราวาสปัญหาทั้งหมดนี้เป็นฆราวาสธรรม

    ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของธรรมที่ควรจะได้พิจารณารับฟัง และประพฤติปฏิบัติตามทั้งสิ้น

    ปุณณกยักษ์ได้กล่าวกับวิธุรบัณฑิตว่า

    เราจะไปกันเดี๋ยวนี้แหละ พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอิสราธิบดี ทรงพระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านจงปฏิบัติประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ธรรมนี้เป็นของเก่า

    คือ เมื่อให้แล้ว ก็ควรที่จะไปกันได้แล้ว

    วิธุรบัณฑิตตอบว่า

    ดูกร มานพ ข้าพเจ้าย่อมรู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้อันพระราชาผู้เป็นอิสราธิบดีพระราชทานแก่ท่านแล้ว แต่ว่าข้าพเจ้าขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนสัก ๓ วัน ขอให้ท่านยับยั้งอยู่ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าสั่งสอนบุตรภรรยาก่อน

    ในเมื่อจะต้องจากไป อย่างที่ต้องการหัวใจด้วย ก็คงจะไปสู่ความตาย เพราะฉะนั้น เป็นการจากครั้งสุดท้าย ก็ควรที่จะได้สงเคราะห์บุตรภรรยาด้วยการสั่งสอนธรรมเสียก่อน ซึ่งปุณณกยักษ์ก็ยินยอม

    ปราสาทของวิธุรบัณฑิตมีอยู่ ๓ คือ โกญจาปราสาท ๑ มยูรปราสาท ๑ ปิยเกตปราสาท ๑ ในปราสาททั้ง ๓ นั้น วิธุรบัณฑิตก็ได้พาปุณณกยักษ์เข้าไปยังปราสาทอันเป็นที่น่ารื่นรมย์ และต้อนรับอย่างดี แล้วท่านเองก็ได้กล่าวสั่งสอน บุตร ธิดาของท่านว่า

    พระราชาในพระนครอินทปัตนี้ พระราชทานพ่อให้แก่มาณพแล้ว พ่อพึงมีความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ไป พ้นจากนั้นไป พ่อก็ต้องเป็นไปตามอำนาจของมาณพนั้น เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา ก็พ่อมาเพื่อสั่งสอนลูกทั้งหลาย พ่อยังไม่ได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูกทั้งหลายแล้ว จะพึงไปได้อย่างไร

    ถ้าว่าพระราชาผู้ปกครองกุรุรัฐ ผู้มีพระราชสมบัติอันน่าใคร่เป็นอันมาก ทรงต้องการกัลยาณมิตร จะพึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า เมื่อก่อนเจ้าทั้งหลายย่อมรู้เหตุ เก่าๆ อะไรบ้าง พ่อของเจ้าทั้งหลายได้พร่ำสอนอะไรไว้ในกาลก่อนบ้าง ถ้าแหละพระราชาจะพึงมีพระราชโองการตรัสว่า เจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีอาสนะเสมอกันกับเรา ในราชสกุลนี้ มนุษย์คนไรซึ่งจะมีชาติสกุลสมควรกับพระราชาไม่มี ลูกทั้งหลายพึงถวายบังคมกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า เพราะข้อนี้มิใช่ธรรมเนียม ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีชาติต่ำต้อย ไม่สมควรมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์ผู้สูงศักดิ์ เหมือนสุนัขจิ้งจอกผู้มีชาติต่ำต้อย จะพึงมีอาสนะเสมอด้วยพระยาไกรสรราชสีห์อย่างไรได้ พระเจ้าข้า

    จบ ลักขกัณฑ์

    ดูเหมือนกับว่าเป็นคำสอนธรรมดา แต่ท่านจะพิจารณาได้ว่า เพื่อให้ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง เพราะเหตุว่าในราชสกุลนี้ มนุษย์คนไรซึ่งจะมีชาติสกุลสมควรกับพระราชาไม่มี

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 349

    ข้อความต่อไป จะมีประโยชน์กับชีวิตประจำวันของทุกท่าน

    วิธุรบัณฑิตนั้น มีความดำริแห่งใจอันไม่หดหู่ ได้กล่าวกับบุตร ธิดา ญาติ มิตร และเพื่อนที่สนิทว่า

