สิ่งที่ทำให้ชีวิตต้องปั่นป่วนคืออะไร


    ผู้ฟัง ขอเสริมน้องนะคะ ที่เราเรียนธรรมตรงนี้ ให้น้องทราบว่า แต่ก่อนที่เราสะสมมา มีแต่เรา เรา เขา พ่อแม่เรา พี่น้องเรา ของเรา ทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างคือเรา เรา เรา ทั้งนั้น แต่ ณ ปัจจุบันนี้ที่เรากระทบกับเขา หรือเขากระทบกับเรา นั่นคือคิดทั้งหมดเลย พี่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ถูกกระทบง่ายมาก พ่อเราแม่เราทำไมไม่ตามใจเรา ทุกอย่างเป็นเราหมดเลย คืออยู่ในความคิด ปั่นไปปั่นมาเหมือนเครื่องซักผ้า ถูกซักจนเปื่อยมากแล้วออกไม่ได้ น้องรู้ไหมว่า ถ้าหนูเข้าใจธรรมจริงๆ น้องจะรู้ว่า เราถูกกระทบด้วยเสียง ทันทีที่เสียงปรากฏ มาที่มโนทวาร นึกคิดไปแล้ว เราปรุงแต่ง ไม่ใช่ตัวเราปรุงแต่ง นามธรรมเขาปรุงแต่ง เข้าใจไหมคะ ที่ท่านอาจารย์อธิบายที่ว่า ธรรมทั้งหลายคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงๆ ไม่ใช่ตัวเรา แต่เราสะสมมาทำให้เข้าใจผิดว่า เห็นเป็นสัตว์บุคคล แต่ไม่ใช่เลย เรากระทบเสียง ได้ยิน ได้สัมผัส ได้ลิ้มรส แต่จริงๆ ไม่ใช่ตัวเรา เพราะกระทบเสร็จมาที่มโนทวาร เราก็ปัดเลยตรงนั้น เราก็คิด ชอบ ไม่ชอบ เกลียด สุข แต่ไม่ใช่ทั้งนั้น มันคือบัญญัติที่ท่านอาจารย์พูด ทั้งหมดคือเรื่องราวทั้งหลาย ไม่ทราบว่า นี่จะช่วยน้องได้ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจที่พูดมาทุกอย่างเลยค่ะ ขอบคุณมาก

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณยุ้ยเข้าใจดีไหมคะ วันนี้ ธรรมคืออะไร อย่าลืมนะคะ พอพูดคำไหนก็ต้องรู้ว่าคืออะไร จะได้เข้าใจจริงๆ ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ธรรมคือรูปธรรม นามธรรม

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ ธรรมมีนามธรรม และรูปธรรม ถ้าเป็นรูปธรรมก็คือไม่มีความรู้สึก ไม่มีอะไรเลย ไม่สามารถรู้อะไรทั้งสิ้น เสียงที่ปรากฏเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นรูปธรรม เพราะว่าเป็นเสียง เสียงไม่รู้อะไรเลย อย่างเช่นเสียงตบมือ แป๊ะ แป๊ะ ได้ยินไหมคะ เสียงนั้นเขารู้สึกไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ผู้ฟัง นั่นคือรูปธรรม ใช่ไหม ตอนที่ได้ยินเสียงนั้นๆ คือ ได้ยินใช่ไหมคะ ได้ยินนั้นคือนามธรรม

    ผู้ฟัง ยากเหมือนกัน หนูฟังมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ฟังอย่างเดียว ต้องมาสนทนากันให้เข้าใจมากๆ เวลาฟังท่านอาจารย์ คิดว่าเข้าใจๆ ๆ แต่ที่เข้าใจจริงๆ คือสนทนา

    ผู้ฟัง น้องยุ้ยเข้าใจแล้วว่า นั่งสมาธิก็ยังกระทบอยู่ตรงนั้น เพราะว่าพี่เคยไปนั่งสมาธิแล้ว เพราะไม่อยากโกรธ จะเอาความโกรธออก ไม่ใช่เลย หลังจากยุบหนอ พองหนอออกเรียบร้อยแล้ว ในชีวิตประจำวันก็ยังโกรธ ไม่เห็นดีขึ้น ก็ยังกระทบกับ ๖ ทวารตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ง่ายๆ และไม่ลืมที่คุณชินพูดเมื่อกี้นี้ตอนแรกทีเดียว จากตามาถึงใจก็ปัด ปัดทุกเรื่อง จะเป็นเรื่องอะไรก็แล้ว เรื่องดี เรื่องไม่ดี เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่า ทางตาเห็นนิดเดียว แต่ทางใจคิดเรื่องที่เห็นมากมาย ทางหูก็ได้ยินเสียงนิดเดียว แล้วก็คิดเรื่องที่ได้ยินมากมาย

    เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่า จริงๆ แล้ว เห็นก็เป็นปรมัตถธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นปรมัตถธรรม ใจที่คิดมีจริงๆ แต่เรื่องราวที่คิดไม่จริงเลย เพราะไปเที่ยวจำเอามาคิด ไม่ใช่สิ่งที่มีปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายจริงๆ

    ค่อยๆ ฟังค่ะ มีอีกเยอะ

    อยากจะพูดถึงจุดประสงค์ของการศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะว่าชีวิตของเราไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องมีจุดประสงค์ ไม่ใช่ทำไปโดยไม่รู้ว่า ทำทำไม อย่างเราเกิดมาก็เห็น ได้ยิน โตขึ้นก็เข้าโรงเรียน เราก็ต้องรู้ว่า เรียนทำไม เรียนเพื่อจะรู้สิ่งที่เราไม่เคยรู้เลย ซึ่งจะช่วยในการมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะถ้าเราไม่มีความรู้ แล้วจะไปทำอย่างไรให้ชีวิตดำรงต่อไปได้ เพราะฉะนั้น การที่ศึกษา ไม่ว่าวิชาอะไรทั้งนั้น ก็เพื่อให้มีความรู้ ทีนี้เราก็เข้าโรงเรียน ไม่นานก็เรียนจบ และมีอาชีพ มีการงาน มีครอบครัว มีบ้าน แล้วก็ตาย แน่ๆ ไม่มีใครสักคนหนึ่งซึ่งจะไม่ตาย

    เพราะฉะนั้น เราก็ลองเปรียบเทียบดูว่า ตลอดชีวิตที่เกิดมาแล้วก็เห็น แล้วได้ยิน แล้วมีชีวิตไปแต่ละวัน สนุกบ้าง ทุกข์บ้าง ทำงานบ้าง มีเพื่อนบ้าง แต่ในที่สุดก็ต้องจากทุกคน มีใครบ้างไหมคะที่ไม่ตาย ไม่มีเลย ต้องตายทุกคน

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดว่าระหว่างที่เรายังไม่ตาย เราควรเป็นอย่างไร เพราะว่าเรามองเห็นว่า แต่ละคนต่างกัน บางคนก็เป็นคนดี บางคนก็ไม่ดีเลย และถ้าเรารู้ว่า ระหว่างดีกับไม่ดี สำหรับตัวเราควรเป็นคนชนิดไหน มีใครบ้างไหมที่อยากเป็นคนไม่ดี เคนอยากเป็นคนดีหรือเปล่าคะ มีใครในที่นี่ที่ไม่อยากเป็นคนดีบ้าง ต้องไม่มี ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่า อะไรดี บางทีก็บอกไม่ได้ว่า สิ่งที่เราคิดว่าดีนั้น ดีจริงหรือเปล่า อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้

    เพราะฉะนั้น ในการศึกษา เราต้องทราบว่า สำหรับวิชาทางโลกก็ให้ความรู้เพียงเพื่อมีชีวิตไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็มีเพื่อน มีงาน แต่เราจะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไปกับเราไม่ได้เลย เราเกิดมาเรามาตัวเปล่าๆ มีใครเอาอะไรติดมาบ้างคะ ตอนเกิด เคนเอาอะไรติดมาบ้างตอนเกิด ไม่ทราบ เพราะว่าตอนนั้นเล็กมาก แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครเอาอะไรติดมาได้เลย แต่สิ่งที่ติดมาแล้วก็คืออุปนิสัยที่เคยสะสมมา ทำให้แม้เด็กตัวเล็กๆ พอเกิดมา มองดูว่า เหมือนๆ กันทั้งนั้น แต่พอโตขึ้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นไม่เหมือนกันเลย ตามการสะสมของแต่ละคน ถึงแม้ว่าจะมีพี่น้อง ๒ คน ๓ คน ๔ คน แต่ละคนก็มีอัธยาศัย มีอุปนิสัยต่างๆ กัน เหมือนกันไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ติดตามไป จากการที่เรามีสมบัติ มีบ้าน มีพี่ มีน้อง มีญาติ เราไม่สามารถจะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ตามไปได้ แต่การสะสมของเราในเรื่องความรู้สึก ความคิดนึกจะติดตามไป อย่างบางคนก็โกรธง่าย แล้วไม่ยอมอภัยให้คนอื่นเลย อย่างนั้นดีไหมคะ ไม่ดี แต่ทำได้หรือเปล่า บางคนเขาบอกว่า รู้ก็รู้ว่าไม่ดี แต่ทำไม่ได้ ถ้าไม่หัด ไม่เริ่ม ไม่สะสม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แต่ถ้าวันนี้เราเปลี่ยนความคิดแล้วรู้ว่า ถ้าเราจะไม่โกรธใครเลย ก็จะสบายกว่าเยอะ ไม่ต้องไปนั่งคิดถึงคนนั้นด้วยความขุ่นเคือง นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ทำไมเขาทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ไม่ดี แต่ถ้าเราเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นใครกำลังไม่ดีที่คิดอย่างนั้น ลืมตัวเอง ใช่ไหมคะว่า แท้ที่จริงเวลาที่คิดอย่างนั้นเป็นทุกข์ของเราเอง

    เพราะฉะนั้น เราจะมองไม่เห็นตัวเอง เห็นแต่คนอื่น แล้วก็มองคนอื่นไม่ดี คนนั้นไม่ดีตรงนี้ คนนี้ไม่ดีตรงนั้น หรือคนนั้นดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ลืมตัวเอง แต่พระธรรมที่ทรงแสดง พระธรรมที่เราศึกษาเมื่อเดือนก่อน ก็เป็นสัจธรรม ความจริง ที่ทำให้เรารู้จักตัวเราเอง ถ้าเรารู้จักตัวเราเอง เราจะรู้จักคนอื่นไหม เหมือนกันไหมคะ เขากับเรา ความโกรธเกิดขึ้น ของใครก็เหมือนกันทั้งนั้น ความโลภ ความติดข้องของใครก็เหมือนกันทั้งนั้น ความมีจิตใจดีงาม ก็ดีงามหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน กับใคร ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ทุกคนมาที่นี่ วัยนี้ มีใครเอากระจกมาบ้างหรือเปล่า ในกระเป๋ามีกระจกไหมคะ มีนะคะ โดยมากเรามีกระจกไว้ส่องตัวเราว่าเป็นอย่างไร แต่เราเห็นเพียงรูป แต่พระธรรมคือกระจกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าเราเข้าใจถูกต้อง เราจะส่องใจของเราเอง เราจะเห็นใจของเราเองได้ เพราะว่าใจของคนอื่น เราเพียงแต่นึกว่าเขาเป็นอย่างนั้น นึกว่าเขาเป็นอย่างนี้ แต่เห็นไม่ได้ ไม่เหมือนใจของเราเอง

    เพราะฉะนั้น พระธรรมจะแสดงให้เห็นใจของเราเองชัดเจนว่า ขณะที่เรากำลังคิดโกรธใคร แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นลักษณะโกรธกำลังเป็นของเราเอง เพราะว่าเราไม่ชอบคนที่เรากำลังโกรธแน่ๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ชอบคนนั้น หรือกำลังโกรธคนนั้นคนนี้เพราะความไม่ดีของเขา แท้ที่จริงก็คือขณะนั้นเรากำลังมีโกรธของเรา พระธรรมจะส่องถึงสภาพธรรมชัดเจน

    เพราะฉะนั้น เราต้องทราบจุดประสงค์ให้ชัดว่า เราเรียนธรรมทำไม บางคนอาจจะคิดว่า เรียนเหมือนวิชาทางโลกวิชาหนึ่ง บางแห่งอาจจะมีการสอบแล้วก็มีประกาศนียบัตร บางแห่งเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้ ต่างประเทศก็มี ศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เราต้องตั้งจิตไว้ชอบ นี่สำนวนพระสูตร แต่หมายความว่าพิจารณาถึงสิ่งที่เราจะทำจนกระทั่งเราเห็นประโยชน์จริงๆ เราถึงจะทำ แต่ถ้าเราไม่พิจารณาแล้วเราทำไป สิ่งนั้นจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เราอาจจะไม่ได้ประโยชน์เลยจากการที่เรารู้มากๆ ถ้าศึกษาต่อไปก็จะรู้ว่า มีจิตกี่ชนิด เจตสิกมีเท่าไร รูปมีอะไรบ้าง เราก็แค่รู้ แต่ไม่เป็นประโยชน์กับเรา

    เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการศึกษาธรรม ซึ่งต่างจากการศึกษาวิชาอื่น วิชาอื่นเอาไปไม่ได้แน่ ทรัพย์สมบัติที่เป็นวิชาอื่น แต่ความเข้าใจธรรมของเราเป็นอุปนิสัยที่สะสม ทำให้เมื่อมีการฟังธรรมอีก เราก็เข้าใจได้เร็ว อย่างครั้งก่อนที่เราพูดเรื่องปรมัตถธรรม คนที่ฟังครั้งแรกใหม่มาก จะไม่รู้เลยว่า หมายความถึงอะไร แต่ถ้าฟังวันก่อนแล้ว วันนี้รู้ไหมว่าปรมัตถธรรมคืออะไร ธรรมคืออะไร นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจ ซึ่งใครก็เอาไปไม่ได้ ถ้าเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นสมบัติที่ติดตัวเราจริงๆ ที่สามารถติดตามเราไปทุกชาติๆ ได้ เวลาที่ได้ยินได้ฟังอะไร ก็เหมือนเวลาที่เราไปโรงเรียน วันแรกที่เข้าโรงเรียนเราก็ไม่รู้ แต่กว่าเราจะโต จะออกจากโรงเรียน เราก็รู้ไปหมดตั้งแต่ชั้นประถม ๑ ประถม ๒ เราก็ไม่ลืม เราก็เข้าใจได้ แต่พระธรรมต่างจากวิชาอื่นที่ว่า ติดตามเราไปได้ในขณะที่ทรัพย์สมบัติ พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนฝูงที่เราเคยรักเคยชอบทั้งหมดตามเราไม่ได้สักคนเดียว เราเกิดมาคนเดียว ตาย เราก็ตายคนเดียว ใช่ไหมคะ ไม่มีใครไปตายด้วย ขณะที่กำลังเห็น แต่ละคนที่เห็น เห็นคนเดียว หรือคนอื่นมาร่วมกันเห็นกับเราด้วย เห็นคนเดียว เวลาเราคิดนึก ต่างคนต่างคิด ไม่ใช่พอเราคิดอย่างนี้ ขณะที่คิดเป็นคนอื่นมาร่วมคิดด้วย ก็ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบความจริง ความจริงซึ่งเป็นสัจธรรม ความจริงแท้ๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่า แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง เหมือนเป็นสองได้ไหมคะ จะโคลนนิ่งออกมาเหมือนลูกแกะ ลูกวัวได้ไหม ก็ได้แต่เพียงรูปร่าง อย่างหน้าตาก็ยังรู้สึกว่า คนนี้คล้ายๆ คนนั้น หรือคนที่เราเคยรู้จัก แต่สภาพจิตไม่มีวันจะเหมือนกัน แต่ละขณะ เพราะว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ ดับไป เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิด ถ้าขณะก่อนๆ เป็นคนที่ชอบไปหมดทุกอย่าง อยากได้ไปหมดทุกอย่าง เราจะเห็นคนที่โลภมากกว่าคนอื่น หรือบางคนก็โกรธง่าย เรื่องที่คนอื่นไม่โกรธ เขาก็โกรธ นิดหนึ่งก็โกรธ หน่อยหนึ่งก็โกรธ เพราะว่าเขาสะสมความโกรธทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเป็นสภาพจิตของแต่ละคนซึ่งต่างกันไปมาก ในขณะนี้จะมีคนที่นี่มากสักเท่าไร ไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งเห็น อีกคนหนึ่งกำลังคิด อีกคนกำลังเจ็บหรือคันตรงไหนก็ได้ แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมคือศึกษาสิ่งที่มีจริงที่เราสามารถพิสูจน์ได้ที่ตัวของเรา เมื่อเข้าใจแล้วก็เข้าใจทั้งหมดเลย แต่ก่อนอื่นต้องทราบจุดประสงค์ของการศึกษาว่า เพื่อเข้าใจธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ศึกษาแล้วอยากจะได้ลาภ ถูกหรือผิดคะ ผิด ศึกษาอยากจะให้คนชม ถูกหรือผิด ผิด ได้ยศ ได้สรรเสริญ ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าติดตามไปไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงชื่อ สมมติว่าเป็นอย่างนี้ สมมติว่าชื่อนี้ แล้วบางคนก็ติดในชื่อมากเลย ต้องชื่อนี้ ชื่ออื่นไม่ได้ แม้แต่เพียงชื่อ ก็เห็นว่าสำคัญเหลือเกิน แต่ความจริงเปลี่ยนชื่อก็ได้ จะชื่ออะไรก็ได้ แต่เปลี่ยนอุปนิสัย เปลี่ยนความเป็นบุคคลนั้นไม่ได้ นี่คือสัจธรรม คือความจริง

    ไม่ทราบว่าทุกคนจะเข้าใจจุดประสงค์นี้หรือเปล่า เพราะจะต้องศึกษาธรรมต่อไป ให้ทราบว่าเพื่อเข้าใจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดงซึ่งเป็นความจริง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะสอนได้เลย แล้วเราก็จะเป็นผู้ที่มั่นคง ไม่ใช่ผู้ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ หรือคำชมจากการที่เราเข้าใจธรรม หรือไม่ใช่หวังอะไรจากธรรม เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เรื่องติดข้อง

    เรื่องละ ละอะไร ลองคิด ทุกคนควรจะคิด ไม่ใช่ฟังเฉยๆ ละอะไรดีคะ ละความเห็นผิด ละอกุศลทั้งหมดเลยที่ไม่ดี เพราะคนอื่นละให้ไม่ได้ เป็นพ่อเป็นแม่ก็จริง เอากิเลสของเราออกได้ไหม ไม่ได้ แต่พ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อนฝูงที่ดีมีเมตตา สามารถให้คำแนะนำ หาทางตักเตือน และชี้ประโยชน์ให้เห็นว่า อะไรถูกอะไรควรได้ แต่เราเองต้องพิจารณา แล้วต้องเป็นตัวของเราเองที่จะแก้หรือเห็นโทษว่า ไม่ควรสะสมสิ่งไม่ดีให้มีบ่อยๆ

    เวลาจะขอโทษใคร ยากไหมคะ ไม่ยาก แต่บางคนทำได้ไหม เขาอาจจะรู้สึกผิด แต่ขอโทษไม่ได้ ไม่ได้จริงๆ แค่ขอโทษก็ไม่ได้ ลองคิดดู แล้วจะทำอะไรได้ กิเลสก็เยอะแยะมากมายเหลือเกิน

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระไตรปิฎก ทราบจากคราวก่อนแล้วว่า ไตร แปลว่า ๓ ปิฎก แปลว่า หมวดหมู่ของพระธรรมที่จำแนกออกไปเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ พระวินัยปิฎก ส่วนที่ ๒ ใครจำได้คะ การศึกษาธรรมต้องเข้าใจ แล้วต้องจำ แล้วต้องรู้ว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังจริงๆ คืออะไร

    พระไตรปิฎกมี ๓ คือ พระวินัยปิฎก วิ แปลว่า กำจัด วินัย ก็คือ กำจัดสิ่งที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา พระสุตตันตปิฎก ก็เป็นเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับใครที่ไหน เรื่องอะไร ซึ่งเหมาะกับอุปนิสัยของคนนั้น ที่เขารับฟังแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ และปิฎกที่ ๓ พระอภิธรรมปิฎก

