ถ้าเข้าใจธรรมจะไม่มีสำนักปฏิบัติ


    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืม ชื่อว่าเรียนก็คือเพื่อเข้าใจ ถ้าจะเรียนอภิธรรมก็เพื่อเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นอภิธรรมลึกซึ้งละเอียดยิ่ง ถ้าเราศึกษาพระสูตร ก็จะไม่มีการแสดงวิถีจิตอย่างเช่นที่แสดงในพระอภิธรรม แต่โดยที่เป็นอภิธรรม จึงลึกซึ้ง ให้รู้ว่าละเอียดยิ่งกว่านั้นก็คือ ขณะนี้จิตเห็นเกิดขึ้นหนึ่งขณะ เห็นจริงๆ หนึ่งขณะ ก่อนนั้นรู้ว่ามีสิ่งที่กระทบตาเป็นรูปารมณ์ เป็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่เห็นความละเอียดของธรรม และเมื่อจิตเห็นดับ ต้องมีจิตเกิดต่อ เพราะจิตเกิดดับสืบต่อทีละหนึ่งขณะ จิตนี้ดับไปหมดสิ้นเมื่อไร จิตนั้นจึงเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นได้ แสดงว่าย้อนถอยไป จิตอายุเท่าไรนับไม่ได้เลย เพราะว่าเกิดดับๆ สืบต่อมา เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น แล้วจิตเห็นก็ดับ จิตต่อไปเกิดขึ้นรู้อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏทางตาคือรูปเดียวกันนั้น แต่จิตนั้นไม่เห็น จึงได้รู้ว่า แม้แต่ความชอบ ไม่ชอบ หรืออกุศลทั้งหลายที่เกิดติดข้อง ทันทีที่หลังจิตเห็น ๓ ขณะดับแล้ว ก็เกิดขึ้นทันที แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร นี่คืออภิธรรม

    ในพระสูตร ก็จะแสดงสิ่งที่เราสามารถรู้ได้ว่า เมื่อเห็นแล้วชอบ เห็นแล้วไม่ชอบ แต่ความจริงระหว่างก่อนจะชอบ หรือไม่ชอบนั้น มีจิตเกิดกี่ขณะ แล้วขณะนี้เหมือนกับว่าเราชอบ หรือไม่ชอบคนหนึ่งคนใด สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาแล้ว แต่แม้ยังไม่ทันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อกุศลก็เกิดแล้ว ความติดข้อง และความไม่รู้ก็เกิดแล้ว แสดงว่านี่คืออภิธรรม ถ้าเรียนเพื่อเข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่ไปจำจำนวน ท่องเพื่อสอบ ก็จะรู้ได้ว่าการศึกษาธรรมที่จะให้เรียนอย่างนั้นไม่มีในครั้งพุทธกาล เพราะว่าถ้ากล่าวถึงจิต จิตที่เป็นโลภมูลจิต จิตที่มีความติดข้องมากมายมหาศาล แต่ประมวลแล้วเป็น ๘ ประเภท ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี เรียนเพื่อให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นอะไร ต้องเรียนเพื่อรู้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นพระอภิธรรมก็เป็นตัวหนังสือ แล้วก็ไปสอบ แล้วก็ได้คะแนน แต่ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นจึงมีสำนักปฏิบัติ ถ้าเข้าใจธรรมจะไม่มีสำนักปฏิบัติแน่นอน เพราะไม่มีเราปฏิบัติ สติสัมปชัญญะมีปัจจัยเกิดเมื่อไร ถึงเฉพาะด้วยปัญญาที่เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏเพราะได้ฟังมาแล้ว จึงสามารถที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิด และเข้าใจได้

    เพราะฉะนั้น กล่าวได้ว่า สำนักปฏิบัติทำลายพระพุทธศาสนาใช่ไหม พระพุทธศาสนาสอนให้รู้ ให้เข้าใจถูก แต่สำนักปฏิบัติไม่ได้สอนให้รู้ ให้เข้าใจถูกเลย แต่สอนให้ทำ ไม่มีใครเลยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบอกให้ไปทำ ให้ไปเข้าห้อง ให้ไปอยู่ป่า ให้ไปเดินอย่างนั้น ให้ไปทำอย่างนี้ ไม่มีเลย แต่ทรงสอนให้เข้าใจถูก โดยที่ว่าไม่บังคับ

    ผู้ฟัง แต่คนส่วนใหญ่ที่ก้าวเข้าไปเพื่อหาความสงบ หรือเข้าใจว่าจะไปเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจอะไร เบื้องต้นยังไม่รู้เลยว่าจะเข้าใจอะไร แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เห็น ได้ยิน ทุกอย่างที่มีในวันนี้ทั้งหมด ซึ่งอยู่ในความมืดมากมายมหาศาลที่เกิดดับไม่ปรากฏเลย แต่เมื่อเข้าใจแล้ว เริ่มเข้าใจทีละนิดในขณะที่สภาพธรรมนั้นมีจริงๆ เพราะฉะนั้นสำนักปฏิบัติทำลายพุทธศาสนาหรือไม่ ต้องเป็นผู้ที่ตรง

    ผู้ฟัง ทำลาย หมายถึงอย่างไร แต่ก็ทำให้คนเข้าไปสงบได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ สงบ คืออะไร

    ผู้ฟัง ช่วงที่เขาได้นั่งทำสมาธิ สงบ คือ ยังนิ่งอยู่กับสิ่งใด สิ่งหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ นิ่งคืออะไร นิ่งอย่างไร

    ผู้ฟัง นั่งปฏิบัติธรรม

    ท่านอาจารย์ อะไรนิ่ง

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ จิตนิ่งไม่ได้ จิตเกิดแล้วดับ และจิตเกิดขึ้นรู้ หน้าที่ของจิตคือต้องรู้ เกิดขึ้นรู้ ถึงจะเป็นจิต ถ้าไม่รู้ก็ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นจิตนิ่งเมื่อไร เกิดแล้วดับตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่บ่ายจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ขณะเดียวกันเลย หมดไปไม่กลับมาอีกเลย ถึงเย็น ถึงค่ำ วันนี้ก็หมดแล้ว ไม่มีเหลือ เพราะฉะนั้น สำนักปฏิบัติทำลายคำสอนของพระพุทธศาสนาใช่ไหม ต้องเป็นผู้ที่ตรง พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วมีสำนักปฏิบัติเป็นอัตตาใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปัญญามีหลายระดับ ปัญญาขั้นฟัง รอบรู้ในพระพุทธพจน์ ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เกิดจึงปรากฏ แล้วก็ดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ใครก็ทำให้เกิดไม่ได้ มีปัจจัยจะเห็น ก็เห็นเดี๋ยวนี้ มีปัจจัยให้ได้ยินเสียงกระทบ ก็ได้ยินขณะนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วเดี๋ยวนี้ ถ้าเข้าถึงความเป็นจริงก็คือ รู้เมื่อไหร่ก็ได้ที่ปัญญาอบรมแล้วค่อยๆ ละคลายความยึดถือว่าเป็นเรา มั่นคงขึ้นว่าไม่หวัง เหมือนได้ยินเกิดโดยเราไม่ได้หวัง ปัญญาที่ได้ค่อยๆ อบรมมาแล้ว ก็เกิดรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่ได้หวัง นั่นคือความเป็นอนัตตาที่ชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้น หนทางนี้เป็นหนทางของอนัตตา ชัดเจนขึ้นๆ ไม่ใช่อัตตาที่ไปนั่งทำ นั่งจ้อง เพราะฉะนั้น พูดได้ไหมว่า สำนักปฏิบัติทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องตรงเท่านั้นเอง ถ้าไม่ตรงก็ไม่ได้สาระ สิ่งที่ผิดก็ว่าถูก พระพุทธเจ้าไม่มีสำนักปฏิบัติ มีปัญญาระดับนั้น ถ้าจริงก็ต้องมีสำนักปฏิบัติแล้ว เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีสำนักปฏิบัติ แล้วทำไมคนอื่นมีสำนักปฏิบัติ อย่างนี้ไม่ใช่ว่าทำลายพระศาสนาหรือ ที่ว่าสงบก็ไม่รู้ว่าไม่ได้สงบ เพราะถ้าสงบต้องประกอบด้วยปัญญา ความสงบนั้นถึงจะปรากฎได้ อย่างกุศลจิต เป็นกุศล สงบจากอกุศล แต่ก็ไม่ปรากฏลักษณะของกุศลจิต เพราะปัญญาไม่ถึงระดับขั้นที่จะเป็นสติสัมปชัญญะที่ถึงเฉพาะลักษณะของธรรม ซึ่งเมื่อปรากฏแล้วจะไม่มีสิ่งอื่นปะปนเลย

    อ.ณภัทร ครั้งที่ฟังท่านอาจารย์ใหม่ๆ มีความคิดว่า ฟังท่านอาจารย์ไปด้วยแล้วก็นั่งสมาธิไปด้วยน่าจะดี เพราะว่าเราฟังท่านอาจารย์ในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

