ชีวกสูตร เนื้อที่ไม่ควร และควรบริโภค
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ห้ามใครไม่ให้ฆ่าอะไร ห้ามได้ไหม เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะทำอย่างไร ก็จะต้องประพฤติเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลที่บริโภคเนื้อสัตว์มีอยู่ จะถือว่าอาหารประเภทเนื้อที่ถวายแก่พระภิกษุเป็นการฆ่าจำเพาะเจาะจงพระภิกษุได้ไหม ในเมื่อบุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่ปกติบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ถ้าบุคคลใดเป็นมังสวิรัติ แม้จะนิมนต์พระภิกษุ จะไม่มีอาหารประเภทเนื้อสัตว์เลย เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย เมื่อมีศรัทธาที่จะถวายสิ่งใด ก็รับสิ่งนั้น สำหรับเรื่องนี้ ไม่ใช่มีปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะในสมัยนี้ แม้ในครั้งพุทธกาล ก็มีผู้ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อยู่
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ชีวกสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพวัน ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า กล่าวตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง ชื่อว่า ยืนยันธรรมอันสมควรแก่ธรรมการกล่าว และการกล่าวตามที่ชอบธรรม จะไม่ถึงข้อติเตียนละหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ชีวก ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจง พระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้ ชนเหล่านั้นจะชื่อว่า กล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้ ชื่อว่า กล่าวตู่เราด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริง
ดูกร ชีวก เรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ ดูกร ชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล
ดูกร ชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ดูกร ชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล
ดูกร ชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี เข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์ด้วยภัตเพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น ดูกร ชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีตดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ
แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตเช่นนี้แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนออก บริโภคอยู่
ดูกร ชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ว่าในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้างหรือ
หมอชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลตอบว่า
ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ฉันอาหารไม่มีโทษ มิใช่หรือ
หมอชีวกโกมารภัจจ์ ก็กราบทูลว่า
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลต่อไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมีปกติอยู่ด้วยเมตตา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยานปรากฏแล้ว ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา
คำกราบทูลของหมอชีวกที่กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมี ปกติอยู่ด้วยเมตตา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยานปรากฏแล้ว ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา
ข้อความนี้ถูกไหม ถูก แต่ว่าพยัญชนะอาจจะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ดูกร ชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา
ดูกร ชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เรา อนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน
เพราะเหตุว่าพรหม มีพรหมโดยอุบัติด้วย ผู้ที่เจริญสมถภาวนา เจริญพรหมวิหารธรรม ๔ เมื่อจุติ และฌานไม่เสื่อม ผู้นั้นก็ไปเกิดในรูปพรหมภูมิ เป็นพรหมบุคคล เพราะฉะนั้น ที่หมอชีวกได้ยินได้ฟังมาแล้วกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพยาน ก็จะต้องใช้คำให้ถูกต้องด้วยว่า ไม่ใช่หมายความถึงพรหมโดยอุบัติในพรหมโลก แต่ว่าเป็นพรหมผู้ประเสริฐที่ว่า ราคะ โทสะ โมหะนั้นตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา
แม้แต่จะใช้คำว่า พรหม พระผู้มีพระภาคก็ต้องให้หมอชีวกหมายให้ถูกต้องว่าหมายการละราคะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่หมายการที่เป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ
หมอชีวกกราบทูลต่อไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าว หมายเอาการละราคะ โทสะ และโมหะ เป็นต้นนี้
ต่อจากนั้นในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงภิกษุผู้เจริญกรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยนัยเดียวกัน และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็กราบทูลตอบโดยนัยเดียวกัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก
เป็นพระธรรมที่ตรงตามสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะมีศรัทธา ฆ่าสัตว์เจาะจงพระผู้มีพระภาคก็ดี หรือสาวกของพระผู้มีพระภาคก็ดี แต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล เป็นอกุศลกรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ ก็ต้องเป็นอกุศลกรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ แม้ว่าผู้นั้นจะฆ่าสัตว์เพื่อเจาะจงพระผู้มีพระภาค หรือสาวกของพระผู้มีพระภาคก็ตาม พระผู้มีพระภาคก็ยังแสดงธรรมว่า ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก
ไม่มีข้อยกเว้นเลย ไม่ว่าจะเจาะจงพระผู้มีพระภาคเอง การฆ่าสัตว์นั้นก็ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 205
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมากด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ
ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ ชื่อว่าย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้
สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้
ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่ บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้
สัตว์นั้นเมื่อกำลังเขาฆ่าย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้
ผู้นั้นย่อมยังตถาคต และสาวกตถาคตให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้
ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
แม้แต่เรื่องของทาน ก็เป็นเรื่องที่สามารถจะทำให้จิตใจของท่านบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้ ถ้าท่านจะถวายภัตตาหารที่ประณีตก็ไม่ควรจะฆ่าสัตว์ และปรุงอาหารถวาย แต่ถ้ามีเนื้อสัตว์ และท่านเป็นที่ผู้บริโภคเนื้อสัตว์แต่ไม่ได้ฆ่าสัตว์ มีกุศลจิตเกิดขึ้นที่จะถวายภัตตาหารก็ควรถวาย เพราะเหตุว่าการหมดกิเลสไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการบริโภคสิ่งใด แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจในขณะที่กำลังบริโภค ถึงท่านจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย แต่ยังเป็นผู้ที่ยินดีในรสทุกคำข้าวที่บริโภค กับผู้ที่แม้กำลังบริโภคเนื้อสัตว์ แต่เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนั้น ผู้ที่เจริญสติก็เป็นผู้ที่จะดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ส่วนผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ติดข้องยินดีในรสที่ประณีต ก็ไม่สามารถที่จะหมดกิเลสได้ด้วยการไม่บริโภคเนื้อสัตว์
ที่มา ...