วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
บางท่านอาจจะเคยได้ทราบพระพุทธประวัติมาแล้ว แต่ที่จะขอกล่าวถึงก็เพราะเหตุว่า เมื่อได้ฟังพระพุทธประวัติแล้วย่อมเกิดกุศลจิต ระลึกถึงความเป็นมหาบุรุษผู้เลิศของพระโพธิสัตว์ เป็นพุทธานุสติ ก่อนที่จะถึงการอันตรธานของพระพุทธศาสนา
ม้ากัณฐกะนั้น โดยส่วนยาวนับตั้งแต่คอยาว ๑๘ ศอก ประกอบด้วยส่วนสูงเหมาะกับส่วนยาวนั้น ถึงพร้อมด้วยรูป ฝีเท้าและกำลังอันเลิศ ขาวปลอด สีสรรน่าดูเหมือนสังข์ขัด พระโพธิสัตว์ทรงโปรดให้นายฉันนะนั่งจับหางม้าไปด้วย ถึงประตูใหญ่ แห่งพระนครตอนครึ่งคืน เวลาที่พระชนมายุ ๒๙ พรรษา พระมหาสัตว์ทรงทิ้งจักรวรรดิราชย์ ไม่ทรงเยื่อใยเหมือนทิ้งก้อนเขฬะ เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ เมื่อดาวนักษัตรอุตตราสาฬหะ เพ็ญเดือนอาสาฬหะ เสด็จออกจากพระนคร ได้มีพระประสงค์จะทรงแลดูพระนคร เมื่อทอดพระเนตรกรุงกบิลพัสดุ์แล้วจึงทรงกระตุ้นม้ากัณฐกะให้บ่ายหน้าไปตามทางที่พึงไป แสดงเจติยสถานชื่อ "กัณฐกนิวัตตนะ" คือที่ม้ากัณฐกะหันหน้ากลับ ณ ภูมิประเทศนั้น
วันอาสาฬหบูชา ทุกท่านก็คิดถึงวันปฐมเทศนา แต่ควรที่จะได้ทราบด้วยว่าในวันนั้นเป็นวันที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ พระโพธิสัตว์เสด็จหนทาง ๓๐ โยชน์ ผ่าน ๓ ราชอาณาจักร ราตรีเดียวเท่านั้นก็ถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงกระแทกม้าให้สัญญาณแก่ม้า ม้าก็กระโดดไปยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนที่หาดทรายตรัสสั่งให้นายฉันนะนำอาภรณ์ ของพระองค์กับม้ากัณฐกะกลับไป แล้วพระองค์จักบวช
นายฉันนะทูลขอบวชถึง ๓ ครั้ง แต่พระโพธิสัตว์ก็รับสั่งให้นายฉันนะกลับไป พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า ผมของเราอย่างนี้ ไม่เหมาะแก่สมณะ ทรงจับพระขรรค์อันคมกริบด้วยพระหัตถ์ขวา รวบพระจุฬาพร้อมด้วยพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้ายแล้วตัด เหลือพระเกศาสององคุลีเวียนขวาติดพระเศียร พระเกศาเหล่านั้นก็มีประมาณเท่านั้นจนตลอดพระชนม์ชีพ ส่วนพระมัสสุก็เหมาะแก่ประมาณพระเกศานั้น แต่พระองค์ไม่มีกิจที่จะต้องปลงพระเกศา และพระมัสสุอีกเลย คนช่างคิดก็คิดสงสัยว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีหนวดเคราหรือเปล่า แต่ว่าข้อความนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเหลือพระเกศาสององคุลี เวียนขวาติดพระเศียร จนตลอดพระชนม์ชีพ ส่วนพระมัสสุก็เหมาะแก่ประมาณพระเกศานั้น และพระองค์ไม่มีกิจที่จะต้องปลงพระเกศาและพระมัสสุอีกเลย
ท้าวสักกะเทวราช คือพระอินทร์จอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงตรวจดูด้วยจักษุทิพย์ พระองค์ทรงเอาผอบรัตนะประมาณโยชน์หนึ่ง รับกำพระจุฬามณีนั้น แล้วทรงประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการ ขนาด ๓ โยชน์ไว้ในภพดาวดึงส์ พระโพธิสัตว์ทรงดำริอีกว่า ผ้ากาสีเหล่านี้มีค่ามาก ไม่เหมาะแก่สมณะของเรา ลำดับนั้น ฆฏิการมหาพรหมสหายเก่าครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ดำริโดยมิตรภาพ ที่ไม่ถึงความพินาศตลอดพุทธธันดรหนึ่งว่า วันนี้สหายเราออกภิเนษกรมณ์ จำเราจะถือสมณบริขารไปเพื่อสหายนั้น จึงนำบริขาร๘ เหล่านี้ไปถวาย คือ ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม รัดประคดและผ้ากรองน้ำ พระโพธสัตว์ทรงเหวี่ยงคู่ผ้าที่ทรงนุ่งห่มไปในอากาศ ท้าวมหาพรหมรับผ้าคู่นั้นแล้ว สร้างเจดีย์สำเร็จด้วยรัตนะขนาด ๑๒โยชน์ในพรหมโลก บรรจุคู่ผ้านั้นไว้ข้างใน