ยัญญสูตร มหายัญที่มีการตระเตรียมมาก
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยัญญสูตร ที่ ๙ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตระเตรียมการบูชามหายัญ โคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคตัวเมีย ๕๐๐ ตัว แพะ ๕๐๐ ตัว และแกะ ๕๐๐ ตัว ถูกนำไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ แม้ชนบางคนของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น เป็นทาส คนใช้ หรือกรรมกร ที่มีอยู่ แม้ชนเหล่านั้นถูกอาชญา ถูกภัยคุกคาม มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้พลาง กระทำบริกรรมไปพลาง
เบียดเบียนหรือเปล่าที่ทำให้บุคคลอื่นเศร้าโศก และจะมีการบูชามหายัญด้วยชีวิตของสัตว์
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้นแล พวกภิกษุหลายรูปครองผ้าเรียบร้อยแล้ว ในเวลาเช้าถือบาตร และจีวร เข้าไปสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วก็ได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงตระเตรียมการบูชามหายัญ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
มหายัญที่มีการตระเตรียมมาก มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่างๆ คือ อัศวเมธ ปุริสเมธ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ นิรัคคฬะ มหายัญเหล่านั้นเป็นยัญไม่มีผลมาก เพราะพระพุทธเจ้า เป็นต้น ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมไม่เข้าใกล้ยัญนั้น ส่วนว่ายัญใดมีการตระเตรียมน้อย ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งบุคคลบูชาสืบตระกูลทุกเมื่อ พระพุทธเจ้า เป็นต้น ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมเข้าใกล้ยัญนั้น ผู้มีปัญญาควรบูชายัญนั้น ยัญนั้นเป็นยัญมีผลมาก เมื่อบุคคลบูชายัญนั้นนั่นแหละ ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วช้าเลวทราม ยัญก็เป็นยัญอย่างไพบูลย์ และเทวดาย่อมเลื่อมใส
นี่เป็นความเห็นผิด ความเชื่อของบุคคลในครั้งนั้นที่คิดว่า การฆ่าสัตว์แล้วบูชา จะทำให้ได้รับผลดี จะได้รับผลที่ไพบูลย์
ที่มา ...