    ดูกร ลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงมานั่งฟังราชวัสดีธรรม อันเป็นเหตุให้บุคคลผู้เข้าไปสู่ราชสกุลได้ยศ

    เป็นเรื่องชีวิตประจำวันของผู้ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนี้หรือเปล่า ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งหลายเหล่านี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้เข้าไปสู่ราชสกุล พระราชายังไม่ทรงทราบความสามารถ ย่อมไม่ได้ยศ ราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อเมื่อใดพระราชาทรงทราบความประพฤติปกติ ปัญญา และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น เมื่อนั้น ย่อมทรงวางพระทัย และไม่ทรงรักษาความลับ

    เฉพาะราชเสวกหรือเปล่า หรือว่าตัวท่านทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกอันพระราชาไม่ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้น ดังตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรง ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงตั้งใจกระทำราชกิจทุกอย่างให้เสมอต้นเสมอปลาย เหมือนตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรงดี ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักนั้นได้

    นี่ไม่ใช่สำหรับราชเสวกเท่านั้น ราชเสวกอันพระราชาไม่ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้น บางเรื่องท่านผู้ฟังมีความห่วงใย มีความกังวล ใคร่ที่จะให้เป็นไปตามใจ ตามความห่วงใยของท่านผู้ฟังเอง แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่ใช้ หรือไม่ไหว้วาน หรือว่าไม่ขอร้อง หรือว่าไม่ขอคำแนะนำ จะไม่มีประโยชน์เลยในการที่ท่านจะทำสิ่งที่ท่านคิดว่ามีประโยชน์ กับบุคคลที่ไม่เห็นประโยชน์ในสิ่งที่ท่านกระทำให้ เพราะฉะนั้น ข้อความทั้งหมด เป็นเรื่องที่ควรประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกต้องเป็นคนฉลาดในราชกิจอันพระราชาตรัสใช้ กลางวัน หรือ กลางคืนก็ตาม ไม่พึงหวาดหวั่นในการกระทำราชกิจนั้นๆ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ทางใดที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยดี สำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ถึงพระราชาทรงอนุญาต ราชเสวกก็ไม่ควรเดินโดยทางนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    นี่เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามได้ ในเมื่อเป็นสิ่งที่ควร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกไม่พึงบริโภคสมบัติที่น่าใคร่ทัดเทียมกับพระราชาในกาลไหนๆ ควรเดินหลังในทุกสิ่งทุกอย่าง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักนั้นได้

    ราชเสวกไม่ควรใช้สอยประดับประดาเสื้อผ้า มาลา เครื่องลูบไล้ทัดเทียมกับพระราชา ไม่พึงประพฤติอากัปกริยา หรือพูดจาทัดเทียมกับพระราชา ควรทำอากัปกิริยาเป็นอย่างหนึ่ง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับหมู่อำมาตย์ อันพระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ เสวกามาตย์เป็นคนฉลาด ไม่พึงการทอดสนิทแม้ในข้าสนมกำนัลใน ราชเสวกไม่ควรเป็นคนฟุ้งซ่าน ไม่คะนองกาย วาจา มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ สมบูรณ์ด้วยการตั้งใจไว้ดี ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกไม่ควรเล่นหัว เจรจาปราศรัยในที่ลับกับพระสนมกำนัลใน ไม่ควรถือเอาทรัพย์จากพระคลังหลวง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกไม่พึงเห็นแก่การหลับนอนมากนัก ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกไม่พึงขึ้นร่วมพระตั่ง ราชบัลลังก์ พระราชอาสน์ เรือ และรถพระที่นั่งด้วยอาการทะนงตนว่า เป็นคนโปรดปราน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ไม่ควรเฝ้าให้ไกลนัก ใกล้นัก ควรยืนเฝ้าพอให้ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นถนัด ในสถานที่ๆ พอจะได้ยินพระราชดำรัสเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า พระราชาเป็นเพื่อนของเรา พระราชาเป็นคู่กันกับเรา พระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธได้เร็วไว เหมือนนัยน์ตาอันผงกระทบ ราชเสวกไม่ควรถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต พระราชาทรงบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำหยาบคายกับพระราชาซึ่งประทับอยู่ในราชบริษัท

