อากาสธาตุแทรกคั่นตรงไหน


    ท่านอาจารย์ เช่นขณะนี้ที่ตัว มีใครคิดบ้างว่า มีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบ เคยคิดไหมคะ แต่เป็นความจริงว่า มีอากาสธาตุหรือช่องว่างแทรกคั่นละเอียดมาก ละเอียดจนถ้าจะกล่าวถึงในที่นี้อาจจะยากหน่อย แต่ใช้ธรรมดาๆ ว่า ละเอียดมาก คือสามารถจะแตกย่อยออกเป็นชิ้นส่วนที่ละเอียดที่สุดได้ในพริบตา นี่คือที่ตัว แต่จริงๆ แล้วทรงแสดงว่า ทุกหนทุกแห่งที่เป็นรูปธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ อย่างแข็งที่พื้นเรามองเหมือนไม่มีอากาสธาตุแทรกคั่นอยู่เลย แต่ความจริงที่ใดที่มีรูปต้องมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ที่สามารถจะแตกย่อยทำลายได้ทุกอย่าง นี่คือการตรัสรู้

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนที่นั่งอยู่ที่นี่ก็เหมือนกองฝุ่น เหมือนไหมคะ มีอากาสธาตุแทรกคั่นอยู่เต็ม และมีแข็งบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้างที่กาย แต่จริงๆ แล้วมีอากาสธาตุแทรกคั่นอยู่ นี่คือความเป็นอนัตตา

    ระหว่างตากับหู มีอากาสธาตุแทรกคั่นไหมคะ แทรกคั่น เพราะฉะนั้น เราอยู่ตรงไหน มีเราจริงๆ ตรงไหนตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ในเมื่อก็เป็นรูปที่กระทบสัมผัสแล้วแข็งหรืออ่อน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ก็มีอากาสธาตุแทรกคั่นละเอียดมากพร้อมที่จะแตกสลายทำลายไปทุกๆ ขณะ เพราะฉะนั้น ตรงไหนเป็นเรา ตรงช่องว่างหรือตรงที่อ่อน ที่แข็ง ซึ่งความจริงจากการตรัสรู้ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับเร็วมาก เร็วกว่าที่ศาสตร์ใดๆ จะสามารถรู้ได้ เพราะเหตุว่าผู้ที่สอนศาสตร์นั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด อนิจจัง ไม่เที่ยง สภาพธรรมที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ความสุขที่ถาวรหรือยั่งยืน ไม่เป็นสิ่งที่น่าพอใจ และเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่างก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    พอที่จะเข้าใจว่า ทุกขณะ ขณะนี้ ทุกอย่างที่เกิดต้องดับทันทีเร็วมาก เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง อนัตตา

    ถ้ามีคำถามก็เชิญเลยนะคะ เพราะจริงๆ แล้วพระธรรมเป็นเรื่องที่ยาวมาก ศึกษากันเป็นปีๆ

    ผู้ฟัง ผู้ใดมีคำถาม นานๆ ท่านอาจารย์จะมาสักครั้งหนึ่ง อะไรที่ข้องใจอยู่ก็เรียนถามท่าน เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และกับเพื่อนๆ ที่ร่วมสนทนาด้วยครับ

    ท่านอาจารย์ หรือที่ฟังแล้ว ต่อไปจะได้ทราบว่า นี่คือสนทนาธรรม คือต้องมีธรรม มีสิ่งที่มีจริงๆ ให้สนทนาให้เข้าใจขึ้น เราจะไม่พูดถึงสิ่งที่ไม่มีหรือเลื่อนลอย

    ผู้ฟัง จะถามเรื่องที่คนเขาพูดถึง “บุญ” บุญหมายถึงอะไร และทุกวันนี้คนทำบุญส่วนมากจะหวังผลตอบแทน และบางคนดูแล้วยากจน แต่ตะเกียกตะกายทำบุญโดยตนเองอดเพื่อจะทำบุญนั้น อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า “บุญ” หมายถึงอะไร และจำเป็นไหมที่บางทีตัวเองหรือลูกเต้าไม่ได้กิน เอาไว้ทำบุญมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นเมื่อได้ยินคำไหน ต้องเข้าใจความหมายของคำนั้นด้วย “บุญ” หมายความถึงสิ่งที่ดีงาม โต๊ะ เก้าอี้ ข้าว ผลไม้เป็นบุญหรือเปล่าคะ บุญคือสิ่งที่ดีงาม โต๊ะดีอย่างไร ข้าวดีอย่างไร เพราะฉะนั้น นั่นไม่ใช่บุญเลย บุญไม่ใช่วัตถุ แต่ต้องเป็นสภาพที่ดี เวลาที่พูดถึงธรรม ควรจะได้ทราบก่อนตั้งแต่ต้นว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ธรรมมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน ให้กลิ่นทางจมูก เป็นรสที่รู้ได้ทางลิ้น เป็นเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่รู้ได้ทางกาย สิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย อย่างเสียงเป็นความดังหรือความกังวาฬของปฐวี คือสภาพที่แข็ง ถ้าสิ่งที่แข็งกระทบกันจะทำให้เกิดเสียง แล้วก็ดับ เสียงที่เกิดขึ้นมาไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้ จำไม่ได้ หิวไม่ได้ โกรธไม่ได้ สิ่งใดๆ ที่มีจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ในทางธรรมใช้คำว่า “รูป” หรือ “รูปธรรม” เพราะว่าภาษาบาลีต้องออกเสียงคำสุดท้ายด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็น “รู ปะ” ถ้ารวมกับธรรม ก็เป็น “รู ปะ ธรรม” รูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย

    เพราะฉะนั้น เสียงเป็นบุญไม่ได้ กลิ่นเป็นบุญไม่ได้ รสเป็นบุญไม่ได้ อ่อนแข็งเป็นบุญไม่ได้ แต่มีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ในขณะนี้กำลังมีด้วย ธาตุชนิดหนึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด “รู้” ที่นี่หมายความว่า รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น เสียง ที่จะบอกว่ามีเสียง ก็เพราะเหตุว่ามีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วต้องได้ยินเสียง สภาพนั้นคือนามธาตุ

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรมมี ๒ ลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทเป็นรูปธาตุ อีกประเภทเป็นนามธาตุ รูปธาตุรู้อะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่นามธาตุเป็นธาตุซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น ทางตากำลังเห็น เห็นมีจริงๆ เห็นไม่ใช่แสงสว่าง เห็นไม่ใช่สีสันวัณณะที่ปรากฏภายนอก แต่เห็น ที่ใช้นามธาตุ เพราะไม่ใช่รูปโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่สามารถรู้ สามารถเห็น สามารถได้ยิน สามารถได้กลิ่น สามารถจำ สามารถคิดนึก สามารถเป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ เหล่านี้เป็นนามธาตุ ต้องแยกธรรมออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ รูปธาตุกับนามธาตุ

    เพราะฉะนั้น บุญเป็นรูปธาตุไม่ได้ แต่บุญเป็นนามธาตุ เป็นสภาพของนามธาตุที่เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้

    ขณะนี้ในห้องนี้มีรูปไหมคะ มี มีนามไหมคะ มี ถ้ามีคนตายอยู่ที่นี่ มีแต่รูป แต่นามไม่มี คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เพราะฉะนั้น สภาพต่างๆ เหล่านั้นแยกออกจากรูป เป็นนามธาตุทั้งหมด

    หิว เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมคะ เป็นนามธรรม โกรธเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น เราสามารถเข้าใจธรรมได้ ไม่ว่าในโลกนี้ ในเทวโลก ในพรหมโลก โลกไหนๆ ในจักรวาลไปจนถึงพระจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ก็มีสภาพธรรมเพียง ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม จะมีอย่างอื่นนอกจากนี้อีกไหมคะ ไม่มี แต่ความหลากหลาย ความละเอียดของรูปธรรมกับนามธรรมมากจริงๆ โดยที่สำหรับนามธรรมก็มี ๒ อย่าง ไม่ใช่มีอย่างเดียว นามธรรมอย่างหนึ่งคือจิต นามธรรมอีกอย่างหนึ่งคือเจตสิก ๒ อย่าง รูปธรรมไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เสียง เมื่อล้านปีก่อนมีเสียงไหมคะ รูปในอดีตเป็นรูปตลอดคือไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น เสียงในอดีต เสียงในปัจจุบัน เสียงในอนาคตก็เป็นรูปธรรม แต่นามธาตุหรือนามธรรมก็คือ จิต ๑ เจตสิก ๑

