ทั้งหมดคือนามธรรมกับรูปธรรม


    ท่านอาจารย์ เพราะถึงแม้จะเคยได้ยินคำว่า อริยสัจธรรม โพธิปักขิยธรรม ปฏิจจสมุปปาท หรืออะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดต้องเป็นธรรม แล้วก็ต้องเป็นธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งจะละเอียดขึ้นๆ ๆ เรื่อยๆ แต่ก็ต้องรู้จริงๆ ว่า ธรรมมี ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ตอนเกิดก็ไม่ใช่มีแต่รูปธรรมเท่านั้น แต่ต้องมีนามธรรมด้วย ถ้าศึกษาละเอียดต่อไปก็จะมีความวิจิตรของนามธรรม และรูปธรรมอีกมาก ต่อไปนี้ขอให้คุณสุภีร์กล่าวถึงนามธรรมซึ่งมี ๒ อย่าง นามธรรมที่เกิด ในขณะที่เกิดมีรูปกับนามเกิด และนามธรรมมี ๒ อย่าง

    อ.สุภีร์ นามธรรมต่างจากรูปธรรม เพราะเหตุว่ารูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย อย่างโต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งต่างๆ ไม่สามารถรู้อะไรได้ แต่คนเราทั่วไปสามารถรู้ว่า มีบุคคลนั้นบุคคลนี้ได้ สามารถได้ยินเสียงต่างๆ ได้ เพราะว่ามีนามธรรม ในนามธรรมที่รู้อารมณ์ คำว่า “อารมณ์” ก็คือสิ่งที่นามธรรมรู้ อย่างตอนนี้ทุกท่านได้ยินเสียงผม เสียงผมก็เป็นอารมณ์สำหรับนามธรรมที่รู้ สำหรับทุกท่านที่ได้ยิน นามธรรมที่รู้อารมณ์มี ๒ อย่าง คือ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า จิตกับเจตสิก ทุกท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “จิต” แต่คำว่า “เจตสิก” อาจจะไม่คุ้นเคยนัก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นอารมณ์ อย่างการเห็นก็คือเป็นจิตที่เห็น เพราะว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็น การได้ยินก็เช่นเดียวกัน เป็นจิตที่ได้ยิน สำหรับบุคคลที่ไม่สามารถเห็น ได้ยินได้ อย่างคนตาบอด โลกของเขาก็มืดสนิท ถ้าคนหูหนวก โลกทางหูของเขาจะเงียบ แต่เรามีโลกทางตา เพราะมีจิตเห็นสิ่งต่างๆ โลกทางหูมี เป็นโลกที่มีเสียงดัง ถ้าบุคคลที่ไม่สามารถได้ยินได้ ก็เป็นโลกที่เงียบสนิท ก็เหมือนกับเรา ก่อนนี้ไม่ได้ยินอะไรเลย เงียบสนิทจริงๆ แต่เมื่อมีเสียง และได้ยินเสียงเกิดขึ้น ก็เป็นจิตที่รู้เสียงซึ่งเป็นอารมณ์ คือเป็นสิ่งที่จิตได้ยินรู้

    นี่เป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “จิต” ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์

    สำหรับนามธรรมอีกประการหนึ่งก็คือเจตสิก คำว่า “เจตสิก” คือสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต เกิดประกอบกับจิตเท่านั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้นแล้วต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็นนามธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ รู้ว่าอะไรปรากฏ แต่ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ความชอบ ความไม่ชอบ ความโกรธ ความเมตตา ความกรุณา สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต

    ทุกท่านอาจจะเคยมีเมตตาหรือกรุณา เวลาเห็นขอทานใต้สะพาน เกิดความกรุณาอยากให้อะไรเขาสักอย่างหนึ่ง จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็น แต่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กรุณาเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต

    ฉะนั้น นามธรรมที่เกิดร่วมกันที่รู้อารมณ์ จิตกับเจตสิกมีความต่างกัน ก็คือจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์เท่านั้น แต่เจตสิกเป็นความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ความรู้สึกแปลกใจหรือสงสัยอะไรก็ตามแต่ ที่ท่านอาจารย์หรือท่านวิทยากรพูดไปแล้วความสงสัยเกิดขึ้น ความสงสัยไม่ใช่จิต แต่เป็นสิ่งที่เกิดกับจิตที่เรียกว่า “เจตสิก”

    ฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของเราถ้ามีแต่รูปธรรมอย่างเฉยๆ จะไม่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลย รูปธรรมมีมากมายเหลือเกิน อย่างที่ท่านอาจารย์ยกตัวอย่าง เสียง เสียงในป่าก็มีมากมาย เราไม่ต้องได้ยินเสียงในป่า เสียงบนถนน อย่างในขณะนี้การจราจรติดขัดมากมาย เสียงรถยนต์ เสียงแตร แต่เสียงเหล่านั้นเราไม่รู้เลย เพราะอะไร เพราะไม่ได้เป็นอารมณ์ของนามธรรม นามธรรมของเราไม่ได้เกิดรู้สิ่งนั้น ก็คือจิตได้ยินไม่ได้ยินสิ่งนั้น จิตได้ยินกำลังได้ยินเสียงตอนนี้ ก็เป็นจิตได้ยินที่ได้ยินเสียงขณะนี้ แล้วการรู้สึกชอบ ไม่ชอบกับเสียงนั้น รู้สึกสงสัย ความรู้สึกต่างๆ มากมายเหลือเกิน ต่างๆ เหล่านั้นเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิต

    นามธรรมที่รู้อารมณ์ก็มี ๒ ประการด้วยกัน ก็คือจิตกับเจตสิก

    ท่านอาจารย์ วันนี้ก็ได้ศัพท์ธรรมหลายศัพท์ คือ ๑. ธรรม แล้วธรรมก็มี ๒ อย่าง ไม่ว่าจะในโลกนี้หรือโลกไหนทั้งสิ้น ขึ้นไปถึงโลกพระจันทร์ ดาวอังคาร อะไรก็ตามแต่ ก็จะไม่พ้นจากธรรม ๒ อย่าง คือนามธรรม และรูปธรรม และสำหรับนามธรรมก็ยังต่างกันเป็น ๒ ชนิด คือ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เมื่อจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เป็นสภาพหรือเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริง และเกิดขึ้นขณะใด ต้องรู้ จิตจะเกิดขึ้นแล้วไม่รู้อะไรไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าลักษณะของนามธาตุซึ่งต่างกับรูปธาตุ เวลารูปธาตุเกิด รูปธาตุไม่รู้อะไรเลย แต่เวลาที่นามธาตุเกิด นามธาตุต้องรู้ทุกครั้งที่เกิด

    เพราะฉะนั้น นามธาตุก็เป็นสภาพธรรมที่รู้ จึงต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ และสิ่งที่ถูกรู้ ในภาษาบาลีใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรือ “อาลัมพนะ” แต่ภาษาไทยเราชอบตัด ไม่พูดเต็ม เพราะฉะนั้น แทนที่จะพูดว่า “อารัมมณะ” เราก็พูดว่า “อารมณ์” ซึ่งภาษาไทยก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่งด้วย ตามภาษาไทยก็คิดเข้าใจว่า อารมณ์ก็หมายถึงความรู้สึกของเราในวันหนึ่งๆ อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย หรืออะไรอย่างนั้น แต่ต้นตอที่มาของอารมณ์ที่จะดีหรือร้าย ก็คือสิ่งที่ถูกจิตรู้นั่นเอง ถ้าจิตได้เห็นสิ่งที่ดีๆ ได้ยินเสียงที่ดีๆ วันนั้นอารมณ์เป็นอย่างไร ในภาษาไทย อารมณ์ดี แต่ถ้าเห็นอะไรก็ไม่น่าดู เสียงก็ไม่ดี กลิ่นก็ไม่ดี ทุกอย่างไม่ดีหมดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย วันนั้นอารมณ์ไม่ดี ในภาษาไทย แต่ถ้าศึกษาธรรม “อารัมมณะ” หมายความถึงเมื่อมีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ ต้องมีอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกรู้คู่กันไปทุกครั้ง จะมีแต่จิต โดยไม่มีอารมณ์ ไม่ได้เลย และถ้ากล่าวว่า มีอารมณ์ปรากฏ ก็หมายความว่า ปรากฏกับจิตซึ่งกำลังรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ต้องคู่กันเสมอ

