สุมนสูตร (ผลของทาน)
เรื่องของทานไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น คนที่ไม่ใช่พุทธบริษัทมีการให้ไหม มี และถ้าเป็นผลของการให้นั้น ย่อมได้รับผลอย่างนี้ ทั้งที่เป็นปัจจุบัน และหลังจากที่สิ้นชีวิตจากโลกนี้แล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมเป็นไปตามควรแก่เหตุ
สำหรับผลของทานที่จะกล่าวถึง คือ ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สุมนวรรคที่ ๔ สุมนสูตร
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สุมนวรรคที่ ๔ สุมนสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล สุมนาราชกุมารี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าปเสนทิโกศล แวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และราชกุมารี ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาค ๒ คนมีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งไม่ให้ คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุมนา คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้ เป็นเทวดาย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ด้วยอายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์ ดูกร สุมนา ผู้ที่ให้ เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้ ฯ
นี่เป็นความวิจิตรของจิตของการสะสมของแต่ละคน ซึ่งบางท่านเป็นผู้ให้มาก บางท่านเป็นผู้ที่มีศีล มีปัญญา มีศรัทธา เพราะฉะนั้น ผลของกุศลทำให้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ทั้ง ๒ ท่าน แต่เพราะความวิจิตรของจิต และเพราะความวิจิตรของกรรม ก็ทำให้ทั้ง ๒ ท่านนี้ต่างกัน ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธาเท่ากัน มีศีลเท่ากัน มีปัญญาเท่ากัน แต่คนหนึ่งเป็นผู้ให้ อีกคนหนึ่งเป็นผู้ไม่ให้ ความวิจิตรของจิตก็ย่อมทำให้สภาพของท่านทั้ง ๒ นั้น ต่างกันด้วย
สุมนาราชกุมารีได้กราบทูลถามต่อไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้ เป็นมนุษย์ ย่อมข่มคนไม่ให้ได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ด้วยอายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์ ดูกร สุมนา ผู้ให้ เป็นมนุษย์ย่อมข่มคนผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้
สุมนาราชกุมารีกราบทูลถามต่อไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวช แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ คนที่ให้ เป็นบรรพชิตย่อมข่มคนที่ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ เมื่อออกปากขอ ย่อมได้จีวรมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอ ย่อมได้บิณฑบาตมาก เมื่อไม่ออกปากขอ ย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอ ย่อมได้เสนาสนะมาก เมื่อไม่ออกปากขอ ย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอ ย่อมได้บริขาร คือ ยาที่เป็นเครื่องบำบัดไข้มาก เมื่อไม่ออกปากขอ ย่อมได้น้อย และจะอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นอันมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย ดูกร สุมนา ผู้ให้เป็นบรรพชิตย่อมข่มผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้
จนกระทั่งทั้ง ๒ ท่านจะบวชเป็นบรรพชิต ก็ยังมีความต่างกัน ตามควรแก่เหตุ
สุมนาราชกุมารีกราบทูลถามต่อไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุอรหัต แต่คนทั้งสองนั้นทั้งที่ได้
บรรลุอรหัตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุมนา เราไม่กล่าวว่า มีเหตุแตกต่างกันใดๆ ในวิมุตติกับวิมุตติ ข้อนี้
สำหรับความต่างกันในความเป็นพระอรหันต์นั้นไม่มี
สุมนาราชกุมารีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อย่างนั้นสุมนา อย่างนั้นสุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศ ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลกด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ ฯ
เมฆที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อยตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอน และที่ลุ่ม ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยทัศนะ เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และเปี่ยมด้วยโภคะ ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ในปรโลก ดังนี้
