เป็นคนป่วยในการอยากเจริญสติปัฏฐาน


    ผู้ฟัง คงจะเหมือนกับหลายๆ ท่านที่เคยปรารภว่า รู้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แต่ก็ยังรู้สึกเหมือนเป็นคนป่วยที่ไม่มีกำลังเจริญสติปัฏฐาน มีปัญหาอย่างนี้กันหลายท่าน ท่านอาจารย์มีวิธีใดช่วยกรุณาแนะนำให้คนไข้มีกำลังเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ ที่จริงอาจจะถามทุกคนที่ถามเรื่องนี้ทุกทีว่า ลืมไปหรือเปล่าว่าอะไรต้องการวิธี

    ผู้ฟัง ต้องการเจริญ

    ท่านอาจารย์ นั่นซิคะ ก็ยิ่งเป็นเครื่องเนิ่นช้า โลภะคือธรรมเครื่องเนิ่นช้า ไม่ต้องไปแสวงหาวิธี เพราะวิธีไม่มี เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเรื่องของปัญญา แล้วรู้ว่า ไม่ใช่ปัญญาจะเกิดขึ้น หรืออยากให้เกิด หรือทำให้เกิด ปัญญาก็จะเกิด ไม่ใช่ค่ะ แต่ปัญญาคือความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ถ้ารู้ว่าขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ปัญญาจะเกิดได้ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างไร ถ้าไม่เข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ไม่มีทางเลย

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่วิธี แต่เป็นเรื่องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยการฟัง โดยการพิจารณา โดยไตร่ตรองจนเป็นสังขารขันธ์ทำให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ศึกษา

    เพราะฉะนั้น เลิกถามเรื่องวิธี ถ้าใครถามวิธีขณะใด ขอให้กลับไปดูจิตขณะถามว่า ทำไมถึงถามเรื่องวิธี เพราะอะไร ทุกคนที่ต้องการวิธีก็ทราบได้เลย ใครก็ตามที่ถามเรื่องวิธี หรือใครก็ตามที่ถามว่า ทำอย่างไรถึงจะรู้เร็ว เหมือนกันไหมคะ ลักษณะเดียวกันทั้งสิ้น คือเป็นเครื่องเนิ่นช้าของปัญญาทั้งหมด เพราะรู้สึกว่า พวกเราก็หลงลืมสติกันมาก ของธรรมดาค่ะ ธรรมคือธรรมดา เพราะฉะนั้น เราก็เริ่มพูดเรื่องธรรม แล้วก็สนทนาธรรมกันเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น ส่วนสติของใครจะเกิดระลึกได้ขณะไหน ก็เป็นธรรมดาอีก ซึ่งไม่มีใครจะกฎเกณฑ์ได้อีก แต่ให้ทราบว่า ทุกขณะเป็นธรรม ข้อสำคัญที่สุดก็คือแม้ขณะนี้ ก็เป็นธรรม แล้วเราเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏนี้มากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ ปัญญา คือ เริ่มเข้าใจแล้วระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังจนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ๆ แต่ไม่พ้นจากขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม ทางตาเป็นธรรม ผ่านไปเมื่อกี้นี้ หลงลืมสติ ไม่ทราบว่าเป็นธรรมอย่างไร ก็พูดเรื่องทางตา เพื่อให้กำลังฟังอยู่นี้ กำลังเห็น และมีสิ่งที่ปรากฏ และเริ่มเข้าใจจริงๆ ว่า นี่คือเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏเฉพาะทางตา ซึ่งเราก็เห็นอยู่ เราก็พูดเรื่องนี้อยู่ และต้องพูดเรื่องนี้เรื่อยๆ และเมื่อสติเริ่มระลึก หรือถึงพูดไปอย่างไรก็ไม่ระลึกอยู่ดี เพราะเป็นสิ่งที่ดูยากแสนยากที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ต่อให้บอกสัก ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ว่ากำลังเป็นก็เป็นธรรม และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม ต้องไม่ท้อถอย คือวันนี้ฟังอย่างนี้ และวันต่อๆ ไปก็ฟังอีก แล้วเราก็เห็นอีก แล้วเราก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้เพียงนิดหนึ่งๆ ๆ ๆ นั่นคือจุดประสงค์ของการทำให้ได้เข้าใจ ที่เราเรียนมา และต้องพูดถึงธรรม ทั้งๆ ที่ธรรมปรากฏ ก็ไม่ใช่เพียงแค่ฟังเช้า ค่ำ ก็ต้องช่วยกันเตือน ช่วยกันบอกว่า ขณะนี้เป็นธรรม และปัญญาไม่ใช่ไปรู้อื่นเลย ถ้าปัญญาจะเกิดก็คือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ ถ้าปัญญาจะเจริญก็คือรู้เพิ่มขึ้น ชินขึ้น ชัดขึ้น คมขึ้น ถ้าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ปกติในขณะนี้เองที่กำลังรู้ กำลังระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    นี่เป็นอริยสัจธรรม เป็นธรรมที่เป็นจริง เป็นสัจธรรม แต่ยังไม่เป็นอริยะ เพราะเหตุว่าจะเป็นก็ต่อเมื่อผู้นั้นได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงจะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ทั้งหมดก็ฟังไปอีก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะที่ฟังก็พิจารณาตาม และมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้จริงๆ ด้วย แต่การเอาความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนออกไปหมดทีเดียว ครั้งเดียวที่ได้ยินได้ฟัง หรือครั้งเดียวที่สติระลึก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเราไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมมานาน และเราก็เพิ่งได้ยินได้ฟัง เราก็อาจจะเคยได้ยินได้ฟังชาติก่อนๆ มาแล้วแน่นอน มากน้อยเท่าไรก็ไม่มีใครทราบ แต่ว่าชาตินี้ก็มีโอกาสได้ฟังเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอีก ก็เป็นเครื่องเตือนให้เราเพิ่มเติมจากชาติก่อนๆ ที่เราได้เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วบ้าง ให้รู้ว่า ขณะนี้ก็ยังมีการเตือนกันให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะผ่านไป ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว แล้วเราเกิดมาไม่ใช่ ๒,๕๐๐ กว่าปี ก่อนนั้นเราก็เกิดมาแล้วแสนโกฏิกัปป์

    เพราะฉะนั้น เราไม่มีทางย้อนกลับไปรู้อดีตชาติได้ แต่ขณะปัจจุบันชาตินี้ก็เป็นเครื่องวัดว่า การฟังพระธรรมของเราขณะนี้ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่เคยได้ยินได้ฟังมามากน้อยแค่ไหน ถ้ายังน้อยอยู่ ก็อบรมเจริญต่อไป เพราะการแสวงหาความจริง ไม่ใช่ขณะอื่น ขณะนี้ที่กำลังเห็น ความจริงอยู่ที่นี่ ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังคิดนึก ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส รวมความว่าทั้ง ๖ ทาง เวลาตื่นขึ้นแล้ว เป็นทางพิสูจน์ธรรม และอบรมเจริญปัญญา

    เพราะฉะนั้น ก็เตือนกันไป เตือนกันมาเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเรื่อยๆ


    หมายเลข 2063
    28 ก.ค. 2567