เวลาโทสะเกิด คิดว่าเป็นอกุศลได้ไหม
ผู้ฟัง เวลาเราเกิดโทสะ เราก็พยายามจะระลึกว่า ขณะนี้เป็นอกุศล อย่างนี้ถูกหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ การที่จะบอกว่าเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล ต้องเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วจะบอกไม่ได้เลย หรือเราจะเพียงแต่บอกว่า นั่นเป็นกุศล หมายความว่าเราไม่รู้สภาพจิตของคนนั้นเลย แล้วเราก็ยืนยันไป
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ เพราะเหตุว่าแข็ง ถ้าถามว่าแข็งไหม แข็งเป็นสิ่งที่มีจริง คนนั้นตอบว่าแข็ง นี่เป็นปัญญาไหม จะเหมือนกับที่โทสะเกิด แล้วจะระลึกลักษณะของโทสะ ขณะนั้นจะเป็นปัญญาไหม ถ้าเป็นปัญญาหมายความว่า ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึก ไม่ใช่เรากำลังพยายามระลึก นี่ลักษณะต่างกัน เราพยายามที่จะระลึกมีความเป็นตัวตน แล้วอยากจะรู้ แต่ขณะใดที่สติเกิด สติระลึก แล้วระลึกในลักษณะที่เป็นธรรมด้วย คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นลักษณะธรรมชนิดหนึ่ง เหมือนทางตาที่กำลังเห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นธรรม เห็นก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม ถ้าถึงลักษณะที่เป็นธรรม เมื่อนั้นเป็นปัญญา ถ้าเพียงบอกว่า แข็งนะ ระลึกกันเสีย อย่างนี้จะบอกว่า พวกนี้กำลังเจริญสติปัฏฐานกันทั้งนั้น นี่ผิด
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ ก็เป็นตัวเราที่รู้
ผู้ฟัง เราบอกว่า ขณะนี้เป็นโทสะ ก็พยายามหาทางให้ลดโทสะลงไป เป็นกุศล เป็นปัญญา
ท่านอาจารย์ เราเรียกชื่อโทสะ ใช่ไหมคะ พอโทสะปรากฏ เราก็เรียกชื่อ เหมือนแข็ง แข็ง เราก็เรียกชื่อแข็ง ขณะนั้นมีตัวเราแน่ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย
เพราะฉะนั้น การจะละการเป็นตัวตนก็ต่อเมื่อเราไม่มีความจงใจ ตั้งใจ ถ้าเป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าเป็นสติปัฏฐาน หรือเป็นสัมมาสติเกิดระลึกปกติเลย ไม่จงใจพากเพียรด้วยความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่เจตนาไม่ใช่มรรค
เพราะฉะนั้น ตัดความจงใจออกเลย ว่าขณะที่จงใจไม่ใช่สติปัฏฐาน แปลว่าเราต้องค่อยๆ ซอยความละเอียด จนกระทั่งรู้ลักษณะของสติเกิด มิฉะนั้นแล้วเราได้ยินคำว่า “สติปัฏฐาน” เจริญสติปัฏฐาน ทำวิปัสสนา เราจะมีความรู้สึกว่า มีตัวที่จะทำ อันนี้เป็นของแน่
เพราะฉะนั้น ต้องอบรมจนกระทั่งในที่สุดก็คือสติเกิดแล้วระลึก จะเบากว่ากันมาก คือไม่มีตัวที่พยายามหาหรือทำ นั่นหนัก แต่พอเป็นสติระลึก เป็นปกติ แล้วเป็นของธรรมดา แล้วก็รู้ว่า ลักษณะนั้นก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ส่วนความคิดที่ว่า เราจะระลึกเพื่อให้กุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นสติขั้นหนึ่งนิดเดียวที่เห็นโทษแล้วรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี แต่ยังไม่ใช่การรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องตอบเองว่า อะไรแทรกเข้ามาบ้าง ในระหว่างที่โทสะเกิด ก็อาจจะมีโลภะต่อ หรืออาจจะมีสติแทรกนิดหนึ่ง ที่เห็นโทษของอกุศล
เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นตัวตนก็ยังเพียบพร้อม เพราะเหตุว่าคิดก็เป็นเรา โทสะก็เป็นเรา แล้วโลภะที่อยากให้โทสะลดลงก็เป็นเรา
