โลภะหลอกเรามานานในสังสารวัฏฏ์อย่างไร


    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงกุศล อกุศล โดยไม่พูดเรื่องจิต เจตสิก เขาจะรู้ไหมว่า กุศลนั้นคืออะไร เขาก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง ที่ผ่านเกือบชั่วโมงที่ท่านอาจารย์พูดถึง พ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่ ปัญหาคือการที่เรามีความรักซึ่งเป็นโลภะ แต่อย่างวันนี้พ่อแม่พาลูกมาฟังธรรม ส่วนหนึ่งเป็นทั้งโลภะสลับกันกับเมตตา ใช่หรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเมตตา คือ ไม่ว่าจะเป็นลูกหรือไม่ใช่ลูกเราก็อยากให้เขาฟังธรรม แต่ถ้าเราอยากให้ลูกเราฟัง เราก็ต้องละเอียด ถ้าเราไม่ละเอียด เราเห็นโลภะ เราละโลภะไม่ได้เลย เราถูกหลอกด้วยโลภะมาตลอดในสังสารวัฏฏ์ เพราะไม่เห็นโลภะ โลภะมีจริง แต่ไม่เห็น ไม่เห็นแม้หนทางที่จะละโลภะด้วย เพราะคิดว่าจะต้องบังคับว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง แต่ความจริงไม่รู้ว่า เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นโลภะได้ และที่จะละโลภะได้

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนตรงมาก พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เพียงเอามาวิจารณ์วิพากษ์ว่า อย่างนี้จะเป็นโลภะไหม อย่างนั้นจะเป็นโลภะไหม แต่ต้องเป็นขณะที่ประกอบพร้อมด้วยสติ และปัญญาที่จะรู้ขณะจิตว่า ขณะนั้นความรู้สึกที่มีต่อลูก ที่อยากจะให้ลูกฟังธรรม เหมือนกับความรู้สึกที่เราอยากให้ทุกคนได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นลูก หรือไม่ลูก ก็อยากให้ฟัง

    ผู้ฟัง ธรรมดาวัยรุ่นเขาจะรู้สึกว่า การมีเพื่อนมากๆ เป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้น เขาก็จะรักเพื่อน ผูกพันกับเพื่อน และคิดว่าความรักเป็นสิ่งที่ดี พอเราไปพูดเรื่องความรักความผูกพัน ...

    ท่านอาจารย์ เพราะเขายังไม่เข้าใจพื้นฐานตั้งแต่ต้น ไม่เข้าใจแม้นามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น เขาไม่มีโอกาสจะรู้ตัวจริง เขาเพียงแต่ได้ยินเรื่องราว เป็นเรื่องไปหมด แต่ถ้าเขารู้ว่า มันเป็นสภาพธรรม และพิสูจน์ได้ รู้ได้ทันที เขาจะรู้จากชีวิตจริงๆ ของเขา เริ่มเข้าใจความเป็นธรรม แล้วก็เป็นนามธรรม และรูปธรรมก่อน

    ผู้ฟัง หมายความว่าทุกคนก็ต้องพยายามพิจารณาจิตของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ มีพื้นฐานในการเข้าใจธรรมก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นฟังได้ แต่จะมีปัญหา ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ทราบจะตัดสินอย่างไร แต่เวลาที่มีพื้นฐานมั่นคงแล้วจะรู้ความต่างของโลภะกับเมตตา

    ผู้ฟัง ฟังมาตั้งแต่เช้า ไม่ทราบว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟังวันนี้กับที่เคยได้ยินได้มาจากที่อื่น แตกต่างกันหรือเหมือนกัน แตกต่างกันอย่างไร และเหมือนตรงไหน

    ผู้ฟัง คำถามนี้ลึกซึ้งมาก ถ้าจะบอกตามความจริง คิดว่าไม่แตกต่าง แต่อยู่ที่ตัวเรา แล้วแต่จะรับได้มากแค่ไหน แต่ท่านอาจารย์พูดละเอียด คือให้รู้ไปจริงๆ ว่า นามธรรม และรูปธรรมคืออะไร ห้ามสับสน อย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่า ให้เป็นพื้นฐานที่มั่นคงจริงๆ คือตัวเองก็เหมือนเรียน ผ่านหูไปแค่นั้นไม่รู้ลึกซึ้ง ถ้าเผื่อใครมาถามว่า ทำไมนับถือพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่พระเจ้า ซึ่งตอนนี้อธิบายได้แล้วว่า ธรรมคือธรรมชาติ เป็นธาตุที่มีจริง และนามธรรม และรูปธรรม แค่นั้นค่ะ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นความต่างหรือเปล่า พระเจ้า ปรมัตถธรรมเป็นอะไรคะ

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เป็นชื่อ เป็นสมมติบัญญัติ เป็นความคิดด้วย

    ผู้ฟัง ขอร่วมสรุปนิดหนึ่งว่า ศึกษาที่อื่น ศึกษาด้วยความเป็นเรา เราจะต้องทำความดี เราจะต้องทำอย่างนั้น เราจะต้องทำอย่างนี้ แต่ที่มาวันนี้เราศึกษาด้วยความไม่มีเรา ก็คงจะแตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิงเหมือนกัน

    ผู้ฟัง อาจจะงงๆ ต้องทำใจให้เข้าใจในสิ่งที่ท่านอาจารย์พูดวันนี้ แค่นี้ เพราะว่าถ้าเอาอันอื่นมากวนจะงงมาก และพอเข้าใจตรงนี้แล้วเท่ากับค่อยๆ ขึ้นไปทีละขั้น อย่าเพิ่งท้อ

    ผู้ฟัง อยากจะถามว่า ข้อแตกต่างระหว่างเพศฆราวาสกับบรรพชิต เมื่อศึกษาธรรม ผลของการศึกษาจะต่างกันอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ความเข้าใจ คฤหัสถ์ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยพระพุทธเจ้าก็มีมาก ในขณะที่พระภิกษุก็ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็มี พุทธบริษัทมี ๔ มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้คงไม่มีปัญหาเรื่องอื่น นอกจากเข้าใจธรรมว่า เป็นธรรม เป็นธาตุ มีจริงๆ ปัญญาก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถรู้ เข้าใจจากการฟัง การพิจารณา การไตร่ตรอง การอบรมจนสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง ระหว่างเพศฆราวาส เป็นพรหมจรรย์กับมีครอบครัว จะต่างกันไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ในพระสูตร ครบหมด พุทธบริษัททั้งหมดไม่ว่าจะครองเรือน ไม่ครองเรือน ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ผู้ฟัง ได้ยินมาว่า มีความแตกต่างระหว่างมีครอบครัวกับไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่ควรคิดเรื่องอื่น นอกจากเรื่องปัญญา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริง ปัญญารู้อะไร ขณะที่กำลังเห็น เห็นขณะนี้มีจริง ปัญญารู้ความจริง สภาพที่แท้จริงของเห็น ขณะที่กำลังคิดนึกซึ่งมีจริงๆ ขณะนั้นปัญญาก็สามารถรู้สภาพแท้จริงของความคิดนึก

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็เป็นผู้ตรงว่า รู้สิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ครองเรือน หรือไม่ครองเรือน ก็ไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่า รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงหรือเปล่า

