อกุศลเล็กๆ คืออย่างไร


    ผู้ฟัง ที่สนทนาเมื่อกี้เราพูดถึงเรื่องกุศล อกุศลกันเล็กน้อย อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายให้ละเอียดเรื่องอกุศลแม้เล็กน้อย ก็เป็นอกุศล เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเด็กๆ

    ท่านอาจารย์ สนใจไหมคะ ถ้าสนใจให้อ่านหนังสือ “บุญญกิริยาวัตถุ” เป็นการบ้าน คือคนที่จะเข้าใจธรรม ไม่ใช่แค่ฟัง ต้องไตร่ตรอง และเริ่มเห็นประโยชน์ และต้องค้นคว้า ศึกษาด้วยตัวเองเพิ่มเติมด้วย เพราะว่าเรียนเท่าไรก็ไม่หมด ตลอดชีวิตนี่ไม่จบ

    เพราะฉะนั้น ถ้าฟังวันนี้แล้ว ไปอ่านหนังสือได้เลย อย่าไปคอยว่า เขายังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เราอย่าเพิ่งไปอ่าน ไม่ได้ค่ะ เราอ่านได้หมดทุกเล่ม แล้วจะประกอบกันทั้งหมด แล้วจะทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย แล้วก็เร็วด้วย ไม่ต้องคอย แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังต้องเข้าใจจริงๆ ถึงกระดูก ใช้คำว่า “จรดกระดูก” อย่างคำว่า “อนัตตา” เริ่มเห็นความจริงว่า บังคับใครได้ คนเราอยากจะบังคับคนอื่น แม่ก็อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ลูกก็อยากให้แม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ต้องคนอื่น ตัวเองบังคับได้หรือเปล่า แค่ตัวเองยังไม่ได้ แล้วจะให้คนอื่นเป็นอย่างใจได้อย่างไร แต่มีทางเดียว คือ เข้าใจคนอื่นเมื่อเริ่มเข้าใจตัวเอง เพราะว่าเหมือนกันหมด ทุกคนก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีคิด มีสุข มีทุกข์ มีรัก มีชังในสิ่งที่กำลังปรากฏ เลือกไม่ได้ แล้วแต่กรรมของใคร

    เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มเข้าใจก็จะทำให้เห็นใจคนอื่น ที่ใช้คำว่า “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” เมตตาก็คืออยากให้คนอื่นได้มีความสุขจากการมีปัญญา มีความเห็นถูก แล้วถ้าเขาอยู่ในสภาพที่เราจะเกื้อกูลได้ ช่วยได้ ก็กรุณาให้เขาได้ยินได้ฟัง หรือกรุณาเรื่องไหนก็ได้ที่จะให้เขาพ้นทุกข์ ถ้าเขาเข้าใจ เราก็มีมุทิตา ดีใจด้วยที่หลังจากไม่ได้ฟังมากี่ปีก็แล้วแต่ ก็เริ่มจะได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง ลูกๆ สามารถเมตตาพ่อแม่ได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เมตตาทุกคนได้ค่ะ เพราะว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เป็นอุปสรรค คือพ่อแม่รักลูก และลูกรักพ่อแม่ เพราะฉะนั้น ก็จะมีความรักซึ่งกัน และกัน ซึ่งไม่ใช่เมตตา แต่ถ้าเรียนจริงๆ จะรู้ว่า เป็นแม่ลูกกันกี่ชาติคะ ชาติเดียวคือชาตินี้ ชาติก่อนเป็นลูกใคร ไม่รู้เลย พ่อแม่ชาตินั้นเขาก็ยังรักอยู่ ถ้าเราตายเร็ว เขาก็ยังคร่ำครวญหวนไห้อยู่ ยังสุดแสนรัก เหมือนน้องสาวคนสุดท้องของดิฉัน ลูกของเขาเสียชีวิตเมื่ออายุ ๒๘ เป็นโรคภูมิแพ้เลือด SLE เรียนจบ ทำงานดี ทุกวันนี้ไปไหนก็ต้องไปกับกระดูกลูก เวลานอนก็ไม่มีสักครั้งเดียวที่จะลืมคุยกับลูก ลูกอยู่ในชีวิตของเขา จะบอกสักเท่าไรว่า ชาตินี้ชาติเดียว ก็ไม่ฟัง หรือฟังแล้วก็ยังคงเหมือนเดิม คือยากแสนยากที่ความรักโดยสายเลือด โดยการผูกพัน โดยการให้กำเนิด จะทำให้ลืมว่า เขาไม่ใช่ของเรา ทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง ถ้าเขาไม่มีกรรมของเขาที่จะมาเกิดเป็นลูกคนนี้ เขาก็ไม่มาเป็นลูกของคนนี้แน่ๆ ใช่ไหมคะ แล้วเขาจะอยู่ได้ด้วยกรรม อย่างที่เราเล่าให้ฟังถึงคนที่เชียงใหม่ที่ลูกเสียชีวิต อายุ ๑๙ ขับรถชน แล้วเมื่อเช้านี้ฟังทาง จท่านอาจารย์ ก็มีคนขับรถชนตายอายุ ๒๕ เหมือนกัน ก็ไม่มีใครไปบังคับได้ว่า สิ่งนี้อย่าเกิดๆ เกิดกับคนอื่นได้ แต่อย่าเกิดกับเรา ก็เป็นไปไม่ได้ เกิดกับเขาได้ ก็ต้องเกิดกับเราได้ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีอะไรเป็นของเราจริงๆ ตัวเรายังไม่ใช่ของเรา แต่ความไม่รู้ก็ทำให้เราผูกพันมาก แต่ทางเดียวที่เราจะผูกพันน้อย และจะเพิ่มเมตตาขึ้น ก็ต่อเมื่อเห็นโทษของโลภะ และรู้ว่าขณะที่เป็นโลภะ กับขณะที่เป็นเมตตาต่างกันมาก มองดูข้างนอกคล้ายคลึงกัน เพราะถ้ามีความเมตตา ก็คือมีความเป็นมิตร มีความหวังดี หวังประโยชน์เกื้อกูลที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ เหมือนมารดาทำกับลูก แต่ต้องตัดคำว่า “โลภะ” ออกไป ถ้าเราสามารถทำกับคนอื่นเหมือนแม่ที่ทำกับลูก แต่ไม่ทำด้วยโลภะ นั่นคือเมตตาจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความรู้ว่า เมตตาคือขณะซึ่งเราไม่ผูกพัน เรามีปัญญาที่จะรู้ความจริงว่า ควรจะเกื้อกูล เขาเป็นลูก ในฐานะพ่อแม่ก็ให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุดที่จะให้ได้ แต่อย่าลืมว่า เขามีกรรมเป็นของเขา อย่างคนที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับลูก ให้รถเบนซ์ก็ขับไปแล้วก็ตาย รถเบนซ์ขาดสองท่อน ก็คิดดูก็แล้วกันว่า กรรมของใคร ไม่ใช่กรรมของแม่ แม่ไม่ได้ต้องการอย่างนั้น ไม่ใช่กรรมของพ่อ เพราะแม้แต่วิสาขามิคารมารดา ซึ่งท่านเป็นพระโสดาบัน เวลาหลานตายท่านก็ร้องไห้ พร่ำรำพันเข้าพระวิหารเชตะวันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็เป็นเรื่องที่กิเลสจะหมดไปได้ก็ต่อเมื่อปัญญาถึงระดับขั้นที่จะดับกิเลส แต่ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ก็ยังมีปัจจัยให้กิเลสอยู่ ก็เห็นธรรม เห็นความเป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นว่า สิ่งที่เกิดแล้วเป็นธรรมดา ธรรมดาอย่างไร เพราะมีปัจจัยสะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น คำถามที่ชอบถามกันแต่ก่อนว่า “ทำไมถึงต้องเป็นเรา” คนที่ศึกษาธรรมแล้วตอบได้เหมือนกัน เพราะต้องเป็นเรา จะเป็นคนอื่น หรือจะเป็นใครไปไม่ได้เลย สะสมมาอย่างไร เป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง มีเรื่องที่ยังสับสนมานานแล้วว่า ที่เรามาเรียนธรรมกัน เพราะเราต้องการความสุขที่แท้จริง ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ หมายความว่า เราซึ่งเป็นคนฉลาด คนฉลาดต้องรู้ว่า มีคนที่ฉลาดกว่า จะไม่มีคนฉลาดจริงๆ ที่คิดว่า ฉลาดที่สุดแน่ๆ นั่นคือคนไม่ฉลาด ถ้าเป็นคนฉลาดเขาต้องรู้ว่า ต้องมีคนที่ฉลาดกว่าแน่นอน แล้วแต่จะเป็นใคร เพราะฉะนั้น เขาก็เลือกคนฉลาดที่เขาจะฟังคำของคนฉลาด และสำหรับเราเป็นบุญอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม คนที่สะสมบุญมาแล้ว แม้ในอดีตจะเกิดที่ประเทศอื่น เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ เขาก็สะสมบุญมาที่จะได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้น การได้ฟังธรรมเป็นการสะสมในอดีต ใครจะเคยคิดว่าจะมีสนทนาธรรม เด็กๆ ทั้งหลายจะมาฟังธรรม เป็นกิจกรรมใหม่ กิจกรรมธรรมดาก็ไปคาราโอเกะ ไปเล่นฟุตบอล ไปสนุกสนานกัน แต่นี่เป็นกิจกรรมซึ่งถ้าไม่มีการสะสมมา จะไม่มีขณะนี้ ต้องทราบว่า ทุกขณะจิตเราเลือกไม่ได้ ต้องมีการสะสมมาจริงๆ ที่จะเป็นอย่างนี้ จะไม่เป็นอย่างอื่น ต้องเป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีโอกาส แล้วเราจะทิ้งโอกาส หรือเราจะไม่เหมือนคนไม่รู้ ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาคืออะไรก็ไม่รู้ สอนว่าอะไรก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่เรามีโอกาสอย่างมากที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น คนฉลาด เขาจะใฝ่หาความรู้ และความรู้อื่นๆ ไม่ใช่ความรู้ที่จะทำให้เขาเข้าใจตัวเอง แต่ว่ามีอยู่เพียงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากคำสอนของพระองค์ที่ทำให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างทั้งตัวเอง และคนอื่น ทั้งภายนอก ภายใน ทุกอย่างหมดตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่า มีบุคคลที่เลิศกว่าบุคคลอื่น เราควรจะฟัง หรือควรจะศึกษาไหม

