สติปัฏฐาน กับ วิปัสสนากัมมัฏฐาน


    การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร


    ถ. คำว่า สติปัฏฐาน กับ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ความเข้าใจของบางท่านยังคลาดเคลื่อนอยู่ คล้ายๆ กับว่าเป็นคนละเรื่อง คือ การเจริญสติปัฏฐานก็อย่างหนึ่ง การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาย้ำอีกสักครั้งหนึ่งว่า การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร อีกประเด็นหนึ่ง คือ การพิจารณารูปนาม ท่านกล่าวหลายแบบ ขันธ์ ๕ แบบหนึ่ง ธาตุแบบหนึ่ง และอายตนะอีกแบบหนึ่ง ที่จริงก็รูปนามนั่นแหละ ที่มีชื่อต่างๆ กันอย่างนี้ ต้องมีการพิจารณาต่างหากเป็นพิเศษประการใด

    สุ . ถ้าท่านผู้ใดมีความเห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่างกัน หมายความว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้รู้ในความต่างกัน ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านมีเหตุผลประการใดที่จะกล่าวอย่างนั้น ซึ่งข้อความนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก

    ในมหาสติปัฏฐานสูตร หนทางที่จะทำให้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ การเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีกล่าวไว้ว่า มีหนทางอื่นอีกไหมนอกจากสติปัฏฐาน หรือมรรคมีองค์ ๘ ไม่มี

    วิปัสสนา แปลว่า ปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง การที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้มีหนทางเดียว คือ อาศัยสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญาพิจารณาจึงรู้ชัดว่า ลักษณะสภาพธรรมนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรมแล้ว ปัญญาที่รู้ชัดคือ วิปัสสนาจะเกิดได้อย่างไร ไม่มีหนทางเลย เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ต้องขอความรู้จากท่านผู้นั้นว่าเพราะเหตุใดท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะโดยมากที่พูดกัน คำที่ใช้กันมาก คือ ทำวิปัสสนา ใช้คำว่า ทำวิปัสสนา แต่ที่ถูกแล้ว ควรเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะไม่ใช่เป็นตัวตนที่ทำ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่ดู แต่การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรมได้ ก็เพราะอาศัยการฟังแล้วเข้าใจถูกต้อง เป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏ

    สำหรับข้อที่ว่า ธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้นั้นมีมาก คือ มีทั้งขันธ์ ๕ มีทั้งอายตนะ ๑๒ มีทั้งธาตุ ๑๘ นี้ ทั้งขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ก็เป็นนามเป็นรูป เป็นสภาพธรรมใดๆ ที่เกิดปรากฏ แล้วก็หมดไป ดับไป

    สภาพธรรมนั้นเป็นขันธ์ เพราะเหตุว่าเกิดแล้วก็ดับ เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจะไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘

    สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว จะรู้สภาวะลักษณะตรงกัน เหมือนกันตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่า ผู้ที่จะเจริญขันธ์ ๕ ทำอย่างหนึ่ง ผู้ที่จะเจริญอายตนะ ๑๒ ทำอีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่จะเจริญธาตุ ๑๘ ก็ทำอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะเหตุว่านามธรรมใดก็ตาม รูปธรรมใดก็ตาม ที่เกิดปรากฏที่จะไม่ใช่ขันธ์หนึ่งขันธ์ใดใน ๕ ขันธ์นั้น ไม่มี รูปชนิดหนึ่งชนิดใดเกิดขึ้นแล้วดับไป รูปทุกชนิดนั้นเป็นรูปขันธ์ นามชนิดหนึ่งชนิดใดที่เกิดขึ้น และดับไป นามนั้นก็จะต้องเป็นเวทนาขันธ์ หรือสัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ จะพ้นไปจากขันธ์ ๕ ไม่ได้ และเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ จะต้องปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ซึ่งก็เป็นอายตนะ

    และในขณะนั้น เช่น สีที่กำลังปรากฏทางตา ใช้คำว่า “สี” หรือใช้คำว่า “วัณณะ” “วัณโณ” “รูปารมณ์” ก็ได้ ในขณะที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นของจริง เป็นรูปธรรม ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาท สีสันวัณณะเหล่านี้จะปรากฏได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น รูปก็เป็นรูปายตนะ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่มีอะไรสงสัยในขันธ์ ๕ ในอายตนะ ๑๒ ในธาตุ ๑๘ ฟังด้วยความตั้งใจ พิจารณา และพิสูจน์ธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะเจริญสติปัฏฐานได้ถูกต้อง


    ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 207


    หมายเลข 13241
    15 พ.ย. 2567