ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมคืออย่างไร


    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อยากให้ท่านอาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ สูงสุดคือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเริ่มต้นล่ะครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมาจากขั้นต้น คือฟังให้เข้าใจ

    อ.สมพร อันนี้ผมก็สนับสนุน เรียกว่าทำปัญญาให้เกิด เรียกว่า วุฒิปัญญา ปัญญาที่จะเจริญได้อาศัยเหตุ ๔ อย่างก็คือ ๑. การคบ ๒. การฟัง คบต้องคบสัตบุรุษหรือผู้มีปัญญา เข้าใจเรื่องธรรม สมัยก่อนเรียกสัตบุรุษ สมัยนี้เรียกกัลยาณมิตรก็ได้ ๒. ฟังธรรมของท่าน ธรรมของสัตบุรุษหรือของกัลยาณมิตร ที่จะต้องประกอบด้วยประโยชน์เท่านั้น สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ท่านจะไม่นำมาเลย เมื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มา แล้วได้สติเกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อได้สติเกิดขึ้น ปัญญาคือความเข้าใจก็เกิดขึ้นพร้อมกันอาศัยการฟัง ดังนั้นจึงต้องฟังบ่อยๆ

    ๓. มนสิการ เราฟังแล้วต้องพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลว่า มันถูกหรือผิดอย่างไรว่า อารมณ์ที่กล่าวเป็นปรมัตถ์

    ๔. ปัญญาที่จะเจริญได้เมื่อธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อเราศึกษาธรรมทุกวันนี้ในข้อของภาวนา ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ก็ต้องเป็นภาวนา ไม่ใช่แค่ศีล ศีลก็เป็นกุศล การให้ทานก็เป็นกุศล แต่กุศลที่ประกอบด้วยทาน ด้วยศีล บางครั้งก็มีปัญญา บางครั้งก็ไม่มีปัญญา ถึงบางครั้งจะมีปัญญา ปัญญาก็ไม่คมกล้าเหมือนปัญญาที่ระลึกถึงรูป และนาม

    ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องของการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพราะว่าที่ใช้คำนี้ โดยที่อาจารย์ได้ยกเหตุผลมาว่า ต้องคบสัตบุรุษ แล้วมีการฟังธรรมของท่าน แล้วก็พิจารณาธรรม แล้วจึงถึงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม นี่เป็นเรื่องของอบรมเจริญปัญญาจริงๆ เป็นเรื่องของสติปัฏฐานที่แสดงให้เห็นว่า หนทางถูกต้องนั้นคืออย่างไร เพราะเหตุว่าหนทางผิดนั้นมีมาก การปฏิบัติธรรมอย่างที่ว่า จะปฏิบัติเรื่อยโดยไม่มีปัญญาอะไรเลยก็จะปฏิบัติ

    เพราะฉะนั้น จะเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ได้ ส่วนข้อปฏิบัติที่จะเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นก็คือต้องคบสัตบุรุษ หมายความว่า รู้ว่าผู้ใดกล่าวถูกต้อง มีเหตุผล และเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่คนนี้ชื่อนั้นเป็นสัตบุรุษ หรือคนนี้เป็นสัตบุรุษ แต่ต้องเป็นเรื่องความเห็นถูก และเป็นเรื่องที่ถูกต้องด้วย ที่เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เหตุกับผลไม่ตรงกัน

    เพราะฉะนั้น นอกจากจะรู้ว่า ใครเป็นสัตบุรุษ และฟังธรรมของสัตบุรุษ แล้วก็พิจารณาธรรมก่อนที่มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ตัวตนที่จะปฏิบัติ ฟังมาแล้ว วันนี้จะปฏิบัติ ไม่ใช่ค่ะ และธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมก็คือมรรคมีองค์ ๕ โดยปกติ คือสติมีการระลึกได้เกิดขึ้น ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ นี่จะได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ รู้ว่าสัตบุรุษพูดถึงสิ่งที่มีจริง แล้วแสดงหนทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้โดยการที่เมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ต้องเข้าใจแล้ว สติจึงจะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ มิฉะนั้นแล้วถ้ายังไม่ได้เข้าใจ จะให้เป็นสัมมาสติระลึกอะไรก็ไม่ได้ทั้งสิ้น นอกจากเราใช้ชื่อ คือเรียกชื่อไปเรื่อย ของไม่จริงก็เอาชื่อไปใส่เอาไว้เป็นสัมมาสติ หรือเป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือเป็นสติปัฏฐาน แต่ว่าปัญญาไม่เกิดเลย และไม่ได้เข้าใจจริงๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจจริงถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่ตัวเราที่วันนี้จะปฏิบัติ หรือเมื่อไรจะปฏิบัติ แต่เป็นขณะใดที่สติเกิดขึ้น ขณะนั้นปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือสติปฏิบัติกิจของสติสมควรแก่กิจของสติ สภาพธรรมแต่ละอย่างก็เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรมนั้นสมควรแก่กิจของตนๆ

    ต้องเริ่มจากเห็นถูกต้องในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ถึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่ต้องฟังแล้วฟังอีก แล้วคิดไปอีก พิจารณาไปอีกจนกว่าสติระลึก


    หมายเลข 2065
    28 ก.ค. 2567