ชื่อ - กรรม - สภาพธรรม - การบรรลุธรรม
ท่านอาจารย์ แต่กรรมยังทำให้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายเพื่อให้จิตเกิดขึ้นเห็น ขณะนี้ที่เห็นเป็นผลของกรรม เพราะบางครั้งจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ บางครั้งก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แล้วก็มีหู อาจจะไม่รู้ว่า กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดโสตปสาทเพื่ออะไร เป็นทางรับผลของกรรม เพราะทุกคนก็มีหูเหมือนกัน แต่เสียงที่จะมากระทบหรือจะได้ยินก็ต่างกัน นอกจากนั้นก็มีจมูก มีลิ้น มีกาย กายปสาทซึมซาบทั่วตัวที่จะกระทบกับสิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ทำให้เกิดเจ็บป่วย หรือทำให้เกิดสุขสบาย นี่ก็เป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้น ก็เป็นความชัดเจนที่จะรู้ว่า คือจิต และเจตสิกนั่นเองที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ทำงานจะไม่พ้นจากผลของกรรม ใช่ไหมคะ มีเห็น มีได้ยิน ที่ทำงานบางแห่งก็คงสบาย แต่ที่ทำงานบางแห่งก็ลำบาก กลับไปถึงบ้านก็ยังต่างกันอีก แต่ก็เหมือนกันคือเห็น แต่สิ่งที่เห็นนั้นต่างกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรมแล้วประโยชน์อะไร ก็คือเราจะเข้าใจธรรมแล้วจะเข้าใจ และเห็นใจคนอื่นว่า แท้ที่จริงเราไม่ต้องเรียกชื่อธรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น ถ้าเป็นธรรมฝ่ายดีก็เป็นกุศลธรรม ถ้าเป็นธรรมฝ่ายไม่ดี ก็เป็นอกุศลธรรม เอาชื่อออกหมด ไม่มีใครทำ แต่เพื่อจะให้สะดวกที่จะให้เข้าใจว่า หมายถึงใคร อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเป็นผู้สร้างพระวิหารเชตวัน ถ้าเราไม่เรียกชื่อท่าน เราจะพูดอย่างไรให้เข้าใจว่า หมายถึงกุศลจิตประเภทไหน อย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร และได้กระทำกุศลใดๆ บ้าง จึงมีชื่อสำหรับเรียกสภาพธรรมทุกอย่าง แต่เราไม่ควรติดแต่เพียงชื่อ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงด้วยว่า ชื่อนั้นหมายความถึงสภาพธรรมอะไร อย่างคำว่า “จิต” จิตตะ หรือจิตตัง ในภาษาบาลี หมายความถึงสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏหรืออารมณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตทั้งหมดเป็นเจตสิกทั้งหมด ก็เป็นแยกกันของจิต เจตสิก
จิตเกิดดับไม่หยุดเลยตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เจตสิกที่เกิดกับจิต บางครั้งก็เป็นเจตสิกที่ดี เป็นกุศลเจตสิก และบางครั้งก็เป็นเจตสิกที่ไม่ดี อย่างโกรธ เป็นเจตสิกที่ไม่ดี อิสสา ริษยาเป็นเจตสิกที่ไม่ดี
จริงๆ แล้วถ้าศึกษาธรรม ก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม เป็นกุศลจิต เป็นอกุศลจิต เป็นกุศลเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิกต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ก็จะเข้าใจ และเห็นใจ เพราะแต่ละบุคคลจะเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนเป็นใคร ไม่มีใครสามารถย้อนไปรู้ได้ ถ้ายังไม่มีปัญญาระดับที่สามารถระลึกชาติได้ แต่ต้องมีเหตุที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้เฉพาะในชาตินี้ และต่อไปเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่มีใครสามารถเลือกกรรมได้ว่า จะให้กรรมไหนให้ผล เช่นเดียวกับชาตินี้ที่เราเกิดมาเป็นคนนี้ เราก็ไม่ได้เลือกว่า จะให้กรรมนั้นให้ผลทำให้เราเกิดมาเป็นคนนี้ แต่ทุกอย่างแล้วแต่เหตุปัจจัย ทุกคนทำกรรมไว้มากในชาตินี้ ในชาติก่อนนับไม่ถ้วน แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ทรงแสดงอดีตกรรมของพระองค์
เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็มีกรรมที่ได้ทำแล้ว ที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็แล้วแต่ว่าจะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ สุข ก็แล้วแต่กรรมว่า เป็นวาระของกรรมใด ถึงกาลที่จะเกิดจึงเกิดได้ เช่น ในขณะนี้ถึงเวลาที่เห็นจะเกิด เห็นก็เกิด ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่เห็นตรงนี้จะเกิด อย่างเมื่อวานนี้ เห็นตรงนี้ก็เกิดไม่ได้ ใช่ไหมคะ เห็นสิ่งนี้ตรงนี้ก็มีไม่ได้ แต่ที่กำลังเห็นสิ่งนี้ขณะนี้ เพราะเหตุว่าถึงเวลาที่กรรมจะทำให้เห็นสิ่งนี้ขณะนี้ ต่อไปกรรมก็ทำให้เห็นสิ่งอื่น ที่บ้าน หรือที่ถนน
เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม สำหรับพุทธบริษัทก็จะเป็นผู้มั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะมีกุศลจิตเกิดเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แต่ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรมอย่างนี้ก็จะมองไม่เห็นเลยว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีใครจะสามารถบังคับบัญชาธรรมได้เลย
เพราะฉะนั้น ผลก็คือว่าทำให้รู้จักตัวเอง เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว รู้จักคนอื่นไหมคะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจของเรากับความโกรธ ความขุ่นเคืองใจของคนอื่นเหมือนกันหรือต่างกัน แม้แต่สัตว์ แมว นก มีความกลัว ลักษณะของความกลัวของสัตว์กับลักษณะของความกลัวของคนเหมือนกันหรือต่างกัน เพราะเป็นเพียงความกลัว เหมือนจิตเห็น จะเห็นที่นี่ จะเห็นบนฟ้า จะเห็นใต้น้ำ ไม่เอารูปร่างเข้ามาเกี่ยวเลย เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงนามธรรมก็คือพูดถึงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ไม่มีรูปเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เพราะฉะนั้น เพียงเห็น ถ้าไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐานเลย เห็นก็คือเห็น ไม่ว่าจะเห็นที่ไหน สุขก็คือสุข ทุกข์ก็คือทุกข์ ใครจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ มากเท่าไรก็แล้วแต่กรรมที่ทำมา
เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นผู้เข้าใจชีวิตขึ้น แล้วรู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น พร้อมกันนั้นก็เห็นว่า กุศลดีกว่าอกุศล ก็จะช่วยเหลือบุคคลอื่น และเจริญกุศลมากขึ้น
นี่ก็จะเป็นผลที่ค่อยๆ เกิดตามกำลังของสติปัญญาที่เข้าใจธรรม และรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ตามคำถามที่ถามตอนต้นว่า ที่ท่านอุปติสสปริพาชกได้บรรลุธรรมตอนได้ฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ จะถามว่า เพราะเหตุใด ขอให้ตอบตามหลักของพระอภิธรรม ซึ่งท่านอาจารย์ได้พูดถึงเรื่องจิต เจตสิก รูป การบรรลุของท่านอุปติสสปริพาชก ท่านฟังธรรมแล้วบรรลุโดยฉับพลันโดยจิตดวงไหนเกิดขึ้นทำงาน เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต หรืออะไรที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง แล้วมีการทำงาน จิตดวงไหนเกิดขึ้นทำงาน
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงบรรลุธรรมต้องเข้าใจว่า อะไรบรรลุ เมื่อกี้นี้ไม่มีคน ไม่มีสัตว์เลย มีแต่สภาพธรรม สภาพธรรมก็มีตั้งหลายอย่าง ความโกรธบรรลุธรรมไม่ได้ ความโลภก็บรรลุธรรมไม่ได้ ความเมตตาจะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหมคะ ไม่ได้
ได้ยินคำว่า “สติ” บ่อยๆ สติก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้แจ้งธรรมได้ ต้องเป็นปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ คือในธรรมตามความเป็นจริงของธรรมนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงปัญญา ก็เป็นอีกคำหนึ่ง ซึ่งภาษาไทยก็ใช้นี้ แต่เริ่มตั้งแต่โรงเรียน ครูก็จะรายงานว่า มีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก นี่เป็นความต่างกัน สิ่งที่เราเข้าใจว่า เป็นปัญญาในทางโลก ที่เราเข้าใจว่า สามารถเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ได้ สามารถคิดเรื่องยารักษาโรค สามารถสร้างสิ่งที่วิจิตรต่างๆ ถ้าขณะนั้นไม่รู้ความจริงที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เราขอยืมคำมาใช้ แต่เราต้องทราบว่า ปัญญาเจตสิกเป็นธรรมที่สามารถเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งการเกิดดับ ท่านพระสารีบุตรต้องมีปัญญาที่เข้าใจคำว่า “ธรรม” ต้องมีปัญญาในขณะที่ฟัง รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างกัน และสามารถประจักษ์การดับไป
