สงสัยเป็นธรรมอย่างไร
ท่านอาจารย์ สงสัยมีจริงใช่ไหมคะ เวลาสงสัยเป็นธรรมชนิดหนึ่ง
ผู้ฟัง มีจริงครับ
ท่านอาจารย์ นั่นคือรู้ทั่ว ความสงสัยเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา นั่นคือรู้ทั่ว
ผู้ฟัง รู้ทั่ว
ท่านอาจารย์ เพราะรู้ในลักษณะที่สงสัยด้วย
ผู้ฟัง รู้ในลักษณะที่สงสัย
ท่านอาจารย์ ว่าเป็นสภาพธรรมที่สงสัย
ผู้ฟัง สงสัยก็เป็นธรรม นี่รู้ขั้นการฟัง ขั้นการศึกษา แล้วก็ลืม หลงลืมสติ อันนี้สรุปได้ไหมว่า สติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็หลงลืมอย่างนี้ไปตลอด ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ฟังธรรมมา ๒๐ ปี ไม่ลืมอะไรบ้าง ที่ได้ฟังมาทั้งหมด เช้า สาย บ่าย ค่ำ ไม่ลืมอะไรบ้าง ลืมหมด ใช่ไหมคะ ฟังอีกก็เข้าใจอีก ฟังอีกก็เข้าใจอีก แต่ไม่ได้หมายความว่า พอฟังเข้าใจแล้ว เราจำไปได้ตลอด วันหนึ่งไม่ได้คิดอะไรเลย มีแต่เรื่องธรรมที่ฟังมาทั้งหมด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญ เวลาเราฟังครั้งที่ ๒ ที่ ๓ จะรู้ได้ว่า ความเข้าใจมั่นคงขึ้น เพิ่มขึ้น ขั้นฟังก็ต้องอาศัยมั่นคงจนเป็นสัจญาณ มีความเข้าใจถูกในความจริงของสภาพธรรมนั้น
ผู้ฟัง ถ้าเป็นจริงๆ ทำไมสติปัฏฐานไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ขั้นเข้าใจจริงๆ สติสัมปชัญญะยังไม่เกิด แต่ไม่ผิดทาง
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า เสียงก็เป็นอุปาทายรูป สีก็เป็นอุปาทายรูป ทำไมต้องไม่พูดว่าเป็นมหาภูตรูป
ท่านอาจารย์ มหาภูตรูปมี ๔ ไม่เกิน
ผู้ฟัง ทีนี้เสียง สี กลิ่น
ท่านอาจารย์ มหาภูตรูป ๔ ไม่เกิน
ผู้ฟัง ดิน น้ำ ไฟ ลม
ท่านอาจารย์ เท่านั้นจริงๆ อย่าเอาอะไรมาเพิ่ม
ผู้ฟัง อุปาทายรูปก็คือ สี กลิ่น รส โอชา
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่ไม่ใช่มหาภูตรูป เป็นอุปาทายรูป
ผู้ฟัง อยากเรียนถามย้ำว่า มหาภูตรูปที่ว่า มีดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เรารู้จักหรือเปล่าคะ
อ.ประเชิญ ความรู้ของมหาภูตรูปที่ว่าเป็นประธาน ถ้ามีบัญญัติตามสภาวะของตัวปรมัตถธรรมจริงๆ แต่ที่เราเรียกในชีวิตประจำวันเป็นน้ำ น้ำดื่ม น้ำอาบ แม่น้ำ แผ่นดิน หรือไฟ ซึ่งเป็นสมมติ โดยความหมายจริงๆ ดินท่านยังแบ่งเป็น ปรมัตถ์ปฐพี สมมติปฐพี และยังมีสสัมภาระปฐพีอีก ก็ยังแตกไปหลายอย่าง เพราะฉะนั้น สภาพที่มีลักษณะจริงๆ นั่นเป็นปรมัตถ์ แต่ที่เราเห็นจริงๆ เช่น เป็นน้ำดื่ม น้ำอาบ นี่คือสมมติอาโป ภาษาบาลี ที่สมมติว่าเป็นน้ำ ไม่ใช่
ผู้ฟัง ไม่ทราบจะถามลึกไปหรือไม่ อยากจะเข้าใจว่า น้ำเป็นสิ่งสมมติ ถ้าเราไม่เรียกน้ำ อยากจะเข้าใจว่า ที่เราเรียกน้ำ หมายถึงน้ำนี้หรือเปล่า หรือหมายถึงลักษณะอื่น
อ.ประเชิญ ลักษณะของอาโปธาตุ คือ ไหล เอิบอาบ หรือเกาะกุม ไม่ใช่เป็นของเหลว
ผู้ฟัง เขาบอกว่า น้ำเข้าใจยาก ลองเป็นดินซิคะ ดินที่มีลักษณะอ่อนแข็ง เพราะฉะนั้น อะไรที่อ่อนแข็ง ถือเป็นดินได้ไหมคะ