เพราะฉะนั้น หนทางที่จะละ ต้องเป็นหนทางที่เป็นปัญญา แล้วเป็นปัญญาเฉพาะตัว และเป็นปัญญาที่เริ่มจากมีสตินิดเดียว แล้วมีอย่างอื่นเกิดสลับสืบต่อ จนกระทั่งเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดก็รู้มากขึ้น แล้วก็ละ แล้วก็เป็นเรื่องของสัมมาสติที่ระลึกเป็นปกติ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เพราะฉะนั้น เป็นหนทางที่ไกล แต่ว่าเป็นของจริง แล้วต้องรู้ว่า ถ้าเป็นหนทางที่ถูกแล้วควรเจริญ เพราะว่าไม่ใช่หนทางที่ผิดเลย เป็นหนทางที่รู้ขึ้น ละเอียดขึ้น และทั่วขึ้น จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้จริงๆ เพราะว่าตัวตนนี้เหนียวแน่นมาก
เพราะฉะนั้น สติน้อยมาก ต้องรู้ค่ะว่า ถ้าไม่ใช่ตัวเราแล้ว เราบอกไม่ได้เลยว่า สติของใครจะเกิด เพราะจากประสบการณ์ของแต่ละคนเริ่มรู้จักตัวเอง แต่การรู้จักตัวเองจะมีตามลำดับขั้นด้วยว่า ขั้นแรกจะรู้จักแบบคิด คือ เวลาที่อะไรเกิดขึ้นกับเรา ก็คิดว่า นี่เป็นโทสะ ไม่ดี เราจะต้องทำอย่างนี้ อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ก่อนการตรัสรู้มีการอบรมเจริญสมถภาวนา ก่อนจะถึงสมถภาวนาที่เป็นขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ให้ทราบว่า คนนั้นต้องเห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวันก่อน เพราะเหตุว่าถ้าไม่เห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน คนนั้นจะไม่พากเพียรให้จิตสงบขึ้น คือให้จิตเป็นกุศลเพิ่มมากขึ้น เพราะรู้ว่าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นอกุศลจิตเกิด
เพราะฉะนั้น คนนั้นต้องเริ่มต้นจากการเห็นโทษของกิเลสของตน แต่สำหรับหลังจากตรัสรู้แล้ว ผู้ที่เห็นโทษของกิเลสของตน ไม่ได้พากเพียรไปทำสมถภาวนา เพราะรู้ว่า เหนือจากการเห็นโทษของกิเลสของตน ยังจะต้องรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน อันนี้ก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในระหว่างหนทางการเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐานจริงๆ จะน้อยมาก ขึ้นกับความเข้าใจ ถ้าเข้าใจเพิ่มขึ้น แทนที่จะเป็นสติที่ระลึกลักษณะของความโกรธ แล้วมีความสงบ เพียงเท่านั้น จะรู้ตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมแล้วก็เริ่มเข้าใจว่า ลักษณะแต่ละลักษณะนั้นคือธรรม ที่ไม่ใช่เรา จะต้องก้าวขึ้นไปอีกเป็นขั้นๆ
นี่แสดงให้เห็นว่า แม้อย่างนั้นหนทางของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่จะมีแต่กุศล อกุศลเกิด อย่างคุณประทีปกลัว แต่สติปัฏฐานก็ระลึก
เพราะฉะนั้น ขณะเห็น ไม่ว่าเป็นช้าง เป็นคน แต่ขณะที่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ย่อมมีโอกาส ถ้าสะสมมาที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง
เพราะฉะนั้น คนที่ศึกษาแล้ว จะไม่สงสัยในพระพุทธวจนะ ในเหตุการณ์ที่เกิด แล้วจะรู้ว่า สติปัฏฐานไม่ใช่มีแต่สติปัฏฐานอย่างเดียว มีอารมณ์ของสติปัฏฐาน คือ สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ จิตทุกประเภท เวทนาทุกชนิด ทุกอย่างที่เป็นของจริงที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่รู้เรื่อง หรือรู้ประมาณ หรือรู้คิดว่า นี่เป็นอกุศล แต่จะต้องขึ้นไปถึงรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมด้วย