    ความต่างกันของ ๒ อย่าง ก็คือ จิต เคยได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหมคะ ขณะนี้มีจิตไหมคะ มีแน่นอน มีวิญญาณไหมคะ จิตกับวิญญาณต่างกันหรือเหมือนกัน คำตอบครั้งแรกที่ถูกคือมีจิต แล้วถามว่า มีวิญญาณไหมตอบว่ามี ก็ถูกอีก แต่พอถามว่า จิตกับวิญญาณเหมือนกันหรือต่างกัน ถ้าตอบว่า ต่างกัน ผิด เพราะเหตุว่าคำว่า “จิต” หรือคำว่า “วิญญาณ” คำว่า “มโน” คำว่า “มนัส” คำว่า “หทยะ” เป็นชื่อหลายๆ ชื่อของธาตุรู้หรือสภาพรู้นั่นเอง จะเรียกว่า “จิต” ก็ได้ เหมือนอย่างผู้หญิง เรียก นารีได้ไหมคะ เรียก สตรี ได้ไหมคะ เรียกกุมารีได้ไหมคะ จิตก็เหมือนกัน เรียกวิญญาณก็ได้ เรียกมโนก็ได้ เรียกมนัสก็ได้ หมายความถึงสภาพที่มีจริงๆ ในขณะนี้ก็มีจริงๆ ให้พิสูจน์ที่ทรงแสดงว่า ทรงตรัสรู้ความจริงว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี่คือจิต เวลาที่ทุกคนพูดเรื่องจิต เหมือนรู้ เวลาที่ทุกคนใช้คำว่า “วิญญาณ” ก็เหมือนรู้ แต่ความจริงยังไม่ได้รู้ ถ้ายังไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า จิตมีจริง ขณะที่กำลังเห็นนี่เองกำลังเป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ลืมไม่ได้เลย สภาพธรรมใดๆ ที่เกิดมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับทันที ไม่มีสักอย่างเดียวซึ่งยั่งยืนถาวร

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะที่ได้ยินเป็นจิต เพราะว่าเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้เสียงในลักษณะของเสียงที่ปรากฏ เสียงมีตั้งหลายเสียง ฟังนะคะ ต่างกันใช่ไหมคะ เสียงอย่างนี้ เสียงอย่างนั้น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏให้รู้ นี่ตัวจิตกำลังรู้เสียงต่างๆ แต่เจตสิกมีถึง ๕๒ ชนิด ความติดข้องต้องการหรือโลภะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ความโกรธเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง

    ขณะที่ได้ยินก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ชนิด อย่างน้อยที่สุด ๗ ชนิด แต่ถ้าเป็นอกุศลจิต จิตที่ไม่ดี จะต้องมีเจตสิกฝ่ายไม่ดีเกิดร่วมด้วยอีก ถ้าเป็นจิตที่ดี ที่เราจะมาถึงคำว่า “บุญ” ก็จะต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย และโสภณเจตสิกมี ๒๕ ชนิด

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราศึกษาธรรม เราจะรู้จักสภาพจิต ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นเรา แต่ความจริงก็คือจิตประเภทต่างๆ ที่เกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะถ้าไม่มีจิตเกิด ก็จะไม่มีสัตว์ที่มีชีวิต ไม่มีคน ไม่มีเทพ ไม่มีอะไรหมด ก็มีเพียงรูปธรรมอย่างเดียว แต่ที่จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เพราะมีจิตเกิด แล้วจิตก็เกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย ตาย คือ ขณะสุดท้ายของชาตินี้ เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเมื่อเกิดแล้วดับก็จะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมคือศึกษาสิ่งที่มีจริงๆ สภาพที่มีจริงๆ ให้เห็นความเป็นธรรมของสิ่งนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย และไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ยังสืบต่อไปตามเหตุตามปัจจัยของจิตแต่ละขณะด้วย