    ไม่ห้ามเลย ใครจะครองเรือน ก็ไม่มีการห้าม เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ว่าสะสมปัญญาได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    การฟังธรรมก็ไม่ต้องนุ่งขาวใส่ขาว ใส่อะไรก็ได้ ฟังธรรมให้เข้าใจ อยู่ที่ความเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง ไม่ได้ถามในฐานะเป็นแม่ว่า ทำไมถึงทรงบัญญัติว่า ฆ่าบิดามารดาถึงเป็นอนันตริยกรรม เพราะฉะนั้น การที่เด็กๆ โกรธเคืองพ่อแม่ มีจิตขุ่นเคือง จะบาปมากกว่าโกรธเคืองผู้อื่นหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ กลัวบาป หรือกลัวอกุศลทุกชนิดแม้เล็กน้อย ที่จริงแล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง คนที่ดีแสนดีกับเรา แล้วเรายังโกรธเขาได้ คิดดูก็แล้วกัน จิตเป็นอย่างไรคะ ดีแสนดี ตั้งแต่เกิดมาทำทุกสิ่งทุกอย่างให้หมด สิ่งที่คนอื่นไม่สามารถจะกระทำได้ด้วย แล้วเราก็ยังโกรธ แต่ความโกรธก็บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ขณะนั้นจิตใจเป็นอย่างไร ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงอย่างนั้น ลูกโกรธแม่เป็นของธรรมดา แม่โกรธลูกก็เป็นของธรรมดา เพราะมีโลภะ มีความผูกพัน ถ้าไม่ผูกพันเราจะโกรธไหมคะ ใครจะพูดอะไรก็ช่างเขา ไม่เดือดร้อน แต่กับคนใกล้ชิด เราก็จะเดือดร้อนมาก เพราะเรามีความผูกพัน และคิดว่า ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เมื่อทรงแสดงสภาพของจิตซึ่งหยาบกระด้างตามลำดับขั้น อย่างการโกรธผู้มีคุณกับผู้ไม่มีคุณ ทั้งๆ ที่คนนั้นเป็นผู้มีคุณ ก็ยังโกรธได้

    เพราะฉะนั้น ความรู้สึกขณะนั้นก็ต้องหยาบกระด้างมากกว่า จะถ้าถึงกับเจตนาฆ่า ยิ่งรุนแรงที่สุด เพราะเหตุว่าความโกรธโดยไม่ประทุษร้ายมี และความโกรธที่รุนแรงอย่างนั้น ก็ยิ่งเพิ่มกำลังของความโกรธขึ้น ก็ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง การได้ยินธรรมอย่างนี้ เป็นการค่อยๆ ละคลายความเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ อย่าหวังอะไรมากมาย เพียงรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง มีความรู้ว่า คนที่รู้ได้มากมายมหาศาลจนกระทั่งทรงแสดงละเอียดยิบ มี และถ้าเพิ่งเริ่มฟังวันนี้เพียงเล็กน้อยที่สุด เทียบไม่ได้เลย เหมือนมหาสมุทรกว้างใหญ่ และขนหางกระต่ายที่จุ่มลงไป เพราะฉะนั้น ก็ยังมีอีกมากมายมหาศาลที่จะเห็นว่า ถ้ายิ่งศึกษา ก็จะยิ่งรู้ว่า ผู้ที่สามารถจะแสดงความจริงได้ละเอียดมีบุคคลเดียว คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง สมมติว่า เรารู้ธรรม รูปกับนาม แล้วเรารู้ว่า นี่คือความอยากได้ เมื่อไม่ได้ ถึงโมโห เรารู้ว่าเป็นอย่างนั้น แล้วจะแก้อย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้น คือ ปรากฏแล้วก็ดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ใครไม่มีโทสะ

    ผู้ฟัง พระอนาคามี

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วเราเป็นใคร

    ผู้ฟัง ปุถุชนธรรมดา

    ท่านอาจารย์ แล้วเราพยายามจะทำอะไร

    ผู้ฟัง เห็นความน่ารังเกียจของอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รู้ได้ว่า มีหนทางเดียว คือ มีปัญญากว่านี้ ต้องอบรมปัญญากว่านี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเดือดร้อน

    ผู้ฟัง กว่าจะมีปัญญา

    ท่านอาจารย์ ต้องอดทน ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง เริ่มเข้ใจพระพุทธพจน์

    ผู้ฟัง อดทนในความหมายของอาจารย์ คือ

    ท่านอาจารย์ ไปจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติโลภะเขาเกิดๆ ๆ โทสะเกิดๆ ๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมต้องจรดกระดูก สัจญาณไม่ใช่รู้อื่นเลย อนัตตา ทุกอย่างเป็นธรรม มีสติที่จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม นี่เป็นหนทางเดียว และสามารถเป็นสติปัฏฐานทีละเล็กทีละน้อยได้ ถ้ามีปัจจัยพอ นี่เป็นหนทางเดียว ทรงชี้หนทางเดียวไว้ แล้วเราพยายามไปหาหนทางอื่น ไม่มีทางเป็นไปได้ หนทางเดียวต้องเป็นหนทางเดียว

