สมณมุณฑิกสูตร เรื่องของศีล
สำหรับศีล ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งบางพระสูตรอาจจะยาว แต่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังที่จะพิจารณา เพราะเหตุว่าธรรมนั้นละเอียด ถ้าท่านพิจารณาละเอียด ท่านก็จะเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงละเอียดยิ่งขึ้น
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 311
ข้อความใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ สมณมุณฑิกสูตร ซึ่งเป็นเรื่องของศีลมีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นปริพาชก ชื่ออุคคาหมานะ เป็นบุตรนางสมณมุณฑิกา พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ อาศัยอยู่ ณ อารามของพระนางมัลลิการาชเทวี ในตำบลเอกสาลา ชื่อว่าติณฑุกาจีระ คือ แวดล้อมด้วยแถวต้นมะพลับ เป็นที่ประชุมแสดงลัทธิของนักบวช
ท่านผู้ฟังจะเห็นว่า ความเห็นถูกเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่อาศัยการอบรมจริงๆ จะมีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปได้ และมีหนทางที่จะคลาดเคลื่อนไปได้มากทีเดียว
ครั้งนั้น ช่างไม้ผู้หนึ่งชื่อปัญจกังคะ ออกจากเมืองสาวัตถีเพื่อจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อเวลาเที่ยงแล้ว ครั้งนั้นเขามีความดำริว่า เวลานี้มิใช่กาลที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ และไม่ใช่สมัยที่จะไปหาภิกษุทั้งหลายผู้เจริญทางใจ ภิกษุทั้งหลายผู้เจริญทางใจก็หลีกเร้นอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกาบุตรที่อารามของพระนางมัลลิการาชเทวี ณ ตำบล เอกสาลา ชื่อว่าติณฑุกาจีระ เป็นที่ประชุมแสดงลัทธิของนักบวชเถิด ลำดับนั้น ช่างไม้ปัญจกังคะจึงเข้าไปยังอารามของพระนางมัลลิการาชเทวี ณ ตำบลเอกสาลา ชื่อว่าติณฑุกาจีระ
สมัยนั้น อุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกาบุตรนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ซึ่งกำลังพูดดิรัจฉานกถาหลายประการ ด้วยส่งเสียงอื้ออึงอึกทึก
คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องหญิงสาวใช้ตักน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ
ที่จริงแล้วยังไม่หมด ดิรัจฉานกถายังมีอีกมากมาย อะไรๆ ก็เป็นดิรัจฉานกถาถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการแสดงกถาเพื่อความหลุดพ้น แต่ขอให้ท่านระลึกว่าพระภิกษุท่านพูดเรื่องเหล่านี้บ้างไหม เวลาที่กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบเรื่องบ้านเมือง เรื่องของมหาอำมาตย์ เรื่องของอุบาสกนั้น เรื่องของอุบาสกนี้ก็มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของจิต ว่ามีสติระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิตอย่างไรหรือไม่ เพราะว่าไม่พูดเลย ไม่ได้ใช่ไหม
อุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกาบุตรได้เห็นช่างไม้ปัญจกังคะ ซึ่งกำลังมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า
ขอท่านทั้งหลายจงเบาเสียงหน่อย อย่าส่งเสียงนัก ช่างไม้ปัญจกังคะผู้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังมา บรรดาสาวกของพระสมณโคดมที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาวประมาณเท่าใดอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี นายช่างปัญจกังคะนี้เป็นผู้หนึ่งของบรรดาสาวกเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นชอบเสียงเบา ได้รับแนะนำในการเสียงเบา กล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา
เป็นเรื่องพิจารณาจากภายนอก แต่ความจริงการที่จะดับกิเลส ละคลายกิเลส มีมากกว่านั้น ซึ่งจะขาดการเป็นผู่มีปกติเจริญสติปัฏฐานไม่ได้
อุคคาหมานปริพาชกกล่าวต่อไปว่า
บางทีช่างไม้ปัญจกังคะทราบว่าบริษัทมีเสียงเบา จะพึงสำคัญที่เข้ามาหาก็ได้
ปริพาชกเหล่านั้นจึงพากันนิ่งอยู่
ลำดับนั้น นายช่างปัญจกังคะได้เข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชกผู้สมณมุณฑิกาบุตรถึงที่ใกล้ ได้ปราศรัยกับอุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกาบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ธรรมดาเวลาไปหาใคร ไม่ปราศรัยได้ไหม ไปถึงก็นั่งเฉยๆ ไม่พูดจา มีไหมธรรมเนียมอย่างนี้ ไม่มี นี่ไม่ใช่เพ้อเจ้อ เป็นคำพูดพอประมาณ และในพระไตรปิฎกไม่ว่าผู้ใดจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค หรือพระภิกษุท่านไปมาหาสู่กัน ท่านก็จะต้องปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว ก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ซึ่งการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ละคลาย และก็ดับการที่จะพูดเกินประมาณได้
ข้อความต่อไปมีว่า
อุคคาหมานปริพาชกผู้สมณมุณฑิกาบุตร ได้กล่าวกะนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า
ดูกร นายช่างไม้เราย่อมบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่าเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกร นายช่างไม้ บุคคลในโลกนี้ ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่า เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ดังนี้
ลำดับนั้น นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของ อุคคาหมานปริพาชกผู้สมณมุณฑิกาบุตร แล้วลุกจากอาสนะหลีกไปได้ ดำริว่า
เราจักรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วเขาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลเล่าการเจรจาปราศรัยกับอุคคาหมานปริพาชกผู้สมณมุณฑิการบุตรทั้งหมดแก่พระผู้มีพระภาค
พูดได้ไหม เพ้อเจ้อหรือเปล่า เป็นเรื่องที่สมควรจะกราบทูลไหม
เมื่อนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร นายช่างไม้ เมื่อเป็นเหมือนอย่างคำของอุคคาหมานปริพาชกผู้สมณมุณฑิกาบุตร เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ ก็จักเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
ดูกร นายช่างไม้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่า กาย ดังนี้ ก็ยังไม่มีที่ไหนจักทำกรรมชั่วด้วยกายได้เล่า นอกจากจะมีเพียงอาการดิ้นรน
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่า วาจา ดังนี้ ก็ยังไม่มี ที่ไหนจักกล่าววาจาชั่วได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่า ความดำริ ดังนี้ ก็ยังไม่มี ที่ไหนจักดำริชั่วได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้และการหัวเราะ
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่า อาชีพ ดังนี้ ก็ยังไม่มี ที่ไหนจักเลี้ยงชีพชั่วได้เล่า นอกจากน้ำนมของมารดา
ดูกร นายช่างไม้ เมื่อเป็นเหมือนอย่างคำของอุคคาหมานปริพาชกผู้สมณมุณฑิกาบุตร เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ จักเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
ความจริงแล้ว การที่จะเป็นสมณะ เป็นผู้ที่มีกุศลอย่างยิ่งนั้น เป็นเรื่องของการดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ว่าเพียงอาการที่ไม่กระทำกรรมชั่วด้วยกาย หรือว่าไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่วเท่านั้น แต่จะต้องคิดถึงกิเลสที่สะสมอยู่ในจิต ดับหมดหรือยัง ถ้ายังดับไม่หมด เพียงในขณะที่ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่วเท่านั้น จะกล่าวว่าผู้นั้นมีกุศลสมบูรณ์ หรือว่ามีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ กล่าวอย่างนี้ยังไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้กระทำ แต่กิเลสยังมีเต็มอยู่ในจิตใจที่ยังไม่ได้ดับหมด เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม การฟังธรรม เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ซึ่งพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดนั้น เพื่อเกื้อกูลให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูกในสภาพธรรม เพื่อที่จะได้ประพฤติหนทางที่ถูก และดับกิเลสได้จริงๆ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายช่างไม้ เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า มิใช่ผู้มีกุศลสมบูรณ์เลย ไม่ใช่ผู้มีกุศลอย่างยิ่ง มิใช่เป็นสมณะผู้ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ก็แต่ว่าบุคคลผู้นี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร นายช่างไม้ บุคคลในโลกนี้ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่า มิใช่ผู้มีกุศลลมบูรณ์ มิใช่ผู้มีกุศลอย่างยิ่ง มิใช่เป็นสมณะผู้ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ก็แต่ว่าบุคคลผู้นี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่