    ขณะนี้เรากำลังพูดถึงจิต ยังมีใครสงสัยไหมคะ จิตกับเจตสิกแยกกัน เพราะว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้หรือสิ่งที่ถูกจิตรู้ ทางตากำลังเห็นขณะนี้เป็นจิต ทางหูกำลังได้ยิน ขณะที่ได้ยินเป็นจิต ถ้ากลิ่นปรากฏ จิตเป็นสภาพที่รู้กลิ่น ถ้ากลิ่นอยู่ในห้องนี้ พื้นกระดานไม่สามารถรู้กลิ่น แต่เวลารู้กลิ่นเกิดขึ้นเคยเป็นเราก่อนการฟังพระธรรม แต่พอฟังพระธรรมก็รู้ว่า จิต สภาพที่รู้กลิ่นมีจริงๆ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรมเป็นจิต ความรู้เริ่มแตกออกมาแล้ว จากธรรมเป็นนามธรรม จากนามธรรมเป็นจิตที่กำลังรู้กลิ่น เวลาที่ลิ้มรส เคยรับประทานกล้วยใช้ไหมคะ ในกล้วยมีรส แต่ถ้าไม่มีชิวหาปสาท คือ รูปๆ หนึ่งซึ่งอยู่กลางลิ้นซึ่งสามารถกระทบรส ไม่ว่ารสนั้นจะอยู่ถึงในกล้วย หรือในข้าว หรือที่ไหนก็ตามแต่ แต่จิตก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน สามารถจะลิ้มรสนั้นๆ ได้ชั่วขณะที่กระทบลิ้นแล้วดับ จิตที่เกิดแล้วไม่ดับไม่มี

    เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่เกิดเป็นสังขารธรรม ที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า “สังขาร” สังขารธรรมหมายความถึงธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดแล้วก็ดับ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง อนิจจัง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แน่นอน คงอยู่ไม่ได้เลย เร็วมากด้วย สิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

    นี่คือคำสอนเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ที่จะทำให้เราสามารถมีความเห็นถูกต้องขึ้นว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ทรงแสดงเรื่องอะไร ธรรมคืออะไร

    เรื่องจิต เรื่องเจตสิก ยังมีใครสงสัยไหมคะ ขณะนี้หมดแล้วนะคะ ที่เราพูดถึง รูปธรรม นามธรรม นามธรรมก็คือจิต เจตสิก ถ้าศึกษาธรรมจริงๆ จะได้ยินคำหนึ่งคือปรมัตถธรรม เคยได้ยินไหมคะ มาจากคำ ๓ คำ ปรมะ ที่ภาษาไทยใช้คำว่า บรม เพราะเหตุว่าภาษาไทยไม่ใช้ตัว ป แต่ใช้ตัว บ เวลาที่ภาษาบาลีเป็นตัว ป ภาษาไทยจะเป็นตัว บ แทนที่จะเป็นปรมะ ปรม คนไทยก็พูดว่า บรม

    เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมมาจากคำ ๓ คำ คือ ปรมะ อรรถ กับธรรม ธรรมเราทราบแล้วว่า หมายถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด จะมองเห็น หรือมองไม่เห็น ถ้าสิ่งนั้นมีจริง สิ่งนั้นเป็นธรรม แล้วธรรมก็เป็นรูปธรรมกับนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ธรรมมีลักษณะให้รู้ ปรม + อรรถ + ธรรม เป็นปรมัตถธรรม อรรถคือความหมาย ถ้าสิ่งนั้นไม่มีลักษณะเฉพาะ เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำที่จะอธิบายความหมายว่า ความหมายถึงอะไร แต่เพราะเหตุว่าธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นอรรถ เป็นความหมายในลักษณะนั้น เช่นกลิ่น พอพูดถึงกลิ่น เราจะนึกถึงลักษณะที่เราสามารถรู้ได้ทางจมูก หอม หรือเหม็น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นแกงส้ม กลิ่นแกงเผ็ด นี่คือสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เสียงดนตรี เสียงคน เสียงนก ก็มีลักษณะเฉพาะของเสียงนั้นๆ เป็นอรรถเฉพาะของธรรมนั้น ใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” หมายความถึงธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ นั้นเป็นปรม หรือปรมะ ยิ่งใหญ่ เพราะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย เสียง จะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ให้รู้ทางตาได้ไหมคะ ให้รู้ทางจมูกได้ไหม ต้องรู้ได้ทางหู

