ทดลองทำวิปัสสนา


    ได้สนทนากับท่านผู้ฟัง แต่ละท่านก็มีข้อสงสัยคล้ายกันบ้าง ต่างกันบ้าง มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านทดลองทำวิปัสสนาโดยการทำช้าๆ เพราะคิดว่า สติคงจะมั่นคงดีด้วยการทำช้าๆ แต่เวลาท่านจะทำวิปัสสนาแบบนี้ ท่านต้องปิดประตู ไม่ให้ใครเห็น เพราะว่าไม่เป็นปกติ ซึ่งปกติท่านก็รับประทานอาหารตามธรรมดา พูดคุยตามธรรมดา เดินตามธรรมดา แต่พอท่านคิดจะประคับประคองกิริยาอาการให้ช้าลง เพื่อให้สติมั่นคงขึ้น ท่านก็ปิดประตูไม่ให้ใครเห็น และเริ่มลงมือรับประทานอาหารช้าๆ ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนชี้แจงให้ท่านทราบว่า ทราบไหมว่า ขณะนั้นอะไรทำให้ทำผิดปกติอย่างนั้น ทำไมเกิดการกระทำที่ผิดปกติขึ้น เพราะอะไร ปกติเป็นอย่างหนึ่ง แต่ไปทำสิ่งที่ผิดปกติขึ้น เพราะอะไร

    เพราะความต้องการสติ เพราะความเป็นตัวตน ซึ่งขณะนั้นท่านก็คิดว่า ท่านมีสติมากทีเดียว แต่ขณะนั้นรู้อะไร รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเหมือนในขณะนี้ไหม มัวแต่ไปประคับประคอง ในขณะที่ประคับประคองก็เป็นตัวตนที่กำลังประคับประคองหรือเปล่า หรือว่าเป็นสัมมาสติที่ระลึกทันทีตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะว่าอาศัยการได้ยิน การได้ฟัง การเข้าใจลักษณะของสติ เพราะฉะนั้น สติก็ระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อระลึกแล้ว หมดไป ก็แล้วไป ไม่มีเยื่อใย ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีตัวตนที่จะไปพลิกแพลง หรือว่าจะไปสร้างแบบอะไรขึ้นมาที่คิดว่า ถ้าทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ก็จะได้ผลเร็วขึ้น ซึ่งผลที่แท้จริงนั้น คือ ปัญญาที่เกิดพร้อมสติ ที่ระลึกตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริง คือ ในขณะนี้

    ในขณะนี้ไม่ต้องพลิกแพลง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องเสแสร้งอะไรเลย ขณะนี้เป็นของจริงที่สติจะต้องระลึก และปัญญาก็รู้ชัด จึงจะละกิเลสได้ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่มั่นคงว่าปัญญาจะต้องรู้อะไร ความต้องการจะพาท่านไปสู่การลูบคลำข้อปฏิบัติที่จะไม่ทำให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง คือ ในขณะนี้

    ท่านคิดว่า ท่านรู้ แต่ความจริงไม่ได้รู้ตามปกติ จะชื่อว่ารู้ได้ไหม ไปประคับประคอง ไปทำอะไร และเข้าใจว่า ในขณะนั้นสติเกิดมากทีเดียว แต่ความจริงไม่ได้รู้สภาพธรรมตามปกติ ท่านคิดว่าเป็นสติ ประคับประคองไว้ แต่ว่าความจริงแล้ว ผู้ที่จะไม่หลงลืมสติเช่นนั้นได้ต้องเป็นพระอรหันต์ และการกระทำของท่านก็เป็นปกติด้วย ไม่ใช่ผิดปกติ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 216


    หมายเลข 13243
    11 พ.ย. 2567