อันนี้ต้องรู้ตัวของตัวเองเป็นลำดับขั้น เป็นปัญญาของคนนั้นเองที่รู้ด้วยว่า ขณะไหนเป็นความสงบขั้นสมถะ คือ ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่รู้ลักษณะของจิตที่ไม่สงบ และรู้ลักษณะของจิตที่คิดจะสงบ แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน จนกว่าจะรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งปรมัตถธรรมสั้นมาก เพราะเหตุว่าในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มี แต่คิดถึงความสั้นว่า อะไรจะสั้นกว่ากัน สิ่งที่ปรากฏทางตากับเรื่องคนต่างๆ ที่นั่งอยู่ที่นี่ อะไรสั้นกว่า ใช่ใหมคะ สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องแสนสั้น เพราะอะไร เพราะว่าเป็นเรื่องไปหมด ก็เป็นเรื่องต่อไปทั้งนั้น คนนี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ที่โต๊ะมีอะไรบ้าง
เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมสั้นมาก คนนั้นต้องรู้ตามความเป็นจริงทุกอย่าง แต่ต้องเป็นปัญญา จึงเห็นได้ว่า เป็นปัญญาที่เจริญขึ้น คมกล้าด้วย ถ้าไม่ถึงระดับขั้นที่คมกล้าจริงๆ ก็ไม่สามารถประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ถ้าไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ก็ยังต้องเป็นตัวตน ไม่มีทางละความเป็นตัวตนได้ ต่อให้ไปคิดไปนึกอย่างไรว่า ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น มันไม่ดี ต้องเป็นกุศล หรืออะไรอย่างนั้น ก็ไม่มีทาง เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ต้องอาศัยค่อยๆ อบรมปัญญาที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นสติปัฏฐาน ขณะใดเป็นสติขั้นอื่น
เราเรียนธรรมมาทุกคนเลยว่า มีจิต เจตสิก รูป ซึ่งไม่ใช่เราเลยในขณะที่นั่งอยู่ มีการเรียน การฟัง การเข้าใจ แต่ขณะนี้จริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เมื่อไม่เป็น ทั้งๆ ที่บอกว่า แข็งเป็นสภาพธรรม เห็นก็เป็นสภาพธรรม เสียงก็เป็นสภาพธรรม ได้ยินก็เป็นสภาพธรรม แต่ว่าเวลาก็ได้ยิน เมื่อยังไม่เป็นสภาพธรรม ก็รู้ว่า ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน จนขณะใดที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ค่อยๆ แหวกออกจากสมมติบัญญัติ มาเป็นลักษณะของปรมัตถ์ เพราะเราอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติตลอดมา พอพูดถึงปรมัตถ์ก็เข้าใจ แต่ยังไม่ได้แยกออกมาจากสมมติบัญญัติ เพียงเข้าใจ แต่ก็ยังคงเป็นสมมติบัญญัติอยู่ ทั้งๆ ที่กล่าวว่า ปรมัตถธรรมเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วอย่างไรก็ตาม
เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่รู้ตามความเป็นจริง คือ เมื่อรู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะ ทีละลักษณะ ซึ่งในตอนแรกก็ยังไม่มีความรู้แยกออกว่า นั่นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมชัดเจน เพราะเหตุว่าขั้นฟังไม่สงสัยว่า สภาพรู้กำลังเห็น สภาพรู้กำลังได้ยิน แต่ว่าเวลารู้จริงๆ เห็นจริงๆ คิดจริงๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึกที่จะสังเกตหรือจะพิจารณารู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ขณะนั้นก็ไม่ได้แยกนามธรรมออกจากรูปธรรม ก็ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม