เห็นแค่ไหนจึงจะเป็นเห็นด้วยปัญญา


    ท่านอาจารย์ คำถามว่า เห็นแค่ไหนจึงเห็นด้วยปัญญา เพราะทางตาไม่ใช่เห็นแบบปกติที่เคยเห็นเป็นคนนั้นคนนี้ หรือแม้แต่ที่กาย กระทบสัมผัสเมื่อไร ก็แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว จะมี ๓ อย่างนี้ปรากฏทางกาย คำถามก็คือ เห็นอย่างนี้เป็นปัญญาหรือยัง หรือเป็นปัญญาหรือเปล่า ต่างกันตรงไหนระหว่างก่อนฟังพระธรรม สิ่งที่ปรากฏที่กายก็เหมือนเดิม แข็งก็คือแข็ง เย็นก็คือเย็น ร้อนก็คือร้อน ก็เหมือนเดิม และเวลาฟังแล้ว ขั้นฟังเข้าใจว่า กายที่ปรากฏต้องเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ขั้นเข้าใจรู้ว่า ไม่สมควรเห็นผิดยึดถือสิ่งที่เกิดดับว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นเรา นี่คือขั้นฟัง ขั้นนี้เป็นปัญญาที่เห็นหรือยัง

    ผู้ฟัง เป็นแล้ว เป็นขั้นเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญญาขั้นเข้าใจ แค่นี้ดับกิเลสได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ยังค่ะ

    ท่านอาจารย์ ใครจะไปนั่งสัมผัสกาย แล้วก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แค่นี้ดับกิเลสไม่ได้แน่นอน ต้องรู้ความต่างของปัญญาขั้นฟังเข้าใจ และขั้นตรึกนึกคิดไตร่ตรอง เพราะเหตุว่าใครจะยับยั้งความคิดได้ พอแข็งปรากฏนิดหนึ่ง ต่อด้วยอะไรคะ เมื่อกี้นี้

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนะคะ พอแข็งปรากฏก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา นี่คือคิด แต่เป็นเราคิด

    เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่า การตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ขั้นคิดหรือแค่คิด ใครจะคิดว่าพระองค์ทรงแสดงพระธรรมจากการตรึกตรอง ไตร่ตรอง ไม่ถูกต้องเลย แต่พระธรรมที่ทรงแสดงจากการประจักษ์แจ้งสภาพธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏทางกาย ขณะนี้ทุกคนมี บอกได้ใช่ไหมคะ ไม่บอกก็ได้ แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏที่กาย ถ้าจะถามว่า เย็นหรือร้อน ก็อาจจะตอบว่า เย็น หรือจะตอบว่าร้อน ถ้าจะถามว่า อ่อนหรือแข็ง ก็อาจจะตอบว่า อ่อนหรือแข็ง เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ความรู้แค่นี้จะดับกิเลสได้ไหม ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ว่า การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เป็นความเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ด้วยสติสัมปชัญญะที่ระลึกตรงลักษณะนั้น ไม่ใช่เพียงขั้นคิด แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งการเกิดดับ นี่คือปัญญา

    ที่ถามว่าเห็นกายในกายนั้นคืออย่างไร คือเริ่มเข้าใจถูกขั้นฟัง แล้วขั้นที่สติสัมปชัญญะระลึก แล้วยังต้องอบรมความรู้จนกว่าจะละคลายความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรม จนประจักษ์แจ้งการเกิดดับ จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย อริยสัจธรรม รู้ทุกสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ตามความเป็นจริง แต่ความห่างไกลของผู้เริ่มอบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นที่เป็นอริยสาวก อย่างท่านพระอัญญาโกณฑัญญะหรือพระอรหันต์ในสมัยโน้น จะเห็นได้ว่า ท่านอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง หรือขั้นคิด แต่ประจักษ์แจ้ง

    เพราะฉะนั้น ต้องมีปัญญาต่างระดับ ถ้าถามว่า เพียงเข้าใจว่ากาย อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน เท่านี้พอไหม ก็ต้องอบรมจนกว่าจะไม่มีความเป็นเรา ไม่ใช่เฉพาะกายอย่างเดียว ต้องทุกอย่างที่มีจริง ที่เคยไม่รู้ จะไปทำอย่างอื่นไหมคะ ทำอย่างอื่นจะรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง อย่างอื่นคือทำอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ มีเยอะค่ะ ฟังให้เข้าใจอย่างนี้อย่างเดียว แล้วค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย

    มหาภูตรูป และอุปาทายรูป

    ขอย้อนไปพูดถึงเรื่องมหาภูตรูปอีกครั้ง เพราะเคยได้ยินคำว่า “มหาภูตรูป” เป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะรูปทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้มี ๒๘ รูป ยังไม่ต้องจำจำนวนเลย เพียงแต่ให้ทราบว่า คิดว่ามีกี่รูปตามความคิด แต่ตามความเป็นจริงไม่เกิน ๒๘ รูปแน่นอน ใน ๒๘ รูปจะมีรูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธานของรูปอื่นๆ ๔ ชนิด จึงใช้คำว่า มหา ใหญ่ มหาภูตรูป ที่ปรากฏทั่วๆ ไป เรายังไม่คิดว่าจะรู้รูปไหนได้ แต่เพียงให้รู้ว่า บรรดารูปทั้งหมด รูปที่เป็นมหาภูตรูปมี ๔ และเราก็คุ้นเคยกับชื่อตั้งแต่เด็กเลย สำหรับผู้เคยไปวัดไปวา คนที่ไม่เคยฟังก็อาจจะไม่ค่อยได้ยิน เคยได้ยินคำว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ ธาตุ เคยได้ยินไหมคะ เราจะอาจจะคุ้นหูว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม แต่จริงๆ ก็ไม่ได้รู้หรอกว่า คืออะไร แต่เวลาศึกษาธรรมแล้ว เราจะพูดถึงสิ่งที่มีจริง แต่เราใช้คำ จำเป็นต้องใช้คำ มิฉะนั้นเราก็ไม่สามารถจะบ่งถึงลักษณะที่มีจริงๆ นั้นเราหมายถึงลักษณะไหน เพราะทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริง ในขณะนี้ทางตาก็จริง กำลังเห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ใครจะปฏิเสธไหมคะว่าไม่จริง ที่เห็นจริงหรือเปล่า จริง ปฏิเสธไม่ได้เลย ทางหู ได้ยินเสียง จริงไหมคะ ก็จริง เราก็เพียงเคยได้ยินธรรมว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็มาถึงรูปธรรมว่า รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป และที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คือคุ้นหูกับคำว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ว่าเข้าใจคำนี้แค่ไหน สิ่งที่มีจริงถ้าไม่เรียกชื่อเลยก็ได้ เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ แต่จำเป็นต้องใช้คำ ให้รู้ว่า ดินไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ลมก็ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่น้ำ ไฟก็ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่ลม จึงจำเป็นต้องใช้คำ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ใช้คำว่า “ดิน” หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ลักษณะที่แข็งทั้งหมด เราจะเรียกว่า โต๊ะ เก้าอี้ โทรทัศน์ หรือเรียกอะไรก็ตาม ถ้ากระทบสัมผัสเมื่อไร สิ่งที่ปรากฏคือลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง นี่ลักษณะหนึ่ง เป็นธาตุ ใช้คำว่า “ธาตุดิน” เราก็คงไม่ไปคิดถึงที่พื้นดินปลูกต้นไม้ แต่ทุกอย่างที่อ่อนหรือแข็ง เป็นธาตุดินทั้งหมด นี่ ๑ ธาตุ

    ธาตุไฟ คือลักษณะที่เย็นหรือร้อน อีก ๑ ธาตุ ธาตุลมคือลักษณะที่ตึงหรือไหว ก่อนจะไปถึงคำถามของคุณศีลกันต์ ก็ต้องทราบว่า ธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานมี ๔ ธาตุ ชื่อว่า มหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้ารู้จัก ๔ ธาตุ รูปอื่นทั้งหมดไม่ใช่มหาภูตรูป แต่เป็นรูปที่ต้องอาศัยเกิดกับมหาภูตรูป หมายความว่า ถ้าไม่มีรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป รูปอื่นทั้งหมดเกิดไม่ได้เลย หรือมีไม่ได้เลย ที่จะมีได้ต้องอาศัยมหาภูตรูป ๔

    เพราะฉะนั้น มหาภูตรูป ๔มีปรากฏทั่วไป ไม่ขาดเลย ดาวพระศุกร์มีมหาภูตรูปไหมคะ ใหญ่ เป็นประธาน ถ้าไม่มีมหาภูตรูป รูปอื่นๆ มีไม่ได้เลย ไม่ว่าจะในสวรรค์ หรือนรก หรืออะไรก็ตาม ถ้าพูดถึงรูปแล้วต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นมหาภูตรูป แต่ที่อื่นก็มี อย่างเสียง แข็งหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่แข็ง

    ท่านอาจารย์ แล้วร้อนหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ไม่ร้อน

    ท่านอาจารย์ เสียงมีจริงไหมคะ

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ มีจริง เสียงเป็นมหาภูตรูปหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะฉะนั้น เป็นอุปาทายรูป โดยศัพท์จะใช้ว่า อุปาทายรูป หรืออุปาทารูปก็ได้ ภาษาบาลีใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง บางแห่งจะใช้คำว่า อุปาทารูป บางแห่งจะใช้ว่า อุปาทายรูป แต่หมายความถึงรูปอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่มหาภูตรูป

    อันนี้ก็เข้าใจได้ว่า เสียงมี เป็นอุปาทายรูปหรือมหาภูตรูป อุปาทายรูป

    กลิ่นเป็นมหาภูตรูปหรืออุปาทายรูป เป็นอุปาทายรูป

    รู้ง่ายเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานที่มั่นคง เริ่มจากรูปมี ๒ อย่าง คือ มหาภูตรูปกับอุปาทายรูป เราก็จะรู้ได้ว่า มหาภูตรูปมี ๔ เท่านั้น คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นอกจากนั้นเช่น กลิ่น รส มี แต่ไม่ใช่มหาภูตรูป แยกจากมหาภูตรูปได้ไหมคะ อุปาทายรูปทั้งหมดจะไปเกิดเดี่ยวๆ ลอยๆ โดยไม่อาศัยมหาภูตรูปนั้นไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น อุปาทายรูปทั้งหมดปรากฏเมื่อไร ให้ทราบว่า ขณะนั้นต้องมีมหาภูตรูปด้วย

    เสียงเป็นมหาภูตรูปหรืออุปาทายรูป เป็นอุปาทายรูป เสียงไม่มีมหาภูตรูปเกิดร่วมด้วยได้ไหมคะ ไม่ได้เลย กลิ่น ไม่มีมหาภูตรูปเกิดร่วมด้วยได้ไหมคะ ไม่ได้ รส ไม่มีมหาภูตรูปเกิดร่วมด้วยได้ไหมคะ ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า รูปทั้งหมดไม่ใช่รูปประเภทเดียว หลากหลายไปหลายรูป แต่รูปที่ใหญ่เป็นประธานก็คือมหาภูตรูป ๔

    มหาภูตรูป ๔ มีใครมองเห็นบ้าง มองไม่เห็น ทำไมรู้ว่ามี

    ผู้ฟัง รู้สึกได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรคะ

    ผู้ฟัง เมื่อมากระทบ

    ท่านอาจารย์ เมื่อกระทบสัมผัสทางกาย เพราะฉะนั้น สภาพของรูปอีกรูปหนึ่ง คือพูดถึงสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่ใช่สภาพรู้ แล้วต้องรูปประเภทต่างๆ ถ้ามหาภูตรูปสามารถรู้ได้ทางกาย ก็ต่อเมื่อมีกายปสาทรูป คือ รูปอีกชนิดหนึ่ง เป็นรูปที่สามารถกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว เคยปวดท้องไหมคะ อยู่ข้างใน แต่เพราะมีมหาภูตรูปที่กระทบสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นซึ่งแข็ง หรือร้อน หรือเย็นมากๆ ก็ได้ ที่ทำให้มีความรู้สึกไม่สบายเกิดขึ้นในขณะนั้น โดยมีกายปสาทรูปอีกรูปหนึ่ง เราค่อยๆ เรียนเรื่องรูปที่มีที่ตัวเราให้เข้าใจว่า ขณะไหนเป็นรูปอะไร แต่ต้องไม่ลืมว่า ต้องเข้าใจมหาภูตรูปก่อน แล้วที่เหลือเป็นอุปาทายรูป

    ตา เป็นรูปหรือไม่ใช่รูป เป็นรูป เหมือนกับหูไหมคะ เป็นรูปแล้วเหมือนกันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เหมือน

    ท่านอาจารย์ เหมือนอย่างไรคะ เอาตาได้ยินเสียงได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่เป็นมหาภูตรูปเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องประกอบด้วยมหาภูตรูป จะขาดมหาภูตรูปไม่ได้ แต่จักขุปสาทสามารถกระทบสีสันวัณณะหรือนิภาธาตุ จะใช้คำไหนก็ได้ที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ลองคิดดู สามารถจะปรากฏได้เมื่อกระทบจักขุปสาทแค่นั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอุปาทายรูปหรือมหาภูตรูป เป็นรูปหรือเปล่า เป็น เป็นอุปาทายรูป