    ท่านอาจารย์ แค่คำว่าน่าจะดี ก็เป็นตัวตนแล้ว ไม่ต้องไปไกล เพียงแค่นั้นก็นำไปสู่ความเป็นตัวตนยิ่งขึ้น เพราะน่าจะดี ก็ทำตาม ทำตามโลภะไปตลอด

    อ.ณภัทร ใช่ ถึงได้บอกว่า ช่วงแรกๆ โลภะนี้แนบเนียนมาก จึงฟังท่านอาจารย์ไปด้วย แล้วก็นั่งสมาธิไปด้วย คิดว่าน่าจะดี แต่ที่ท่านอาจารย์พูดว่า น่าจะดี ก็คือความเป็นเรา แต่เราไม่รู้เลยว่านั่นคือความเป็นเรา ที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่นั่นคือโลภะที่แฝงไว้โดยที่เราไม่รู้ เมื่อฟังไปเรื่อยๆ ก็เป็นสังขารขันธ์ ก็คือความคิดที่อยากจะนั่ง เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น ก็เริ่มลดลงๆ แล้วก็ไม่ได้นั่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาเกิด ไม่หวั่นไหวเลยในความเป็นอนัตตา อกุศลเกิดก็ไม่ใช่เรา เป็นธรรม โลภะเกิด ก็ไม่ใช่เรา เป็นธรรม แม้ขณะที่คิดว่าจะดี ขณะนั้นปัญญาหยั่งรู้ได้ ไม่ใช่เราที่คิด เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดทั้งหลาย ละได้เมื่อเกิดแล้วปัญญารู้ว่าผิด อย่างเช่น สีลัพพตปรามาส เวลาที่มีความเห็นผิด ยึดถือในความเห็นผิด ปฏิบัติผิดด้วย เมื่อมีความเห็นผิด ก็ทำตามความเห็นผิดนั้นได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเห็นผิดคิดว่าสมาธิดี แต่ไม่ได้รู้เลยว่าไม่ใช่เราแม้ขณะที่คิด ด้วยเหตุนี้ กว่าจะเป็นพระโสดาบัน ปกติอย่างนี้ทั้งหมดทุกอย่าง ซึ่งขณะนี้สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ เราพูดถึงจิต จิตก็ไม่ได้ปรากฏ พูดถึงผัสสเจตสิก ผัสสเจตสิกก็ไม่ได้ปรากฏ พูดถึงโลภะ โทสะ ก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะเกิดปรากฏเป็นนิมิตแล้วดับ ไม่ได้ปรากฏเลยในลักษณะแท้ๆ ของเขา ซึ่งไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ก็มีความคิดที่จะไม่ทำอย่างนั้น เพื่อจะไม่เป็นอย่างนี้ หารู้ไม่ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นความคิด เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ตามปกติเลยทุกอย่างที่มี ปัญญาเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตา ถ้าคิดหวังรอ ไม่มีทาง ขณะนั้นกำลังเตรียมกำลังสงบ กั้นปัญญาหมด ด้วยเหตุนี้ เวลาท่านที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน หรือเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นปกติ ในขณะที่ล้างเท้า ท่านไม่ได้คิดว่าจะค่อยๆ บรรจงล้างเท้า ค่อยๆ ให้สติตามรู้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นปกติ เพราะฉะนั้น สภาพของสติที่เกิด ปัญญาที่พร้อมที่จะรู้ก็เกิด แสดงความเป็นอนัตตาชัดแจ้ง ชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงจะสามารถที่จะมั่นคงในความเป็นอนัตตาว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ดับอนุสัยกิเลสได้ ไม่เกิดอีกเลย แล้วก็ดับวิจิกิจฉานุสัยด้วย ความสงสัยในธรรม เช่น เวลาที่กล่าวถึงจิต ลักษณะของจิตไม่ได้ปรากฏ ย่อมเป็นของธรรมดาที่สงสัยว่าจิตเป็นอย่างไร แล้วกล่าวแต่ชื่อทั้งหมดเลย และเวลานี้ สภาพธรรมทั้งจิต เจตสิก ก็เกิดดับ นับประมาณไม่ได้เลย แต่อาศัยที่จะเข้าใจได้ โดยการแสดงความละเอียดยิ่งของวิถีจิต ของจิตแต่ละหนึ่ง เกิดดับสืบต่อตามลำดับ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้ พระอรรถกถาจารย์ ท่านก็ประมวลธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฏกมาเป็นจิตแต่ละประเภท เจตสิกแต่ละประเภท เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องละ ต้องไม่ลืม และการที่จะละก็ไม่ใช่เราพยายาม แต่ปัญญาเกิดขึ้นรู้ ก็ละ

    ที่มา ฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

    สำนักปฏิบัติ


    หมายเลข 13309
    4 ธ.ค. 2567