    ๓ ปิฎกนี้เป็นประโยชน์อย่างไร ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่เห็นประโยชน์เลย อย่างพระวินัย ส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความประพฤติของพระภิกษุ เพราะว่าพระภิกษุเป็นผู้ได้ฟังธรรมเหมือนอย่างเราๆ แต่มีอุปนิสัยที่เคยสะสมมาทีจะอบรมเจริญปัญญาในอีกเพศหนึ่ง เพศที่บรรพชา หมายถึงสละ บรรพชาคือสละ อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย คือ สละบ้านเรือน พ่อแม่ ความสนุก ซึ่งทุกคนก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีการบังคับว่า ให้คนฟังทั้งหมดไปบวช หรือไปอุปสมบท ไปบรรพชา ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำว่า “ต้อง” หรือคำว่า “อย่า” แต่ทรงแสดงเหตุ และผลทั้งหมดให้คนฟังพิจารณา เป็นความเข้าใจของคนนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่า เราไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นบรรพชิต ที่จะสละ ก็ไม่ต้องสละ ไปฝืนสละ แล้วก็เป็นทุกข์ แต่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ทุกหนทุกแห่งทุกขณะ แม้แต่ที่นี่ ที่นี่ก็ไม่ใช่วัด ไม่ใช่เป็นที่เงียบในป่า แต่ที่ไหนที่มีการฟังให้เข้าใจธรรม ที่นั้นก็สามารถอบรมเจริญปัญญาได้

    ชาติก่อนเคยบวชไหมคะ ไม่รู้ ลองคิดดูว่า เคยไหมคะ สังสารวัฏฏ์ยาวนานมาก ยาวนานจนกระทั่งมีคำกล่าวว่า ทุกคนที่อยู่ที่นี่ ตรงนี้ ไม่มีใครสักคนที่ไม่เคยเป็นญาติพี่น้องกัน หรือไม่เคยมีความสัมพันธ์โดยสถานหนึ่งสถานใด คนนี้อาจจะเคยเป็นแม่ของผู้ใหญ่คนนั้น หรือเป็นพ่อ หรือเป็นอะไรก็ได้ สังสารวัฏฏ์นี่ยาวนานมาก ถ้าสมมติว่า เด็กคนนี้ตายก่อน แล้วไปเกิดอายุมาก แล้วเด็กอีกคนก็ตายไปเกิดเป็นลูกของคนนั้น ก็เป็นเรื่องที่เรารู้ไม่ได้ แต่ให้รู้ว่า ธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องฟังทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

    สำหรับพระวินัยปิฎก สำหรับบรรพชิต ทรงแสดงว่า สิ่งใดที่ควร และไม่ควรสำหรับพระภิกษุ เพราะว่าเพศต่างกัน พระภิกษุจะมาอยู่บ้านดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ เล่นเทนนิส ได้ไหมคะ ไม่ได้ นั่นไม่ใช่อุปนิสัย พระภิกษุก็ต้องเป็นผู้สงบ ผู้สละ พระภิกษุจะยินดีในการกราบไหว้ของคนอื่น สมควรไหม ไม่สมควร สละคือสละทุกอย่าง ถ้าใครจะกราบไหว้ก็เพราะความดีของคนนั้น แต่ไม่ใช่เราต้องไปสำคัญตนว่า เรามีความสำคัญ ดี พิเศษ และคนอื่นมายกย่อง มากราบไหว้

    นี่คือการศึกษาพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง ต่อไปต้องไม่ลืมว่า เราศึกษาทั้งหมดเพื่อขัดเกลา เพื่อละทุกอย่างแม้แต่การติดในลาภ ในยศ หรือในคำสรรเสริญ เพราะขณะนั้นตรงกันข้ามกับคำสอน เพราะคำสอนสอนให้เห็นโทษของการติด ทุกอย่างที่ติดจะนำความทุกข์มาให้ ถ้าเรชอบถ้วยแก้วสวยๆ ถ้าถ้วยแก้วแตกก็เป็นทุกข์ เราจะชอบใครสักคน คนนั้นก็จะต้องตาย เวลาเขาตาย เราเป็นทุกข์ไหมคะ เราก็เป็นทุกข์ เราชอบอาหารชนิดหนึ่งซึ่งอร่อย แล้ววันนั้นเราไม่ได้ทานอาหารอย่างนั้น เราได้รับประทานอย่างอื่น หรือรสอื่น เราก็เป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้น ทุกข์ทั้งหมด ความไม่สบายใจ ความไม่แช่มชื่นมาจากความติดข้อง ถ้าเราคลายความติดข้องลง ไม่เดือดร้อนเลย เปรี้ยวก็ได้ หวานก็ได้ เค็มก็ได้ จืดก็ได้ จะเดือดร้อนไหมคะ ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้ทุกคนติดในสิ่งที่เห็น ต้องเป็นสิ่งที่สวยๆ ในเสียงที่ได้ยิน ต้องได้ยินเสียงเพราะๆ ในกลิ่นก็ต้องเป็นกลิ่นที่หอม ในรสก็ต้องเป็นรสที่อร่อย ในสิ่งที่กระทบสัมผัสก็ต้องสบาย แม้แต่เก้าอี้ก็ต้องสบาย เก้าอี้ไม่สบาย นั่งก็เป็นทุกข์แล้ว เจ็บตรงนั้นตรงนี้