เพราะฉะนั้น เมื่อสามารถการเกิดดับของสภาพธรรมก็คลายการยึดถือว่า เป็นเรา เพราะเป็นธรรมที่เกิดดับ เมื่อคลายความยึดมั่นในสิ่งที่เคยเป็นเราทั้งหมดหรือสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมทั้งหมด เห็นโทษภัยว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดดับ จึงน้อมไปสู่การมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ ตราบใดที่เรายังพอใจในโลก คือในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความเป็นเรา เมื่อนั้นก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ ๓ คือ นิพพาน ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน โดยวิธีใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถดับกิเลสได้
เพราะฉะนั้น การเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเป็นอัครสาวกของท่านพระสารีบุตร ก็คือปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมว่า พระอรหันต์อื่น นอกจากท่านพระสารีบุตรก็ไม่ได้เป็นเอตัคคะ ไม่ได้เป็นสาวกผู้เลิศทางปัญญาอย่างท่านพระสารีบุตร
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นระดับขั้นของปัญญาต่างกัน ตั้งแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก พระอัครสาวก และพระอรหันต์อื่นๆ ด้วย แต่ทั้งหมดต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องเป็นปัญญาที่ดับกิเลส เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์
ขณะนี้เองถ้าอบรมเจริญปัญญาเท่าท่านพระสารีบุตร หรือจะน้อยกว่าก็ได้ แต่สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมในขณะนี้ ก็สามารถจะประจักษ์ได้เพราะเป็นความจริง
ขณะนี้ ความจริงคือสภาพธรรมเกิดแล้วดับ พอจะเชื่อหรือยังว่า เป็นอย่างนี้ หรือเป็นแต่เพียงแนวทางที่เริ่มเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างไม่เที่ยง เราพูดกันบ่อยๆ แต่พูดระยะไกล เกิดมาแล้วแก่ แล้วเจ็บ แล้วก็ตาย ก็บอกว่าไม่เที่ยง วันนี้เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่เที่ยง วันนี้แข็งแรงดี พรุ่งนี้ป่วยไข้ เป็นโรคร้ายแรงก็ไม่เที่ยง เราเข้าใจความไม่เที่ยงในระยะที่ยาวมาก แต่ขณะนี้เอง ไม่นับเป็นวินาทีเลย เพราะเร็วกว่านั้นมาก ที่ทรงแสดงไว้ก็คือว่า ทรงแสดงอายุของรูปๆ หนึ่ง ขอให้คิดถึงที่โต๊ะ หรือที่หนึ่งที่ใดมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ละเอียดยิบ พร้อมจะแตกทำลายเมื่อไรก็ได้
เพราะฉะนั้น ในกลุ่มเล็กที่สุด กลาปหนึ่งที่เกิดมา จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ขอให้คิดดูว่า ขณะที่กำลังเห็นไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิด เพราะถึงไม่เห็น ก็คิดได้
เพราะฉะนั้น ความคิดอาศัยการเห็นแล้วคิดก็มี อาศัยการได้ยินแล้วคิดก็มี หรือไม่อาศัยการเห็น การได้ยินเลย แต่คิด เช่นในขณะที่ฝันก็คิด
เพราะฉะนั้น ทรงแสดงไว้ว่า จิตที่เห็นกับจิตที่ได้ยินในขณะนี้ ซึ่งดูเสมือนว่าพร้อมกัน ไม่อะไรที่จะเห็นว่า แยกขาดจากกัน ตอนไหนได้เลย แต่ความจริงแล้วจิตที่เกิดคั่นระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน เกิน ๑๗ ขณะ
เพราะฉะนั้น รูปๆ หนึ่งหรือกลาปหนึ่งที่มีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ เกิดแล้วดับ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปจะดับเร็วสักแค่ไหน เร็วเกินกว่านักวิทยาศาสตร์ใดๆ จะสามารถคิดได้ว่า ในขณะที่เหมือนเห็น และได้ยินพร้อมกัน รูปดับไปแล้วทั้งๆ ที่แยกกันไม่ออก
นี่คือพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าศึกษาโดยละเอียดแล้วก็อบรมเจริญปัญญามาจริงๆ ก็จะต้องประจักษ์อย่างนี้ เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ ความจริงที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด เพื่อให้พุทธบริษัทได้ศึกษา และได้อบรมเจริญปัญญาที่สามารถประจักษ์ความจริงนี้ได้
