สัญญาสูตรที่ ๒ เพื่อกัน ระงับ และดับโลภะ


    โลภมูลจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกประเภทต่างๆ โดยนัยของพระอภิธรรม ไม่มีอะไรมาก แต่ที่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ นั้น มากด้วยความวิจิตรต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางที่จะให้ละโลภะด้วย นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม เมื่อได้ทรงแสดงเรื่องของโลภะมากมายโดยประการต่างๆ พระองค์ผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ได้ทรงแสดงทางที่จะกัน หรือกั้น หรือละ หรือคลาย หรือระงับโลภะ ต่างๆ ด้วย

    อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต สัญญาสูตรที่ ๒ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการอบรมเจริญสัญญา ๗ ประการ เพื่อกัน และระงับ และดับโลภะทั้งนั้น คือ

    อสุภสัญญา ๑ มรณสัญญา ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรต-สัญญา ๑ อนิจจสัญญา ๑ อนิจเจทุกขสัญญา ๑ ทุกเขอนัตตสัญญา ๑

    ใครมีสัญญาเหล่านี้บ้างในวันหนึ่งๆ ถ้ายังไม่มี และอบรมเจริญขึ้น ก็เป็นทางที่กัน และกั้นโลภะทั้งนั้นในวันหนึ่งๆ ตามควรแก่กำลังของสัญญานั้นๆ เพราะโดยมากจะเป็นสุภสัญญา ไม่ใช่อสุภสัญญา เพราะฉะนั้น สำหรับสัญญา ๗ ประการที่จะกัน และระงับ และดับโลภะ คือ

    สัญญาที่ ๑ อสุภสัญญา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

    ผู้มีใจอันอบรมด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก

    ไม่ใช่ครั้งเดียว หรือ ๒ ครั้ง แต่ต้องระลึกนึกถึงบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นสัญญาที่จำได้ ระลึกได้อย่างรวดเร็วหรือเพิ่มขึ้น

    จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการครองเรือน คือ การร่วม เมถุนธรรม อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่หรือ เส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากันไม่คลี่ออก ฉะนั้น

    นี่คือการระลึกถึงอสุภสัญญาบ่อยๆ เนืองๆ แต่ผู้ที่แม้ว่าจะเจริญอสุภสัญญาแล้ว จิตก็ยังไหลไปในการครองเรือน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะผลแห่งการอบรมเจริญภาวนานั้นยังไม่ถึงที่ ฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอสุภสัญญานั้น และเมื่ออบรมเจริญอสุภสัญญาถึงที่แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการครองเรือน เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอสุภสัญญานั้น รู้ทั่วถึงต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสุภสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ คือ การอบรมเจริญอสุภสัญญา

    ซึ่งโดยนัยนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน มิฉะนั้นแล้วเพียงอสุภสัญญาจะไม่เป็นผู้รู้ทั่วถึงในอสุภสัญญา แต่ต้องรู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริงจึงจะ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด นี่คือประโยชน์ของอสุภสัญญา ซึ่งทุกคนพิจารณาได้ว่า วันหนึ่งๆ เจริญอสุภสัญญาเพื่อที่จะกันโลภะบ้างไหม

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1363

    สัญญาที่ ๒ มรณสัญญา

    เมื่อเจริญอบรมมรณสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการรักชีวิต

    ถ้ายังรักชีวิตอยู่ แสดงว่าการอบรมเจริญมรณสัญญายังไม่ถึงที่ คือ ยังไม่สามารถที่จะกันความรักชีวิตได้ ถ้าผู้ที่มีความรักชีวิตมากย่อมกลัวตาย และอาจ จะทำร้ายสัตว์อื่น บุคคลอื่นได้ เพราะเหตุที่รักชีวิตของตน ซึ่งเป็นอกุศลกรรม ทำให้ไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพราะมีความรักชีวิต

    ทุกคนเกิดมาต่างกันหลายประการ โดยชาติ โดยสกุล โดยฐานะ โดยสมบัติ แต่เวลาตาย เหมือนกันหมด หรือต่างกัน