    ผู้ฟัง ไม่มีสติรู้ว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่มีก็คือเป็นธรรม หลงลืมสติก็เป็นธรรม ต้องมั่นคงมากๆ ในสัจญาณ

    ผู้ฟัง แต่อกุศลกรรมเกิดไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้ว ก็แล้วไปแล้ว ยิ่งแล้วไปแล้วก็ยิ่งแก้ไม่ได้ เพราะแล้วไปแล้ว ตั้งต้นใหม่

    ผู้ฟัง ว่าคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว ก็คือเกิดไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะต่อไปจะทำอีกไหม

    ผู้ฟัง เราบอกว่าไม่ทำ

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อปัญญาไม่พอ ก็ทำ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัญญา ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเราจะทำเลย แต่ต้องขึ้นอยู่กับการอบรมเจริญปัญญา ต้องอดทนมากที่จะอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะถึงระดับนั้นได้

    ผู้ฟัง ยากมาก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ไม่อย่างนั้นพระอรหันต์เต็มเมือง

    ผู้ฟัง ยากมาก เพราะว่าเห็นทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องตามใจตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ว่า ขณะนี้หนทางเดียวคืออะไร ไม่ใช่หนทางอื่น กลับมาหาหนทางเดียวให้ได้

    ผู้ฟัง เด็กๆ รู้ไหม พี่ชินเป็นใคร พี่ชินเป็นคนไต้หวัน มีความพากเพียรที่จะเรียนภาษาไทย มีความพากเพียรมากที่จะเรียนธรรมเพื่อจะรู้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงอะไร เพราะฉะนั้น เราจะอายไหมเอ่ย คนต่างชาติเขายังเรียนเลยนะ

    ใครมาปัญหาจะถามหรือสนทนากับท่านอาจารย์ก็เชิญเลยค่ะ

    ท่านอาจารย์ แสดงว่า ธรรมไม่ได้จำกัดเลย เป็นของสากล ไม่มีใครเป็นเจ้าของ พร้อมสำหรับทุกคนที่สนใจได้สะสมมาแล้ว

    ผู้ฟัง ชินคิดว่า เด็กๆ ทุกคนน่าจะโชคดีมาก ที่สามารถพูดภาษาไทยได้ และสามารถฟังธรมะในภาษาไทย ซึ่งจะตรงมากกว่าภาษาอังกฤษ ละเอียดกว่า ถ้ามีโอกาสน่าจะเรียนมากขึ้น เพราะทุกคนคงนิสัยดีกว่าชิน เพราะแต่ก่อนชินเป็นคนดุร้ายมาก เอาแต่ใจตัวเอง ตอนเรียนใหม่ๆ เราแค่รู้ว่า ธรรมคืออะไร แต่ถ้ารู้ว่า อะไรเป็นอกุศลมากขึ้น เรารู้ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ก็รู้ว่า ตัวเองทำผิดมาเยอะ ซึ่งต้องมาจากการเรียนธรรมก่อนว่า ที่ทุกคนมีคุณพ่อคุณแม่ที่เรียนธรรมแล้ว และเด็กๆ มีโอกาสมากกว่าพี่ชิน เพราะคุณพ่อคุณแม่พี่ชินไม่ได้เรียนธรรมเลย กว่าจะมาเรียนธรรม อายุก็ ๓๐ แล้ว แก่ คงทำผิดไว้เยอะมากใน ๓๐ ปีนั้น เด็กๆ อย่าประมาทมากกว่า นี่คือความจริงใจที่พี่จะบอกน้องๆ ทุกคน

    ท่านอาจารย์ ต่อไปก็จะสนทนาธรรมกับพี่คนนี้ได้เลย เพราะพี่คนนี้มีวัยใกล้ชิดกัน และเรียนมาแล้วเข้าใจด้วย และมีเรื่องสนุกๆ

