สัปปุริสสูตร เรื่องของทาน


    ขอต่อเรื่องของทาน ซึ่งเป็นเรื่องของตัวท่าน และพระธรรมวินัยได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลแก่การที่จะขัดเกลา และละกิเลสด้วย

    อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สัปปุริสสูตร ที่ ๑ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล

    ประการอื่นได้กล่าวถึงแล้ว ขอกล่าวถึงเมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สัปปุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าว และน้ำที่สะอาด ประณีต ตามกาล สมควร เนืองนิตย์ ให้ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นเขตดี บริจาคของมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปปุรุษให้แล้วอย่างนี้ เมธาวีบัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ความหลั่งไหลแห่งบุญของทายกนั้น ไม่มีประมาณ

    ซึ่งคำนี้หมายถึงความไม่มีประมาณของบุญเจตนาของทายก แสดงให้เห็นเจตนาว่า ถ้าเป็นเจตนาที่เป็นบุญ ที่ผ่องใสจริงๆ แล้ว เจตนานั้นไม่มีประมาณ

    คำว่าไม่มีประมาณในที่นี้ เป็นไปด้วยสามารถที่นึกถึงบ่อยๆ เวลาที่ท่านบริจาคสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น แล้วนึกอีก เสียดายหรือดีใจ บางครั้งเสียดายหรือเปล่า บางครั้งดีใจหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าเสียดาย บุญเจตนาของท่านก็มีประมาณ คือ เฉพาะในขณะที่กำลังให้ที่สามารถให้ได้ แต่เวลาที่ท่านนึกถึงอีก เกิดความเสียดายขึ้น แต่ที่ถูกแล้ว ถ้าเป็นบุญเจตนาที่ไม่มีประมาณ จริงๆ ถึงแม้ว่าท่านจะนึกถึงบ่อยๆ ก็ยังปีติโสมนัส หรือว่าดีใจที่มีโอกาสให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้

    ในอรรถกถามีข้อความเรื่องการถวายจีวรแก่พระภิกษุ เวลาที่ระลึกถึงการบริโภคจีวรของพระภิกษุ ท่านอาจจะเกิดโสมนัสได้ เกิดปีติ ไม่เสียดาย เพราะเหตุว่าจีวรที่พระภิกษุสงฆ์ท่านใช้ ท่านใช้ตั้งแต่ยังใหม่จนกระทั่งเก่า จนกระทั่งขาด จนกระทั่งปะ จนกระทั่งท้ายที่สุดเป็นผ้าเช็ดเท้า มีประโยชน์มากถึงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ท่านนึกถึงประโยชน์ที่ท่านได้ให้ว่า สิ่งที่บริจาค สิ่งที่ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์นั้น สามารถที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นเวลาที่นานมาก ก็ทำให้จิตของท่านระลึกถึง และเกิดกุศลที่ไม่มีประมาณได้

    หรือแม้แต่เสนาสนะที่อยู่ที่อาศัย ถ้าท่านสร้างอุทิศแด่สงฆ์แล้ว จะอยู่ไปชั่วหลายอายุ ทุกขณะที่ท่านบริโภค ทุกขณะที่ท่านใช้ ทุกขณะที่ท่านนั่ง ท่านนอน ท่านยืน ท่านเดิน ท่านพักผ่อนในสถานที่นั้น สิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์เกื้อกูล แม้ว่าการถวายของท่านจะเป็นการถวายเพียงครั้งเดียว แต่เพราะเหตุว่าวัตถุนั้นสามารถที่จะบริโภคได้บ่อยๆ เนืองๆ และจิตของท่านตามระลึกแล้วไม่เกิดความเสียดาย ก็แสดงบุญเจตนาที่ไม่มีประมาณ ไม่ว่าจะระลึกครั้งใดก็เกิดความผ่องใสในกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว และไม่เกิดความเสียดาย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ท่านก็จะเกิดกุศลได้ ไม่ใช่ว่าให้ไปแล้วก็นึกเสียดายทีหลัง หรือแม้แต่อาหาร สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ถึง ๗ วัน ยิ่งถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญสมณธรรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านก็เกื้อกูลแก่การที่จะให้ปัญญาของบุคคลอื่นเกิดขึ้นด้วยการถวายสิ่งที่เป็นประโยชน์

    เป็นสิ่งที่ถ้าท่านได้ให้สิ่งใดเป็นประโยชน์แก่บุคคลใด แล้วระลึกถึงประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับเป็นเวลานาน ก็จะทำให้ท่านไม่เกิดความเสียดายขึ้นได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของการเจริญกุศลด้วย


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 209


    หมายเลข 13271
    16 พ.ย. 2567