กรรมคือเจตนาเจตสิก
กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งตามปกติเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตสักประเภทเดียวซึ่งจะขาดเจตนาเจตสิก
เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลก็เป็นกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบาก เป็นผลของกุศล ก็เป็นเจตนาที่เป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นกุศลหรืออกุศลที่เป็นเหตุ เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตก็ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล ไม่ใช่ทั้งวิบาก แต่ว่าเป็นเจตนาที่เป็นเพียงกิริยา
ถ้าดูข้อความในอรรถกถา จะมีคำว่า “กัมมสมาทาน” แปลโดยศัพท์ หมายความว่า การถือเอาซึ่งกรรม ทุกท่านเวลาที่จะทำกุศล มีเจตนา มีความตั้งใจที่จะถือเอาหรือที่จะกระทำแล้วซึ่งกุศลนั้นๆ ใช่ไหมคะ อย่างท่านที่ตั้งใจจะถวายทาน มีการถือเอาซึ่งกรรม คือ กระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะกระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะถือกรรมนั้น ต้องการจะเอาซึ่งกรรมนั้น ต้องการจะกระทำกรรมนั้นนั่นเอง หรือขณะที่จะกระทำอกุศลกรรมชนิดหนึ่งชนิดใด กัมมสมาทาน การถือเอาซึ่งกรรม ได้แก่ การตั้งใจยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น เป็นลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏได้ใช่ไหมคะ ตั้งใจจะกระทำซึ่งกรรมใด ก็คือการถือเอาซึ่งกรรมนั้นด้วยความตั้งใจ จงใจ ยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น
เพราะฉะนั้นกรรมของแต่ละท่านก็ต้องต่างกันไปตามกัมมสมาทาน การตั้งใจที่จะถือเอาซึ่งกรรมนั้นๆ บางท่านก็สนใจที่จะถอดเทป ท่านก็มีกัมมสมาทาน คือ การถือเอาซึ่งกรรมนั้น ตั้งใจที่จะกระทำกรรมนั้น กรรมนั้นบุคคลนั้นย่อมถือเอาแล้ว เพราะเหตุว่าสมาทาน คือ ถือเอาซึ่งกรรมนั้น
นี่ก็เป็นสำนวนที่แปลโดยศัพท์ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วก็คือความจงใจ ความตั้งใจเกิดขึ้นที่จะกระทำสิ่งใด บุคคลนั้นก็ย่อมถือเอาแล้วซึ่งกรรมนั้น หมายความว่าย่อมกระทำกรรมนั้นนั่นเอง
นี่ก็คือกรรมที่ต่างๆ กันของแต่ละบุคคล