คำจำกัดความของนามรูป คืออย่างไร


    ผู้ฟัง โปรดให้คำจำกัดความของนามรูป เพื่อประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งคำตอบนี้อาจารย์ก็ตอบไปแล้ว จะให้คำจำกัดความอีกทีไหมคะ

    ท่านอาจารย์ สั้นๆ นะคะ นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง นามธรรมหรือใช้คำว่า นามเฉยๆ คือสภาพรู้ ส่วนรูปนั้นคือสภาพธรรมชาติอย่างหนึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างสักหน่อยได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นทางตา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่รู้แล้ว เรื่องของนามธรรม และรูปธรรม จะเห็นว่าต้องฟังอีก พิจารณาอีก ทางตาที่กำลังเห็น เป็นของจริง ทุกวัน แต่ที่จะรู้ว่า ที่กำลังเห็นเป็นลักษณะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อปรากฏจึงเป็นรูปธรรม เพราะเหตุว่านามธรรม เมื่อชื่อว่า “นามธรรม” ไม่สามารถจะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะไปจับมือไปจับสัมผัสนามธรรม เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เสียงของนามธรรมที่จะไปฟังว่า นามธรรมนี้เสียงนี้ นามธรรมนี้เสียงนั้น เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นนามธรรมแล้ว ไม่ใช่รูปธรรมทั้งปวง คือไม่มีลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดเจือปนอยู่ในอาการรู้หรือสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งก็เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง รูปธาตุมีมากมายหลายอย่าง ไม่ว่า จะโดยนัยของพระพุทธศาสนาหรือโดยนัยของทางโลก เช่นนัยทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น แต่ลักษณะของรูปธาตุก็สามารถปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่นามธาตุเป็นธาตุอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง แต่ธาตุชนิดนี้เป็นธาตุที่มีลักษณะอาการรู้หรือลักษณะรู้เท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น ส่วนใหญ่จึงสามารถบอกได้ว่า เห็นอะไร สิ่งที่เห็นมีรูปร่างสัณฐานอย่างไร เพราะเหตุว่าปรากฏให้เห็นทางตา แต่ไม่สามารถจะแยกธาตุรู้ อาการรู้ ออกจากในขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่พิจารณาให้รู้ว่า ที่สิ่งต่างๆ จะปรากฏทางตาได้เพราะมีธาตุรู้ คือเห็นสิ่งนั้น เช่นเดียวกับทางหู เสียงมีจริงใช่ไหมคะ มี เสียงมีเมื่อไรคะ

    ผู้ฟัง เมื่อท่านอาจารย์พูด

    ท่านอาจารย์ เมื่อเสียงปรากฏทางหู ถ้าไม่ได้ยิน แม้เสียงมี แต่ก็ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่มีการได้ยิน เพราะฉะนั้น เสียงปรากฏต่อสภาพที่กำลังรู้เสียงนั้น ต้องมีสภาพที่กำลังรู้เสียงนั้น เสียงนั้นจึงปรากฏ เพราะฉะนั้น ลักษณะรู้ อาการรู้ซึ่งทุกคนมีตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เมื่อพิจารณาจึงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนที่ได้ยินหรือที่เห็น เพราะไม่ได้รู้จริงๆ ว่า ลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้นั้นเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเดียวกับรูปธาตุอื่นๆ แต่เมื่อเป็นนามธาตุจึงไม่ใช่รูปธาตุ และเป็นนามธาตุเพราะเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้เท่านั้น แม้ว่าจะได้พูดอย่างนี้ ๑๐ กว่าปี หรือต่อไปจะเป็นถึง ๒๐ กว่าปี หรือใครๆ ก็จะพูดต่อๆ ไปถึง ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปีก็ตาม ก็ต้องแล้วแต่การระลึกได้ การพิจารณาในขณะที่กำลังเห็นว่า ควรจะระลึกได้ไหมว่า ขณะนี้มีสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังรู้สิ่งที่อ่อนแข็ง ที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ จนกว่าจะประจักษ์ว่า ธาตุรู้ก็เกิดดับ ถ้ายังไม่ประจักษ์ว่า นามซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดดับ รูปที่ไม่ใช่ธาตุรู้ก็เกิดดับ ถ้ายังไม่ประจักษ์ก็ยังต้องศึกษา และฟังพระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่อไปเรื่อยๆ และพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ สติก็จะเริ่มระลึกรู้บ้างทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ไปทำสติได้มากมาย