ผู้ฟัง อยากให้ท่านอาจารย์พูดถึงความหมายของ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน
อ.สุภีร์ การเข้าใจคำต่างๆ ที่จะแตกออกไป ก็ต้องเข้าใจความหมายของสิ่งนั้นๆ ก่อน ซึ่งทุกอย่างเราได้กล่าวไปแล้วว่า ทุกอย่างในขณะไหนก็ตามก็ไม่พ้นธรรม ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงสติปัฏฐาน ก็ต้องไม่พ้นธรรมด้วยเช่นกัน เพราะว่าขณะนี้ทุกๆ ท่านนั่งอยู่ก็คือธรรมนั่นเอง ก็คือจิต เจตสิก รูปที่มีเหตุปัจจัยแล้วก็เกิดขึ้น ที่บอกว่า มีเหตุปัจจัยแล้วเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเหล่านี้เป็นอนัตตา คือไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ว่าให้อะไรเกิดขึ้น หรือจะให้เกิดขึ้นอย่างไร ท่านลองคิดดูว่า อี ๑ นาทีข้างหน้า จะเห็น จะได้ยินอะไร ซึ่งอีก ๑ นาทีข้างหน้า สภาพธรรมเหล่านั้นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย เราไม่สามารถบังคับได้เลยว่า จะให้เห็นสิ่งนี้ จะให้ได้ยินสิ่งนี้ สิ่งเหล่านั้นมีเหตุก็เกิด ทุกๆ ขณะในขณะนี้ หรือขณะไหน ขณะต่อไปก็ตาม วันนี้ พรุ่งนี้ เราอยู่ที่นี่ อยู่ที่บ้าน อยู่บนดวงจันทร์ หรือไม่ว่าอยู่ที่ไหนๆ ทุกๆ อย่างเกิดดับ
ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงการอบรมเจริญสติปัฏฐาน การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเกิดขึ้นก็ต้องมาจากเหตุ ก็เหมือนสิ่งอื่นๆ เหมือนเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และคิดนึกขณะนี้ก็ตามก็ต้องมาจากเหตุ สติปัฏฐานก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ก็มาจากเหตุด้วยเช่นกัน
ฉะนั้น การจะเข้าใจการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ความเข้าใจขั้นแรกๆ ของความหมายสติปัฏฐานคืออะไร จริงๆ แล้วการอบรมเจริญสติปัฏฐานกับคำที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า เป็นมรรค จะเคยได้ยินว่า มรรคสัจจะ หรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจะ นี้เป็นเรื่องเดียวกัน ก็คือการอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ เจริญขึ้น เพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เหมือนอย่างท่านผู้ฟังถามว่า ทำไมท่านพระสารีบุตรฟังธรรมแค่นิดเดียวว่า ธรรมเหล่าใดเกิดจากเหตุ ทุกท่านที่นั่งอยู่เป็นธรรมใช่ไหม ธรรมเหล่าใดเกิดจากเหตุ ถ้าสามารถรู้ความจริงในขณะนี้ ก็สามารถบรรลุได้เช่นเดียวกับท่านพระสารีบุตร ถ้ามีปัญญาระดับนั้น เพราะว่าทุกๆ ขณะ ขณะนี้ก็เป็นธรรม ขณะต่อๆ ไปเป็นธรรม แต่จะมีธรรมประการหนึ่ง ก็คือปัญญาที่รู้ความจริง ในเมื่อปัญญายังไม่เกิดในขณะนี้ หรือเกิดแต่ไม่มีกำลังพอที่จะรู้ความจริงได้ ก็จะยังไม่สามารถตรัสรู้ได้ในขณะนี้
ฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือการเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ การอบรมเจริญทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจก็ดี เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นการอบรมเจริญปัญญาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้
ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุขสงบ เราจะต้องรู้จักธรรมระดับไหน
ท่านอาจารย์ ถ้ามีเรา ไม่สงบ ไม่สุข เพราะเหตุว่ามีความกังวลในเรื่องของเรา แต่ถ้าเข้าใจว่า เป็นธรรมซึ่งเลือกไม่ได้ แต่ว่ามีปัจจัยก็เกิดขึ้น เราก็สามารถอดทน และรับทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ถ้ามีสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นกับเรา จะเป็นการสูญเสียญาติพี่น้อง ทรัพย์สมบัติ หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะไม่มีเหตุที่ทำมาแล้ว สิ่งนี้ก็จะเกิดกับเราไม่ได้ เกิดกับใครก็ไม่ได้
