ให้คิดต่อได้ไหมว่าเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม


    ผู้ฟัง สมมติเราคิดอะไรไปแล้วเกิดรู้ขึ้นมาว่า เราคิด ก็ให้คิดต่อไปว่าเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น ไม่ใช่รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้คิดต่อนะคะ ไม่มีการอนุญาตไม่อนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น อันนี้ให้ตัดออกไปเลย อย่าถามใครว่าให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอย่างนั้น เรื่องทำให้เลิกไปเลย ไม่มีใครที่จะบอกใครให้ทำ ไม่ให้ทำได้ แต่ให้รู้ความจริงว่า เมื่อจิตที่คิดดับแล้ว แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้จิตอะไรเกิดต่อ อาจจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกว่า ขณะที่คิดนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง ถ้าสติเกิด เขาก็จะรู้ของเขาเองว่า เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ สติระลึกลักษณะปรมัตถธรรม หรือต้องมีลักษณะให้สติระลึก หรือมีลักษณะที่สติกำลังระลึก จึงชื่อว่า สติเกิด ถ้าสติของใครเกิดแล้วบอกว่าไม่รู้อะไร ผิดหรือถูก อย่างนั้นจะชื่อว่า สติได้ไหม ในเมื่อขณะนี้ก็มีทุกอย่างปรากฏ แต่ไม่รู้ เพราะอวิชชารู้ไม่ได้ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว สติคือสภาพที่ระลึกตรงลักษณะ ตรงสิ้งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติรู้ว่า เก้าอี้แข็งหรือนิ่ม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเก้าอี้นิ่ม มีนิ่มปรากฏ

    ผู้ฟัง คือเป็นความรู้สึกทางกาย ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เราก็ไม่ต้องไปเอ่ย เพราะจริงๆ ก็อยู่ตรงนั้น

    ผู้ฟัง คือเราเรียน เราจะได้รู้ว่า มีแต่ทางกาย ไม่ใช่ทางใจที่นึกคิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ แข็งหรืออ่อนจะปรากฏทางอื่นไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง นอกจากทางไหนคะ

    ท่านอาจารย์ ตอบเองได้นั่นแหละค่ะ แข็งอ่อนปรากฏทางไหน

    ผู้ฟัง กาย ทีนี้ถ้าเราตักอาหารทานเข้าไป ทานไอศกรีม เย็น เป็นทางกาย แต่รู้รสว่าอร่อยหรือไม่อร่อย ต้องเป็นทางลิ้น ถูกไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ คนละทางแล้ว

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ต้องละเอียดมากที่จะต้องรู้ ต้องลึกไปถึงอย่างนี้เลยหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ก็สิ่งที่คิดว่าเป็นเรา หรือที่คิดว่าเป็นท่านั่ง แยกออกมาแล้วจักขุปสาทอยู่ตรงตา โสตปสาทอยู่ตรงหู มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ไกลกันเท่าไร และต่างเกิดต่างดับด้วย จักขุปสาทก็เกิดดับไป โสตปสาทก็เกิดดับไป แล้วจะไปเอาท่าทางอะไรตรงไหนมา

    ผู้ฟัง ถ้าคัน คันเป็นทางใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ คิดดีๆ

    ผู้ฟัง ทางกายหรือคะ

    ท่านอาจารย์ ตรงกายนั้นคันได้อย่างไร นึกคันได้หรือคะ มีกายแล้วจะนึกคันได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ตกลงคันก็คือทางกาย

    ท่านอาจารย์ เราใช้คำสมมติ บางคนก็ถามว่า ลื่นๆ นั้นอะไร จะให้บอกไปว่า นี่ธาตุอะไร เหนอะหนะๆ เหนียวๆ นี่อะไร เพราะว่าเรามักจะใช้คำว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ใช้เราอยู่ ๔ คำ เพราะมีอยู่ ๔ ธาตุ ธาตุดินก็มีลักษณะอ่อนหรือแข็ง จะไม่เปลี่ยนลักษณะเลย ธาตุไฟก็เย็นหรือร้อน ธาตุลมก็ตึงหรือไหว ธาตุน้ำก็ไหลหรือเกาะกุม พอมาถึงทางกายกระทบสบู่ลื่นๆ เหนียวเหนอะหนะ ก็ถามว่าอะไรอีกแล้ว ความจริงไม่ต้องเรียกชื่อเลย เวลาที่เป็นปรมัตถธรรมแล้วไม่มีชื่อ ของจริงมีลักษณะอย่างไร ก็คืออย่างนั้น รู้แต่ว่าเป็นเพียงรูปชนิดหนึ่ง รูปชนิดนั้นมีเพราะจิตกำลังรู้รูป เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นต้องมีสภาพรู้ ซึ่งเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด จะเป็นเรา แล้วจะมีความสงสัยต่อไป คิดต่อไปเป็นเรื่องเป็นราวว่า เหนอะหนะๆ นี่อะไร


    หมายเลข 2010
    28 ก.ค. 2567