จะทำหรืออบรมอย่างไรให้สติเกิดขึ้น
ผู้ฟัง การมีสติระลึกรู้ชีวิตประจำวันไม่ค่อยจะเกิดขึ้นจะทำอย่างไร จะคิดพิจารณา บางทีนึกคิดเดาเอา จดจ้องเอา เพราะฉะนั้น จะอบรมอย่างไรให้สติเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ทุกคนขณะนี้คงจะเต็มไปด้วยความอยากที่จะให้สติเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ต้องรู้เหตุว่า เพราะอะไรสติจึงไม่อาจเกิดบ่อยๆ อย่างที่หวังหรือต้องการได้ เพราะเหตุว่าทุกท่านมีอวิชชาสะสมมามากมาย เนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เกินกว่าแสนโกฏิกัปป์ขณะเห็นแล้วก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยระลึก ไม่เคยได้ฟังเรื่องของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น และการลิ้มรส นามธรรม และรูปธรรมโดยละเอียด เพราะเหตุว่าไม่ใช่ในสังสารวัฏฏ์จะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกกัป ในบางกัปก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ในระหว่างกัปหนึ่งหรือหลายกัปซึ่งไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเลย อวิชชาจะเพิ่มมากมายสักแค่ไหน
เพราะฉะนั้น ถ้าแค่ได้ยินเพียงเล็กน้อยนิดเดียว แล้วมีปัญหาว่าทำอย่างไรสติจะเกิดมากๆ ก็ควรระลึกถึงเหตุว่า เมื่อสะสมอวิชชามามากมายเหลือเกิน แล้วจะให้สติเกิดมากๆ เหตุสมควรกับผลไหม จะเร่งรัดได้ไหม หรือควรเริ่มเข้าใจนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มมากขึ้นบ้างหรือยัง เพราะเหตุว่าการที่สติจะเกิดระลึกถูกตามความเป็นจริงว่า นามธรรมมีลักษณะอย่างนี้ รูปธรรมมีลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงฟังครั้งเดียว เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งจะได้ฟังธรรมสักกี่นาที แล้วที่ไม่ได้ฟังธรรม แต่เป็นเรื่องอื่นๆ มากมายของอวิชชากี่นาที
เพราะฉะนั้น ที่จะให้นึกได้ ไม่ลืมลักษณะของสติจะเกิดระลึกลักษณะนามธรรม และรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ่อยๆ เป็นไปไม่ได้ จนกว่าสติจะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติทีละเล็กทีละน้อย นานแสนนาน แต่อาจจะสามารถเกิดเพิ่มขึ้นได้ถ้าสนใจใคร่ในธรรม คือฟังมากๆ พิจารณามากๆ แล้วสติก็สามารถมีอาหาร คือมีปัจจัยปรุงแต่งให้ระลึกทันทีที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมหนึ่งทางทวารหนึ่งทวารใดได้
ต้องเป็นผู้อดทน ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรม จะมีแต่ความต้องการที่จะทำ แทนที่จะต้องการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้นเสียก่อน
ผู้ฟัง เหตุกับปัจจัย อันเดียวกันไหม
ท่านอาจารย์ อันเดียวกันค่ะ
ผู้ฟัง แต่บางที่บางแห่งผมอ่านพบว่า หัวใจอยู่ในท่ามกลางอก โตเท่ากำปั้นของใครของมัน ผมจะถามว่า หัวใจเป็นนามหรือเป็นรูป
ท่านอาจารย์ เป็นรูป วิธีที่จะทราบว่า สภาพใดเป็นรูป สภาพใดเป็นนาม คือในขณะนี้เอง สภาพใดเป็นสภาพรู้ สภาพจำ สภาพคิด สภาพสุข สภาพทุกข์ เป็นต้น เป็นนามธรรม เพราะเหตุว่านามธรรมหมายถึงธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ คือรู้อารมณ์นั่นเอง
เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า “จิต” กับคำว่า “อารมณ์” ซึ่งเป็นของคู่กัน เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องสิ่งที่ถูกรู้ และสิ่งที่ถูกรู้นั้นเอง ทรงบัญญัติศัพท์ว่า “อารมณ์” หรือ “อารัมมณะ” ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น จะมีจิตโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์