อ.ประเชิญ ใช่ครับ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เป็นไม้ เป็นเหล็ก เป็นปูน เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ผู้ฟัง ดิน เห็นง่าย ทีนี้มาถึงลมที่ตึงกับไหว เป็นลักษณะของลม เช่น เวลาตัวบวมมีลักษณะตึง ถือว่าเป็นธาตุลมใช่ไหมคะ
อ.ประเชิญ ใช่ครับ
ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่ความจริงอาจจะไม่ใช่เกิดจากลมที่เรารู้จัก
อ.ประเชิญ อันนี้สมมติ ลมพัด ลมทั้งหลายที่เราสัมผัส ภาษาบาลีท่านใช้ สมมติวาโย
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ความจริงก็คือมหาภูตรูป แบ่งไปตามลักษณะ ไม่ใช่ตามชื่อ
อ.ประเชิญ แบ่งตามตัวสภาวะของเขา แต่น้ำที่ว่าเหลว เพราะมีธาตุน้ำอยู่มาก ที่ไหลได้ เกาะกุมได้ เพราะมีธาตุน้ำอยู่มาก แต่ว่าทุกอณูก็มีธาตุน้ำอยู่ ในจุดเล็กๆ ปรมาณูก็มีธาตุน้ำ หรือธาตุดิน ในน้ำก็มีธาตุดิน แม้แต่ลมพัดมาก็มีธาตุดิน หินก็เป็นดิน ดินที่เหลวก็เป็นดิน
ผู้ฟัง ตรงนี้เลยงงเลย น้ำก็มีธาตุดิน หมายความว่าอย่างไรคะ
อ.ประเชิญ สมมติอาโป น้ำโดยสมมติ มีรูปอย่างน้อย ๘ รูปที่ไม่แยกจากกัน ที่เรียกว่า อวินิพโภครูป เป็นรูปที่ไม่สามารถแยกกันได้ คือ ทุกกลาปหรือทุกอณูต้องมี ๘ รูปนี้อย่างนี้ ไม่หย่อนกว่านี้ แต่มากกว่านี้ได้ คือ ธาตุ ๔ และสี กลิ่น รส โอชา ต้องมี ๘ รูปนี้เสมอ ท่านถึงใช้คำว่า อวินิพโภครูป รูปที่ไม่สามารถแยกกันได้
พล.ต.ศิลกัล สิ่งที่เรารู้ไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปรู้ แต่สิ่งที่เรารู้ได้ ก็คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ น่าจะหลับตา ถ้าไม่อาศัยตา จะรู้ไหมว่าลักษณะนั้นเป็นอะไร ถนัดเรียกชื่อ ธาตุไฟ เย็นหรือร้อน ธาตุลม ตึงหรือไหว ธาตุดิน อ่อนหรือแข็ง ธาตุน้ำ ซึมซาบ เอิบอาบ เกาะกุมธาตุทั้ง ๓ แยกจากกันไม่ได้เลย ถ้ามีธาตุน้ำรวมอยู่ด้วย มหาภูตรูป ๔ ไม่สามารถจะแยกให้เหลือเพียง ๑ หรือเพียง ๒ หรือเพียง ๓ ต้องมีทั้ง ๔ แต่ลักษณะที่สามารถปรากฏเมื่อกระทบกายมีเพียง ๓ คือ เย็นหรือร้อน ธาตุไฟ อ่อนหรือแข็ง ธาตุดิน ตึงหรือไหว ธาตุลม และธาตุน้ำซึ่งเกาะกุมธาตุทั้ง ๓ นั้น จะไปรู้ได้ไหม ในเมื่อพอกระทบเมื่อไรก็คือ ๑ ใน ๓ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว
เพราะฉะนั้น ถ้าหลับตา จะมีคำว่า น้ำ เวลาที่กระทบสัมผัส จะมีคำว่า ก้อนอิฐ จะมีคำว่า โต๊ะ จะมีคำว่า ดอกไม้ ไหมเมื่อหลับตา ก็มีแต่ลักษณะที่ปรากฏที่กาย สงสัยธาตุไหน อย่างธาตุน้ำที่ว่าเมื่อกี้นี้
ผู้ฟัง ขอยกตัวอย่างธาตุน้ำ
ท่านอาจารย์ พูดถึงชื่อน้ำ หรือพูดถึงธาตุน้ำ ถ้าพูดถึงธาตุน้ำ เป็นสภาพที่เกาะกุม เอิบอาบซึมซาบในทุกกลุ่มของรูปที่ประกอบด้ยมหาภูตรูปอีก ๓ เพราะว่ามหาภูตรูป ๓ มีธาตุน้ำรวมอยู่ด้วย ซึมซาบเกาะกุมอยู่ ไม่สามารถปรากฏกระทบกับกายได้
เพราะฉะนั้น เราพูดถึงชื่อน้ำ เราไม่ได้เข้าใจลักษณะของธาตุน้ำ ถ้าธาตุน้ำแล้วต้องอยู่กับมหาภูตรูป แยกไม่ได้เลย มหาภูตรูป ๓ ไม่ได้ ๒ ไม่ได้ ๑ ไม่ได้ ครบทั้ง ๔ คือต้องมีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุน้ำด้วย แต่ที่น้ำเราเรียกชื่อว่า น้ำ แต่ถ้าเราหลับตาแล้วบอกได้ไหมว่า อะไรกำลังกระทบสัมผัสกาย