    ผู้ฟัง ต่างกันที่การประดับศพ คนมีทรัพย์สมบัติมากก็ประดับมาก

    สุ. แต่ผู้ที่ตายแล้วไม่รู้เรื่องเลย

    ผู้ฟัง ถ้าตายแล้ว เหมือนกันหมด

    สุ. คนที่ยังอยู่มองเห็นการประดับศพว่าต่างกัน แต่คนที่ตายแล้ว เหมือนกันหมด คือ สูญสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น

    สัญญาที่ ๓ อาหาเรปฏิกูลสัญญา

    การพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารซึ่งบริโภคอยู่ทุกวัน ถ้าผู้ใดเจริญ อาหาเรปฏิกูลสัญญาบ่อยๆ ย่อมทำให้จิตหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากตัณหา ในรส ซึ่งมีมากเหลือเกิน ไม่ว่าใคร เวลาที่พูดถึงเรื่องอาหารก็ อะไรอร่อย นั่นแสดงแล้ว ตัณหาในรส

    ถ้าเป็นผู้เจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญาในขณะนั้น ย่อมทำให้ถอยกลับจาก ตัณหาในรส แต่ถ้าจิตยังไหลไปในตัณหาในรส แสดงว่าการเจริญอาหาเรปฏิกูล-สัญญานั้นยังไม่ถึงที่ ถ้าเป็นการอบรมเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญาที่ถึงที่แล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เพราะว่าสติระลึกในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร

    ถ้าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ กำลังเห็นในขณะที่บริโภค ไม่ใช่ขณะที่กำลังลิ้มรส เพียงเท่านี้ก็เป็นประโยชน์ที่จะให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สิ่งที่ควรยินดี แม้รสที่อร่อยที่กำลังปรากฏก็สั้นมาก เพราะเพียงเสียงปรากฏ รสอร่อยในขณะนั้นก็ ไม่ปรากฏแล้ว ซึ่งนี่คือผู้ที่จะมีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

    สัญญาที่ ๔ คือ การเจริญ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา

    ไม่เห็นว่าสิ่งใดๆ ในโลกเป็นที่ยินดี ย่อมทำให้จิตหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากความวิจิตรของโลก หรือความวิจิตรแห่งโลก ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก

    ซึ่งปกติแล้ว ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลกที่เพิ่มขึ้นทุกวันตามความคิดที่วิจิตรขึ้น บางท่านตื่นเช้า อ่านรายการสินค้าแล้วว่า ที่ประเทศไหนผลิตสินค้าอย่างไหน และ จะออกจำหน่ายเมื่อไร เริ่มตั้งแต่เช้าก็มีรายการสินค้าต่างๆ ซึ่งวิจิตรยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องใช้ ของใช้ต่างๆ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสัพพโลเกอนภิรตสัญญา จะไม่เห็นว่าสิ่งใดๆ ในโลกเป็นที่ยินดี ไม่ได้สนใจที่จะต้องตามความวิจิตรของโลก เพราะฉะนั้น การเจริญสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น คือ ไม่เห็นว่าสิ่งใดๆ ในโลกเป็นที่ยินดี ตามที่ชาวโลกกำลังยินดีไปตามความวิจิตรที่เพิ่มขึ้น

    สัญญาที่ ๕ คือ การเจริญ อนิจจสัญญา

    จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างต้องมาที่ลักษณะของไตรลักษณ์ การเจริญอนิจจสัญญา คือ พิจารณาสภาพความไม่เที่ยงซึ่งมีอยู่เป็นปกติประจำวัน ถ้าเพียงแต่จะพิจารณา เมื่อเช้ากับเดี๋ยวนี้ ก็ต่างกันแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งยังไม่เกิดเมื่อเช้านี้ ตอนบ่ายนี้อาจจะเกิดขึ้น ก็แสดงถึงความไม่เที่ยง สิ่งที่มีแล้วหมดไป ก็แสดงถึงความไม่เที่ยง สิ่งซึ่งยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ก็แสดงถึงความไม่เที่ยง

    เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาถึงสภาพที่ไม่เที่ยงให้ละเอียดขึ้น ย่อมทำให้ จิตหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นไปรับในลาภ สักการะ และคำสรรเสริญ เมื่อได้อบรมเจริญอนิจจสัญญาถึงที่ แต่ถ้าไม่ถึงที่ ก็ยังไหลไปสู่การยื่นไปรับลาภ สักการะ และคำสรรเสริญ ซึ่งบางคนติดมากจริงๆ ในวันหนึ่งๆ อาจจะไม่คิดเรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องลาภ เรื่องยศ และเรื่องคำสรรเสริญ เพราะไม่ได้เจริญอนิจจสัญญา

