ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจให้มากขึ้น


    ผู้ฟัง ฟังเพื่อเข้าใจ ฟังไปเรื่อยๆ เหมือนกับเผิน ฟังบ่อยๆ ตั้งใจฟังมากเกินไป หรือฟังน้อยเกินไป ก็ทำให้ความเข้าใจเพี้ยนไปได้ ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจให้มากขึ้น ดีขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ห่างไกลจากการที่จะรู้ว่าธรรมเป็นอนัตตา ถูกต้องหรือไม่

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ เพราะเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร มีหนทางหรือว่ามีความคิดด้วยความเป็นตัวตน แต่ความจริงทุกขณะเป็นอนัตตาอยู่แล้ว แต่ปัญญาไม่สามารถที่จะเข้าถึงการเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เช่นที่คุณผู้ฟังคิด ก็เป็นอนัตตา ทำไมคนอื่นไม่ได้คิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จิตคิดเกิดขึ้นก็โดยความเป็นอนัตตา เพราะเคยฟัง เคยคิดอย่างนี้ ทำให้คิดอย่างนี้อีกก็ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้เข้าใจขึ้น จึงจะฟัง แล้วก็ไม่ใช่ฟังเผิน แต่ความจริงบังคับบัญชาไม่ได้เลย คำนี้ เป็นคำที่จะนำไปสู่ความเป็นพระสาวก ถึงความเป็นพระอรหันต์ โดยความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยที่เที่ยง เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟัง หลับไปสักครู่ ฟังเผลอไปสักหน่อย เป็นธรรมดา ไม่ต้องสนใจเลย แต่มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมดา

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง และถูกปกปิด ถ้ามีความเข้าใจขณะนั้นแม้อกุศลที่เกิดปรากฏ แต่ก็รู้ว่าเป็นธรรมดา ปัญญานี้จะไปชำระล้างการยึดถือว่าเป็นเรา และความอยากที่ต้องการที่จะเป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่เป็นอย่างนั้นในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความลึกลับ แล้วก็เป็นการที่ลดเลี้ยว และเป็นการที่ปิดบัง ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเครื่องขวางกั้น แล้วก็เป็นโลภะ และความไม่รู้นั่นเองที่ทำให้คิดอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้ว่าธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา เมื่อสักครู่ก็เป็นอนัตตา เผินก็เป็นอนัตตา เข้าใจก็เป็นอนัตตา ถ้ามีความมั่นคงอย่างนี้ ก็จะตรงกับคำที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่าชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพราะว่าส่วนใหญ่ เราคิดว่าเราอยากจะไม่มีกิเลส เราอยากจะเข้าใจธรรม ขณะนั้นถูกลวงสนิทโดยโลภะ และอวิชชา ซึ่งทำหน้าที่นี้อย่างฉลาด ใช้คำว่าฉลาด ไม่ใช่ปัญญาเลย แต่สามารถที่จะทำให้คนเป็นไปตาม คล้อยตามไป ดึงไปทำให้อยู่ในสังสารวัฎตลอดมา เพราะอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้คุณประโยชน์ของการที่ว่าธรรมคือเรื่องเข้าใจ และเรื่องละ แต่ว่าไม่สามารถที่จะไปเข้าใจมากๆ ทันทีได้อย่างที่หวัง แต่ก็แสดงความเป็นอนัตตาทั้งหมด ไม่มีธรรมไหนเลยซึ่งไม่แสดงความเป็นอนัตตา คิดก็แสดงความเป็นอนัตตา ชอบก็แสดงความเป็นอนัตตา โกรธก็แสดงความเป็นอนัตตา แต่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นอนัตตาได้อย่างมั่นคง จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่เดือดร้อนเลย หมดแล้วผ่านแล้ว แม้เดี๋ยวนี้ สิ่งที่เกิดปรากฏนี้เป็นอนัตตาก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ไม่ว่าอะไรทั้งหมด จะดี จะชั่วปานใดก็ตามแต่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ปัญญาที่สามารถที่จะเข้าถึงความจริงว่าไม่ใช่เราขณะนั้นเท่านั้น ที่จะสะสมอยู่ในจิต ที่จะทำหน้าที่ละคลายความเป็นตัวตน ไม่ใช่ขณะที่พยายามไปเพ่งจ้องทำอะไรเลยทั้งสิ้น


    ที่มา ...

    ไม่พักไม่เพียร


    หมายเลข 13311
    6 ธ.ค. 2567