    ผู้ฟัง คำว่า “ประจักษ์” หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปรากฏชัดในสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่สืบเนื่องติดต่อกันจนรวมกันเหมือนกับว่าเป็นอัตตา หรือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง ข้อหนึ่งท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายคำจำกัด และตัวอย่างของรูป และนาม เป็นตัวอย่างที่น่าฟังมาก คือ ธาตุรู้ ถึงแม้จะมีรูปธาตุ คือมีเสียง แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้ จะไม่ได้ยินเลย ฉะนั้น สภาพรู้กับสภาพไม่รู้ คือนามกับรูปนั้นมีแน่นอน แต่จะต้องพิจารณาไปจนกว่าจะประจักษ์ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ต้องเริ่มตั้งแต่เข้าใจจนกระทั่งไม่ถามข้อที่ ๑

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจแล้วก็จะไม่ถาม

    ท่านอาจารย์ ข้อที่ ๑ ถามว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง ข้อที่ ๑ คือ ขอคำจำกัดความของนามรูป และสติปัฏฐาน ผมเลยไปข้อต่อไป ในการเจริญสติปัฏฐานบอกว่า ต้องกำหนดรูป และนามปรากฏตามความเป็นจริงนั้น หมายความว่าอย่างไร และเพื่อประโยชน์อะไร

    ท่านอาจารย์ พิจารณาในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยรอบ โดยตลอด โดยถี่ถ้วน จึงกำหนดคือรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นรูป หรือลักษณะนั้นเป็นนาม

    ผู้ฟัง ต้องกำหนดทุกทวารด้วยใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง

    ผู้ฟัง โดยทั่วทุกทวาร เพราะแต่ละทวารก็มีทั้งสภาพรู้ และสภาพไม่รู้ คือแต่ละทวารก็มีทั้งนาม และรูป ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ แม้ในขณะนี้ท่านผู้ฟังที่อยากปฏิบัติเร็วๆ ก็จะถามว่า ทางตาจะกำหนดอย่างไร ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็หมายความว่า ระลึก พิจารณา รู้ลักษณะของธาตุรู้ที่กำลังเห็นทางตาโดยละเอียด โดยทั่ว โดยถี่ถ้วน เพื่อรู้ชัดว่า ลักษณะของธาตุรู้ทางตาคือกำลังเห็นในขณะนี้เอง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า เราก็สามารถพิจารณาได้แม้อยู่ที่บ้าน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เอง

    ผู้ฟัง ขณะนี้ ปัจจุบันนี้เลย ก็สามารถพิจารณาได้

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่เป็นเรา สติเกิดระลึกลักษณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ หรือยัง ถ้ายัง ก็หมายความต้องฟังเรื่องของการเห็น จนมีสัญญา ความจำที่มั่นคงว่า เห็นแล้ว เมื่อไม่รู้ความจริง สัจธรรมของการเห็น ก็จะต้องเริ่มระลึกศึกษาน้อมพิจารณาจนกว่าจะรู้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง ขอถามข้อต่อไป การเจริญสติปัฏฐานสำหรับฆราวาสนั้น มีสิ่งอื่นรบกวนอยู่ตลอดเวลา โปรดให้คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ พุทธบริษัทมี ๔ ตั้งแต่ครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพาน คือ มีทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่ครองเรือน และไม่ครองเรือน มีพระอริยบุคคลที่เป็นพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งที่ครองเรือน และไม่ครองเรือน พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์โลกโดยตลอด จึงทรงแสดงธรรมที่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใด คือ เป็นภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท หรืออุบาสิกาบริษัท ก็สามารถอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้ ตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ไม่มีใครสามารถไปเปลี่ยนแปลงการสะสมอัธยาศัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้