    นี่ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะตัดสินใจเอง

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ที่ผมหมายถึงคือ เราต้องการมีความสุขที่แท้จริง แต่ผมสับสนว่า ยังคงเป็นความโลภหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตอบได้ไหมคะว่า ความสุขที่แท้จริงคืออะไร

    ผู้ฟัง คือการไม่มีเรา

    ท่านอาจารย์ คือการที่ทุกอย่างไม่เกิดขึ้นอีกเลย ถ้ายังเกิดก็ต้องมีสุข มีทุกข์ บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ใช้คำว่า “ปรินิพพาน” คือดับโดยรอบ ไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดอีกเลย เพราะว่าไม่มีกิเลสที่ต้องการให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้น เพราะรู้ว่า สภาพธรรมใดที่เกิด สภาพธรรมนั้นดับ สิ่งที่เกิดดับแสนเร็วแล้วหมดไปเร็วมาก มีค่าอะไร มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรเหลือเลยสักอย่างเดียว ควรหรือที่จะติด ควรหรือที่จะยึดถือว่าเป็นสุข

    เพราะฉะนั้น ความสุขที่แท้จริง คือ ความสงบจากการเกิด ไม่มีการเกิดอีกเลย แต่ใครจะถึง ถึงได้วันหนึ่ง อย่างที่พระอรหันต์ทั้งหลายท่านถึงแล้ว

    เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการอบรม เพราะเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่ใครไม่อยากเกิด ก็ไปฆ่าตัวตาย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ก็ต้องเกิดอีกแน่ๆ

    ผู้ฟัง อย่างที่เราเรียนรู้ ความโลภเป็นสิ่งที่เราควรละ หรือควรจะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เราละได้อย่างไร ทุกอย่างที่ไม่ดี เราควรละหมด แล้วเราละได้อย่างไร ไม่มีทาง

    ผู้ฟัง ถ้าเราพยายาม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง เรา ไม่มีทาง เพราะเหตุว่าเป็นเรา จึงไม่มีทาง เมื่อไม่มีเราเท่านั้นแหละคือทาง ทางคือเมื่อไม่มีเรา แต่ถ้ายังมีเราอยู่ ก็ไม่มีทาง เพราะเป็นเรา เป็นความเห็นผิดตั้งแต่ต้นเลย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษาจนเข้าใจว่า อย่างไรถึงจะไม่เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่มีบุญ ศึกษาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ว่า คนนั้นสะสมมาที่จะรู้ว่า มีค่าที่สุด ประเสริฐที่สุด เป็นรัตนะที่สูงที่สุด ถ้าเราได้ลาภ เพชรนิลจินดา หายได้ไหม ตกน้ำได้ไหม ขโมยลักได้ไหม โจรปล้นได้ไหม แต่ความรู้ของเรา ใครจะเอาไปได้ ไม่มีทางที่จะเอาไปได้เลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเสริฐที่สุด สูงที่สุด ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง ลาภอันประเสริฐก็คือการมีโอกาสได้ฟัง และเข้าใจพระธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังจะบอกว่า สิ่งที่ทุกคนกำลังได้ฟังวันนี้ และมีความเข้าใจ ก็เป็นการสะสมความรู้ความเข้าใจนี้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า

    ท่านอาจารย์ เราจะรู้ผลของการฟังแค่นี้ เมื่อไรคะ ทราบไหมคะ

    ผู้ฟัง ผลคราวนี้ หมายความว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ผลของการมานั่งฟังวันนี้ เราจะรู้ผลอันนี้เมื่อไร

    ผู้ฟัง ตอนนี้ก็เข้าใจมากขึ้น ก็รู้ผลตอนนี้แล้ว

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ตัวเองเป็นผู้รู้ ใช่ไหมคะ แล้วก็จะรู้ด้วยว่า จะติดตามฟังต่อไปหรือเปล่า ถ้าเป็นผลก็คือติดตามฟังต่อไป แต่ถ้าเห็นว่า ไม่มีค่า ก็คือไม่ติดตามต่อไป

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะรู้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ต้องไปสอบที่ไหน แต่รู้จากที่กำลังฟังว่า เห็นประโยชน์ไหม มีคุณค่าหรือเปล่า สมควรจะศึกษาต่อไปไหม หรือจะรอๆ ๆ รอไปเรื่อยๆ หรือแม้รอก็ไม่รอ ไม่มีประโยชน์ สนุกดีกว่า นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนซึ่งจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

    ถ้าให้ยกมือ จะยกไหมคะ หรือยังไม่กล้ายก ไม่มั่นใจ อยากจะเรียนสิ่งที่ง่าย หรืออยากจะรู้เรียนสิ่งที่ยากคะ

    อ.นิภัทร ถ้าเราเข้าใจว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ต้องมาฟังจากท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแค่นี้ จริงๆ นี้ถ้าเราเข้าใจว่า ธรรมคือชีวิตของเราทั้งชีวิต ถ้าเราไม่ศึกษา จะเป็นอย่างไร จะพลาดโอกาสไปหลายอย่าง เพราะว่าถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ตัวเราเป็นธรรม ชาตินี้เราเกิดมาทั้งชาติ เป็นตัวเป็นตน มันเสียไปเลย ไม่ได้อะไรเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าธรรม อาจารย์เป็นผู้แนะ เพื่อให้เรารู้จริงๆ ว่า ตัวธรรมจริงๆ มันอยู่กับเราทุกคนแล้ว ถ้าอย่างนี้ผมว่าทุกคนจะต้องติดตาม เพราะถ้าไม่ติดตามแล้วจะไม่รู้ตัวเอง

