เจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่บังคับหรือฝืน
ถึงแม้ว่าในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่บังคับหรือว่าไม่ใช่ฝืน แต่ว่าให้เจริญจนกระทั่งเป็นนิสสัย เป็นอุปนิสสัยของผู้นั้น อย่างเรื่องของ นิสสัย ต้องเป็นเรื่องของสิ่งที่ได้กระทำจนกระทั่งชิน จนกระทั่งเป็น นิสสัย แต่ อนุสัย คือกิเลสอย่างละเอียดนั้นละเอียดยิ่งกว่านิสสัย เพราะเหตุว่า นิสสัยนั้นก็อาศัยการฝึกอบรมเป็นเวลานานพอสมควรก็เป็นนิสสัยอันนั้นได้ แต่ว่า อนุสัยนับชาติไม่ถ้วนทีเดียวที่สืบเนื่องนอนเนื่องอยู่ในจิต เป็นต้นว่า เวลาที่เห็นก็ไม่รู้ว่าอะไร ก็เป็นอวิชชานุสัย ไม่รู้ทุกๆ ขณะ ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ ไม่มีขณะที่จะรู้เลยว่าขณะนี้กำลังเป็นอะไร เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นอนุสัยอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อนุสัยจะลึกแล้วจะละเอียดยิ่งกว่านิสสัยสักเท่าไร ฉะนั้น ถ้าเราไม่เจริญสติ ไม่ฝึกนิสสัย ไม่ว่ากำลังเห็นกำลังได้ยิน ก็ฝึกนิสสัยใหม่แทนที่จะหลง ลืมสติ พอเห็นก็ระลึกได้ว่าที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นสภาพรู้ทางตา ถ้าเป็นโดย ลักษณะนี้บ่อยๆ ผู้นั้นก็มีนิสสัยที่ละคลายอนุสัย ความที่ไม่เคยรู้ที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจทุกๆ ขณะ จนกว่าจะหมดไปเป็นประเภทๆ ได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของสิ่งที่เราเคยไม่รู้ ก็มีมากแล้วก็เหนียวแน่นแล้วก็เนิ่นนามมาแล้ว ฉะนั้นเรื่องของการละ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญสติเจริญปัญญา ละคลายความไม่รู้ที่มีอยู่ในจิตอย่างละเอียด ด้วยการเจริญสติอย่างละเอียดด้วย ไม่ใช่เจริญหยาบๆ เป็นบางประเภท แล้วก็คิดว่าจะละคลายได้ แต่ว่าจะต้องเป็นการเจริญปัญญาอย่างละเอียดจริงๆ ฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นกิจวัตรเป็นประจำวัน มีโอกาสที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปละเอียดกว่า เพราะเหตุว่า ไม่ได้จำกัดลักษณะของนามและรูปทางหนึ่งทางใด แล้วไม่จำกัดเวลาและจำกัดสถานที่ด้วย ถ้าจำกัดบางเวลา เวลานั้นอาจจะไม่ค่อยมีกิเลส โลภะ โทสะ อาจจะเบาบาง เพราะเหตุว่า กำลังสงบเป็นสมาธิ แต่ที่อื่นเวลาที่ไม่เป็นปัจจัยให้จิตสงบมีโลภะ โทสะ และสติก็ไม่มีกำลัง เพราะว่า ไม่เคยเจริญก็ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น ก็ยึดถือนามและรูปในขณะนั้นว่าเป็นตัวตนได้
แต่ว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นประจำอยู่เรื่อยๆ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นนามนั้นรูปนี้ ก็มีโอกาสที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปละเอียดขึ้น
ที่มา ...