พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อที่ทำเฉพาะ


    ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่ได้รับจดหมายจากท่านผู้ฟังพร้อมทั้งหนังสือบางเล่มด้วย ได้พูดถึงเรื่องการฉันอาหารเนื้อว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่สมควร ซึ่งมูลเหตุมาจากครั้งที่ท่านสีหเสนาบดี ผู้เป็นสาวกของนิครนถ์นาฏบุตรได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคฟังธรรม ซึ่งเมื่อท่านเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ท่านสีหเสนาบดีก็ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์รับภัตตาหารที่บ้านของท่านในวันรุ่งขึ้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงรับอาราธนาโดยดุษณียภาพ

    ท่านสีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กให้ไปหาซื้อเนื้อสดที่เขาขาย เมื่อได้มาแล้วก็ได้สั่งให้เขาจัดเตรียมภัตตาหารอย่างประณีตถวายพระผู้มีพระภาค

    พวกนิครนถ์เสียใจที่ท่านสีหเสนาบดีมีความเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค พวก นิครนถ์พากันกล่าวหาว่า ท่านสีหเสนาบดีล้มสัตว์เลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารถวาย พระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคทรงทราบอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อนั้นที่เขาทำเฉพาะเจาะจงตน

    ด้วยเหตุอันเป็นเค้ามูลนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงพระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อที่ทำเฉพาะ

    ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค มีว่า

    พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อที่ทำเฉพาะ

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำจำเพาะ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปลา เนื้อ ที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ

    มูลเหตุของการที่จะทรงพระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อที่ทำเฉพาะ ก็เพราะเหตุว่า พวกนิครนถ์กล่าวหาว่า พระผู้มีพระภาคทรงทราบอยู่ก็ยังเสวยเนื้อนั้นที่เขาทำเฉพาะเจาะจงตน แต่ว่าตามความจริงแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ปลา เนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ

    หมายความว่าถวายได้ไหม ได้

    สำหรับในเรื่องเนื้อนี้ บางท่านอาจจะได้ยินคำกล่าวแย้งว่า พระพุทธศาสนา นั้นคล้ายๆ กับว่า ปากว่า ตาขยิบ เป็นคำกล่าวหาของผู้ที่ไม่เข้าใจคำสอนโดยละเอียด เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนานั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นว่า ควรเว้นการเบียดเบียน ไม่ควรฆ่า ไม่ควรทำร้าย ไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น และบุคคลอื่น แต่ทำไมพุทธบริษัทจึงบริโภคเนื้อสัตว์ ทำไมพระภิกษุจึงยังฉันภัตตาหารประเภทเนื้อ เป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ขอให้ท่านผู้ฟังคิดถึงสภาพความจริงของโลก มีทั้งบุคคลที่บริโภคเนื้อสัตว์ มีทั้งบุคคลที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ พวกมังสวิรัติพวกหนึ่ง และ พวกที่ยังคงบริโภคเนื้อสัตว์ แม้ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาก็มี

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ห้ามใครไม่ให้ฆ่าอะไร ห้ามได้ไหม เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะทำอย่างไร ก็จะต้องประพฤติเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลที่บริโภคเนื้อสัตว์มีอยู่ จะถือว่าอาหารประเภทเนื้อที่ถวายแก่พระภิกษุเป็นการฆ่าจำเพาะเจาะจงพระภิกษุได้ไหม ในเมื่อบุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่ปกติบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ถ้าบุคคลใดเป็นมังสวิรัติ แม้จะนิมนต์พระภิกษุ จะไม่มีอาหารประเภทเนื้อสัตว์เลย เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย เมื่อมีศรัทธาที่จะถวายสิ่งใด ก็รับสิ่งนั้น สำหรับเรื่องนี้ ไม่ใช่มีปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะในสมัยนี้ แม้ในครั้งพุทธกาล ก็มีผู้ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อยู่


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 205


    หมายเลข 13246
    13 พ.ย. 2567