ลักขณสูตร มหาปุริสลักษณะ เป็นผลของกุศลกรรมบถ


    ถ้าเป็นผลของทาน หรือเป็นผลของกุศลทุกประการ ย่อมนำมาซึ่งผลที่ดีทั้งนั้น ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ลักขณสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระภิกษุทั้งหลายในครั้งที่พระองค์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในกำเนิดก่อนว่าเพราะเหตุใดพระองค์จึงได้ทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ เป็นความสมบูรณ์พร้อมของรูปสมบัติ ซึ่งไม่มีใครเกินพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ทรงแสดงไว้ว่า การที่ผล คือ รูปสมบัติที่ไม่มีบุคคลใดเปรียบได้นั้น เป็นผลของกุศลต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระ-ภาคตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายถึงครั้งที่พระองค์ทรงเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อนว่า พระองค์เป็นผู้ที่มีสมาทานมั่นในกุศลธรรม ตั้งมั่นในการเจริญกุศล ในการบำเพ็ญคุณความดี มีสมาทานไม่ถอยหลังในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต มีความตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญสุจริตทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติดีในมารดา ในการปฏิบัติดีในบิดา ในการปฏิบัติดีในสมณะ ในการปฏิบัติดีในพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมเป็นอธิกุศลอื่นๆ

    ไม่เว้นเลย ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต การบำเพ็ญทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ การปฏิบัติดีในมารดา การปฏิบัติดีในบิดา การปฏิบัติดีในสมณะ การปฏิบัติดีในพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมเป็นอธิกุศลอื่นๆ

    พระองค์ตรัสว่า พระองค์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ พระองค์ทรงครอบงำเทวดาทั้งหลายอื่นในโลกสวรรค์โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพะทิพย์ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาถึงความเป็นอย่างนี้ ชาติสุดท้ายที่จะบรรลุความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ย่อมได้ซึ่งเฉพาะมหา ปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการ ซึ่งมหาปุริสลักษณะทั้งหมดเป็นผลของกุศลธรรมทุกประเภท ตามที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่สมาทานมั่นในกุศลธรรม

    สำหรับมหาปุริสลักษณะซึ่งเป็นผลของการให้ของควรเคี้ยว และการให้ของควรบริโภคอันประณีต และมีรสอร่อย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ผลของการที่ทรงให้ของควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีต มีรสอร่อยนั้น เป็นเหตุทำให้ทรงมี พระมังสะเต็มในที่ ๗ สถานในมหาปุริสลักษณะ คือ พระองค์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีต และมีรสอร่อย และให้น้ำที่ควรซด ควรดื่ม พระองค์เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีมังสะอูมในที่ ๗ สถาน คือ ที่หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ มีมังสะอูม ที่หลังพระบาททั้ง ๒ มีมังสะอูม ที่บนพระอังสาทั้ง ๒ มีมังสะอูม ที่ลำพระศอ มีมังสะอูม เมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้รับผลข้อนี้ คือ ทรงได้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีต และมีรสอร่อย และทรงได้น้ำที่ควรซด ควรดื่ม

    นี่เป็นผลของกุศลที่ได้ทรงบำเพ็ญ

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 214

    มหาปุริสลักษณะที่ได้ทรงแสดงไว้ เป็นผลของกุศลกรรมบถของการบำเพ็ญทานพร้อมด้วยวัตถุอันเป็นบริวาร

    ผลของการสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ การให้ ๑ การกล่าวคำเป็นที่รัก ๑ การประพฤติเป็นประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้มีตนเสมอ ๑

    เป็นผลของการเป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม แนะนำประชาชนเป็นอันมาก

    เป็นผลของการเป็นผู้นำประโยชน์ และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย

    เป็นผู้บูชาธรรมเป็นปกติ

    เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ วิชา จรณะ คือ ข้อที่ควรประพฤติหรือกรรม ด้วยมนสิการว่า ทำไฉนชนทั้งหลายนี้พึงรู้เร็ว พึงสำเร็จเร็ว ไม่พึงลำบากตน

    เป็นผลของการเป็นผู้เข้าหาสมณะหรือพราหมณ์ และซักถามธรรมที่เป็นกุศล และอกุศล

    เป็นผลของการเป็นผู้เข้าหาบรรพชิต สอบถาม ตั้งใจฟังด้วยดี มุ่งความเจริญ ไตร่ตรองคำพูด

    เป็นผลของการเป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ ไม่ปองร้าย ไม่จองผลาญ ไม่ทำความโกรธ ความเคือง และความเสียใจให้ปรากฏ

    เป็นผลของการเป็นผู้ให้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน และให้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด

    เป็นผลของการเป็นผู้นำพวกญาติมิตรสหายผู้มีใจดี ที่สูญหาย พลัดพรากไปนานให้กลับพบกัน ครั้นทำเขาให้พร้อมเพรียงกันแล้วก็ชื่นชม

    เป็นผลของการเป็นผู้เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ ย่อมรู้จักชนที่เสมอกัน หยั่งทราบว่า บุคคลนี้ควรกับสักการะนี้ บุคคลนี้ควรกับสักการะนี้ ดังนี้ แล้วทำกิจเป็นประโยชน์อันพิเศษในบุคคลนั้นๆ

    เป็นผลของการเป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากโยคะแก่ชนเป็นอันมาก ด้วยมนสิการว่า ทำไฉนชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ พุทธิ จาคะ ทมะ ปัญญา ทรัพย์ ข้าวเปลือก นา สวน ญาติมิตร พวกพ้อง เป็นต้น

    เป็นผลของการเป็นหัวหน้าของพหุชนในธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล

    เป็นผลของการละการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐานควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

    เป็นผลของการละคำส่อเสียด ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน

    เป็นผลของการเว้นจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ

    เป็นผลของการเป็นผู้ละคำเพ้อเจ้อ คำที่ไม่เป็นประโยชน์ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง

    เป็นผลของการละมิจฉาอาชีวะ เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม ด้วยเครื่องตวงวัด ด้วยการรับสินบน ด้วยการหลอกลวง และการตลบตะแลง

    เป็นผลของการเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก

    นี่เป็นผลที่ทำให้ทรงได้มหาปุริสลักษณะ ซึ่งแม้แต่การเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ หรือบรรพชิต ซักถาม หรือสอบถาม หรือตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อมุ่งความเจริญ ไตร่ตรองคำพูด และก็มีความเข้าใจจากการซักถามนั้นว่า ธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดเป็นอกุศล ก็เป็นเหตุที่ให้ได้มหาปุริสลักษณะ

    เพราะฉะนั้น ไม่จำกัดแต่เฉพาะเรื่องของศีล ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นใด ก็ทำให้ได้รับผลที่น่าพอใจ ทั้งในโภคสมบัติ รูปสมบัติด้วย เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา และตรวจสอบกับชีวิตจริงๆ ของท่าน เมื่อดูผลในปัจจุบันก็พอที่จะทราบถึงเหตุในอดีตได้ว่า แต่ละอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น ขณะใดเป็นผลของกุศล ขณะใดเป็นผลของอกุศล แล้วแต่ว่าประเภทใดจะมาก ถ้าเป็นผู้ที่อบรมบำเพ็ญกุศลมามาก ก็ได้รับผลของกุศลมาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้สร้างอกุศลกรรมไว้มาก ก็ย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมมาก


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 215


    หมายเลข 13303
    2 ธ.ค. 2567