    เป็นเรื่องของวจีสุจริต ซึ่งก็มีการควร และไม่ควร ในขณะใด อย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ ก็ไม่ควรวางใจในพระราชาทั้งหลาย พึงเป็นผู้สำรวมดำรงตนไว้เพียงดังไฟ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    พระเจ้าอยู่หัวจะทรงยกย่องพระราชโอรสหรือพระราชวงศ์ ด้วยบ้าน นิคม แว่นแคว้น หรือชนบท ราชเสวกควรนิ่งดูก่อน ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษ

    ข้อนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้กับราชเสวก หรือพระราชา แต่จะใช้กับวงศาคณาญาติได้ไหม ก็ได้ เมื่อเวลาที่บุคคลใดจะมอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้กับญาติมิตรสหาย ก็ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระราชาจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้าตามความชอบในราชการของเขา ราชเสวกไม่ควรทัดทานเขา ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกผู้เป็นนักปราชญ์ พึงโอนไปเหมือนคันธนู แล้วพึงไหวไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ มีปัญญาเครื่องรักษาตน แกล้วกล้า ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สิ้นเดช ผู้สิ้นเดชย่อมได้ประสบโรคไอมองคร่อ ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง ราชเสวกไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลาพึงเปล่งวาจาพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระเทียบ เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่ควรพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

    ท่านผู้ฟังเองก็ควรจะเป็นอย่างนี้ไหม ไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลาพึงเปล่งวาจาพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบ กระเทียบ เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่ควรพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ

    ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม สติไม่เกิด พูดมากเกินไปเสียแล้วหรือว่าสิ่งที่ควรพูดก็นิ่งเสีย หรือว่าเป็นคนที่มักโกรธ ถ้าสติไม่เกิดก็จะเป็นคนที่มักโกรธต่อไป หรือว่าในขณะนั้นก็อาจจะเป็นผู้ที่กระทบกระเทียบบุคคลอื่น แต่ถ้าสติเกิดรู้ว่าเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น ก็วิรัติการที่จะกระทบกระเทียบบุคคลอื่นได้ นี่เป็นคุณของสติ และจะเกิดขึ้นได้สำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา พึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในสกุล มีวาจาอ่อนหวาน กล่าววาจากลมเกลี้ยง ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกพึงเป็นผู้ได้รับแนะนำดีแล้ว มีศิลปะ ฝึกฝนแล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ เป็นผู้คงที่ อ่อนโยน ไม่ประมาท สะอาดหมดจด เป็นคนขยัน ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกพึงเป็นผู้มีความประพฤติอ่อนน้อม มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญ เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ราชเสวกนั้นควรอยู่ในสำนักได้

    ราชเสวกพึงเว้นให้ห่างไกลซึ่งทูต ที่ส่งมาเกี่ยวด้วยความลับ พึงดูแลแต่เจ้านายของตน ไม่ควรพูดเรื่องลับในสำนักของพระราชาอื่น ราชเสวกพึงเข้าหาสมาคมกับสมณะ และพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูตโดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

    ราชเสวกเมื่อได้เข้าหาสมาคมกับสมณะ และพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูตแล้ว พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีลโดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้

    ไม่ใช่เพียงเข้าไปหาเฉยๆ แต่ต้องเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น นอกจากนั้นมีข้อความว่า

    ไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้อง หรือวงญาติ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง คนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่เมื่อเขาเหล่านั้นมาหาถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และอาหาร ควรตั้งพวกทาส หรือกรรมกรผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล เป็นคนขยันหมั่นเพียร ให้เป็นใหญ่

    เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ที่บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรกับญาติ มิตรสหายของท่านที่ไม่ตั้งอยู่ในศีล ซึ่งถ้าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลท่านก็ไม่ควรที่จะตั้งให้บุคคลเหล่านั้นเป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าบุคลเหล่านั้นเป็นพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง ถ้าเป็นพาลก็ย่อมนำแต่ความเดือดร้อน หรือว่าสิ่งที่เป็นโทษต่างๆ มาให้ เพราะฉะนั้น คนเหล่านั้นถึงแม้ว่าจะเป็นญาติ ก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่ว่าเมื่อเขาเหล่านั้นมาหาถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และอาหาร

    เมื่อวิธุรบัณฑิตกล่าวสั่งสอนบุตรธิดาแล้ว ก็ได้ไปกับปุณณกยักษ์ถึงสำนักของท้าววรุณนาคราช เมื่อท่านไปถึงสำนักของท่านท้าววรุณนาคราชแล้ว ท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจไม่หวั่นไหวเลย เพราะเหตุว่า ท่านเป็นผู้ที่มีปัญญา และเป็นผู้ที่เจริญกุศล เพราะฉะนั้น ก็ไม่หวั่นกลัวต่ออกุศล ซึ่งเมื่อท่านได้ไปเฝ้าท้าววรุณนาคราช ท่านไม่อภิวาทท้าววรุณนาคราชทั้งๆ ที่เป็นพระราชา เป็นใหญ่ แต่ก็ไม่ไหว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกพระทัยของท้าววรุณนาคราชมาก ท้าววรุณนาคราชก็ตรัสถามว่า

    ท่านวิธุรบัณฑิตนั้น เป็นผู้ถูกภัย คือ ความตาย คุกคามแล้ว เป็นผู้ไม่กลัว และไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา

    คือ คนฉลาดทำอะไรก็ควรทำถูกในกาลเทศะ และเหตุผล แต่เพราะเหตุใด วิธุรบัณฑิตซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญญากลับไม่อภิวาทพระราชา ซึ่งเหมือนกับการกระทำของบุคคลผู้ไม่มีปัญญา

    วิธุรบัณฑิตได้กราบทูลว่า

    นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชรฆาต หรือเพชรฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอนรชนจะพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้บุคคลที่ตนพึงจะฆ่ากราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย

    เป็นเรื่องของการที่ควรอ่อนน้อมต่อกุศลธรรม ไม่ใช่ต่ออกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าจิตใจของใครขณะนี้เป็นอกุศล และต้องการที่จะให้บุคคลอื่นกราบไหว้ แสดงความนอบน้อมในอกุศล ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมจะไม่กระทำการนอบน้อมต่ออกุศลธรรม ด้วยเหตุนี้ เมื่อวิธุรบัณฑิตรู้ว่าพระราชามีความปรารถนาที่จะฆ่าตน เพราะฉะนั้น ก็ไม่อภิวาท เพราะว่าจิตที่คิดจะฆ่า หรือจิตที่คิดจะประหารบุคคลอื่นนั้นเป็นอกุศลจิต

    พระราชาทรงเห็นด้วยกับถ้อยคำของบัณฑิตนั้น วิธุรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่ท้าววรุณนาคราช โดยได้กราบทูลถามว่า วิมาน ความสุข ความสบายทั้งหมดที่ท้าววรุณนาคราชได้นี้ มาจากไหน

    ท้าววรุณนาคราชได้ตรัสว่า

    เรา และภรรยาเมื่อยังอยู่ในมนุษย์โลก เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี ในครั้งนั้น เรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย และเราได้บำรุงสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ เราทั้งสองได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พักอาศัย ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าว และน้ำโดยเคารพทานที่ได้ถวายโดยเคารพนั้น เป็นวัตรของเรา และการสมาทานวัตรนั้น เป็นพรหมจรรย์ของเรา

    ดูกร ท่านผู้เป็นปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้ เป็นวิบากแห่งวัตร และพรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติดีแล้ว

    ผู้ที่ฉลาด เมื่อได้ย้อนระลึกถึงบุญของตนเองที่ได้กระทำไว้ในอดีต ที่เป็นเหตุให้ได้ผลที่น่ารื่นรมย์พอใจต่างๆ ก็ทำให้ระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะฆ่าผู้ที่เป็นบัณฑิต

