ทานกับศีลที่ขาดความเข้าใจในพระธรรม


    ผู้ฟัง ให้เข้าใจมากกว่านั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นไปได้อย่างไร ถ้าเข้าใจแค่นี้ แล้วไปนั่งคิดให้เข้าใจมากกว่านั้น แต่ถ้าเราไตร่ตรอง แล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนั่นคือความเข้าใจเพิ่ม เพราะการไตร่ตรอง ไม่ใช่ว่าให้ไปทำอย่างอื่น แล้วอย่างบางคนก็บอกว่า สติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็ไปทำกุศลอื่น ก็ไปทำกุศลอื่นเพื่อให้สติปัฎฐานมีปัจจัยที่เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ก็เข้าใจอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เขาก็คิดว่าต้องมีทาน แล้วก็ต้องมีศีล แต่ขณะใดก็ตาม ที่ให้ทานด้วยความไม่เข้าใจ ขณะนั้นสติสัมปชัญญะจะเกิด และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎได้ไหม ก็ไม่ได้ ก็เป็นทานไปเรื่อยๆ ขณะที่วิรัติทุจริต แต่ว่าไม่มีความเข้าใจว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา สภาพธรรมจริงๆ ก็มีนามธรรมกับรูปธรรมในขณะนั้น ขณะที่ไม่เข้าใจอย่างนี้ในขณะนั้นก็เป็นศีล โดยหวังว่าทานกับศีลที่ไม่มีความเข้าใจ จะไปทำให้สติปัฏฐานเกิด เป็นไปไม่ได้เลย แต่ขณะที่กำลังฟัง และเข้าใจ เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล กุศลเป็นกุศล กุศลอื่นๆ ทั้งหลายจะเจริญขึ้นไหม ไม่ใช่ขั้นทาน ขั้นศีล ความอ่อนน้อม การกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น หรือการที่จะสละวัตถุให้บุคคลอื่น การช่วยเหลือบุคคลอื่น จะเป็นไปด้วยความจริงใจ ไม่ได้ด้วยความหวังว่าทำเพื่อที่จะให้เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด และขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด อธิศีลสิกขา ละเอียดยิ่งกว่าศีลที่เกิดแล้ววิริต มีความโลภเกิดขึ้น แต่วิรัติการกระทำทุจริต ถึงขณะที่จะวิรัติการกระทำทุจริต แต่ว่าเพียงความไม่พอใจ ความพอใจเล็กน้อย สติสัมปชัญญะสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้น แล้วก็ศึกษา และเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ไม่ต้องใส่ชื่อเลย เพราะว่าเมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ก็คือไม่ใช่เรา แต่ว่ามีลักษณะเฉพาะอย่าง แต่ละอย่างที่กำลังเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นขณะนั้นยิ่งกว่าศีลธรรมดา เพราะว่าเป็นอธิศีลสิกขา ศีลนี้อกุศลเกิดมากมายแล้วก็วิรัติ แต่นี้แม้เพียงขณะ แล้วแต่ว่าจะมากจะน้อยอย่างไร สติสัมปชัญญะก็สามารถที่จะเกิด และรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นมหาทาน เพราะเหตุว่าเป็นการวิรัติ การเว้นการเบียดเบียนชีวิตของบุคคลอื่น

    เพราะฉะนั้นกุศลมีหลายระดับ แต่ทั้งหมดเป็นไปด้วยความเข้าใจ จึงจะไม่ใช่เรา มิฉะนั้นก็เป็นเราที่ขวนขวาย แล้วก็พยายามทำทุกอย่างด้วยความเป็นเรา แล้วจะสละความเป็นเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้นมีปัญญาเท่านั้นที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมจนสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ไม่ว่า ณ ที่ใด และไม่ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอะไร เพราะเหตุว่าถ้ามิฉะนั้นแล้วก็เป็นเรา ด้วยความไม่รู้ต่อไป


    หมายเลข 2120
    5 พ.ย. 2567