สุมนาราชกุมารี กราบทูลพระผู้มีพระภาคตอนท้าย มีข้อความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต ฯ
สมัยนี้บางท่านอาจจะคิดว่า ถ้ามีเงินเสียอย่างหนึ่ง คงจะสำเร็จสมความปรารถนาทุกอย่าง แต่ข้อความในพระไตรปิฎก ถ้ามีบุญเสียอย่างหนึ่ง ย่อมมีแต่ผลที่ดี ที่เป็นสุขทั้งนั้น ซึ่งเป็นผลของบุญ
เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะถือภาษิตที่ว่า ถ้ามีเงินเสียอย่างหนึ่ง แต่ควรจะเป็น ถ้ามีบุญเสียอย่างหนึ่ง หรือ ถ้าได้กระทำบุญเสียอย่างหนึ่ง ก็ย่อมเป็นที่แน่นอนได้ว่า ท่านย่อมจะได้รับทั้งอายุ วรรณะ สุข พละ ทั้งที่เป็นของสวรรค์ และทั้งที่เป็นของมนุษย์ เพราะเหตุว่าผู้ที่ไม่ได้กระทำบุญไว้ ปรารถนาเท่าไร ย่อมจะไม่ได้สมความปรารถนา แต่ผู้ที่กระทำบุญไว้แล้ว กุศลกรรมที่ได้ทำนั้นเองจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสะดวกสบาย และความสุขสำราญทั้งปวง
อรรถกถามโนรถปุรณี ซึ่งเป็น อรรถกถาสุมนสูตร มีข้อความว่า
สุมนาราชกุมารีได้ตั้งความปรารถนาไว้ในกาลสมัยแห่งพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยนั้นท่านได้เกิดเป็นธิดาเศรษฐี แต่ว่าท่านถูกห้ามไม่ให้ถวายทาน เพราะฉะนั้น ท่านก็ถวายข้าวปายาสโดยวิธีที่เอาดอกมะลิปิดคลุมข้างบนไว้ และในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านเกิดเป็นพระธิดาของพระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีสหชาติ ผู้ที่เกิดร่วมวันเดียวกัน ๕๐๐ และในชมพูทวีปนั้น มี กุมาริกาเพียง ๓ คนเท่านั้นที่ได้รถ ๕๐๐ คันจากบิดา คือ จุนทีราชกัญญา ซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าพิมพิสาร ๑ สุมนาราชกัญญาพระราชธิดาของพระเจ้าปเสนทิ-โกศล ๑ และวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี ๑
พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมแก่สุมนาราชกุมารีเมื่อครั้งที่ท่านได้ไปเฝ้า ระหว่างทางที่พระผู้มีพระภาคเสด็จสู่พระนครสาวัตถีเป็นครั้งแรก เมื่อฟังธรรมจบ ท่านก็บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลพร้อมบริวาร ๕๐๐ และที่ท่านได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถามเรื่องผลของทานดังข้อความในสุมนสูตรนี้ ก็เป็นเพราะว่าในสมัยพระผู้มี-พระภาคพระนามว่ากัสสปะ มีภิกษุ ๒ รูป รูปหนึ่งประพฤติสาราณียะ เป็นธรรมที่เกื้อกูลกัน เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ส่วนอีกรูปหนึ่งนั้น เป็นผู้ที่ทำกิจในโรงภัตร คือ เป็นผู้ที่ไม่แบ่งลาภให้บุคคลอื่น แต่เป็นผู้ที่บริโภคเอง ชื่อว่า ผู้บำเพ็ญวัตรในโรงภัตร คือ เป็นภัตตัคควัตร
เพราะฉะนั้น พระภิกษุ ๒ รูปนี้ รูปหนึ่งเป็นผู้ประพฤติสาราณียธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เกื้อกูลกัน เป็นธรรมที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ส่วนอีกรูปหนึ่งนั้น เป็นผู้ที่ทำกิจในโรงภัตร เป็นผู้ที่บริโภคเอง พระภิกษุผู้ประพฤติสาราณียธรรมนั้น ท่านเป็นทายก คือ เป็นผู้แบ่งลาภที่ตนได้ให้แก่ผู้อื่น แล้วจึงบริโภค
ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ ภิกษุ ๒ รูปนั้นได้เกิดในกรุงสาวัตถี ภิกษุรูปผู้เคยบำเพ็ญสาราณียธรรม เกิดเป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล ส่วนอีกรูปหนึ่ง คือ ผู้ที่ทำกิจในโรงภัตร ผู้ที่ไม่แบ่งลาภ แต่บริโภคเองในโรงภัตรนั้น เกิดเป็นลูกของอุปัฏฐากของพระเจ้าปเสนทิโกศล ทั้ง ๒ ท่านนี้เป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกัน และได้สนทนาธรรมกันด้วยข้อความที่น่าสนใจมาก เพราะว่าท่านทั้ง ๒ เป็นผู้ที่ได้เคยสะสมบุญบารมีมาแล้วในอดีต ตั้งแต่ครั้งพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ซึ่งข้อความธรรมที่ท่านสนทนากัน ก็เป็นเรื่องที่ท่านได้สะสมปัญญา ความรู้ในข้อธรรมนั้นๆ เมื่อท่านทั้ง ๒ นี้สนทนากัน สุมนราชกุมารีได้ฟัง ก็เกิดความสงสัยว่า ผู้ที่มีธรรมที่ได้สะสมอบรมมา ๒ ท่านนี้ จะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง จึงได้ไปเฝ้า และกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ เรื่องของการเป็นผู้ที่มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่ากัน แต่ว่าผู้หนึ่งให้ อีกผู้หนึ่งไม่ให้
ที่มา ...