    ผู้ฟัง ขอเพิ่มเติมคุณน้องท่านนั้น เมื่อก่อนมาแล้วผมเคยโกรธเพื่อน ที่อยู่ดีๆ ไปสนิทไปเพื่อนอีกคนหนึ่งสมัยเรียนมัธยมเด็กๆ ก็โกรธมากที่เพื่อนไม่เป็นอย่างใจเราคิด พอมาวันหนึ่งอยู่ดีๆ ผมก็คิดได้ว่า จะไปยุ่งกับเขาทำไม ในเมื่อเขาไม่ใช่พ่อแม่ของเรา ไม่ใช่ญาติของเรา เราจะไปบังคับเขาได้อย่างไร แล้วหลังจากนั้นมาอีกหลายปี ผมก็ได้ยินธรรมตอนนั่งดูทีวีในห้องคุณแม่ คุณแม่ไม่เคยยัดเยียดธรรมให้ แต่จะใช้วิธีแทรกซึมที่ผมคิดว่าได้ผลดี เพราะผมนั่งดูทีวี แม่ก็จะเปิดเทปธรรม ไม่ได้บังคับให้ฟัง แต่เปิดดังมาก บางทีพร้อมกับเสียงกรนของแม่ แต่มาวันหนึ่งผมได้ยินในเทปว่า ไม่มีความเป็นเรา ไม่มีเรา ไม่มีอะไร ผมก็ไม่สนใจ ผมก็ฟังวิทยุ ตาก็ดูทีวี ก็คิดว่า ขนาดเราก็ยังไม่มีเลย แล้วเมื่อก่อนไปคิดว่า เพื่อนเป็นของเรา เราบังคับได้ เป็นความคิดที่ไม่ได้เรื่องมาก แม้ตอนนี้ตัวของเราก็ยังไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ที่จริงชีวิตยังจะต้องพบอะไรอีกมากมาย แล้วความรู้สึกก็เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ เราอาจจะมีความผูกพันมากกว่าที่เคยเป็น แล้วก็อาจจะมีสุขมากกว่าที่เคยเป็น มีทุกข์มากกว่าที่เคยเป็น แต่ถึงอย่างไรก็ตามทั้งหมดก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอด วันหนึ่งก็ต้องจากเราไปอย่างแน่นอน ซึ่งจริงๆ แล้ว ขณะนี้ก็กำลังจากทุกขณะ โดยไม่รู้ตัวเลย

    เพราะฉะนั้น การเป็นจากไปที่เรายังอบอุ่น คือ อันหนึ่งไป อีกอันหนึ่งก็มา ทดแทนอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งเหมือนกับว่าไม่ขาดอะไรสักอย่างเดียว ไม่มีอะไรที่พลัดพรากจากเราไปจริงๆ แต่ถ้าเป็นผู้รู้จริง ก็จะประจักษ์การพลัดพรากตลอดสำหรับผู้มีปัญญาถึงระดับนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความต่างของระดับของปัญญานิดหนึ่ง ดูโทรทัศน์แล้วหูฟัง ก็ยังคิดได้แค่นี้ แต่ถ้าอบรมมากจนสามารถประจักษ์ได้จริงๆ ความเข้าใจอย่างมั่นคง ประจักษ์แจ้งจริงๆ จะทำให้เราเห็นความจริง ไม่ใช่เพียงขั้นคิด แต่ขั้นประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ผลก็ต้องต่างกันมาก แต่ให้ทราบว่า ชีวิตในสังสารวัฏฏ์จะไม่พ้นไปจากโลกธรรม ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ต้องมี