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของเสียงโดยเฉพาะ ก็คือเป็นลักษณะที่มีจริง แต่ต้องกระทบกับโสตปสาทเท่านั้นจึงปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยินเสียง

    นี่เป็นสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย และอีกคำหนึ่งถ้าได้ยินคำว่า “ธรรม” และ “ปรมัตถธรรม” จะได้ยินอีกคำหนึ่งคือ “อภิธรรม”

    เวลาพูดถึงพระไตรปิฎก มีพระวินัยปิฎก ๑ พระสุตตันตปิฎก ๑ พระอภิธรรมปิฎก ๑ พระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่เป็นข้อปฏิบัติของเพศบรรพชิต แต่ก็มีธรรมด้วย ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่ต้องมีพระวินัย แต่เพราะเหตุว่ามีกิเลส มีโลภะ มีโทสะที่ทำให้กายประพฤติในทางไม่ดี วาจาประพฤติในทางไม่ดี เมื่อเป็นเพศบรรพชิตซึ่งหมายความถึงสละความไม่ดี ก็จะต้องมีระเบียบสำหรับประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจาซึ่งกำจัด “วินัย” แปลว่า กำจัดกิเลส เครื่องเศร้าหมองที่จะทำให้เกิดความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ไม่ดี ก็เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่ต้องมีวินัย

    พระสุตตันตปิฎก ทรงแสดงสภาพธรรม ไม่ใช่ไม่มีธรรมในพระสูตร แต่เป็นเรื่องราวที่สนทนากับบุคคลต่างๆ ด้วยเรื่องต่างๆ มีท่านพระอานนท์ มีท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ มีท่านพระมหากัสสปะ ทรงแสดงธรรมที่พระวิหารเชตวัน ที่พระวิหารเวฬุวัน กับใคร ที่ไหน ก็มีธรรมที่แสดงกับบุคลเป็นเรื่องราว และเหตุการณ์ต่างๆ เป็นพระสุตตันตปิฎก

    พระอภิธรรมปิฎกเป็นเรื่องของธรรมล้วนๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรมในบรรดาพระธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ความหมายเหมือนกันเลย ถ้าใครรู้จักธรรมก็คือรู้จักปรมัตถธรรม รู้จักอภิธรรม ซึ่งต่อไปนี้ถ้าพูดถึง ๓ ปิฎก เข้าใจได้เลยว่า ปิฎกที่ ๑ คืออะไร ปิฎกที่ ๒ คืออะไร ปิฎกที่ ๓ คืออะไร ปิฎกที่ ๓ ไม่มีชื่อ เรื่องราว บุคคลเลย ไม่มีท่านอนาถบิณฑิกะ ไม่มีวิสาขามหาอุบาสิกา ไม่มีพระนครสาวัตถี ไม่มีกรุงพาราณสี แต่เป็นเรื่องธรรมล้วนๆ ที่กล่าวถึงเมื่อกี้นี้ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ อีกอย่างหนึ่งซึ่งจริง เป็นปรมัตถธรรม คือ นิพพาน

    เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานไม่มากเลยแค่ ๔ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ จะเป็นกี่ประเภทก็ตาม หยาบ ละเอียดอย่างไร ใกล้ ไกล ภายใน ภายนอก ก็คือธรรมประเภทนั้นๆ ส่วนธรรมสุดท้าย คือ นิพพานเป็นปรมัตถธรรมด้วย เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้น จึงไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะปรากฏแต่เฉพาะกับปัญญาที่ได้อบรมถึงกาลที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานเท่านั้น ปัญญาระดับนี้ไม่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ แต่นิพพานเป็นธรรมที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ทราบปรมัตถธรรม ๔ โดยสังเขป

