สิ่งที่ทำให้เราทรงจำคืออะไร
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่ทำให้เราทรงจำนิมิตอยู่นี้คือสัญญาเจตสิก ถูกต้องไหมคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ จำเป็นภาษาไทย สัญญาเป็นภาษาบาลี นี่คือความต่างกัน ถ้าศึกษาธรรมก็จะได้ยินคำธรรมที่ไม่ตรงกับที่ใช้ในภาษาไทย เราบอกว่า จำได้ไหม จำ จำได้ แต่เมื่อสภาพธรรมที่มีจริง จำ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ต้องตั้งต้นตรงนี้ทุกครั้งเพื่อให้เป็นความรู้ของเราจริงๆ ที่ไม่ใช่เพียงแต่จำคำ จำชื่อ แต่สามารถเข้าใจความต่างกันของสภาพธรรมซึ่งไม่สามารถรู้อะไรได้ กับสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ สภาพจำ สภาพคิด สุข ทุกข์ต่างๆ
เพราะฉะนั้น จำมีจริงแน่นอน จำเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม นี่คือปัญญาของเรา ความเข้าใจของเราจริงๆ ไม่ใช่เพียงจำ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ แล้ว เราจะลืมไหมคะในความหมายของคำว่า นามธรรม และรูปธรรม
เพราะฉะนั้น เราก็สามารถรู้ได้เลยว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม คิดมีจริงๆ ใช่ไหมคะ เป็นธรรม เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม
นี่คือการศึกษา การฟังจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง แต่ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ เพราะฉะนั้น ที่จะถามว่าเมื่อไร อันนี้กำลังตอบตามความเข้าใจเรื่องชื่อ แต่ขณะนี้สัญญาเจตสิกกำลังจำ พอเห็น จำได้เลย ไม่ใช่จิต แต่สัญญาจำ เกิดพร้อมจิต จิตเห็นสิ่งใด สัญญาก็จำสิ่งนั้น ได้ยินเสียง สัญญาก็จำเสียง จำได้ไหมคะว่า เสียงใคร นั่นแหละค่ะ ตัวสัญญาเจตสิก แต่เราก็เรียกชื่อ สภาพจำมี และภาษาบาลีใช้คำว่า สัญญาเจตสิก แต่เวลานี้ตัวสัญญากำลังเกิดพร้อมจิต แต่ไม่รู้ว่า สภาพนั้นมีจริงๆ และเป็นธรรมชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ความสงสัยทั้งหมดจะหมดสิ้นได้ต่อเมื่ออบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น นี่เป็นปัญญาระดับฟัง ปัญญาขั้นต่อไปก็คือไตร่ตรองเข้าใจขึ้น และปัญญาขั้นสูงกว่านั้นอีก ก็คือกำลังรู้ตรงลักษณะ เริ่มใส่ใจในลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือในลักษณะที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ไปใส่ใจอื่น แต่ใส่ใจในลักษณะซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ กำลังรู้แข็ง ต้องเรียกไหมว่าแข็ง ไปเรียกทำไม แข็งก็แข็ง แล้วเวลาที่แข็งปรากฏ ถ้าเรียกชื่อ ขณะนั้นไม่ใช่กำลังรู้แข็ง เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะ ขณะใดที่แข็งกำลังปรากฏ เพราะจิตกำลังรู้ลักษณะแข็ง ขณะนั้นไม่ได้เรียกชื่ออะไร ไม่ได้นึกถึงชื่อ แต่สัญญาเจตสิกก็จำลักษณะที่แข็งว่า เป็นสิ่งที่ต่างกับอย่างอื่น ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา แล้วสัญญาก็จะจำถูก มนสิการก็พิจารณาถูก เป็นธรรมทั้งหมด