จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นสัตบุรุษ
ผู้ฟัง ทีนี้เราจะศึกษาธรรม จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นสัตบุรุษ
ท่านอาจารย์ สัตบุรุษก็ต้องพูดจริง แล้วก็พูดเรื่องจริง พูดถึงสิ่งที่มีจริง ถ้าพูดถึงเรื่องเห็นเดี๋ยวนี้ เราจะสนใจไหมที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน หรือคิดว่า เคยเห็นเป็นเรา ก็เห็นเป็นเราไปเรื่อยๆ ตลอดไป ซึ่งอันนี้ไม่ต้องศึกษา ถ้าจะเห็นว่า เป็นเราเห็น ไม่ต้องศึกษาเลย เป็นของธรรมดา ใช่ไหมคะ แต่มีใครบอกว่า เห็นขณะนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับด้วย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เราจะศึกษาไหมว่า เขาพูดนี่จริงหรือเปล่า มีอะไรที่ทำให้เราเข้าใจขึ้นๆ และผู้ที่พูดอย่างนี้รู้มาได้อย่างไร ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครก็พูดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะทุกคนพูดตามที่ทรงแสดง แม้ว่าพระอริยบุคคลทั้งหลายท่านจะได้อบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมว่าตรงตามที่ทรงแสดง แต่ทุกคำพูดของท่าน ก็เป็นคำพูดที่มาจากการเทศนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ท่านพูดเอง ทุกคำพูดไป ก็คือคำที่ทรงตรัสแล้ว อย่างจะบอกว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง นี่พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้ว ถ้าจะบอกว่า เห็นขณะนี้เกิดดับ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้ว
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ทางที่ว่าคนหนึ่งคนใดจะคิดขึ้นมา และที่จะรู้ว่าเป็นสัตบุรุษ ก็คือพูดเรื่องจริง และทำให้ปัญญาของผู้ฟังเกิดขึ้นจากการที่ฟังแล้วก็คิด แล้วก็พิจารณา ไม่ใช่พาไปไหนก็ไม่รู้อะไรสักอย่างหนึ่ง ไปฟังมาแล้วก็กลับบ้านก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่ใช่อย่างนั้น แต่นี่กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริง ก็ทำให้เราสามารถเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน และในสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงเพิ่มขึ้น ผู้นั้นก็เป็นสัตบุรุษ และฟังธรรมก็ไม่ใช่ฟังเรื่องอื่น ก็ฟังธรรมเรื่องของสัจธรรม ธรรมที่มีจริงๆ แล้วเวลาที่พิจารณาเข้าใจ ก็ไม่ได้เข้าใจอย่างอื่น เริ่มเข้าใจเห็นเดี๋ยวนี้กำลังเห็น เริ่มเข้าใจได้ยิน เข้าใจได้กลิ่น เข้าใจลิ้มรส เข้าใจกายที่กระทบสัมผัส เข้าใจคิดนึก ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เข้าใจสิ่งที่มีอยู่แล้ว เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย
นี่คือปัญญาที่เริ่มพิจารณาเข้าใจขึ้น แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็รู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสติ แล้วเป็นมรรคมีองค์อื่นซึ่งเกิดร่วมกันที่กำลังระลึกรู้ อบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น นี่คือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือไม่ผิด ตรงตามลักษณะของสภาพธรรม แล้วไม่ใช่ตัวตนที่ปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น สัตบุรุษคือผู้รู้สัทธรรม หรือพระนิพพาน นี่อย่างอุกฤต แต่การเริ่มเข้าใจขึ้นก็เป็นการนำไปสู่การดับกิเลสทั้งหมดได้ แต่ผู้สงบก็คือผู้ที่ไม่มีกิเลส แล้วต้องเป็นผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงดับกิเลสได้ แต่หนทางก็ต้องมี
เพราะฉะนั้น สัตบุรุษอย่างอุกฤตคือผู้เป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้าไม่ใช่อย่างอุกฤตก็คือผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้วละคลายกิเลสไปเรื่อยๆ