    นี่เป็นเหตุที่ทุกคนมีกุศลกรรม อกุศลกรรมต่างกัน มีกรรมที่ต่างกัน มีวิถีชีวิตที่ต่างกัน มีความเป็นอยู่ต่างกัน มีการดำเนินชีวิตต่างกัน แต่ทุกท่านสามารถฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรม และน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติได้ เพราะเหตุว่าการเป็นพุทธศาสนิกชน การที่กล่าวถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ย่อมหมายความว่า พร้อมที่จะฟังพระธรรม และไม่ใช่เพียงฟัง ยังน้อมพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเพียงฟัง และไม่ประพฤติปฏิบัติตาม จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ย่อมไม่ชื่อว่า เป็นผู้ฟังธรรมจริงๆ แต่จุดประสงค์ของการฟังคือเพื่อเข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้วก็เพื่อประพฤติปฏิบัติตามด้วย จึงจะเป็นสาวกที่แท้จริง

    เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทสามารถรู้แจ้งในสัจธรรมได้ทุกเพศ ถ้าผู้ใดเห็นว่า เพศฆราวาสคับแคบ ไม่เหมาะสำหรับตนเอง ไม่ต้องมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดบังคับ แต่เป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติไปเพศบรรพชิต สามารถจะอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศบรรพชิตได้ แต่บุคคลใดที่สะสมอัธยาศัยที่จะเป็นฆราวาส รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ยังเป็นผู้ที่ไมสามารถสละเพศฆราวาสได้ ก็สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศฆราวาสได้ เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ตามปกติ ตามความเป็นจริง ถ้าผิดจากความเป็นจริง คือ ชีวิตจริงมีอัธยาศัยเป็นฆราวาส แต่อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วเข้าใจผิดว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องไปอยู่ที่อื่น ซึ่งไม่ใช่ชีวิตจริงๆ ของตัวเองเลย เพราะฉะนั้น เมื่อมาเป็นปกติชีวิตจริง ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม สติปัฏฐานไม่สามารถเกิดแทรกในขณะที่กำลังเป็นสภาพธรรมที่สนุกสนาน เป็นโลภมูลจิต ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นโทสมูลจิต กำลังโกรธ ก็มีปัจจัยที่ทำให้ขั้นของความโกรธขณะนั้นเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อไม่รู้ความจริงอย่างนี้ จึงไม่สามารถดับการยึดถือสภาพนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ถ้าอบรมเจริญอย่างนั้น ไม่ใช่การรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และย่อมไม่ถึงวันที่จะประจักษ์ได้ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาพธรรมทั้งหมด ทุกประการ ทุกขณะ ไม่ว่าในภพไหน ชาติไหน ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น แต่ถ้าเริ่ม โลภะเกิดขึ้น แต่ก่อนจะกลัว และรังเกียจว่า เป็นสภาพธรรมขั้นหยาบ เป็นโลภะที่มีกำลังแรงกล้า ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับตัวท่านได้ แต่ทำไมสภาพนั้นจึงเกิด ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงปฏิจจสมุปปาท และปัจจัยต่างๆ ที่จำแนกออกเป็นเหตุปัจจัย โลภเจตสิกเป็นเหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ใครจะยับยั้งลักษณะของโลภะไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุว่าโลภะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดแล้วก็มีลักษณะอาการของโลภะ กระทำกิจของโลภะ แต่โลภะก็ดับ เพราะหมดเหตุปัจจัยในขณะนี้ มีเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิด ซึ่งแต่ละขณะก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้ามีความอาจหาญ ร่าเริง ตามที่ทรงแสดงไว้ ในพระสูตรทุกพระสูตร ที่ผู้ได้ฟังธรรมแล้วสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ที่จะน้อมพระทัยนั้นมายึดถือ มาอบรม มาเจริญปฏิบัติ ถ้าโภละที่มีกำลังเกิดขึ้น ถ้าสติเกิดระลึก จะรู้ได้ว่า ถ้าไม่เคยสะสมความพอใจทีละเล็กทีละน้อยมาในอดีตอนันตชาติ แสนโกฏิกัปป์ โลภะขั้นแรงขั้นนี้ย่อมเกิดไม่ได้ แต่ที่โลภะอย่างนี้จะเกิดได้ ก็เพราะเหตุว่าได้สะสมโลภะมา และโลภะนั้นยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ยังไม่มีปัญญาที่จะดับโลภะนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นการสะสมของโลภะจึงปรุงแต่งให้ปรากฏลักษณะของโลภะขั้นนั้นขึ้นได้ ซึ่งก็เป็นแต่เพียงขณะหนึ่งในชีวิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