    ท่านอาจารย์ คือถามว่า อยากจะเรียนสิ่งที่ง่ายหรืออยากจะเรียนสิ่งที่ยาก

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นตัวเอง ก็อยากจะเรียนสิ่งที่ง่าย

    ผู้ฟัง สิ่งที่ยากค่ะ

    ผู้ฟัง จากง่ายก่อนแล้วไปยากขึ้น

    ท่านอาจารย์ วันนี้ง่ายไหมคะ

    ผู้ฟัง ง่ายที่จะฟัง แต่ยากที่จะทำความเข้าใจให้สูงขึ้น ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง อยากเรียนสิ่งที่ยาก เพราะว่าถ้าเข้าใจสิ่งที่ยาก สิ่งที่ง่ายก็น่าจะเข้าใจง่ายขึ้น

    ท่านอาจารย์ สลิตาล่ะคะ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ง่ายค่ะ

    ท่านอาจารย์ อยากเรียนสิ่งที่ง่าย วันนี้มีอะไรง่ายบ้างคะ

    ผู้ฟัง ทำให้รู้จักนามธรรม ความหมายของนามธรรม ความหมายของรูปธรรม รู้จักความสุขในชีวิตว่า ไม่ยึดว่า นี่ตัวของเรา

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่ง่าย คือบางคนสะสมมาที่จะเข้าใจได้ สิ่งนั้นก็ไม่ยาก อยู่ที่การสะสม เวลาฟังแล้วสามารถเข้าใจได้ ที่จริงแล้วการพูดวันนี้พูดเรื่องอะไร และจุดประสงค์คืออะไร น่าสนใจไหมคะ จะฟังต่อไปอีกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ฟังต่อ

    ท่านอาจารย์ พอหรือยังคะ นามธรรม รูปธรรม จะต่อไหม

    ผู้ฟัง สงสัยอยู่นิดหนึ่งเรื่องรูปธรรมกับนามธรรม ไม่ทราบเข้าใจถูกหรือเปล่าว่า ถ้ารูปธรรมเป็นสิ่งที่สัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้านามธรรมสัมผัสด้วยใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่เอาแล้วค่ะ อย่างนี้ไม่เอาเลย อย่างนี้เราคิดเอง เอาใหม่ รูปธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย นี่คือคำจำกัดความ ตลอดพระไตรปิฎก นามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นธาตุหรือธรรมซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่สามารถหรือต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น เห็นขณะนี้ ตาเฉยๆ ไม่เห็นอะไรได้เลย แต่ตาสามารถกระทบสี แล้วนามธรรมเกิดขึ้น เพราะการกระทบกันของสีกับตา นามธรรมรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏเป็นอย่างนี้ เช่นเดียวกับทางหู เสียงมีเยอะ หลายเสียง แต่นามธรรมก็คือขณะที่กำลังได้ยิน รู้ว่าเสียงนั้นที่กำลังปรากฏมีลักษณะอย่างนั้นๆ เสียงน้ำไหลจากก๊อกกับเสียงคนพูด นี่คือนามธรรม ซึ่งสามารถรู้ความต่างของสิ่งที่ปรากฏให้รู้ คือ รู้แจ้ง รู้จริงในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นมีลักษณะต่างๆ กันอย่างนั้นๆ กลิ่นก็มีต่างๆ เพราะนามธรรมสามารถรู้กลิ่น เมื่อกลิ่นปรากฏก็รู้ลักษณะของกลิ่นต่างๆ เวลาที่ลิ้มรส เรารู้สึกว่า หวาน เค็ม แต่ความจริงต้องมีสภาพที่รู้ความหวาน รู้ความเค็ม รู้ความเปรี้ยวในขณะที่กระทบลิ้น