เพราะฉะนั้น ใจ มีอารมณ์ไหมคะ เห็นมีอารมณ์ไหมคะ ได้ยินมีอารมณ์ไหมคะ สภาพรู้ทั้งหมดต้องมีอารมณ์ โลภะมีอารมณ์ไหมคะ มีค่ะ เมื่อชอบ ก็ต้องมีสิ่งซึ่งกำลังถูกชอบด้วย โทสะมีอารมณ์ไหมคะ เมื่อเป็นนามธรรมก็ต้องมีอารมณ์ คือต้องมีสิ่งที่กำลังไม่พอใจ หรือกำลังขุ่นเคืองในขณะนั้นด้วย
เพราะฉะนั้น คำว่า “นามธรรม” ที่ใช้คำว่า “นามธรรม” เพราะหมายถึงสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ คือรู้อารมณ์
ในขณะนี้ทางตา ทุกคนมี กำลังเห็น หูมี จึงมีการได้ยิน ทำไมบางคนคิดนึก บางคนก็อาจจะรู้สึกปวดเจ็บที่หนึ่งที่ใดที่กระทบสัมผัสแข็ง ไม่เหมือนกัน การที่จิตใจของแต่ละคนจะน้อมไปสู่อารมณ์ใด ทางไหน ก็ย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัย
จิตหรือใจเป็นสภาพที่เป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่น้อมไปรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทางหนึ่งทางใดอยู่เสมอ
ผู้ฟัง คำว่า “อารมณ์” ถ้าเราเข้าใจแบบชาวบ้าน ความหมายก็จะผิดจากธรรม ใช่ไมครับ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าในภาษาไทย ไม่เจาะจง อย่างวันหนึ่งๆ อาจจะบอกว่า วันนี้อารมณ์ดี หมายความถึงจิตใจสบาย แช่มชื่น ซึ่งความจริงแล้วต้องมาจากเหตุ คือ ได้เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินสิ่งที่ดี ได้กลิ่น ได้ รส ได้กระทบสัมผัส ได้ฟังเรื่องราวที่ดี จิตใจก็สบาย ก็กล่าวว่าอารมณ์ดี นั่นเป็นความหมายในภาษาไทย แต่ความหมายในภาษาบาลีต้องเจาะจงหมายถึงสภาพที่จิตกำลังรู้เท่านั้น
ผู้ฟัง อย่างสีก็เป็นอารมณ์ของจิต ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เป็นอารมณ์ของจิตเห็น ต้องเจาะจงลงไปด้วย
ผู้ฟัง ดังนั้นคำว่า “อารมณ์” ความหมายทางธรรม อย่าเข้าใจไขว่เขวนะครับ
พระภิกษุท่านเรียนถามว่า ความอยากเป็นตัณหาใช่หรือไม่ เช่น ความอยากมีสติ ความอยากรู้รูปธรรม ความอยากรู้นามธรรมเป็นต้น แล้วจะปฏิบัติอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ก็รู้ลักษณะที่อยาก ถ้าความอยากกำลังปรากฏ แล้วแต่สภาพธรรมใดปรากฏเป็นของจริงทั้งนั้น
ผู้ฟัง อย่างไรเสีย การอยากมีสติ ก็คือตัวโลภะใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญก็คือว่า ลักษณะของกุศลจิต และอกุศลจิตเกิดดับสลับกันรวดเร็ว ยากจะรู้ได้ เหมือนกับในขณะนี้เห็นไม่ใช่ได้ยิน เพราะเหตุว่าเกิดดับสลับกันจึงปรากฏเสมือนว่าทั้งเห็น และกำลังได้ยิน ฉันใด ลักษณะของกุศล และลักษณะของอกุศลก็เกิดดับสลับกัน จนยากที่จะบอกได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ
เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งสภาพธรรม นอกจากการฟังเข้าใจ การพิจารณาเข้าใจแล้ว ยังต้องสามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริงด้วยสติ และสัมปชัญญะ เพราะเหตุว่าโลภมูลจิต สภาพที่พอใจ ยินดี ต้องการไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎก หรือไม่ได้อยู่ในเอกสาร หนังสือเล่มหนึ่งเล่มใด แต่อยู่ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะสภาพที่เป็นอกุศลซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำมากทีเดียวในวันหนึ่งๆ ต้องเพราะสติสัมปชัญญะเกิด เพราะในวันหนึ่งๆ ถ้าจะมีกุศลจิตเกิดคั่น เช่นในขณะที่ให้ทาน รักษาศีล หรือขณะที่ฟังธรรม ผู้ที่จะเป็นพระอริยสาวก ต้องเป็นผู้ตรง ตรงอย่างไร คือตรงเพราะสติเกิด จึงสามารถรู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิตซึ่งเกิดสลับกันได้ เช่น ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ จะมีใครสักคนหนึ่งกล่าวว่า