    ดังนั้น ท้าววรุณนาคราชก็ได้พาวิธุรบัณฑิตไปเฝ้าพระชายา คือ พระนาง วิมลา วิธุรบัณฑิตก็ไม่อภิวาทเช่นเดิม (ข้อความซ้ำเหมือนกัน) และวิธุรบัณฑิตก็ได้แสดงธรรมแก่พระนางวิมลาด้วย ซึ่งเมื่อพระนางได้เข้าใจธรรม ได้เห็นคุณ และโทษของกุศล และอกุศลกรรม ได้ระลึกถึงบุญในอดีตที่ได้กระทำไว้ ที่ทำให้ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และวิมานที่น่ารื่นรมย์

    พระนางวิมาลาได้ตรัสว่า

    ปัญญานั่นเองเป็นหทัยของบัณฑิตทั้งหลาย เราทั้งสองนั้นยินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก

    และได้ส่งวิธุรบัณฑิตกลับคืนไปสู่แคว้นกุรุรัฐในวันนั้น

    เป็นสิ่งที่เห็นได้ว่า ปัญญา ความรู้ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลนั้น ย่อมสามารถทำให้ผู้ที่ดำเนินชีวิตในทางกุศลพ้นภัยได้

    ข้อความตอนท้ายของวิธุรชาดกมีว่า

    เมื่อพระราชาได้วิธุรบัณฑิตกลับคืนแล้ว ทรงปลาบปลื้มโสมนัสอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าที่จะได้สิ่งอื่นใด พระราชาตรัสว่า

    มีต้นไม้ต้นหนึ่ง เกิดริมประตูวังของเรา ลำต้นประกอบด้วยปัญญา กิ่งแล้วด้วยศีล ต้นไม้นั้นตั้งอยู่ในอรรถ และธรรม มีผลเต็มไปด้วยเบญจโครส ดารดาษไปด้วยช้าง ม้า และโค เมื่อมหาชนทำการบูชาต้นไม้นั้น เล่นเพลินอยู่ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง และดนตรี มีบุรุษมาไล่เสนาที่ยืนแวดล้อมต้นไม้นั้นให้หนีไป แล้วถอนต้นไม้ไป ต้นไม้นั้นกลับมาตั้งอยู่ที่ประตูวังของเราตามเดิม

    วิธุรบัณฑิต เช่นกับต้นไม้ใหญ่นี้ กลับมาสู่ที่อยู่ของตนแล้ว ท่านทั้งหลายจงกระทำการเคารพนอบน้อมแก่ต้นไม้ คือ วิธุรบัณฑิตนี้เถิด ขอเชิญอำมาตย์ผู้มีความปลื้มใจด้วยยศที่ได้เพราะอาศัยเราทุกๆ ท่านเทียว จงแสดงจิตของตนให้ปรากฏในวันนี้ ท่านทั้งหลายจงกระทำบรรณาการให้มาก จงกระทำการเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือ วิธุรบัณฑิตนี้ สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถูกผูกไว้ และที่ถูกขังไว้ ซึ่งมีอยู่ในแว่นแคว้นของเรา จงปล่อยไปให้หมด วิธุรบัณฑิตหลุดพ้นจากเครื่องผูก ฉันใด สัตว์เหล่านั้นก็จงหลุดพ้นจากเครื่องผูก ฉันนั้น

    ต่อจากนั้นก็เป็นการที่จะให้ประชาชนทั้งหลาย ได้มารื่นเริงยินดีด้วยการที่ วิธุรบัณฑิตได้กลับมาสู่พระนครอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประชาชนทั้งหลายต่างก็มีจิตโสมนัส พากันโบกผ้าขาว โห่ร้องขึ้นเสียงอึงมี่ ด้วยประการฉะนี้แล

    นี่เป็นข้อความธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่อยากให้ท่านผู้ฟังผ่านสิ่งที่ท่านควรจะได้พิจารณา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของท่านเองในทางกุศลยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลใดก็ตาม มีชีวิตอย่างไรก็ตาม ธรรมย่อมเกื้อกูลท่านทั้งสิ้น


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 350


    หมายเลข 13234
    30 ต.ค. 2567