เข้าใจให้ชัดเจนในทุกคำที่ได้ยิน


    แล้วทุกคำที่ได้ยินก็ไม่ควรที่จะผ่าน แต่ควรที่จะมีความเข้าใจชัดเจนในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น เพราะบางทีเราได้ยินคำไหน แล้วก็ข้ามไปเลย เหมือนกับว่า เราเข้าใจคำนี้แล้วเราเข้าใจคำนี้แล้วแล้วมีคำอื่นอีก ก็อยากจะไปเข้าใจเรื่อยๆ แต่ลักษณะอย่างนี้จะคล้ายๆ กับกบกระโดด คือ ตรงนี้แล้วก็ข้ามไปตรงนั้นเลย อย่างคำว่า “โลก” ถึงแม้ว่าจะมีคำอธิบายหลายนัยก็ตาม แต่เพียงนัยเดียวให้เราเข้าใจจนกระทั่งเราไม่ลืม เป็นความรู้ของเราเอง เช่นความหมายของ “โล – กะ” หรือ “โลก” หมายความถึงสิ่งที่เกิดดับ อันนี้จะไม่ผิดเลย ไม่ว่าจะเป็นข้อความตรงไหนในพระไตรปิฎก และอรรถกถา

    เพราะฉะนั้นสิ่งซึ่งตรงกันข้าม คือ โลกุตตระ เพราะฉะนั้นจะมี ๒ คำคู่กัน “โล – กะ” กับ โลกุตตระ อุตตระ คือ เหนือ หรือพ้น เพราะฉะนั้นเมื่อคำว่า โลก หรือ โล - กะ หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ โลกุตตระ ก็หมายถึงสภาพที่พ้นจากการเกิดดับ หรือสภาพที่ไม่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้นก็ทำให้เราสามารถเข้าใจความต่างว่า โลกุตตระไม่ใช่สิ่งที่มีในขณะนี้แน่ เพราะว่าสิ่งที่มีในขณะนี้ เกิดจึงปรากฏ ถ้าไม่เกิดจะปรากฏไม่ได้เลย แต่ว่าไม่ประจักษ์การเกิด และไม่ประจักษ์การดับ เพราะฉะนั้นจะไปรู้ถึงสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตระไม่ได้ เพราะเหตุว่าลักษณะของโลก และสิ่งที่กำลังเกิดดับขณะนี้ก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นความรู้ต้องตามลำดับขั้นจริงๆ เพราะว่าโลกุตตรธรรม คือ นิพพาน


    หมายเลข 1930
    8 ก.ย. 2567