นี่คือ ท่านผู้ฟังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แต่ว่าเมื่อกิเลสยังไม่ได้ดับหมดเป็นสมุจเฉท ก็ยังไม่ใช่ผู้ที่มีกุศลสมบูรณ์ ไม่ใช่ผู้ที่มีกุศลอย่างยิ่ง มิใช่เป็นสมณะผู้ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายช่างไม้ เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการว่าเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะผู้ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
ดูกร นายช่างไม้ ข้อที่ศีลเหล่านี้เป็นอกุศล ศีลเป็นอกุศล มีสมุฏฐานแต่จิตนี้ศีลเป็นอกุศลดับลงหมดสิ้นในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นอกุศล เรากล่าวว่าควรรู้
ข้อที่ศีลเหล่านี้เป็นกุศล ศีลเป็นกุศล มีสมุฏฐานแต่จิตนี้ ศีลเป็นกุศลดับลงหมดสิ้นในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล เรากล่าวว่าควรรู้
ข้อที่ความดำริเหล่านี้เป็นอกุศล ความดำริเป็นอกุศล มีสมุฏฐานแต่จิตนี้ความดำริเป็นอกุศลดับลงหมดสิ้นในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล เรากล่าวว่าควรรู้
ข้อที่ความดำริเหล่านี้เป็นกุศล ความดำริเป็นกุศล มีสมุฏฐานแต่จิตนี้ ความดำริเป็นกุศลดับลงหมดสิ้นในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นกุศล เรากล่าวว่าควรรู้
นี่เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า ศีล คือ ความประพฤติเป็นไปทางกายทางวาจา ที่เป็นอกุศล มีสมุฏฐานแต่จิต เวลาที่จิตเป็นอกุศล กายก็เป็นทุจริต วจีก็เป็นทุจริต เป็นอกุศลจิต เป็นอกุศลศีล
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ศีลเป็นอกุศลดับลงหมดสิ้นในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นอกุศล เรากล่าวว่าควรรู้ ถ้าไม่รู้จะดับได้ไหม เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น หรือว่ากายทุจริต วจีทุจริตเป็นไปตามกำลังของอกุศลเกิดขึ้นแล้ว สติก็จะต้องระลึกรู้ เพื่อดับ เพื่อละ และจึงจะรู้ว่า ศีลเป็นอกุศลดับหมดสิ้นในที่นี้
หรือแม้แต่ข้อที่ว่า ศีลเหล่านี้เป็นกุศล ศีลเป็นกุศล มีสมุฏฐานแต่จิตนี้ ศีลเป็นกุศลดับลงหมดสิ้นในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล เรากล่าวว่าควรรู้
แม้แต่กุศลจิต ก็ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่รู้ ก็เป็นเรา ซึ่งเป็นความเห็นผิด เป็นความเข้าใจผิด ไม่ใช่การดับกิเลส ถ้าตราบใดที่ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล จะไม่มีโอกาสดับกิเลสอะไรได้เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรรู้ และผู้ที่ปฏิบัติจนกระทั่ง แม้ความดำริที่เป็นอกุศล แม้ความดำริที่เป็นกุศล มีสมุฏฐานแต่จิต ความดำริที่เป็นอกุศล ความดำริที่เป็นกุศลดับลงหมดสิ้นในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล เป็นกุศล เรากล่าวว่าควรรู้
เป็นเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าขณะนั้นจะเป็นอกุศล เป็นกุศล เป็นความดำริ เป็นกายกรรม วจีกรรม อย่างไรก็ตาม
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายช่างไม้ ก็ศีลที่เป็นอกุศลนั้นเป็นไฉน
ถ้าท่านศึกษาธรรมโดยละเอียด ท่านจะทราบความเป็นจริงของกายกรรม วจีกรรมที่เป็นอกุศลศีล หรือกุศลศีล ซึ่งส่วนมากท่านผู้ฟังจะเข้าใจว่า ศีลเป็นกุศลอย่างเดียว ศีลที่เป็นกุศล หมายความถึงเฉพาะศีลที่จะขัดเกลากิเลส จึงเป็นกุศล แต่ว่าธรรมดาแล้ว ศีลหมายความถึงความประพฤติของกายของวาจา ถ้าเป็นทุจริต ก็เป็นอกุศล ถ้าเป็นสุจริต ก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ที่จะดับกิเลส ก็ต้องเจริญศีล อบรมศีลที่เป็นกุศล
ใน วิสุทธิมรรค ตามชื่อก็คือหนทางปฏิบัติ เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส เพราะฉะนั้น ในวิสุทธิมรรคก็กล่าวถึงเฉพาะเรื่องของศีลที่เป็นกุศล และในข้อธรรมหมวดอื่นซึ่งเป็นการขัดเกลาดับกิเลสก็กล่าวถึงศีลที่เป็นกุศล แต่ว่าข้อความในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถึงทั้งศีลที่เป็นอกุศลและศีลที่เป็นกุศล ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสกับนายช่างไม้ปัญจกังคะว่า