    เราก็เริ่มรู้จักแล้ว รู้จักทั้งมหาภูตรูปด้วย และอุปาทายรูปด้วย เท่าที่จะปรากฏในชีวิตประจำวัน

    กลิ่นเป็นมหาภูตรูปหรืออุปาทายรูป เป็นอุปาทายรูป ถ้าไม่มีฆานปสาท ภาษาบาลีใช้คำว่า ฆานปสาท ภาษาไทยก็คือรูปจมูก ใช้คำว่า จมูก ก็ได้ แต่หมายความถึงรูปที่สามารถกระทบกลิ่น รูปนี้กระทบสีสันวัณณะไม่ได้ กระทบเสียงไม่ได้ กระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไม่ได้ ต้องกระทบเฉพาะกลิ่น จึงใช้คำว่า ฆานปสาทรูป ถ้าไม่มีฆานปสาทรูปจะได้กลิ่นไหมคะ ไม่ได้เลย

    นี่คือการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วว่าเป็นเรา แต่ก็เป็นชั่วขณะ แต่ละขณะ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปแต่ละประเภทด้วย เช่น ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้กลิ่น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยินเสียง นี่หรือคือเรา แต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจการงานนั้นๆ แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็คือศึกษาสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจถูกต้องว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรมประเภทนั้นๆ จึงไม่ใช่เรา ถ้าไม่รู้อย่างนี้ยังคงเป็นเรา

    นี่คือประโยชน์ และความจำเป็นที่ต้องรู้แม้ในขั้นการฟัง ถ้าไม่มีการฟัง ทำอย่างไรๆ จะไปละการยึดถือนามรูปว่าเป็นเราไม่ได้เลย

    สำหรับปัญหาของคุณศีลกันต์ คิดถึงเรื่องหลับกับเรื่องตื่น ถ้าคุณศีลกันต์ไม่พูดถึงนามธรรม และรูปธรรม ทุกคนเคยรู้ลักษณะการเคลื่อนไหวที่กายบ้างไหม เวลากลืนอะไร

    ผู้ฟัง กลืนก็รู้ครับ

    ท่านอาจารย์ กลืนเป็นรูปหรือเป็นนาม ลักษณะนั้นไหวหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นลักษณะที่ไหว

    ท่านอาจารย์ แล้วคิดว่าไหวยากใช่ไหมคะ เมื่อกี้นี้

    ผู้ฟัง มันไหวภายนอก ที่กาย

    ท่านอาจารย์ เราไปติดที่คำ เรากำลังไปหาว่าตรงไหนเป็นไหวที่ปรากฏ แต่ถ้าไหวปรากฏแล้วไม่รู้ ก็เลยสงสัยในลักษณะนั้น แต่เวลารู้ลักษณะนั้นก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นกำลังมี และสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะนั้น แล้วไม่ต้องเรียกชื่อเลย ลักษณะนั้นก็เป็นอย่างนั้น ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยมากจะชินกับลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แต่พอตึงหรือไหว อย่างกับโลกนี้ไม่เคยปรากฏเลย ไหวไม่เคยปรากฏ ตึงไม่เคยปรากฏ แต่ความจริงลมหายใจก็ยังไหว และเราไม่เคยรู้เลยในขณะที่หายใจ

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่า ลมพัดแล้วผมไหว หรืออะไรไหว อย่างนี้คนละเรื่องใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ผมไหวขณะไหน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องพยายามไปคิดแล้วตอบ แต่เรื่องความจริงในขณะนั้น

    ผู้ฟัง อย่างกลืน ท่านอาจารย์บอกว่าเป็นลักษณะไหวใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ลักษณะไหวก็ต้องไหว จะเปลี่ยนไหวให้เป็นอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง ทีนี้เราเข้าใจว่า เกิดจากธาตุลม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เกิดจากธาตุลม ลักษณะไหวมีจริงๆ

    ผู้ฟัง มีจริงๆ แต่เป็นธาตุลม

    ท่านอาจารย์ เสียงไหวได้ไหม

    ผู้ฟัง น่าจะได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือเราคิดหมด แต่ลักษณะแท้ๆ ของรูปไหวต้องปรากฏทางกาย

    ผู้ฟัง เอาเรื่องกลืนก่อนนะคะ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วไม่อยากให้ยกตัวอย่างอะไรเลย นอกจากเมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดเมื่อไร รู้เมื่อนั้น ไม่มีทางที่จะรู้สิ่งกำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าเราไปคิดถึงสิ่งอื่น ในขณะที่สิ่งนั้นยังไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้ากำลังกลืนอยู่