    เวลาศึกษาธรรมต้องเข้าใจเพิ่มเติมในความหมายภาษาไทย ซึ่งเราเอามาใช้ แต่ไม่ตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนา แต่ก็เกี่ยวเนื่องกัน เช่น คำว่า “อารมณ์ดี” ก็ต้องมีต้นตอคือเห็นดี ได้ยินดี

    ก็คงจะค่อยๆ เข้าใจ รูปธรรม นามธรรม และนามธรรมก็มี ๒ อย่าง สำหรับจิตที่เป็นสภาพรู้ เกิดตั้งแต่ปฏิสนธิจิต คือขณะแรกที่เกิดจนกระทั่งถึงจิตขณะสุดท้าย ที่เราใช้คำว่า “ตาย” พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ไม่ใช่จิตชนิดเดียวกันเลย จิตขณะที่เกิดก็เป็นประเภทหนึ่ง คือเป็นผลของกรรม และต่อจากนั้นก็จะมีจิตประเภทต่างๆ ซึ่งบางครั้งบางขณะก็เป็นจิตที่เป็นเหตุจะให้เกิดผลข้างหน้า หรือตลอดชีวิตของเรา ถ้าศึกษาต่อไปจะพบว่า ไม่พ้นกรรม คือต้องเป็นผลของกรรม ในขณะแรกที่เกิด ปฏิสนธิจิต ภาษาบาลีคำว่า “เกิด” หมายความถึงสืบต่อจากชาติก่อน ใช้คำว่า “ปฏิสนธิ” จิตในขณะที่เกิด เกิดพร้อมกับเจตสิก และก็พร้อมกับกัมมชรูป คือรูปที่เกิดเพราะกรรม ทำให้แต่ละคนต่างกันไปตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด และเวลาที่จิตเกิดขณะแรก นี่เรายังไม่ถึงแก่ เจ็บ ตาย เพียงแต่เกิดมาก่อน ย้อนกลับไปถึงตอนที่เกิด เพราะว่าทุกคนก็ได้เกิดมาแล้ว ตอนที่เกิดก็คือรูปธรรมกับนามธรรม ตอนนี้ก็ทราบแล้วว่า จิต เจตสิก รูปนั่นเองเกิด แต่จิต และเจตสิกที่เกิดก็เป็นจิตประเภทที่เป็นผลของกรรม เพราะขณะเกิดไม่ได้ทำกรรมอะไรเลย แต่กรรมใดๆ ที่ทำไว้ก็สะสมสืบต่อเป็นปัจจัยทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดในขณะแรกเป็นผลของกรรม และต่อไปอีก แต่ให้ทราบว่า จิต เจตสิก รูปเกิด จิต เจตสิก รูปแก่ไหมคะ แล้วก็ตายไหม ก็คือไม่มีอะไรจะพ้นไปจากจิต เจตสิก รูป ซึ่งในภาษาบาลีใช้อีกคำหนึ่ง นอกจากคำว่า “ธรรม” และยังมีคำว่า “ปรมัตถธรรม” หมายความถึงธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ก็ทรงตรัสรู้ความจริงของธรรม ซึ่งทรงแสดงว่า เป็นปรมัตถธรรม เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมให้เป็นอย่างอื่นได้ เช่น เวลาที่โกรธเกิดขึ้น โกรธเกิดแล้ว ลักษณะของโกรธ ขุ่นเคือง หยาบ กระด้าง ไม่พอใจ ขณะนั้นจะเปลี่ยนโกรธให้เป็นอย่างอื่นได้ไหมคะ นี่คือปรมัตถธรรม เสียงไม่ใช่กลิ่น เปลี่ยนกลิ่นให้เป็นเสียงไม่ได้ เปลี่ยนเสียงให้เป็นกลิ่นไม่ได้