    เดี๋ยวนะคะ เมื่อกี้นี้ยังอยู่ที่บุญ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น บุญได้แก่จิต และเจตสิกที่ดีงาม ไม่ใช่วัตถุเลย เป็นจิตเจตสิก แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ คือ มีรูปธรรมกับนามธรรม ขันธ์ ๕ ได้แก่ ขันธ์หนึ่งเป็นรูป ได้แก่ รูปขันธ์ อีก ๔ ขันธ์เป็นนามธรรม คือ จิต เจตสิก

    เพราะฉะนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เรามีรูป ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ มีครบขันธ์ ๕ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ คนไปวัดเคยได้ยิน แต่คนที่ไม่ได้ไปวัด ใหม่แน่ๆ เลย ให้ทราบว่า คือจิต และเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีแต่จิต เรามองไม่เห็นเลย จิตจะดี จะชั่ว มองไม่เห็น แต่เวลาที่มีรูปด้วย เราสามารถอนุมานได้จากกาย และวาจา ถ้าจิตที่ดีเกิดขึ้น กายดี วาจาดี ซึ่งบุญมีทั้งหมดถึง ๑๐ อย่าง ไม่ใช่ทาน การให้อย่างเดียว

    ผู้ฟัง ต่อเรื่องบุญอีกสักนิด อยากให้อาจารย์เปรียบเทียบ ๒ บุคคลว่าเขาได้บุญแบบไหน คนแรกไปวัดทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล แต่เวลามาอยู่กับบุคคลอื่น เขาจะทำให้บุคคลอื่นไม่สบายใจด้วยคำพูด และการกระทำของเขา และอีกบุคคลหนึ่งอาจจะไม่ค่อยไปวัด แต่เมื่อทำงานร่วมกับคนอื่นแล้วทำให้สบายใจ อยากทราบว่า บุคคล ๒ บุคคลนี้จะได้บุญในลักษณะไหน

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ศึกษาธรรม ตรงมาก และละเอียดมาก คือ พูดถึงจิตทีละ ๑ ขณะ ไม่ได้พูดปะปนรวมกันอย่างนี้เลย แต่ทีละ ๑ ขณะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ขณะนั้นเท่านั้นที่เป็นบุญ ขณะนี้เรามีศรัทธาจะมากหรือจะน้อย ไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่ละคนก็แต่ละตัวเอง ที่ฟังพระธรรม แต่ขณะที่กำลังฟังอาจจะไม่ทราบว่า มีอกุศลจิตเกิดสลับ ไม่ใช่มีแต่กุศลจิตตลอด

    ด้วยเหตุนี้เราจึงพูดถึงธรรมตรงที่จิตแต่ละ ๑ ขณะ มีคำจำกัดความได้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ต้องเป็นผู้ตรงด้วย คือไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดสลับกัน ขณะที่เป็นอกุศลก็ไม่ใช่บุญ

    เพราะฉะนั้น เราจะไม่คิดนึกเป็นเรื่องเป็นเรา แต่จะพูดถึงจิตแต่ละขณะให้แต่ละคนมีธรรมเป็นกระจก กระจกสำหรับอะไรคะ ดูตัวเอง เพราะฉะนั้น ธรรมก็คือไม่ได้ไปดูคนอื่น แต่เวลาที่เข้าใจธรรมคือดูตัวเองว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เวลาอ่านหนังสือพิมพ์หรือได้ฟังเรื่องที่แสนจะโหดร้ายทารุณเหลือเกิน ขณะนั้นคิดถึงจิตของคนที่ทำไม่ดี ใช่ไหมคะ แต่จิตของเราที่กำลังคิดถึง มีกระจกส่องหรือยัง ลืมแล้ว ลืมกระจก


    หมายเลข 1554
    29 ก.ค. 2567