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดที่เป็นทุกข์มาจากความติดข้อง พระภิกษุที่มีอัธยาศัยเห็นโทษของกิเลส ความติดข้อง ท่านจึงสามารถสละ เพราะว่าตรงกันข้าม โลภะคือความติด อโลภะ คือความไม่ติด ตั้งแต่ก่อนมาฟังธรรม เราติดอะไรไว้เยอะแยะเลย แล้วพอฟังแล้ว ลองคิดดูว่า เราสามารถละความไม่ติดสักนิดหนึ่งได้ไหม ไม่ต้องหมด ละหมด ไม่มีใครละได้ แต่ทางตานิดหนึ่ง ทางหูนิดหนึ่ง ทางจมูกนิดหนึ่ง ทางลิ้นนิดหนึ่ง ทางกายนิดหนึ่ง ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เราก็จะไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบจริงๆ ว่า พระวินัยสำหรับบรรพชิต แต่ถ้าสิ่งไหนดี เราทำได้ไหมคะแม้ว่าเราไม่บวช หรือว่าทำไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่พระ ลองคิดค่ะ ไม่จำเป็น อะไรที่ดี และสากล ไม่ใช่เฉพาะคนไทย ไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธ ไม่ใช่เฉพาะเด็ก ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่ วัยไหน แต่สิ่งที่ดีเป็นสภาพธรรมที่ดี ดีจะต้องดีตลอดไม่ว่าที่ไหน

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านสอนเรื่องการรับประทานอาหาร ในพระไตรปิฎกก็มี ไม่มีการเคี้ยวดังจั๊บๆ เวลาเคี้ยวไม่ปิดปากก็ดังจั๊บๆ มีเสียงแน่นอน คนนี้จั๊บ คนโน้นจั๊บ ดังสนั่น แล้วก็ไม่งามด้วย แค่นี้พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า ที่จริงแล้วกายอย่างไหนสมควร วาจาอย่างไหนสมควร

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นว่า สิ่งไหนเป็นประโยชน์ ไม่ต้องไปห่วงเลยว่า สำหรับบรรพชิต เราทำได้ และไม่จำเป็นต้องไปนับด้วยว่า เรามีศีลเหมือนบรรพชิต หรือเพิ่มขึ้นมากี่ข้อ เพราะเป็นเรื่องละ เป็นเรื่องเดียวเท่านั้นคือเรื่องละทั้งหมด เพราะเราศึกษาถึงปรมัตถ์ เราจะทราบว่า เป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดแล้วดับ สิ่งที่ดับไปแล้ว กลับคืนมาไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ากระทบแข็งตรงนี้ มีเฉพาะตรงนี้ที่ปรากฏ พอได้ยิน แข็งตรงนี้ก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้น จะไม่มีอะไรเหลือ จริงๆ แล้วไม่เหลืออะไรเลย สมควรไหมที่จะติด แต่ต้องติด เพราะว่าปัญญาไม่ถึงระดับที่จะละ

    นี่เป็นเรื่องที่ไม่จำกัด พระไตรปิฎกอ่านได้ ศึกษาได้ ใครก็ตามที่มีเวลา และอยากอ่านพระวินัยปิฎก อ่านเลย เป็นภาษาธรรมดา และเป็นเรื่องของการประพฤติทางกาย ทางวาจา แต่ถ้าไม่เข้าใจต้องถามผู้รู้ เพราะว่าพระวินัยปิฎกเป็นเรื่องของกาย วาจาก็จริง แต่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ความลุ่มลึกของพระวินัยโดยกิจ กิจก็คือความประพฤติของกาย ของวาจา

    ชอบฟังเรื่อสนุกๆ ไหมคะ


    หมายเลข 1552
    25 ก.ค. 2567