    นี่คือลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด เป็นปรมัตถธรรม

    วันนี้คงยังไม่ต้องพูดถึงภาษาบาลีโดยละเอียดที่จะแยกเป็นศัพท์ แต่ถ้าสนใจต่อไป ก็สามารถอธิบายได้ว่า คำนั้นหมายความว่าอย่างไร และสำหรับธรรม มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้ ก็เป็น “อภิธรรม” ด้วย

    เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกจึงมี ๓ ปิฎก พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

    ในเรื่องของพระวินัยปิฎกก็เป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติส่วนใหญ่ของพระภิกษุ แต่ก็มีข้อความอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเรื่องความประพฤติทางกายวาจาของพระภิกษุเท่านั้น

    สำหรับพระสุตตันตปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ในพระสูตรก็เป็นเรื่องของธรรมที่เป็นพระอภิธรรม เพราะว่าทรงแสดงธรรม ไม่ได้แสดงอย่างอื่นเลย แสดงธรรมที่ทรงตรัสรู้ ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้น ในพระสูตรก็จะมีธรรมซึ่งเกี่ยวกับบุคคล และสถานที่ต่างๆ ด้วย

    แต่สำหรับพระอภิธรรมปิฎกก็จะเกี่ยวกับปรมัตถธรรมล้วนๆ แต่ก็มีคัมภีร์ที่เป็นปุคคลบัญญัติ แต่คัมภีร์นั้นก็คือว่า ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป คนก็ไม่มี สัตว์ก็ไม่มี พรหมก็ไม่มี เทพก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น จึงสมมติปรมัตถธรรมซึ่งประกอบด้วยคุณธรรมต่างๆ ที่เกิดกำเนิดต่างๆ เป็นสัตว์บุคคลต่างๆ

    เพราะฉะนั้น คงได้เข้าใจพอสมควร ความหมายที่สืบเนื่องกันของพระไตรปิฎก ธรรม และอภิธรรม นามธรรม และรูปธรรม

    ก็คงตอบสั้นๆ ว่า แก่ก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป ตายก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป ขณะนี้มีอะไรพ้นจากจิต เจตสิก รูปบ้างไหมคะ ที่เป็นปรมัตถธรรมหรือสิ่งที่มีจริงๆ ต่อไปนี้ก็คงไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหน ใช่ไหมคะ เดี๋ยวนี้ก็เป็นธรรม จะตื่น จะหลับก็เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์เผชิญว่า ประโยชน์ของการศึกษาธรรมเพื่ออะไรคะ

