วนโรปสูตร เจริญบุญได้ทุกเวลา


    สำหรับการเจริญกุศลแม้ในขั้นของทาน แม้เป็นกิจเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นกุศลที่ท่านไม่ควรจะละเลย บางท่านคิดว่า เพียงการสละทรัพย์สมบัติหรือวัตถุที่เล็กน้อยไม่น่าจะเป็นกุศล แต่ว่าความจริงเป็นกุศล เพราะว่าในขณะนั้น ท่านมีเจตนาให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์สุข

    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วนโรปสูตรที่ ๗ ซึ่งเป็นสูตรสั้นๆ แต่รวมกุศลทุกขั้น มีข้อความว่า

    เทวดาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวัน และกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ชนเหล่าใดสร้างอาราม ปลูกหมู่ไม้ (ที่ใช้ร่มเงาได้) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทาน และบ่อน้ำ ทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวัน และกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์

    ครบทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งปัญญา ใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา มีคำอธิบายว่า

    คำว่า อารามโรปา หมายถึงผู้ปลูกสร้างสวนไม้ดอก และสวนผลไม้

    คำว่า อาราม หมายความถึง สวนไม้ดอก และสวนผลไม้

    วนโรปา ได้แก่ ทำการล้อมเขตแดนในป่าธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง แล้วทำเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทำที่จงกรม ทำมณฑป กุฏิ ที่หลีกเร้น และที่พักในเวลากลางวัน และกลางคืน

    วนะ คือ ป่าธรรมชาติที่เป็นเองโดยไม่ต้องปลูกสร้าง

    ผู้ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ชื่อว่า ผู้ปลูกสร้างป่าเหมือนกัน

    ถ้ามีเจตนาที่จะปลูกเพื่อให้บุคคลอื่นได้รับประโยชน์ ในขณะนั้นเป็นกุศลจิต

    คำว่า เสตุการกา ผู้สร้างสะพาน หมายถึง ผู้สร้างสะพานขึ้นในที่ไม่สม่ำเสมอกัน และหมายถึงผู้ให้เรือสำหรับข้ามน้ำด้วย

    ถ้าพื้นที่ดินไม่เรียบ ไม่สะดวก ท่านก็มีกุศลศรัทธาที่จะทำที่ไม่สม่ำเสมอนั้นให้เสมอ มีกุศลศรัทธาที่จะให้ความสะดวกแก่บุคคลอื่นก็เป็นกุศล

    คำว่า ปปํ ได้แก่ ศาลาสำหรับให้น้ำดื่ม

    คำว่า อปสฺสยํ ที่อาศัย ได้แก่ เรือนสำหรับอยู่

    คำว่า บ่อน้ำ มีสระโบกขรณี เป็นต้น

    ข้อว่า บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ ความว่า เมื่อตรึก คือ คิดอยู่ด้วยอกุศลวิตกก็ตาม หรือหลับอยู่ก็ตาม บุญไม่เจริญ

    ก็เป็นอนุสติ เตือนให้ท่านผู้ฟังระลึกได้ว่า ท่านเจริญบุญกุศลทั้งกลางวัน และกลางคืนหรือไม่ ซึ่งขณะใดที่ตรึกหรือคิดด้วยอกุศลวิตก หรือในขณะที่หลับอยู่ บุญไม่เจริญ เป็นเครื่องเตือนให้ท่านได้ระลึกว่า ใจของท่านตรึกหรือคิดไปในเรื่องของกุศลมาก หรือในเรื่องของอกุศลมาก

    ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า

    ท่านกล่าวว่า บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ หมายความว่า เมื่อใดเขาระลึกได้ เมื่อนั้นบุญย่อมเจริญ

    ระลึกได้ คือ สติ ระลึกเป็นไปในทาน ระลึกเป็นไปในศีล ระลึกเป็นไปในความสงบของจิต ระลึกเป็นไปในกาย เวทนา จิต ธรรม คือ สติปัฏฐาน เพื่อให้ปัญญารู้สภาพนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง

    ที่ท่านกล่าวว่า บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ จำกัดเวลาให้บุญเจริญไหม จำกัดว่าขณะนี้ไม่ได้ ขณะนั้นไม่ได้

    การเจริญสติปัฏฐาน ก็เช่นเดียวกับการที่สติจะระลึกเป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิต คือ ขณะใดที่ระลึกได้ ถ้าระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เมื่อนั้นบุญย่อมเจริญ ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล และเพราะตั้งอยู่ในธรรมนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลนั้น ผู้ทำบุญทั้งหลายดังที่กล่าวมานี้ กุศลธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ย่อมบริบูรณ์

    บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ กิริยาของบุญ การกระทำของบุญ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานอย่างเดียวเท่านั้น บุญกิริยามี ๑๐ ประการ คือ

    ๑. ทาน การให้วัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ

    ๒. ศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

    ๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมจิตให้เกิด ปัญญา คือ วิปัสสนาภาวนา ๑

    ๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมเป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยมานะ ความถือตน แต่เป็นบุคคลที่อ่อนน้อมแก่ผู้ที่ควรอ่อนน้อม

    ๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดอยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ท่านก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญกิริยาวัตถุ

    ๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้

    ๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล ซึ่งถ้าเป็นคนพาลไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ท่านควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนาในกุศลกรรมที่ท่านได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่ แม้แต่ความชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่นก็เกิดไม่ได้

    ๘. ธรรมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติ มิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตาม ซึ่งท่านสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ท่านก็ควรจะแสดงธรรมแก่บุคคลนั้น

    ๙. ธรรมสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจเป็นบุญ แต่ถ้าเพื่ออกุศลจิตก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ท่านควรทราบจิตใจของท่านโดยละเอียดว่า จิตใจเป็นอย่างไร

    ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรม และเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็เข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นกุศล ธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะสะสมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ไม่ควรเป็นผู้ประมาท


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 211


    หมายเลข 13275
    18 พ.ย. 2567