อามคันธสูตร เรื่องกลิ่นดิบ


    เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่านานมาแล้ว เรื่องของโลกก็ซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้ ไม่ว่าในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ดี หรือว่าในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็ดี คนในครั้งโน้นก็ประพฤติเป็นไปอย่างนี้ มีการฆ่าสัตว์ มีการให้ทาน มีการกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะได้ทรงแสดงธรรมให้พุทธบริษัทได้เข้าใจแจ่มแจ้ง และประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท

    ขอกล่าวถึงเรื่องนี้ในครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ใน ขุททกนิกาย อามคันธสูตร ที่ ๒ มีข้อความว่า

    ติสสดาบสทูลถามพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะด้วยคาถา ความว่า

    สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฝ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เหง้ามัน และผลไม้ที่ได้แล้วโดยธรรม หาปรารถนากาม กล่าวคำเหลาะแหละไม่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใดที่ผู้อื่นทำสำเร็จดีแล้ว ตกแต่งไว้ถวายอย่างประณีต เมื่อเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ก็ชื่อว่าย่อมเสวยกลิ่นดิบ

    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า กลิ่นดิบย่อมไม่ควรแก่เรา แต่ยังเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีกับเนื้อนกที่บุคคลปรุงดีแล้ว

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ข้าพระองค์ขอทูลถามความนี้ กะพระองค์ว่า กลิ่นดิบของพระองค์มีประการอย่างไร

    กลิ่นเนื้อสัตว์ บุคคลบางพวกถือว่าเป็นกลิ่นดิบ เป็นกลิ่นไม่สะอาด ก็เข้าใจว่าผู้ใดเป็นสัตบุรุษจะต้องบริโภคแต่ข้าวฝ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เหง้ามัน และผลไม้ที่ได้มาโดยธรรม แต่ทำไมพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลี เนื้อที่บุคคลปรุงถวายอย่างประณีต

    พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

    การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ การลัก การพูดเท็จ การกระทำด้วยความหวัง การหลอกลวง การเรียนคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ และการคบหาภรรยาผู้อื่น นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

    ท่านผู้ฟังควรจะพิจารณาว่าท่านมีประการใดบ้าง ตั้งแต่ประการแรก คือ การฆ่าสัตว์ ยังมีอยู่บ้างไหม การทุบตี การตัด การจองจำ การลัก การพูดเท็จ การกระทำด้วยความหวัง การหลอกลวง การเรียนคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ และการคบหาภรรยาผู้อื่น นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

    กลิ่นดิบ คือ กลิ่นของอกุศลธรรมที่อยู่ในจิต ไม่ใช่เพียงกลิ่นภายนอกอย่างกลิ่นเนื้อ หรือว่ากลิ่นอาหารประเภทเนื้อ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย ยินดีในรสทั้งหลาย เจือปนไป ด้วยของไม่สะอาด มีความเห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล มีการงานไม่เสมอ บุคคลพึงแนะนำได้โดยยาก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

    ที่ว่าชนเหล่าใดในโลกนี้ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย กาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ว่าสำรวมก็เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนั้น ถ้าไม่สำรวมก็เป็นกลิ่นดิบ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ชนเหล่าใดผู้เศร้าหมอง หยาบช้า หน้าไหว้ หลังหลอก ประทุษร้ายมิตร ไม่มีความกรุณา มีมานะจัด มีปกติไม่ให้ และไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ นี้ชื่อว่า กลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

    อย่าไปเป็นห่วงเรื่องอาหารเลยว่า จะเป็นประเภทเนื้อ หรือว่าไม่ใช่ประเภทเนื้อ แต่ควรห่วงสภาพของจิตว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลมากน้อยสักเท่าไร เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า ชนเหล่าใดผู้เศร้าหมอง เศร้าหมอง คือ ไม่บริสุทธิ์ด้วยอำนาจของกิเลส หยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก ประทุษร้ายมิตร ไม่มีความกรุณา มีมานะจัด มีปกติไม่ให้ และไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ความโกรธ ความมัวเมา ความเป็นคนหัวดื้อ ความตั้งอยู่ผิด มายา ริษยา ความยกตน ความถือตัว ความดูหมิ่น และความสนิทสนมด้วยอสัตบุรุษทั้งหลาย นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

    ยังคงสนิทสนมด้วยอสัตบุรุษอยู่หรือเปล่า มีมายา ริษยา ยกตน ถือตัว ดูหมิ่นมากน้อยเท่าไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ชนเหล่าใดในโลกนี้มีปกติประพฤติลามก กู้หนี้มาแล้วไม่ใช้ พูดเสียดสี พูดโกง เป็นคนเทียม เป็นคนต่ำทราม กระทำกรรมหยาบช้า นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