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถเข้าใจความจริงว่า ไม่มีเรา คำสรรเสริญ สรรเสริญอะไร ที่จริงเขาสรรเสริญกุศลธรรม ไม่มีใครสรรเสริญอกุศลธรรม คือ ธรรมฝ่ายไม่ดีเลย แต่เพราะไม่เข้าใจจริงๆ ปัญญาไม่พอ แม้รู้ว่า อกุศลไม่ดี แต่อกุศลก็ยังเกิด เพราะฉะนั้น เราก็เห็นระดับของปัญญาว่า ระดับขั้นฟังแค่นี้ทำอะไรกิเลสไม่ได้เลย อย่าไปว่าใครเขาว่า ฟังธรรมแล้วทำไมนิสัยไม่เปลี่ยน หรือไม่เห็นเป็นคนดีขึ้นมาเลย เพราะไม่ใช่จะเปลี่ยนได้เร็วอย่างนั้น เพียงแต่ความดีก็จากไม่เคยฟัง มาเป็นผู้ฟัง อันนี้แน่ๆ ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่เมื่อฟังแล้ว มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็รู้ว่าเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของเรา ก็จะทำให้เราสะสมปัญญาเพิ่มขึ้น โดยความไม่ประมาท พร้อมจะรับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งไม่ใช่มีแต่กลีบกุหลาบ ก็ต้องมีหนามมีอะไรอีกมากมาย ก็ต้องค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อยอย่างนี้ว่า เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเรารู้เรื่องนามธรรม และรูปธรรม จิต เจตสิก ถ้าเข้าใจตรงนั้นแล้วเราจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเรื่องปริจเฉท หรืออะไรเยอะแยะอีกหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นปริจเฉท ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก หรืออรรถกถา ก็ไม่พ้นจากนามธรรม และรูปธรรมที่ทำให้เราเข้าใจละเอียดขึ้นจนสามารถเห็นจริงว่า ไม่ใช่เรา เพียงแค่นี้ยังเห็นไม่จริง เพียงแค่ได้ยินได้ฟังนิดเดียว ต้องจริงอีก มากกว่านี้มากค่ะ

    ผู้ฟัง หมายความว่าเราต้องศึกษาไปเรื่อยๆ ตามกำลังศรัทธาของเราใช่ไหมคะ มีปัญญาศึกษาแค่ไหนก็แค่นั้น ไม่ต้องหวังมากเพราะว่ายาก ยอมรับว่ายาก แต่ก็คุ้มแล้วที่ได้มาฟัง แม้ว่าจะเข้าใจนิดหน่อย แต่ละความเห็นผิดจากเดิมที่มีตัวตนมาก โกรธคนนั้นคนนี้มาก เพราะเรารักตัวเอง

    ท่านอาจารย์ เราต้องรู้จุดประสงค์ของการฟังว่า ฟังเพื่อเข้าใจ แล้วเวลาฟังเราจะรู้เองว่า เราเข้าใจพอหรือยัง พอหรือยัง ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น ก็ฟังต่อไป ศึกษาต่อไปอีก แล้วพอหรือยัง ก็ยังไม่พอ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือผู้เข้าใจธรรม คือรู้จริงๆ ว่า นี่เป็นเรื่องราวของสภาพธรรม ที่ตัวธรรมจริงๆ กำลังเกิดดับเป็นอย่างนี้ แต่ความรู้ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษาไปจนกว่าจะพอ

    ผู้ฟัง ไม่อยากบอกว่า อีกนานเท่าไร ถ้ารู้แล้วจะสยองมาก ถ้าพูดเป็นปีๆ เด็กๆ จะตกใจ

    ท่านอาจารย์ อะไรทำให้คิดอย่างนั้น ต้องมีเหตุ อะไร เราหาตัวเจอ ถ้าศึกษาแล้วปัญญาของเราจะค่อยๆ คิด ค่อยๆ รู้ว่า อะไรทำให้เราคิดอย่างนั้น ตอบได้ไหม ถามว่า ทำไมอีกนานเท่าไร ถ้ารู้แล้วจะสยอง ก็เลยถามว่า อะไรทำให้คิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ธรรมเป็นเรื่องที่มีอะไรให้ศึกษาเยอะมาก ไม่มีใครจะบอกว่า จะรู้เร็ว รู้ช้า ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า เราเรียนรู้ได้มากแค่ไหน ได้เร็วแค่ไหน และเข้าใจได้ง่ายแค่ไหน เรามีความสุข มีปีติที่ได้เรียนรู้ นั่นคือสิ่งที่เราได้จากการเรียนรู้ธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วไปต่อชั่วโมงนั้นได้เลย ปริจเฉทที่ ๑