    อ.ประเชิญ สำหรับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นการตรัสรู้ความจริงทั้งหมด ดังนั้นผู้ต้องการรู้ความจริงก็ต้องเรียนธรรม ลำดับแรกคือเพื่อรู้ความจริง แต่ต้องค่อยๆ รู้ตามลำดับไปตามระดับขั้นของปัญญา เพื่อรู้ความจริงที่เป็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นความจริงอันประเสริฐที่สูงสุด จึงทำให้พระองค์ได้เป็นพระอริยบุคคล รู้ความจริงที่ประเสริฐ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด ก็จะค่อยๆ เรียนรู้พระธรรม คำสอนทั้งหมด ก็จะค่อยๆ รู้ความจริงที่ทรงแสดงไว้ ซึ่งก็รู้ไม่เท่ากับที่พระองค์ทรงแสดงไว้ทั้งหมด แต่ก็ค่อยๆ รู้ตามระดับของสติปัญญาเท่าที่จะรับได้ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วว่า ธรรมก็ดี สัจธรรมก็ดี ปรมัตถธรรมก็ดี อภิธรรมก็ดี เป็นความจริงที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ทั้งหมด ที่เรายึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของ เป็นญาติ เป็นพี่น้องต่างๆ นี่คือธรรม สิ่งที่มีจริงที่ทรงแสดงไว้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ นี่คือว่าโดยปรมัตถธรรม แต่เราก็สำคัญผิดในสิ่งเหล่านี้ว่า เป็นเรา ตาของเรา เห็นก็เราเห็น ได้ยินก็เราได้ยิน แต่พระองค์ทรงแสดงว่า เห็นเป็นจิต ได้ยินเป็นจิต สิ่งที่ถูกตาเห็นก็คือรูป นี่คือสัจธรรม

    การศึกษานั้นก็จะค่อยๆ เข้าใจในของจริงที่ทรงแสดงไว้ตรงนี้ ซึ่งความเข้าใจก็คือปัญญา ความรู้ซึ่งก็เป็นไปตามลำดับขั้น ประโยชน์ในเบื้องต้นคือทำให้เข้าใจความจริงนั่นเอง

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า การศึกษาธรรมโดยไม่ต้องทำสิ่งใดให้ผิดปกติขึ้นมา ไม่ต้องปลีกตัว หรือหลีกเร้นจากหน้าที่การงาน