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ตรงนั้น

    ผู้ฟัง รู้ตรงนั้นว่ากลืน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ รู้ลักษณะของรูปนั้น ลักษณะนั้นไม่ต้องเรียกชื่อเลย

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียกก็ได้ แต่เป็นลักษณะของกลืน

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่จะรู้ร้อนก็ได้ ขณะนั้นที่กลืนเย็นก็ได้

    ผู้ฟัง กำลังสงสัยว่า เป็นของมหาภูตรูป

    ท่านอาจารย์ เพราะคิด แต่ถ้าไม่คิด ลักษณะนั้นก็มี

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจก็คือลักษณะนั้นไม่ได้ปรากฏกับปัญญา

    ผู้ฟัง เพราะเราไปคิดว่า ตึงหรือไหวเป็นลักษณะ

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมนะคะ ว่า เรากำลังสงสัยตึงหรือไหว ในขณะที่ไหวไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงต้องสงสัยอยู่เรื่อยๆ เมื่อไรที่ไหวปรากฏ ลักษณะไหวนั้น เราไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย แต่ลักษณะนั้นก็ปรากฏแล้ว แต่มีชื่อ เราสงสัยคำ สงสัยชื่อ นิ่มๆ สงสัยไหมคะ เหนียวๆ เหนอะหนะ สงสัยไหมคะ สงสัยว่าเป็นรูปอะไร เห็นไหมคะ เรามาสงสัยที่ชื่อ

    ขั้นฟังเป็นขั้นหนึ่ง แต่ขั้นที่สภาพธรรมนั้นปรากฏเมื่อไร รู้เมื่อนั้น เป็นอีกขั้นหนึ่ง

    ผู้ฟัง ขณะนี้สงสัย เพราะเวลาธรรมปรากฏ เรายังไม่รู้ความจริง จึงทำให้สงสัยอยู่ตลอดเวลา ยังคิดว่าเป็นเราอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเรายังไม่รู้ความจริง แต่ในขั้นการศึกษาเราก็อยากจะทราบว่า ลักษณะปรากฏอย่างไร เรายังไม่รู้ก็จริง เรายังไม่รู้ลักษณะที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ วันหนึ่งๆ ต้องมีลื่นปรากฏใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง มีครับ การเคลื่อนไหว

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกชื่อ ลักษณะนั้นปรากฏให้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย

    ผู้ฟัง เอาขั้นนี้ไว้ก่อน

    ท่านอาจารย์ ยาวจนลื่น แต่ถ้าสั้นนิดๆ ลักษณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะเป็นเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซี่งไม่ต้องเจาะจงว่าจะไปรู้ลักษณะที่ไหว พอลื่น ไม่ได้อยู่กับที่เลย

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องคิดถึงคำ โดยที่ลักษณะนั้นไม่ได้ปรากฏ แล้วพอถึงหนักอีก ก็ไม่ต้องไปคิดถึงคำอีก ถ้าเราคิด คิดไม่จบ แต่เวลาสภาพธรรมนั้นปรากฏ ลักษณะนั้นปรากฏที่กาย ก็ไม่ต้องคิดนึกแล้ว ถ้าคิดนึก ขณะนั้นสภาพธรรมนั้นไม่ได้ปรากฏ เพราะกำลังคิดนึกถึงคำ

    ผู้ฟัง เรื่องเวทนา ก็จะสงสัยว่า ก็ปรากฏเหมือนเป็นเรารู้อยู่ตลอดเวลา ลักษณะอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ชื่อว่า รู้ทั่ว ไม่ใช่เฉพาะรูปทางกาย ที่กำลังเห็น กำลังคิดนึกทั้งหมดที่เคยเป็นเรา ต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง หนูสงสัยที่พี่เขาพูดถึง ฟังธรรมมาตั้งนาน เพิ่งเข้าใจเมื่อ ๕ – ๖ ปีที่แล้ว ถ้ามันไม่ปรากฏ เราก็ไม่สามารถไปรู้ได้ อย่างสภาพที่ไหว ในเมื่อไม่ปรากฏ ก็ไม่รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ก็ไม่ต้องไปสนใจ อะไรที่สามารถรู้ได้ อะไรที่สติเกิดได้ ก็คืออันนั้น ก็แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ต้องไปติดกับความคิดนั้น


    หมายเลข 1608
    29 ก.ค. 2567