ผู้ฟัง อันนี้เรากำลังพูดถึงสิ่งที่มีอยู่ในกาย ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงๆ ที่สามารถกระทบกายปสาทได้ จะอยู่ตรงไหนก็ตาม แต่จะปรากฏเมื่อกระทบกายปสาท ถ้าที่ไหนไม่มีกายปสาท ๓ ธาตุจะปรากฏไม่ได้เลย
ผู้ฟัง และจะปรากฏเพียงทีละอย่าง
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะต้องรู้เพียงสิ่งเดียว จะรู้หลายๆ สิ่งพร้อมกันไม่ได้
ผู้ฟัง เข้าใจที่พูดเมื่อกี้นี้ว่า กำลังพยายามอธิบายว่า ๑ อณู ประกอบด้วยธาตุนั้นๆ ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เมื่อกี้พูดถึงสภาพรู้ขั้นการฟัง ขึ้นคิด และมีคำว่า สติปัฏฐาน คนที่มีศึกษาปฏิบัติใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ขั้นฟังเสียมากกว่า บางครั้งมีสิ่งที่มากระทบตัวเราในชีวิตประจำวัน ผมเคยฟังเทปของท่านอาจารย์ ก็เลยเอาที่เคยฟังมาประมวลกับสภาพเหตุการณ์ที่พบในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นผมเดินไปเหยียบตะปู ท่านอาจารย์เคยสอนกว่า ในชีวิตประจำวันจะมีกุศลกับอกุศลซึ่งเป็นเหตุ วิบากคือผล เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่กระทบกับเราแล้วลักษณะของเวทนาเป็นอกุศลที่ให้ผล อย่างนี้เป็นขั้นการฟัง นึกคิด หรืออย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง หมายถึงความเข้าใจจากการฟัง เพราะเพียงได้ยินเฉยๆ ไม่ชื่อว่า ปัญญา ต้องเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เป็นปัญญาระดับหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการฟังเข้าใจ ก็ฟังเรื่องราวของสภาพธรรม เช่น ในขณะนี้เป็นตัวธรรมทั้งหมดเลย ไม่มีใครสักคนเดียว มีแต่ธรรมทั้งหมด นี่คือฟังเรื่องของสภาพธรรม โดยที่ตัวธรรมก็มีจริงๆ แต่ยังไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่กำลังฟังเรื่องราว เหมือนคนหนึ่งเราไม่เคยเห็นเลย เรากำลังฟังเรื่องนั้นว่า เขาเป็นอย่างไร รูปร่างหน้าตามเป็นอย่างนี้ แต่ตัวจริงๆ เขามี แต่ยังไม่เคยเห็น
เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็มีสภาพธรรมทั้งนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งเรากำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมอยู่ เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะถ้าเป็นธรรมที่มีจริงจะมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ไม่ปะปนกันเลย เช่น นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมโดยประการทั้งปวง เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่นามธรรมนั้นตรงกันข้าม เป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ เกิดเมื่อไรต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างตากำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่า สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้ เพราะเห็น ลักษณะที่เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม ได้ยินก็เหมือนกัน มีเสียงหลายเสียง แต่ละเสียงไม่เหมือนกันเลย แต่ว่าเสียงปรากฏ เพราะมีสภาพที่สามารถได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงปรากฏได้ นี่คือความรู้ที่เกิดจากการฟัง ถ้าเข้าใจระดับนี้แล้ว เวลาที่เราจะคิดถึงคำว่า ธรรม คิดถึงนามธรรม และรูปธรรม หรืออ่านหนังสือมีคำว่า นามธรรม และรูปธรรม หรือได้ยินการสนทนาเรื่องนามธรรม และรูปธรรม เราก็สามารถเข้าใจได้ในสิ่งที่เราเคยเข้าใจแล้วจากการฟัง หรืออ่านเองคนเดียว ไตร่ตรอง ก็สามารถนึกทบทวนได้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้รู้ตัวจริงของธรรม แต่กำลังรู้เรื่องราว
เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมี ๓ ขั้น ขั้นฟัง สุตมยญาณ แล้วพิจารณาไตร่ตรองเข้าใจเป็นจินตามยญาณ ขณะนี้รู้แล้วว่า ถ้าไม่ได้ฟังเรื่องอย่างนี้ ก็คือไม่ใช่ธรรม และรู้แล้วด้วยว่า จริงๆ แล้วธรรมก็มี แต่กำลังฟังเรื่องราวเท่านั้นเอง ยังไม่ได้รู้จักตัวจริงๆ จะรู้จักตัวจริงของสภาพธรรมด้วยปัญญาอีกขั้นหนึ่ง คือ ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการอบรมความรู้ที่เกิดจากการฟัง และการไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเห็นถูกในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เมื่อมีความรู้ขั้นนี้ก็จะมีปัจจัยให้ระลึกได้ ที่ใช้คำว่า “สติ” คำว่า ระลึกได้ แปลมาจากคำว่า สติ แต่ถึงจะไม่แปลอย่างนี้ เพราะว่าระลึกได้ เราอาจจะไปเข้าใจว่าต้องคิดยาวๆ แต่ความจริงไม่ใช่เลย มีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจของคนฟังจะต่างระดับ อย่างคนที่ไม่เคยสะสมมาเลยในครั้งพุทธกาล ฟังแล้วก็กลับบ้านเป็นปุถุชน ท่านอนาถบิณฑิกะฟังสิ่งที่กำลังปรากฏ สามารถรู้ว่า กำลังทรงแสดงธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วท่านก็อบรมความรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนคลายความเป็นตัวตน ไม่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ ปัญญาของท่านถึงระดับนั้น จนกระทั่งสามารถประจักษ์การเกิดดับ เมื่อจบเทศนาก็เป็นพระอริยบุคคล เพราะว่าท่านศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่ฟังเรื่องธรรม
เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะรู้ว่า ถ้าขณะนี้สติสัมปชัญญะยังไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นปัญญาขั้นฟังเรื่องราว คิดเรื่องราว ต่อเมื่อไรที่สติกำลังระลึก คือรู้ตรงลักษณะแต่ละลักษณะตามที่ได้ฟัง เมื่อนั้นก็คือภาวนามยปัญญา จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ทำให้คลายความสงสัย คลายความไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ชั่วขณะหนึ่ง เร็วมาก มีขณะที่ได้ยินแล้ว มีขณะที่คิดนึกแล้ว
เพราะฉะนั้น ก็เป็นลักษณะของธรรมจริงๆ แต่ละลักษณะซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมาก เพราะว่าจิต ๑ ขณะ ธาตุรู้หรือจิตจะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ มีอารมณ์ คือรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็ดับไป สืบต่อเร็วจนประมาณไม่ได้ว่า มากแค่ไหน ทางตาเหมือนเห็นตลอดเลย แต่ความจริงมีจิตอื่นที่เกิดระหว่างนั้นมากมาย
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญาจะต้องค่อยๆ อบรมจนกระทั่งมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เราก็จะเข้าใจปัญญาอีกระดับหนึ่งว่า ที่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน หรือสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ฟังแล้วเข้าใจเรื่อง เพียงคิด เพียงเข้าใจขั้นนั้น แต่ต้องขณะที่รู้ตรงลักษณะทีละลักษณะ และขณะนั้นก็จะเพิ่มความเห็นถูกว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่ไปคิดเป็นคำหรือเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นการรู้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่ขั้นฟัง
ผู้ฟัง มาฟังครั้งแรก แล้วก็เข้าใจว่า สักแต่ว่าเห็น ที่พูดๆ กัน ก็คืออย่างธรรมที่พูดตอนนี้ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ พยัญชนะหรือคำนั้นมี แต่อรรถ ความหมายของคำนั้นต้องเป็นปัญญาที่รู้ทั่วจริงๆ จึงไม่ติดข้องในสิ่งที่เห็น อย่างขณะนี้เห็น ปัญญาไม่พอที่จะไม่ติดข้อง ปัญญาไม่พอที่จะละความสงสัย
ผู้ฟัง เมื่อกี้นี้บอกว่า ต้นไม้ไม่ใช่สัตว์ ก็เป็นต้นไม้ อย่างนี้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็ง่ายดี แล้วปัญญาถึงระดับสักแต่ว่านี้ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นวิปัสสนาญาณทั่ว ถ้าไม่ทั่วจะเพียงสักแต่ว่าได้อย่างไรคะ
ผู้ฟัง คุณวีระศักดิ์บอกว่า เขาก็ใช้ปัญญาแล้ว
ท่านอาจารย์ ใช้ปัญญาไม่ได้หรอกค่ะ ถ้าปัญญาเกิดเมื่อไร ปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา ถ้าปัญญาไม่เกิด ใครจะไปทำหน้าที่ปัญญาให้คุณวีระศักดิ์ใช้ก็ไม่ได้
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์อธิบายเมื่อกี้นี้ หมายความว่าคุณวีระศักดิ์ได้ใช้ ฟังไปแล้วเข้าใจ แล้วได้ทำถูกต้องแล้วใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ คุณวีระศักดิ์ถามถึงปัญญา ๓ ระดับ ใช่ไหมคะ และเมื่อฟังเข้าใจแล้ว ก็ไตร่ตรองเข้าใจแล้ว ยังมีปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งภาวนา เพราะใช้คำว่า สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญาคืออย่างไร ก็แสดงให้เห็นว่า มีปัญญาขั้นฟัง ขั้นเข้าใจ แต่ยังไม่ใช่ภาวนามยปัญญา จนกว่าสติสัมปชัญญะจะรู้ตรงลักษณะที่กำลังฟัง และเข้าใจ เพราะขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด เรากำลังฟังเรื่องราวของธรรมจริงๆ ทั้งๆ ที่ตัวธรรมก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และทำกิจหน้าที่ของธรรมนั้นๆ ซึ่งใครก็ทำไม่ได้ ปัญญาไปทำหน้าที่ของสติก็ไม่ได้ สติไปทำหน้าที่ของโลภะก็ไม่ได้ สภาพธรรมแต่ละอย่างต่างกันตามลักษณะ ตามกิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ จึงไม่มีใครสามารถทำอะไรได้เลย
นี่ขั้นฟังเข้าใจ แต่ตัวจริงของธรรมจะปรากฏให้เข้าใจขึ้น ถูกต้องขึ้นในลักษณะแต่ละลักษณะ จนกว่าจะถึง สักแต่ว่า ได้ ไม่ใช่ขั้นคิด แต่ต้องปัญญาที่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมจนทั่ว คลายความยึดติดในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ คือเห็นในขณะนี้ รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นไหมคะ แม้แค่นี้รู้หรือยังว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้ายังไม่รู้ จะเป็นสักแต่ว่าไม่ได้เลย เห็นทีไรก็เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นสิ่งของ เมื่อไรความเข้าใจมากขึ้น และสติสัมปชัญญะค่อยๆ เข้าใจว่า จริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่ปรากฏ บ่อยๆ ที่จะระลึกได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จะทำให้เมื่อปัญญาสมบูรณ์จริงๆ เป็นวิปัสสนาญาณแล้ว จึงจะคลายการยึดถือได้ เพราะสามารถรู้ความต่างของความคิดนึกกับสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงจะเป็นสักแต่ว่า
ผู้ฟัง แต่ก็ยากเหลือเกิน แล้วจะไปสอนคนตั้งเยอะแยะได้อย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ นี่คือกำลังสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าง่าย จะสมควรไหมคะที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป ยิ่งด้วยปัญญา จึงเป็น ๔ อสงไขยแสนกัป ถ้ายิ่งด้วยศรัทธา ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้ายิ่งด้วยวิริยะ ๑๖ อสงไขยแสนกัป ไม่นับการตรึกในใจจนกว่าจะได้ฟังคำพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
เพราะฉะนั้น ยากแน่ แต่มีผู้ที่บรรลุแล้ว จากปุถุชนที่ไม่รู้อะไรเลย ค่อยๆ อบรมไป เพราะฉะนั้น ถ้าฟังประวัติของสาวกที่ได้บรรลุ ท่านจะรู้เลยว่า ในชาติไหน สมัยไหน กัปไหนที่ได้ยินได้ฟังพระธรรม และเป็นผู้อดทนที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ในพระไตรปิฎกจะมีคำว่า ควรรู้ยิ่ง ตาเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สภาพธรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวันควรรู้ยิ่ง ถ้าไม่รู้ยิ่งจริงๆ ก็เป็นเราไปเรื่อ ยๆ แต่ถ้าค่อยๆ รู้ทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งก็เพิ่มขึ้นจนสามารถรู้ยิ่งจริงๆ ได้
ตอนเป็นเด็กอ่านหนังสือออกไหมคะ ไม่ออก แล้วทำไมอ่านออก ค่อยๆ รู้ เหมือนกัน
ผู้ฟัง อย่างที่บอกว่า สภาวธรรมต้องพิจารณาทั้งปรมัตถ์ และบัญญัติ ยังไม่เข้าใจครับว่า พิจารณาอย่างไร
ท่านอาจารย์ การสนทนาธรรมต้องถามให้แน่ใจ คำ “พิจารณา” หมายความว่าอย่างไร ขั้นไหน เมื่อกี้ถามเรื่องพิจารณาบัญญัติ และปรมัตถ์ อยากจะทราบว่า คำว่า “พิจารณา” ที่นี่หมายความว่าอย่างไร เมื่อไร
ผู้ฟัง เคยฟังเทปท่านอาจารย์บอกว่า เวลาพิจารณาสภาวธรรมที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นจะมีทั้งปรมัตถ์ และบัญญัติ
ผู้ฟัง เคยสงสัยตรงนี้ว่า ต้องเข้าใจปรมัตถ์ และบัญญัติ แต่พอฟังอาจารย์มานานๆ ก็เข้าใจว่า ต้องเข้าใจบัญญัติเพื่อเข้าใจถึงสภาพปรมัตถ์ ใช่ไหมคะ เพราะเวลาฟังอาจารย์ต้องใช้คำบัญญัติเพื่อเข้าใจ