โภชนทานสูตร และ อรรถกถาโภชนทานสูตร
สำหรับผลของการให้โภชนะหรืออาหาร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต โภชนทานสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่า ให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก ๕ อย่างเป็นไฉน คือ ให้อายุ ๑ ให้วรรณะ ๑ ให้สุข ๑ ให้กำลัง ๑ ให้ปฏิภาณ ๑
ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุขทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกำลังทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างนี้แล
โดยมากท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านจะได้รับอะไรบ้างจากการให้โภชนะ ให้อาหาร อาจจะคิดถึงโภคสมบัติอย่างเดียว แต่ว่าความจริงแล้ว
ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
การให้โภชนะ คือ การให้อายุ ให้คนที่กำลังหิว ซึ่งถ้าหิว ก็อาจจะมีโรคภัยไข้เจ็บ อาจจะถึงแก่สิ้นชีวิตลงได้ แต่ว่าถ้าท่านให้โภชนะ ให้อาหาร ในขณะนั้นนอกจากจะแก้ความหิว ก็ยังจะแก้โรคอื่นๆ ซึ่งอาจจะเกิดเพราะความหิว หรือว่าอาจจะทำให้มีอายุยืนยาวต่อไป เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเป็นผู้ที่ให้อายุแล้ว ผลคือว่า ท่านย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ต้องเป็นผลของกุศล ที่เกิดบนสวรรค์มีอายุทิพย์ ก็ต้องเป็นผลของกุศล การให้ทาน การให้โภชนะนั้นก็เป็นกุศลประการหนึ่ง ซึ่งทำให้ท่านเกิดในมนุษยโลกก็ได้ หรือว่าในสวรรค์ก็ได้ ไม่ใช่ว่า จะทำให้ท่านเกิดได้เฉพาะในมนุษย์เท่านั้น ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่ประณีต ที่มีกำลัง เวลาที่ท่านสิ้นชีวิต ผลของทานนั้นจะทำให้ท่านเกิดบนสวรรค์ เป็นผู้ที่มีส่วนแห่งอายุทิพย์ได้
ประการต่อไปที่ว่า
ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะ
มโนรถปุรณี อรรถกถาโภชนทานสูตร มีข้อความว่า
คำว่า ให้อายุ คือ ย่อมให้อายุทาน คำว่า ให้วรรณะ วรรณะ หมายถึงสรีระวรรณะ ผิวพรรณที่ผ่องใส รูปร่างที่น่าดู น่าเลื่อมใส เมื่อท่านเป็นผู้ที่ให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
แล้วแต่ว่า จิตในขณะที่ให้นั้นจะประณีตมากน้อยเท่าไร เวลาที่เป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้ที่มีวรรณะของมนุษย์ เวลาที่เป็นเทพในสวรรค์ ก็เป็นผู้ที่มีวรรณะทิพย์ นั่นก็เป็นผลของการให้วรรณะ
คำว่า สุข หมายถึง สุขทางกาย และสุขทางใจ
กายก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะให้เกิดสุขหรือทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่ให้สุขทางกายแก่ผู้ที่กำลังหิวกระหาย เป็นผู้ที่กำลังต้องการโภชนะแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุขทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ และคำว่าสุขนั้น ก็หมายถึงสุขทางกาย และสุขทางใจ
คำว่า พละ หมายถึงเรี่ยวแรงทางกาย
เพราะฉะนั้น พละก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย เมื่อท่านเป็นผู้ที่ให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกำลังทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
คำว่า ปฏิภาณ หมายถึง ปฏิภาณที่เหมาะ ปฏิภาณที่ไม่ติดขัด
ถ้าร่างกายอ่อนแอ และกำลังหิวกระหาย มีโรคภัยเบียดเบียนรบกวนมาก ก็ย่อมจะเป็นขณะที่ติดขัด หรือว่าขาดปฏิภาณ ไม่ใช่ขณะที่กำลัง มีปฏิภาณที่เหมาะ
เพราะฉะนั้น การที่ให้โภชนาทานนั้น ย่อมให้ทั้งอายุ วรรณะ สุข พละ และปฏิภาณด้วย
เมื่อท่านเป็นผู้ให้ปฏิภาณแล้ว
ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
ที่มา ...