ดูกร นายช่างไม้ ก็ศีลที่เป็นอกุศลนั้นเป็นไฉน
ดูกร นายช่างไม้ กายกรรมเป็นอกุศล วจีกรรมเป็นอกุศล การเลี้ยงชีพชั่วเหล่านี้ เรากล่าวว่าศีลเป็นอกุศล
ก็ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นอกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน
จิตเป็นไฉน ถึงจิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ
จิตใดมีราคะ โทสะ โมหะ ศีลเป็นอกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน ก็ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งศีลที่เป็นอกุศลเหล่านั้น เราก็ได้กล่าวแล้ว
ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ
ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้ ดับลงหมดสิ้นในการละทุจริต เจริญสุจริต และการละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะนี้
ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลที่เป็นอกุศล
ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น
ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว
ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพี่อความเจริญเพื่อความเต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อการดับแห่งศีลที่เป็นอกุศล
ท่านผู้ฟังอย่าคิดว่า ไม่ใช่ท่านผู้ฟังขณะนี้ ขอให้ทบทวนพยัญชนะที่ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
ท่านผู้ฟัง ฟังธรรมเพื่ออะไร เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ใช่ไหม ที่เป็นผู้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ เพื่อเหตุนี้ใช่หรือไม่ใช่
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 312
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายช่างไม้ ก็ศีลที่เป็นกุศลเป็นไฉน
ดูกร นายช่างไม้ เราย่อมกล่าวซึ่งกายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล และอาชีวะอันบริสุทธิ์ลงในศีล เหล่านี้ เรากล่าวว่าศีลเป็นกุศล ก็ศีลเป็นกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน
จิตเป็นไฉน แม้จิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ
จิตใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งศีลเป็นกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว
ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล แต่จะสำเร็จด้วยศีลหามิได้ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น ของภิกษุนั้นด้วย
ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล
ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความ ตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญเพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว
ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล
แม้แต่ศีลที่เป็นกุศลก็ต้องดับ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้ว่า แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน จิตเป็นไฉน แม้จิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ จิตใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน
ทรงใช้พยัญชนะว่า จิต ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้นเป็นแต่เพียงจิตที่ปราศจากราคะ จิตที่ปราศจากโทสะ จิตที่ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จิตของท่านเปลี่ยนไป เดี๋ยวเป็นกุศลบ้างเดี๋ยวเป็นอกุศลบ้าง ก็เป็นสมุฏฐานของศีลที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แต่จะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริง
และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลแต่จะสำเร็จด้วยศีลหามิได้ มิใช่เพียงแต่ศีล แต่จะต้องเป็นการรู้ชัดในสภาพธรรมเพราะย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น ของภิกษุนั้นด้วย
เป็นการเจริญสติปัฏฐานทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาพระไตรปิฎก ที่จะพ้นจากการเจริญสติปัฏฐานเพื่ออบรมปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมซึ่งเป็นจิตใจของท่านเองนั้น ไม่มีเลยที่จะพ้นไปได้ พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ยาวแต่จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังที่จะได้เข้าใจเรื่องตัวท่านและความหมายของศีล ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็นอกุศลเป็นไฉน