    ผู้ฟัง การอโหสิกรรม จะทำได้จริงไหม เราไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกับผู้ที่มาทำกรรมร่วมกับเรา จริงหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับกรรมแค่ไหน กรรมอะไร และคนนั้นเป็นใคร

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเราอโหสิร่วมกัน จะมีผลไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เรากระทำอกุศลกรรมแล้ว เราจะเดือดเนื้อร้อนใจ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดว่า เราไปขอโทษเขาเสีย คำว่า “อโหสิ” แปลว่า กรรมที่ทำแล้ว แต่เรามาใช้กันผิด เรื่องใช้ผิดนี่ผิดเสมอ เพราะฉะนั้น ต้องกลับมาเข้าใจจริงๆ ว่า อโหสิ คือ ทำแล้ว อโหสิกรรม คือ กรรมที่ทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น กรรมที่ทำแล้ว ถ้าเป็นอกุศลกรรม เราจะเดือดเนื้อร้อนใจ สมมติว่าเราไปว่าใครเขา โดยที่ความจริงเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่คนอื่นทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่า เขาเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น การที่เรารู้สึกว่า เราผิด แล้วเราไปขอโทษ ขออภัย ทำให้ความเดือดเนื้อร้อนใจของเราหายไปหรือบรรเทา เพราะว่าไม่ใช่กรรมหนัก อย่างฆ่าสัตว์ หรือลักทรัพย์ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมอะไร และคนนั้นเป็นใคร เรามีกุศลจิตหรืออกุศลจิตมากน้อยแค่ไหน ถ้าขอโทษด้วยความจริงใจ เสียใจจริงๆ เขาก็เข้าใจ เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่าถ้าเราเข้าใจใครผิด แล้วเราไปทำให้เขาเข้าใจถูกขึ้น เราก็ไม่ต้องเดือดร้อนว่า ป่านนี้เขาจะคิดอย่างไร เราจะคิดอย่างไร แต่ถ้าเป็นกรรม เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ที่ทำไปแล้ว ก็จะต้องให้ผล ต่อให้ไปอโหสิอย่างไรก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเขาทำกับเรา เราไม่จำเป็นต้องไปบอกเขาว่า เราไม่โกรธ เราให้อภัย

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ เขาเดือดเนื้อร้อนใจหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เราต้องไปบอกเขาไหมว่า เราไม่โกรธเขา

    ท่านอาจารย์ เราไม่รู้ด้วยซ้ำไป บางทีเขาว่าเราก็ไม่รู้ แล้วจะไปบอกเขาว่าอย่างไร ใครคิดอะไรกับเราที่นี่เราก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง มีเพื่อนทำให้ไม่สบายใจ แต่ก็ไม่เคยไปบอกเขา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเขาไม่ได้สบายใจหรือเราไม่สบายใจ เขาทำให้เราไม่สบายใจ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วเราหายโกรธเขาจริงไหม หรือเรายังโกรธเขาอยู่ จำเป็นไหมที่ต้องไปบอกเขาว่า เราหายโกรธเขาแล้ว

    ท่านอาจารย์ อันนี้แล้วแต่เรา เราต้องรู้จักเขาดีกว่าใคร ทุกอย่างไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ แต่ต้องเป็นแต่ละเหตุการณ์ แต่ละบุคคล

    ผู้ฟัง ขอเสริมน้องนะคะ ที่เราเรียนธรรมตรงนี้ ให้น้องทราบว่า แต่ก่อนที่เราสะสมมา มีแต่เรา เรา เขา พ่อแม่เรา พี่น้องเรา ของเรา ทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างคือเรา เรา เรา ทั้งนั้น แต่ ณ ปัจจุบันนี้ที่เรากระทบกับเขา หรือเขากระทบกับเรา นั่นคือคิดทั้งหมดเลย


    หมายเลข 1551
    25 ก.ค. 2567