    พระธรรมเตือนท่านเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตจริงๆ แล้วแต่บุคคลใดทำกิจอย่างใด หลงลืมไป กู้เขามาแล้วลืมใช้ พระธรรมก็เตือนแล้วว่า นั่นเป็นกลิ่นดิบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรประพฤติ พอเห็นเนื้อ รังเกียจไม่อยากจะบริโภค แต่เวลาที่ธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นไม่เคยรังเกียจ รังเกียจอะไรกันแน่ รังเกียจเฉพาะกลิ่นของอาหาร แต่ว่าอกุศลธรรม กลิ่นที่ไม่สะอาดจริงๆ ไม่เคยรังเกียจ เพราะฉะนั้น ควรที่จะปรับความคิดความเข้าใจของท่านให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติตามธรรมยิ่งขึ้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ชนเหล่าใดในโลกนี้ไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ชักชวนผู้อื่นประกอบการเบียด เบียน ทุศีล ร้ายกาจ หยาบคาย ไม่เอื้อเฟื้อ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

    สัตว์เหล่าใดกำหนัดแล้วในสัตว์เหล่านี้ โกรธเคือง ฆ่าสัตว์ ขวนขวายในอกุศลเป็นนิจ ตายไปแล้วย่อมถึงที่มืด มีหัวลง ตกไปสู่นรก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้นเนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

    การไม่กินปลา และเนื้อ ความเป็นคนประพฤติเปลือย ความเป็นคนโล้น การเกล้าชฎา ความเป็นผู้หมักหมมด้วยธุลี การครองหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ การบำเรอไฟ หรือแม้ว่าความเศร้าหมองในกายที่เป็นไปด้วยความปรารถนา ความเป็นเทวดา การย่างกิเลสเป็นอันมากในโลก มนต์ และการเซ่นสรวง ยัญ และการส้องเสพฤดู ย่อมไม่ยังสัตว์ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจดได้

    ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การไม่กินปลา และเนื้อ ที่ทรงแสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถที่จะยังสัตว์ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจดได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ใดคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านั้น รู้แจ้งอินทรีย์แล้ว ตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรง และอ่อนโยน ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเสียได้ ละทุกข์ได้ทั้งหมด ผู้นั้นเป็นนักปราชญ์ไม่ติดอยู่ในธรรมที่เห็นแล้ว และฟังแล้ว

    ขอให้พิจารณาข้อความที่ว่า ผู้ใดคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้แจ้งอินทรีย์แล้ว ไม่ใช่รู้แจ้งอย่างอื่น รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความข้อนี้บ่อยๆ ด้วยประการฉะนี้ ติสสดาบสผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ได้ทราบข้อความนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ทรงประกาศด้วยพระคาถาทั้งหลายอันวิจิตรว่า บุคคลผู้ไม่มีกลิ่นดิบ ผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบ อันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวงของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นผู้มีใจนอบน้อม ถวายบังคมพระบาทของพระตถาคต ได้ทูลขอบรรพชาที่อาสนะนั่นแล

    ข้อความธรรมดาตอนท้าย ที่ว่า

    บุคคลผู้ที่ไม่มีกลิ่นดิบ ผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก

    เวลานี้ถ้าสติของใครจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย ใจ บุคคลอื่นรู้ได้ไหม ไม่ได้ และถ้าในขณะนั้นผู้นั้นได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด และแทงตลอดในสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏ ปกติธรรมดาอย่างนี้ บรรลุญาณที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ หรือบรรลุความเป็นพระอริยเจ้า บุคคลอื่นรู้ได้ไหม รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก

    ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบ อันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวงของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นผู้มีใจนอบน้อมฟังบทสุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการคุ้มครองทวารอินทรีย์ทั้ง ๖ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อได้ฟังแล้วเป็นผู้มีใจนอบน้อม

    บางท่านฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ฟังเรื่องอินทรีย์สังวร ฟังเรื่องขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัส คิดนึก สุข ทุกข์ สภาพธรรมใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว ควรเป็นผู้ที่สำรวม คุ้มครองทวารด้วยการเจริญสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อฟังเรื่องการเจริญสติอย่างนี้แล้ว ท่านเป็นผู้ที่มีใจนอบน้อมที่จะประพฤติตามหรือเปล่า


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 206


    หมายเลข 13256
    15 พ.ย. 2567