เวลาที่เราอ่านหนังสือพิมพ์ ก็จะเห็นความทุกข์ต่างๆ ของหลายบุคคลแต่ละชีวิต ถ้าเป็นเรา ลองคิดอย่างนั้น ก็ไม่ต่างกันเลยกับเขาซึ่งกำลังเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เวลาที่เราเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วเข้าใจว่า ทำไมจึงเกิดอย่างนี้ กับคนนั้นคนนี้ ที่นั่น ที่นี่ ถ้าไม่มีเหตุให้เกิดอย่างนั้น ก็จะเกิดอย่างนั้นไม่ได้เลย เราไม่สามารถรู้ความวิจิตรของการให้ผลของกรรมได้เลย เวลาที่กรรมจะให้ผล ไม่สามารถทำได้เท่ากับกรรม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกรรมทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จิตของเราจะหวั่นไหวน้อยลง พร้อมกันนั้นสามารถช่วยคนอื่นได้อย่างไร เพื่อให้เขาสบายขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย เราก็จะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เราก็จะไม่คิดถึงตัวของเรามากอย่างที่เคย เพราะว่าที่ทุกคนเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่ามีเรา เป็นภาระหนัก แล้วก็จะคิดถึงแต่เรื่องของเราเป็นใหญ่ แต่ว่าถ้าวันหนึ่งๆ เรากลับไม่คิดถึงเรื่องของเรา แต่คิดถึงที่ให้คนอื่นมีความสุข ขณะนั้นเราก็ลืมตัวเราที่กังวล แล้วมีทางใดที่จะช่วยใครได้ก็ช่วย พร้อมกันนั้นสิ่งใดที่เกิดกับเราที่ไม่น่าพอใจ เราก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่เกิดมีเหตุ และจะไม่เป็นอย่างนั้นตลอดไป จะยั่งยืนตลอดไปไม่ได้เลย ทุกชีวิตต้องประสบกับขึ้นๆ ลงๆ ก็มาจากเหตุ คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น ก่อนจะฟังธรรม ศึกษาธรรม ก็มักจะคิดว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา อย่างที่ชอบพูดกันว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้วก็ตอบได้เหมือนกันหมดว่า เพราะต้องเป็นเรา จะเป็นคนอื่นไม่ได้ ในเมื่อเป็นกรรมที่ทำมา เราจะให้กรรมของเราที่ทำมาไปเกิดผลกับคนอื่นก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับแต่ละคน ก็เพราะเหตุที่ได้กระทำมา
พอจะเบาสบายขึ้นบ้างไหมคะ ถ้าคิดถึงตัวเองน้อยลง จนกระทั่งเมื่อเป็นพระโสดาบันเมื่อไร ท่านจะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ แล้วหมดการยึดถือสภาพธรรม และความเห็นผิดใดๆ ทั้งสิ้น
ผู้ฟัง แล้วการปฏิบัติธรรมให้ถึงการบรรลุถึงโสดาบัน ไม่ทราบว่าต้องปฏิบัติอย่างไรค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวตนใช่ไหมคะ เป็นจิต เจตสิก รูป ใช่ไหมคะ เท่าที่ฟัง เป็นธรรม ก็ต้องอบรมเจริญปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง สำเร็จจากการฟัง สุตมยปัญญา ขณะที่ฟังเข้าใจเพิ่มขึ้น นี่คือประโยชน์ของการฟัง
เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่จะศึกษาอะไร ได้ยินอะไร ฟังอะไร ประโยชน์ก็คือเข้าใจสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น แล้วเรื่องของธรรม ไม่ใช่จะรู้ได้ในวันสองวัน อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมียิ่งด้วยพระปัญญา ๔ อสงไขยแสนกัป ถ้ายิ่งด้วยศรัทธา ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้ายิ่งด้วยวิริยะ ๑๖ อสงไขยแสนกัป และถ้าอ่านประวัติของพุทธสาวก ท่านไม่ได้เกิดเพียงชาติเดียวที่จะได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว แต่ฟังแล้วอบรมเจริญปัญญา ความเข้าใจถูก จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม อย่างสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ถ้าปัญญาขั้นฟังไม่มี ปัญญาขั้นค่อยๆ เข้าใจขึ้นไม่มี ขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ ชั่วขณะที่ปรากฏ ทุกอย่างมีจริง เพียงชั่วขณะที่ปรากฏ เช่น เสียง มีจริง ชั่วขณะที่เสียงปรากฏ เดี๋ยวนี้เสียงที่ปรากฏเมื่อกี้นี้หายไปไหน ทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ไม่กลับมาอีกเลย ทุกๆ ขณะ
เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับด้วย ขณะนั้นก็จะค่อยๆ คลายเป็นเรา และปัญญาก็จะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นเราจะทำด้วยความเป็นตัวตน แต่ต้องเข้าใจถูกว่า เป็นธรรมยิ่งขึ้น