    เพราะฉะนั้น นามธรรมไม่มีรูปร่างเลย แต่เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตาคือเห็น ทางหูคือได้ยิน ทางจมูกคือได้กลิ่น ทางลิ้นคือลิ้มรส ทางกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจ แม้ไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็คิดนึก

    ที่เราใช้คำว่า “จิต” เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมคะ ทุกคนมีจิตไหมคะ ที่นี่ใครบ้างไม่มีจิต ไม่มีใช่ไหมคะ มีหมดนะคะ จิตเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม เพราะว่าจิตนั่นเองเป็นสภาพที่เห็น เพราะเวลาที่เราพูดถึงจิต โดยที่เรายังไม่ได้ฟังธรรม เหมือนเราเข้าใจ จิตใจ เข้าใจ แต่ถ้าถามว่า จิตอยู่ที่ไหน ตอบได้ไหมคะ ไม่ได้เลย จิตคืออะไร ตอบได้ไหมคะ ก็ไม่ได้อีก แต่พอศึกษาแล้ว พระพุทธศาสนามีคำตอบทั้งหมดว่า จิตคือสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้น ขณะเห็นคือจิตนั่นเองที่เห็น ขณะได้ยินก็คือจิตได้ยิน ขณะได้กลิ่นก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่ลิ้มรสก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่คิดนึกก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น มีจิตมากมายหลายประเภท ไม่ใช่มีจิตอย่างเดียว เราคิดว่าเรามีจิตเดียว แล้วรู้นั่นรู้นี่ แต่นั่นไม่ใช่ เป็นจิตแต่ละชนิดซึ่งเกิดแล้วก็ดับๆ ๆ แล้วก็ทำหน้าที่เฉพาะอย่างๆ ของจิตนั้นๆ

    จิตเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงนามธรรมที่เกิดขึ้น ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เราหมายความถึงจิต แต่จริงๆ แล้ว นามธรรมที่เกิดมี ๒ ประเภท คือ จิต ๑ และเจตสิก ๑ คงไม่เคยได้ยินคำว่า “เจตสิก” แน่ๆ

    ทีนี้นามธรรมมี ๒ อย่าง เมื่อกี้นี้ธรรมอย่างเดียว แยกเป็นนามธรรมกับรูปธรรม ทีนี้นามธรรมต่างกันเป็น ๒ อย่าง นามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นจิตชนิดหนึ่งแล้วก็เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง

    คำว่า “เจตสิก” โดยคำแปลก็หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต หรือว่าเกิดในจิต โดยรูปศัพท์ใช่ไหมคะ เจตะสิกะ เกิดในจิตหรือเกิดกับจิต เวลาที่เห็นแล้วต้องมีความรู้สึกชอบหรือชัง ดีใจหรือเสียใจ ดีใจหรือเสียใจไม่ใช่จิต แต่เป้นเจตสิก เวลาเห็น ทุกคนเห็นเหมือนกัน แต่คนนี้ชอบ อีกคนหนึ่งโกรธ

    เพราะฉะนั้น เห็นเป็นจิต แต่ชอบหรือไม่ชอบเป็นเจตสิก ความเมตตาเป็นจิตหรือเจตสิก เป็นเจตสิก หมายความถึงชีวิตประจำวันเราทั้งหมด ส่วนใหญ่ที่เราบอกว่า ขยัน เกียจคร้าน ดี ชั่ว เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตบางครั้งบางคราว แต่จิตต้องเกิดเป็นประจำ เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้

    เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ขาดจิตเลย จะต้องมีจิตเกิดดับๆ ๆ สืบต่อตั้งแต่ขณะแรกที่เกิดจนกระทั่งถึงขณะสุดท้าย คือตาย หลังจากจิตขณะสุดท้ายดับไปก็คือตาย แต่ระหว่างนั้นก็จะมีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม แต่ไม่ใช่จิต แต่นามธรรมชนิดนี้ต้องเกิดกับจิต ดับพร้อมกับจิต เร็วเท่ากันเลย แล้วจิตรู้อะไร เห็นอะไร เจตสิกนั้นก็รู้สิ่งนั้น แล้วก็มีความชอบ ความรัก ความชัง ความโกรธ ความขยัน ความเพียร เจตสิกก็แบ่งเป็นประเภท เจตสิกที่เป็นฝ่ายกลางๆ เกิดได้ทั้งจิตที่ไม่ดี และจิตที่ดี ส่วนเจตสิกอีกชนิดหนึ่งเป็นอกุศลเจตสิก ฝ่ายไม่ดี ต้องเกิดกับจิตใด จิตนั้นเป็นจิตที่ไม่ดีเท่านั้น และเจตสิกฝ่ายดีเกิดกับจิตฝ่ายดี

    นี่ก็ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ให้ทราบว่า เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่ศึกษาธรรมคือสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เป็นธรรม

    วันนี้เพิ่มหลายคำ ธรรม นามธรรม รูปธรรม จิต เจตสิก รูป ครบหมดเลย ขาดอะไรอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งได้ยินแล้วอยากได้เหลือเกิน เคยได้ยินไหมคะ มีอะไรที่พอได้ยินแล้วก็อยากได้เหลือเกิน นิพพาน เห็นไหมคะ แค่ชื่อก็อยากได้ รู้หรือเปล่าว่า นิพพานคืออะไร ก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรมจะมี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ วันนี้เอาแค่นี้ ให้ทราบว่ามี ๔ อย่าง ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักนิพพานเลยก็ตามแต่ แต่รู้ว่า นิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป

    จิตเป็นเจตสิกหรือเปล่าคะ ไม่ใช่ จิตเป็นรูปหรือเปล่าคะ ไม่ใช่ จิตเป็นนิพพานหรือเปล่าคะ ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้น ความจริงแท้ที่เป็นปรมัตถธรรมจะมี ๔ อะไรบ้างคะ

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้ว คนที่อยากได้ อยากได้เพราะไม่รู้ ถ้ารู้แล้วบางคนก็ไม่อยากได้

    มีใครจำ ๔ อย่างนี้ไม่ได้บ้างไหมคะ

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมสับสนว่า ผมอยากได้นิพพาน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ถ้าเรายังไม่รู้อะไร เราไม่น่าจะอยากได้ แต่วิสัยของสภาพธรรม คือ โลภะ เป็น สภาพที่ติดข้องทุกอย่าง แต่เขาไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้เลย เพราะเป็นอกุศล ต้องเป็นปัญญาที่อบรมจนกระทั่งเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงก่อน มีปัญญาหน่ายความติดข้องในจิต เจตสิก รูป แล้วจึงจะสามารถประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้ แต่โลภะเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เขามีความติดข้องในชื่อ แต่ไม่ใช่ในสภาพธรรม เพราะเขาไม่มีโอกาสเลยที่จะสัมผัสนิพพานได้ แต่พอได้ยินชื่ออะไร ก็อยากได้ทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ที่อยากได้เพราะว่า ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคืออะไร รู้แค่ว่าดี เป็นสิ่งที่คนหลายคนอยากได้ แต่ไม่รู้ว่า สภาพจริงๆ เป็นอะไร กว่าจะไปถึงได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงก็คือต้องตรงต่อตัวเอง ไม่ใช่อยากได้นิพพาน เพราะยังไม่รู้จักนิพพาน

    ผู้ฟัง ธรรมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เราจะเข้าใจได้เอง คงมีบางอย่างทำให้เข้าใจผิด คือ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล แต่ถ้าไม่ศึกษาอย่างละเอียด ก็จะคิดว่า เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องศึกษาตามลำดับจริงๆ ว่า ธรรมคืออะไร ธรรมมีอะไรบ้าง และค่อยๆ ไปด้วยความเข้าใจจริงๆ จะได้ไม่สับสน แม้แต่พูดถึงกุศล อกุศล โดยไม่พูดเรื่องจิต เจตสิก เขาจะรู้ไหมว่า กุศลนั้นคืออะไร


    หมายเลข 1490
    25 ก.ค. 2567