กาลทานสูตร และ อรรถกถากาลทานสูตร


    สำหรับเรื่องของกาลทาน หรือว่าการให้โดยควรแก่กาล ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต กาลทานสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑ ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑ ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้แล

    ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักษิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักษิณาทานนั้น ทักษิณาทานนั้นย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนา หรือช่วยเหลือนั้น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ

    เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก

    นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก

    อรรถกถามโนรถปุรณี อรรถกถากาลทานสูตร มีข้อความว่า

    คำว่า กาลทาน คือ ทานที่เหมาะ ทานที่ถึงเข้า ชื่อว่า กาลทาน อธิบายว่า ทานที่สมควรชื่อว่ากาลทาน ๕ ประการ ก็ได้แก่ ทานที่เหมาะ ทานที่ถึงเข้า

    ไม่ว่าขณะใดที่ท่านมีโอกาสเหมาะที่จะให้ทาน ขณะนั้นชื่อว่า กาลทาน เพราะเหตุว่าเป็นทานที่สมควร ซึ่งกาลทานนั้น ก็คือ

    ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน

    คนที่ไปถิ่นอื่นที่ไม่คุ้นเคย ก็ย่อมจะมีความลำบากเดือดร้อนหลายประการ ท่านก็เกื้อกูลสงเคราะห์ด้วยการให้ทานแก่ผู้ที่มาสู่ถิ่นของตน ชื่อว่า กาลทาน เพราะเหตุว่าเป็นกาลที่เหมาะที่ควรที่จะให้

    ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป

    ผู้ที่เตรียมจะไปก็ควรจะสงเคราะห์ เป็นกาลที่ควรที่จะให้หลายสิ่งหลายประการ ที่จะอำนวยความสะดวกแก่การไปนั้นให้ราบรื่น ไม่ให้มีอุปสรรคขัดข้อง

    ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง

    ที่ใดก็ตามที่กำลังอัตคัดขัดสน เดือดร้อน อาหารแพง ข้าวแพง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านให้ทาน ก็เป็นกาลทาน

    คำว่า ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ในอรรถกถาอธิบายว่า คำว่า ข้าวใหม่ แก้เป็น ข้าวอันดี หรืออันเลิศ หมายความถึงวัตถุที่ดี เป็นข้าวที่ดี

    ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล

    คำว่า ผลไม้ใหม่ แก้เป็น ผลไม้อันดี อันเลิศ ที่เกิดขึ้นก่อนจากสวน

    คำว่า ผลไม้ใหม่นั้น ต้องหมายถึง ผลไม้อันดี อันเลิศด้วย ถ้าผลไม้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากสวน แต่ว่ารสไม่อร่อย ก็ยังไม่ใช่ข้อที่ว่า เป็นผลไม้ใหม่ที่ควรให้แก่ผู้ที่มีศีล

    คำว่า ให้เข้าไปตั้งไว้ในท่านผู้มีศีลก่อน คือ ให้แก่ท่านผู้มีศีลก่อน ภายหลังจึงบริโภคด้วยตนเอง

    เป็นการแสดงความเคารพในทาน ในบุคคลผู้รับ ในผู้มีศีล

    คำว่า วทัญญู คือ ผู้รู้ถ้อยคำที่ยาจกกล่าวแล้ว

    คำว่า ให้โดยกาล คือ ให้ตามกาลที่เหมาะ ที่ถึงเข้า

    คำว่า ย่อมอนุโมทนา ความว่า ยืนอยู่แล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่ง อนุโมทนา

    เพียงแต่ท่านอนุโมทนา หรือช่วยเหลือในทักษิณาทานนั้น ท่านก็ย่อมเป็นผู้ที่มีส่วนแห่งกุศลนั้นด้วย

    คำว่า ไวยาวัจจัง คือ ทำกรรมของผู้ขวนขวายด้วยกาย

    โดยพยัญชนะเป็นอย่างนั้น แต่ความหมายคือ ช่วยเหลือในกิจของการให้ทานนั้น

    คำว่า เป็นผู้มีจิตไม่หวนกลับ คือ ไม่ท้อถอย เป็นผู้ที่มีจิตไม่กำเริบ คือ ไม่เกิดความเสียดายขึ้น

    คำว่า ทานที่ให้แล้วในที่ใดมีผลมาก ความว่า ทานที่ให้ในที่ใดมีผลมาก พึงให้ในที่นั้น

    นี่เป็นผลที่จะเกิดขึ้นตามควรแก่เหตุ คือ ถ้าเป็นกาลทาน เป็นกาลที่เหมาะที่ควร ท่านย่อมได้รับโภคสมบัติในกาลที่เหมาะที่ควรด้วย


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 213


    หมายเลข 13306
    2 ธ.ค. 2567