วันหนึ่งๆ คิดมากมายเท่าไรนับไม่ถ้วนเลยใช่ไหม ที่คิดนั้นเป็นความดำริทั้งนั้นยังไม่ได้มา ก็คิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้มา ดำริที่จะได้ ได้มาแล้วก็คิดอีก ดำริอีกว่า จะแบ่งปันสิ่งที่ได้มานั้นอย่างไรบ้าง จะรักษาไว้อย่างไร จะใช้อย่างไร จะเก็บไว้อย่างไร เมื่อไร อย่างไร ก็คิดไปอีก เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็มีแต่เรื่องของความดำริซึ่งก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และความดำริ ความคิด ในวันหนึ่งๆ ลองตรวจสอบดูว่า เป็นกุศลเท่าไร เป็นอกุศลเท่าไร สมมติว่า ได้อะไรมาสักอย่างหนึ่ง ความดำริในสิ่งที่ได้มานี้จะเป็นกุศลหรือจะเป็นอกุศล ตามธรรมดามักจะเป็นไปในทางไหน เมื่อยังเป็นอกุศลอยู่ ผู้ที่จะดับกิเลสจะขาดการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริงไม่ได้เลย ที่จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่ตรึก ที่ดำริ ที่คิด ที่เป็นกุศล หรือว่า ที่เป็นอกุศล
พระผู้มีพระภาคตรัสกับนายช่างไม้ปัญจกังคะ ต่อไปว่า
ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริเป็นอกุศลเป็นไฉน
ดูกร นายช่างไม้ ความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริในการเบียดเบียน เหล่านี้ เรากล่าวว่า ความดำริเป็นอกุศล ก็ความดำริเป็นอกุศลนี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งความดำริเป็นอกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน
สัญญาในที่นี่ คือ ความทรงจำ เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่จำ
สัญญาเป็นไฉน แม้สัญญาเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ
สัญญาใดเป็นสัญญาในกาม เป็นสัญญาในพยาบาท เป็นสัญญาในการเบียดเบียน ความดำริเป็นอกุศล มีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน ก็ความดำริเป็นอกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งความดำริเป็นอกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว
ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ซึ่งเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งความดำริเป็นอกุศล
ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหายเพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล
ถ้าสติไม่ระลึกรู้ว่า คิด เป็นกุศลหรืออกุศลแล้ว วันหนึ่งคิดเป็นอกุศลมากสักเท่าไร คงไม่คิดที่จะดับความดำริที่เป็นอกุศล แต่ยิ่งสติระลึกรู้ เห็นอกุศลวันๆ หนึ่ง มากเหลือเกิน ก็จะเป็นปัจจัยให้คิดที่จะละ หรือดับอกุศลนั้นลงให้หมดสิ้นไป ถ้าไม่รู้ว่ามีมาก ก็ไม่คิดที่จะดับ แต่ถ้าสติระลึกรู้ เห็นว่ามีมาก ระลึกทีไรก็เห็นว่ามีมากจริงๆ ควรที่จะดับไหม หรือว่าควรที่จะสะสมให้มากยิ่งขึ้น
ข้อความตอนท้าย คือ การเป็นผู้ที่อบรม เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว สติแต่ละครั้งที่เกิด ก็เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหายเพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริเป็นกุศลเป็นไฉน
ชอบไหมตอนนี้ ความดำริเป็นกุศล เมื่อสักครู่อกุศลไม่ชอบ ตอนนี้ก็ชอบ ที่ดำริเป็นกุศล แต่ถ้ายังยึดถือว่าเป็นเราที่เป็นกุศลในขณะนั้น ในขณะนี้ก็ไม่มีหนทางเลยที่จะดับกิเลสสักอย่างเดียวได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น แม้แต่ความดำริที่เป็นกุศล ก็จะต้องรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรากฏแล้วก็หมดไปเท่านั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริเป็นกุศลเป็นไฉน
ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริในเนกขัมมะ ความดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน เหล่านี้ เรากล่าวว่า ความดำริเป็นกุศล ก็ความดำริเป็นกุศลนี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน
ที่จะไม่มีสมุฏฐาน เป็นตัวตนเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของความปรารถนา หรือความคิดว่าบังคับได้นั้น ไม่มี สภาพธรรมทั้งหลายล้วนอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แม้แต่ความดำริเป็นกุศลก็มีสมุฏฐาน
ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
แม้สมุฏฐานแห่งความดำริเป็นกุศลนั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน
สัญญาเป็นไฉน แม้สัญญาก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ
สัญญาใดเป็นสัญญาในเนกขัมมะ เป็นสัญญาในอันไม่พยาบาท เป็นสัญญาในอันไม่เบียดเบียน ความดำริเป็นกุศล มีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน ก็ความดำริเป็นกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งความดำริที่เป็นกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ซึ่งเป็นที่ดับลงหมดสิ้นแห่งความดำริเป็นกุศลเหล่านี้
ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นกุศล
ต่อไปก็เป็นเรื่องของสติปัฏฐานคือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นกุศล
ไม่ว่าจะเป็นความดำริที่เป็นกุศลขั้นไหนก็ตาม ต้องดับเป็นสมุจเฉท และที่จะดับเป็นสมุจเฉทได้ ก็เพราะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งที่ควรจะดับทั้งนั้น ไม่ว่าความดำรินั้นจะเป็นความดำริในกุศลธรรมเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสาระ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะดับ แม้กุศล แม้ความดำริที่เป็นกุศลด้วย
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายช่างไม้ เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นไฉนว่า เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
ซึ่งบุคคลที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ใช่บุคคลที่ปริพาชกกล่าว เพราะถ้าเป็นในลักษณะของปริพาชกแล้ว เพียงแต่เด็กอ่อนนอนหงาย แต่ว่าไม่กระทำกายกรรมวจีกรรมที่เป็นทุจริต จะกล่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีกุศลสมบูรณ์ไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นของ อเสขบุคคล ๑ สัมมาสังกัปปะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาวาจาเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมากัมมันตะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาอาชีวะเป็นของอเสขบุคคล ๑สัมมาวายามะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาสติเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาสมาธิเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาญาณเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาวิมุตติเป็นของ อเสขบุคคล ๑
เราย่อมกล่าวว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้แลว่า เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ดังนี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ช่างไม้ปัญจกังคะยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดังนี้แล
จบสมณมุณฑิกบุตรสูตรที่ ๘
สำหรับเรื่องศีลที่จะกล่าวต่อไป นำมาจากพระไตรปิฎก ซึ่งบางทีข้อความบางตอนท่านผู้ฟังจะพบในวิสุทธิมรรค ในหมวดของสีลนิทเทศ ซึ่งเป็นการประมวลธรรมเรื่องของศีลไว้ แต่ที่วิสุทธิมรรคประมวลธรรมเรื่องของศีลที่เป็นสีลนิเทศนั้น มาจากพระไตรปิฎกทั้งสิ้น แม้แต่ความหมายของคำว่าศีล ก็มีทั้งที่เป็นอกุศลและที่เป็นกุศลเพราะเหตุว่าสมุฏฐานของความประพฤติที่เป็นไปทางกาย ทางวาจานั้น มีจิตเป็นสมุฏฐาน ซึ่งบางขณะจิตก็เป็นอกุศล บางขณะจิตก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาก็เป็นอกุศล และขณะใดที่ความประพฤติทางกาย ทางวาจาเป็นกุศล ก็เป็นเพราะกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน ซึ่งผู้ที่เจริญ สติปัฏฐานที่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือนามธรรมที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดกุศลและอกุศลนั้นตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่เว้นไม่ได้ เป็นเรื่องละเอียด เพราะเป็นเรื่องจิตใจของท่านเอง และเกี่ยวข้องตลอดเวลากับชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลส ขัดเกลากิเลส ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ที่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 313