    ท่านอาจารย์ ศึกษาธรรมก็คือเข้าใจธรรม คงไม่ต้องผิดปกติ ใช่ไหมคะ ขณะนี้ไม่ได้ผิดปกติอะไรเลย เวลาทำงานอาจจะสงสัยว่าเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าทราบว่า เมื่อเกิดมาแล้ว ขณะแรกที่เกิด ขอกล่าวถึงตั้งแต่ขณะแรกเลย ขณะที่เกิดเห็นอะไรหรือเปล่า มีอะไรปรากฏ โลกนี้ปรากฏหรือยัง ทันทีที่เกิด โลกไม่ได้ปรากฏเลย เพราะขณะนั้นตาก็ยังไม่มี อยู่ในครรภ์ แต่ว่ามีจิต เจตสิก รูปเกิดแล้ว แล้วเมื่อเกิดแล้ว ธรรมใดที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดแล้วดับทันที เพราะฉะนั้น เมื่อจิตขณะแรกดับ กรรมยังทำให้จิตเกิดสืบต่อจากขณะแรก แต่ทำกิจต่างกัน เพราะว่าจิตทุกขณะ หรือทุกประเภทต้องมีกิจการงาน สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม จิต เจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วก็ดับไป ทุกคนมีจิตขณะแรกขณะเดียว คือ ปฏิสนธิจิต เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว กรรมก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทำหน้าที่ภวังค์ ที่ใช้คำว่า “ภวังค์” ก็คือดำรงรักษาภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ทำให้สิ้นชีวิต ถ้าเพียงเกิดมาแล้วตายทันที จะได้รับผลของกรรมอย่างไร ยังไม่ทันเห็น ยังไม่ทันได้ยิน ยังไม่ทันได้กลิ่น ยังไม่ทันรู้เรื่องรู้ราวอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น กรรมที่ทำแล้วก็จะทำให้จิตเกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตายต่างๆ กัน เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ ยังตายไม่ได้สักคน เพราะยังไม่ถึงแก่กรรม หรือจะยังวาระการเกิดขึ้นของจุติจิต คือจิตขณะสุดท้ายซึ่งทำกิจเคลื่อนพ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะกลับมาอีกไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นธรรมทั้งหมดเลยเมื่อศึกษาธรรมแล้ว ไม่ว่าจะทำหน้าที่การงานใดๆ ก็ต้องเห็น ได้ยิน คิดนึก เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูปทั้งหมดในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นไปตามการสะสม ซึ่งทำให้แต่ละคนต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เกิด ไม่เห็น โลกนี้ไม่ปรากฏ ขณะที่เป็นภวังค์ดำรงภพชาติก็คือขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เช่นขณะที่นอนหลับสนิท จะรู้ลักษณะของภวังค์ก็คือตอนที่นอนหลับสนิท ไม่ฝัน แต่ขณะนั้นก็ไม่ตาย เพราะยังมีจิตเกิดดับสืบต่อ แต่เมื่อจิตนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน จิตนั้นก็ทำหน้าที่ภวังคจิต ดำรงภพชาติจนกว่าจะตื่น ขณะตื่น เห็น เป็นผลของกรรม ขณะได้ยินก็เป็นผลของกรรม เพราะว่าแต่ละคนเห็นไม่เหมือนกัน ได้ยินไม่เหมือนกัน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไม่เหมือนกัน เป็นพี่น้องครอบครัวเดียวกัน คนหนึ่งก็อาจจะป่วยไข้ เป็นโรคร้ายแรง แต่อีกคนหนึ่งก็แข็งแรง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ทางตาของแต่ละคนจะเห็นอะไร ทางหูของแต่ละคนจะได้ยินอะไร ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะรู้อารมณ์อะไร เพราะเหตุว่าทางพระพุทธศาสนาทรงแสดงเหตุ และผลไว้ชัดเจน ไม่คลุมเครือเลย เวลาพูดถึงกรรม และผลของกรรมก็แสดงโดยประเภทของจิตว่า จิตชนิดใดเป็นผลของกรรมในขณะใด เช่นตอนเกิดเป็นผลของกรรม จำแนกให้แต่ละคนต่างกัน และเวลาเกิด จิตขณะแรกที่เกิดมีรูปที่เกิดจากกรรมเกิดด้วย ขณะนี้เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม คือ กรรมที่ไม่ดี รูปนั้นก็จะมีธาตุไฟที่ทำให้เจริญเติบโตเป็นรูปร่างของสัตว์ต่างๆ แม้แต่สัตว์ก็ยังมีลักษณะที่ต่างกันไปตามกรรม บางประเภทก็มีปีก บางประเภทก็มีขามากมาย แต่ถ้าเป็นมนุษย์ก็อีกอย่างหนึ่ง คือไม่ได้เป็นผลของอกุศลกรรม แต่เป็นผลของกุศล แม้กระนั้นกุศลกรรมที่แต่ละบุคคลได้กระทำมาก็ยังจำแนกให้ต่างกัน ตั้งแต่ขณะที่ปฏิสนธิ ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากทีเดียว ที่กล่าวไว้ชัดเจนว่า ขณะไหนเป็นผลของกรรมบ้าง ขณะไหนไม่ใช่ผลของกรรม เช่นในขณะนี้ทุกคนก็ทราบได้ว่า เกิดขณะแรกเป็นผลของกรรม ภวังคจิตสืบต่อเป็นผลของกรรม แต่ถ้ามีแต่ปฏิสนธิ คือเกิดแล้วก็เป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ กรรมทำหน้าที่อะไรที่จะให้ผลหรือเปล่า เกิดมาก็หลับสนิท ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไรไปตลอด ก็เท่ากับว่าไม่ได้รับผลของกรรมเลย แต่กรรมยังทำให้มีตา มีหู มีจมูก มีกาย เพื่อให้จิตเกิดขึ้นเห็น ขณะนี้ที่เห็นเป็นผลของกรรม เพราะบางครั้งจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ บางครั้งก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แล้วก็มีหู อาจจะไม่รู้ว่า กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดโสตปสาทเพื่ออะไร เป็นทางรับผลของกรรม


    หมายเลข 1567
    29 ก.ค. 2567