    สัญญาที่ ๖ คือ การเจริญ อนิจเจทุกขสัญญา

    เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงแล้ว ยังต้องเห็นว่าเป็นทุกข์ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่เที่ยงๆ ก็แล้วไป แต่ต้องเห็นว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้น ตลอดวัน เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    แม้แต่การที่จะต้องแก้ไขสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน ถ้าพิจารณาจริงๆ จะเห็นว่า นั่นคือทุกข์ที่ต้องแก้ไข ถ้าไม่ต้องแก้ไขเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะชีวิตจะคงอยู่โดยที่ไม่มีการบริหาร หรือไม่มีการแก้ไขสิ่งบกพร่องต่างๆ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอนิจเจทุกขสัญญา ย่อมทำให้จิตเห็นภัยอย่างแรงกล้าในความเฉื่อยชา ความเกียจคร้าน ความท้อถอย ความประมาท การไม่ประกอบความเพียร การไม่พิจารณา ย่อมปรากฏเปรียบเหมือนความสำคัญว่า เป็นภัย ย่อมปรากฏเหมือนขณะเพชฌฆาตเงื้อดาบขึ้น

    นี่คือความไม่เที่ยงจริงๆ ถ้าทุกคนรู้ว่า อาจจะตายเดี๋ยวนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือเมื่อไรก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะลืม คือ ไม่ได้คิดถึงความเป็นอนิจจังซึ่งสั้นที่สุด และอาจจะสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในขณะไหนก็ได้

    ถ้าคิดถึงการเกิดของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งบางครั้งก็เป็นสุคติภูมิ บางครั้งก็เป็น ทุคติภูมิ เสมือนภูเขาสูงใหญ่กลิ้งมาหาทั้ง ๔ ทิศ ในขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาที่คิดถึงการเกิด การตาย ซึ่งจะต้องมีต่อไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ แต่มองไม่เห็นเลย แต่ถ้าเห็นเป็นภัยใหญ่ เสมือนเขาสูงใหญ่ที่กลิ้งมาหาทั้ง ๔ ทิศ เมื่อนั้นจะรู้สึกว่า ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ก็ต้องมีการจุติ และการปฏิสนธิ และมีการรับผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรมอย่างสั้นๆ ถ้าเป็นกามาวจรวิบาก ไม่ยาวนานเลย เช่น เสียงกระทบปรากฏนิดเดียวหมดไป สีที่กำลังปรากฏทางตากระทบนิดเดียวหมดไป กลิ่นที่กระทบจมูกนิดเดียวหมดไป อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่กระทบกายก็เพียงเล็กน้อย และหมดไป

    สัญญาที่ ๗ คือ การอบรมเจริญ ทุกเขอนัตตสัญญา

    ย่อมเห็นว่าสภาพที่เป็นทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ผู้ที่อบรมเจริญ ทุกเขอนัตตสัญญา ย่อมมีใจปราศจากทิฏฐิว่าเรา ปราศจากตัณหาว่าของเรา และปราศจากมานะ ทั้งในร่างกายที่มีใจครองนี้ และในสัพพนิมิตในภายนอกเสียได้ ก้าวล่วงกิเลส ๓ ประการ สงบระงับ หลุดพ้นได้เป็นอย่างดี

    แต่ถ้ายังไม่ถึงที่ ก็ยังหวนกลับไปด้วยทิฏฐิว่าตัวเรา หรือว่าด้วยตัณหาว่า ของเรา หรือด้วยมานะว่าเรา สำหรับผู้ที่ถึงที่ย่อมได้ผล คือ มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ

    จบ สูตรที่ ๖

    นี่เป็นเรื่องของโลภะซึ่งมีอยู่เป็นประจำ แต่ยังมีหนทาง มีสัญญาต่างๆ ที่จะ ทำให้โลภะนั้นคลายลง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1364


    หมายเลข 13240
    9 พ.ย. 2567