มีกุศลจิตเกิดตลอดเวลาได้ไหมคะ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องมีความไม่พอใจนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ ทางกายบ้าง ทางหูบ้าง บางทีอาจจะเป็นเสียงอะไรสักนิดหนึ่งเกิดสลับคั่น ทำให้รู้สึกว่า ไม่อยากได้ยินเสียงนั้น ในขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต แต่ว่าการที่สามารถรู้ได้ชัดขึ้นว่า สภาพที่เป็นอกุศลเป็นอย่างไร สภาพที่เป็นกุศลเป็นอย่างไร ก็เพราะสติเกิด แล้วระลึกในขณะที่กุศลกำลังปรากฏ หรืออกุศลกำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่ได้ฟังก็ยังบอกยาก หรือแม้ศึกษาแล้วโดยความเข้าใจจากการอ่าน ก็ยังบอกยากอีก เพราะเหตุว่ามักจะกล่าวโดยส่วนใหญ่ เช่น การฟังธรรมเป็นกุศล แต่ที่จริงแล้วจะต้องพิจารณาตัวเองจริงๆ ว่า ขณะที่ฟัง ฟังเพราะอะไร ถ้าฟังเพื่อให้เข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล และขณะที่กำลังเข้าใจก็ไม่ใช่เรา เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ สภาพของจิตที่ดีประกอบด้วยปัญญา คือ ความเข้าใจ แต่ถ้าฟังแล้วก็ง่วง เบื่อ แล้วจะกล่าวว่า การฟังธรรมเป็นกุศลได้ไหมคะ ในเมื่อฟังแล้วง่วง ฟังแล้วเบื่อ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่ถ้าสามารถรู้ชัดว่า ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นกุศล ก็ย่อมสามารถรู้ได้ว่า ความต้องการ หรือความปรารถนาประเภทใดเป็นกุศล และเป็นอกุศล ถ้าไม่เข้าใจธรรมเลย เพียงแต่อยากที่จะถึงนิพพาน เป็นกุศลหรืออกุศล
ผู้ฟัง เป็นอกุศลอย่างแน่นอน
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าโลภะไม่เคยทิ้งโอกาส แม้ชื่อ ก็ยังเป็นที่พอใจของโลภะได้ เพียงคำว่า “นิพพาน” ซึ่งดูเป็นของแปลก เช่นคำว่า โลกุตตระ พ้นจากโลก ความเกิดดับ ก็ปรารถนาแล้ว โดยยังไม่รู้เลยว่า ลักษณะจริงๆ ของนิพพานนั้นคืออย่างไร คือธรรมที่สามารถดับความยินดีพอใจ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ฟัง ก็อาจจะคิดว่า นิพพานคงจะสบายกว่าโลกนี้ ก็อยากจะถึงนิพพาน ขณะนั้นเป็นโลภะ
เพราะฉะนั้น ถ้าถามกันว่า ใครอยากถึงนิพพาน แล้วจะเข้าใจว่า คนที่ตอบว่าอยากถึงนิพพานเป็นกุศล ย่อมไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องเป็นเรื่องที่มาจากความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ
ผู้ฟัง ขณะให้ทาน จิตเป็นกุศลตลอดเวลาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้ามีแก้วน้ำสะอาด แล้วบังเอิญเห็นอะไรอยู่ในแก้วน้ำสะอาดที่จะถวายทาน จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เห็นแมลงวันสักตัวในถ้วยแก้ว
ผู้ฟัง คงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนิดๆ หน่อย ก็คงเป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่จะทำบุญเลี้ยงพระ เริ่มตั้งแต่ออกจากบ้านไปตลาด อาจจะพิจารณาได้เลย โลภะบ้าง โทสะบ้าง ไปเรื่อยๆ แม้ขณะที่กำลังปรุงอาหาร อร่อยเป็นโลภะ ไม่อร่อยเป็นโทสะ
เพราะฉะนั้น ลักษณะของกุศลจิต ช่างแสนยากที่จะเกิด และเมื่อเกิดแล้ว ก็ช่างเล็กน้อยเสียเหลือเกิน แต่ว่าอย่าคิดว่ามากมาย ถ้าเป็นผู้ตรงจะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะที่ไม่ใช่กุศล จะมากหรือจะน้อย
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ขณะที่ให้ทานก็มีทั้งกุศล และอกุศลเกิดสลับกันได้ รวดเร็วจนเราไม่สามารถกำหนดรู้ได้ว่า เป็นกุศลตลอด ไม่ใช่เหมาเป็นกุศลหมด อย่างนั้นใช่ไหมครับ
