ทุติยาปุตตกสูตร ให้แล้วเสียดาย


    ขอกล่าวถึงตัวอย่างในพระไตรปิฎก สำหรับบุคคลที่ให้แล้วเสียดายว่า จะมีผลประการใด

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยาปุตตกสูตรที่ ๑๐ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในเวลาเที่ยงวัน ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

    เชิญเถอะ มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนหนอในเวลาเที่ยงวัน

    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีในพระนครสาวัตถีนี้กระทำกาลกิริยาแล้ว หม่อมฉันให้ขนทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกนั้นมาไว้ในพระราชวัง แล้วก็มา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เฉพาะเงินเท่านั้น มี ๑๐ ล้าน ส่วนเครื่องรูปียะไม่ต้องพูดถึง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้บริโภคอาหารเห็นปานนี้ คือ บริโภคปลายข้าวกับน้ำส้มพอูม ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเห็นปานนี้ คือ นุ่งผ้าห่มเนื้อหยาบที่ตัดเป็นสามชิ้น เย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะ คือ ใช้รถเก่าๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้

    ในสมัยนี้มีไหม เศรษฐีอย่างนี้ ในลักษณะเดียวกัน คือ มีเงินมากเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีทีเดียว แต่ว่าไม่บริโภคทรัพย์สมบัติที่ตนมี เสื้อผ้าก็ใช้เก่าๆ อาหารก็ไม่ประณีต เพราะฉะนั้น ทุกสมัยก็เหมือนกัน ซึ่งข้อนี้ก็เป็นเพราะการสะสมของจิตใจนั่นเอง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกร มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เรื่องเคยมีมาแล้ว คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นได้สั่งให้จัดบิณฑบาต ถวายพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านามว่าตครสิขี ว่าท่านทั้งหลายจงถวายบิณฑบาตแก่สมณะ แล้วลุกจากอาสนะเดินหลีกไป แต่ครั้นถวายแล้ว ภายหลังได้มีวิปฏิสารว่า บิณฑบาตนี้ ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า นอกจากนี้เขายังปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย เพราะเหตุทรัพย์สมบัติอีก

    ดูกร มหาบพิตร การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นสั่งให้จัดบิณฑบาตถวายพระตครสิขีปัจเจกสัมพุทธะ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๗ ครั้ง ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ได้ครองความเป็นเศรษฐีในพระนครสาวัตถีนี้แหละถึง ๗ ครั้ง

    ดูกร มหาบพิตร การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถวายแล้ว ภายหลังได้มีวิปฏิสารว่า บิณฑบาตนี้ ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า ด้วยวิบากของกรรมนั้น จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอันโอฬาร จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มอันโอฬาร จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคเบญจกามคุณอันโอฬาร

    ดูกร มหาบพิตร ก็แหละการที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชายเพราะเหตุทรัพย์สมบัติ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงถูกไฟเผาอยู่ในนรกหลายปี หลายพันปี หลายแสนปี ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกของเขานี้ จึงถูกขนเข้าพระคลังหลวงเป็นครั้งที่ ๗

    ดูกร มหาบพิตร ก็บุญเก่าของคฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นหมดสิ้นแล้ว และบุญใหม่ก็ไม่ได้สะสมไว้

    ดูกร มหาบพิตร ก็ในวันนี้ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีถูกไฟเผาอยู่ในมหาโรรุวนรก

    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีเข้าถึงมหาโรรุวนรกอย่างนั้นหรือ

    ยังสงสัย แม้ว่าจะได้ฟังโดยตรงจากพระโอษฐ์ เรื่องของนรก เรื่องของสวรรค์ ก็เป็นที่สงสัยสำหรับบางท่านเสมอ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อย่างนั้นมหาบพิตร คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีเข้าถึงมหาโรรุวนรกแล้ว

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง หรือข้าวของที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ ทาส กรรมกร คนใช้ และผู้อาศัยของเขา พึงพาเอาไปไม่ได้ทั้งหมด จะต้องถึงซึ่งการละทิ้งไว้ทั้งหมด ก็บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละเป็นของของเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่งกรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น

    เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

    ถ้าเป็นเศรษฐี และไม่ได้ใช้โภคทรัพย์สมบัติเพื่อความสุข มีประโยชน์อะไรในการเป็นเศรษฐีไหม เพราะว่าทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติทั้งหมดจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อใช้ มีแล้วไม่ใช้ ก็เหมือนไม่มี ทำไมคนอื่นเป็นเศรษฐี และบริโภคโภคสมบัติอย่างดีได้ แต่ทำไมบุคคลนั้นเป็นเศรษฐี มีทุกอย่างเหมือนกัน แต่ไม่ยอมบริโภคสิ่งต่างๆ ที่เป็นของประณีต ก็เพราะความหวงแหน เพราะความเสียดาย เพราะความตระหนี่

    ตัวเองก็ยังไม่ได้ใช้ คนอื่นจะแตะต้องได้ไหม จะยอมให้คนอื่นแตะหรือจับได้อย่างไรกัน ถึงแม้ไม่ใช้แล้ว ไม่เป็นประโยชน์สำหรับตัวเองแล้ว คนอื่นขอจะให้ไหม สำหรับคนที่ตระหนี่เหลือเกิน หวงแหน เหนียวแน่นในวัตถุ ในโภคทรัพย์มากมายเหลือเกิน มีโภคสมบัติแต่ไม่ใช้โภคสมบัติ ควรหรือไม่ควร จะสร้างสมบุญกุศลกันทำไม แล้วก็ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ควรติ หรือว่าเป็นสิ่งที่ควรสรรเสริญ ไม่เป็นประโยชน์แม้สำหรับตัวเอง และไม่เป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นด้วย

    ส่วนการที่บุคคลใดจะได้ใช้สอยโภคสมบัติที่ประณีตหรือไม่ประณีตอย่างไรนั้น ย่อมแล้วแต่กรรมที่ได้กระทำมา บางท่านมีวัตถุปัจจัยที่ประณีตมาก ก็เป็นผลของกุศลกรรมที่ประณีตที่ได้กระทำไว้แล้ว แต่ว่าบางท่านทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่มีโภคสมบัติ ก็ไม่ยอมที่จะใช้โภคสมบัติที่ประณีต ซึ่งก็เป็นเพราะการสะสมความหวงแหน ความตระหนี่ไว้มากมายจนกระทั่งแม้ตัวเองก็ยังไม่ยอมใช้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้ที่มีฝ่ามือชุ่มในการที่จะสละบริจาค วัตถุนั้น ไม่ได้มีความตระหนี่หวงแหนด้วยอคติ สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลใด ท่านก็พร้อมที่จะสละให้ในทางที่เป็นประโยชน์


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 209


    หมายเลข 13272
    16 พ.ย. 2567