    สำหรับโทสะก็เช่นเดียวกัน มีความโกรธขั้นอ่อนๆ ตั้งแต่สภาพที่ขุ่นๆ มัวๆ ไม่แช่มชื่น จนกระทั่งถึงขั้นที่เป็นอันตรายรุนแรง แต่ถ้าสติสามารถเกิดระลึกรู้อาการของโทสะว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับโลภะ และที่โทสะขั้นนี้จะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ย่อมไม่เกิด เพราะว่าวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโลภะขั้นแรง โทสะขั้นแรงอยู่ตลอดเวลา แต่มีโลภะขั้นต่างๆ โทสะขั้นต่างๆ ตามปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นปรากฏ ซึ่งสติจะต้องระลึกแล้วสามารถรู้ได้ว่า ทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วจะคลายการยึดถือ และการพยายามไม่รู้ลักษณะของโลภะ โทสะ ถ้าพยายามหนี บังคับ ไม่รู้ลักษณะอกุศล ก็ไม่ละคลายว่า ขณะที่เป็นอกุศลนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่มีวันดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น การอบรมสติปัฏฐาน ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล แต่ละชีวิตตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของแต่ละคน จะไม่สามารถเป็นพระอริยบุคคลได้แน่นอน

    ที่ถามว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม คือทุกขณะในขณะนี้เอง ถ้าสติระลึกได้จะรู้ลักษณะของนามธรรมประเภทต่างๆ รูปธรรมประเภทต่างๆ และรู้ว่า ขณะนั้นก็ไม่ใช่เราแน่นอน

    ผู้ฟัง การที่จะมีสติระลึกรู้ชีวิตประจำวัน มันไม่ค่อยเกิดขึ้น จะทำอย่างไร มันค่อยหลง เขาก็จะพิจารณา บางทีนึกคิดเดาเอง จดจ้อง เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรให้สติเกิดขึ้น ขอเรียนถาม

    ท่านอาจารย์ ทุกคนใจขณะนี้คงจะเต็มไปด้วยความอยากที่จะให้สติเกิดบ่อยๆ แต่ต้องรู้เหตุว่า เพราะอะไรสติจึงไม่อาจจะเกิดบ่อยๆ อย่างที่หวังหรือต้องการได้ เพราะเหตุว่าทุกท่านมีอวิชชาสะสมมามากมายเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เกินกว่าแสนโกฏิกัปป์ ขณะเห็นแล้วก็ไม่รู้ ไม่เคยระลึก ไม่เคยได้ฟังเรื่องของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส นามธรรม และรูปธรรม โดยละเอียด เพราะเหตุว่าไม่ใช่ในสังสารวัฏฏ์จะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกๆ กัป ในบางกัปก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ในระหว่างกัปหนึ่ง หรือหลายกัป ไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเลย อวิชชาจะเพิ่มมากมายสักแค่ไหน


    Tag  ธงชัย  
    หมายเลข 1921
    29 ก.ค. 2567