ท่านผู้ฟังถามมาว่า เมื่อสภาพธรรมต่างๆ เกิดขึ้น และดับลงแล้ว สติเกิดแต่พิจารณาไม่ทัน จะพิจารณาต่อเป็นการจดจ้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ การจดจ้องหมายถึงการเลือกอารมณ์เดียวที่จะรู้ แต่ถ้าไม่ใช่การเลือกอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จะรู้ว่า ที่ไม่จดจ้องเพราะรู้ว่า สติเป็นอนัตตา สติสามารถเกิดระลึกรู้ทางตาก็ได้ ทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ได้ ขณะนั้นไม่ชื่อว่า จดจ้อง แต่ถ้าต้องการอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ขณะนั้นชื่อว่าจดจ้อง
ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า ทำอย่างไรจิตใจถึงจะไม่อ่อนแอ หวาดกลัว และขอวิธีควบคุมอารมณ์ให้เป็นคนมีอารมณ์คงที่ จิตใจเข้มแข็ง
ท่านอาจารย์ ผู้ที่ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้นๆ ๆ ๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญฝึกหัดไปจากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นอริยบุคคล แต่ต้องรู้ว่า ด้วยปัญญาแค่นั้น ไม่ใช่ด้วยอย่างอื่น
เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดที่ยังไม่มีปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมต้องหวั่นไหว ไม่มีใครสามารถช่วยได้
ผู้ฟัง เมื่อเราจะดับจิตหรือใกล้ตายนั้น ควรพิจารณาอย่างใดจึงจะถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ตายขณะนี้ได้ไหมคะ หรือขณะนี้ตายไม่ได้ ต้องเข้าใจตอนนี้เสียก่อนแล้วถึงจะตายได้ เพื่อที่จะพิจารณาถูก ซึ่งความตายเร็วที่สุด ก่อนตายอาจจะนาน เช่น อาจจะปวดเจ็บ สนุกสนานรื่นเริง แต่บางท่านกำลังรับประทานอาหารอร่อยก็ตายได้ แม้ไม่เจ็บได้ป่วยก็ตายได้ หรือแม้เจ็บป่วยทรมานมานานหลายเดือนหลายปี ก็ยังไม่ตาย
เพราะฉะนั้น เรื่องของความตาย ตามที่ทรงแสดงไว้ ชั่วขณะจิตเดียว จะสั้น และเล็กน้อยสักแค่ไหน แล้วใครจะรู้ว่าเมื่อไร
เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่า ก่อนจะตายจะทำอย่างไรดี ทำเสียขณะนี้เลย เพราะอาจจะตายขณะต่อไปก็ได้ แต่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ เพราะเหตุว่าทุกคนอยากจะมีกุศลทุกวัน แต่ตามเหตุ เมื่อมีเหตุของอกุศล อกุศลก็ต้องเกิด และไม่ต้องคร่ำครวญว่า ทำอย่างไร ทำอย่างไร คร่ำครวญแต่ว่า อกุศลมากเหลือเกิน เพราะเหตุว่าถ้ารู้เรื่องเหตุ และผลแล้ว และอยากมีอกุศลน้อย ก็ต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการโดยไม่ประมาท
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้กลัวอบายภูมิ การเกิดในนรก หรือเกิดเป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นอสุรกาย ก็ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล โดยเฉพาะในการอบรมเจริญปัญญา เพราะเหตุว่าพระอริยบุคคลเท่านั้นที่จะไม่เกิดในอบายภูมิ แต่ถ้ายังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล อกุศลกรรมที่มีที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ อาจจะเป็นในชาติไหนๆ ก็ได้ในอดีตแสนโกฏิกัปป์ ก็ยังทำให้เกิดในทุคติภูมิได้
แต่เรื่องจะทำอย่างไรก่อนตาย ไม่มีใครทำได้จริงๆ เหมือนในขณะนี้ ถ้าทำได้ก่อนตาย จะรอก่อนตายทำไม ทำเสียเดี๋ยวนี้เลยซิคะ ให้จิตเป็นกุศลเสียเดี๋ยวนี้ ปัญญาเกิดเดี๋ยวนี้ แทนที่จะต้องรอไปทำก่อนจะตาย
ผู้ฟัง คำว่า “สิ่งที่ปรากฏทางตา” นั้นหมายถึงแสงสว่างด้วยใช่ไหม เช่น แสงไฟที่เกิดจากการอ๊อคเวลาเชื่อม
ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ได้กล่าวถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะมากมายต่างๆ แต่เมื่อสรุปแล้ว คือ ทุกอย่างที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นจะเป็นแสงหรือจะเป็นสิ่งที่เกิดดับทางตาได้
ท่านอาจารย์ คือสิ่งที่คนตาบอดไม่เห็น