การประทับและจาริกของพระผู้มีพระภาค เพื่อเกื้อกูลพุทธบริษัท
ขอกล่าวถึงการประทับและจาริกของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นการเกื้อกูลพุทธบริษัท ตลอดพระชนม์ชีพ ข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถา รถวินีตสูตร มีข้อความว่า
บทว่า ยถารนฺตํ ได้แก่ประทับอยู่ตามพระอัธยาศัย จริงอยู่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า ไม่มีความไม่ยินดี เพราะอาศัยความวิบัติแห่งร่มเงาและน้ำ เป็นต้น หรือเพราะเสนาสนะอันไม่ผาสุก หรือเพราะความไม่ศรัทธาเป็นต้นของเหล่าผู้คน ไม่มีแม้ความยินดีว่าเราจะอยู่เป็นผาสุกในที่นี้ แล้วอยู่นานๆ เพราะมีสิ่งเหล่านั้นพรั่งพร้อม
แต่เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ ณ ที่ใด สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในสรณะ สมาทาน ศีล หรือ บรรพชา ก็หรือว่าแต่นั้นสัตว์เหล่านั้นมีอุปนิสสัยแห่งโสดาปัตติมัคค เป็นต้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมประทับอยู่ในที่นั้น ตามอัธยาศัยที่จะทรงอนุเคราะห์สัตว์เหล่านั้นไว้ในสมบัติเหล่านั้น และเพราะไม่มีสัตว์เหล่านั้นจึงเสด็จหลีกไป เป็นพระมหากรุณาซึ่งไม่ว่าจะประทับหรือเสด็จจาริกไป ก็มิใช่เพื่อความสุขส่วนพระองค์ แต่เพื่อจะอนุเคราะห์ผู้ที่สามารถจะตั้งอยู่ในสรณะ หรือว่าจะสมาทานศีล จะบรรพชา หรือว่ามีอุปนิสสัยแห่งโสดาปัตติมัคค เป็นต้น
ข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถา รถวินีตสูตร แสดงให้เห็นพระมหากรุณาในการเสด็จจาริกไปเพื่อประโยชน์ทั้งสิ้น ข้อความในอรรถกถามีว่า
ก็ถ้าภายในพรรษา ภิกษุทั้งหลายมีสมถะและวิปัสสนายังอ่อน ก็ไม่ทรงปวารณาในวันมหาปวารณา แต่จะทรงเลื่อนปวารณาออกไปปวารณาในวันปวารณากลางเดือนกัตติกา (เดือน ๑๒) วันแรกของเดือนมิคสิระ (เดือน ๑) มีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกเที่ยวไปตลอดมัชฌิมมณฑล นี่ก็เป็นเรื่องของการออกพรรษาและการปวารณาที่พระผู้มีพระภาคทรง พระกรุณาเห็นว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายยังมีสมถะและวิปัสสนายังอ่อน ก็ไม่ทรงปวารณาในวันมหาปวารณา แต่ทรงเลื่อนปวารณาออกไป
หรือเมื่อพระผู้มีพระภาคประทับประจำอยู่ ๔ เดือนแล้ว เหล่าเวไนยสัตว์ อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็จะทรงคอยอินทรีย์ของเวไนยสัตว์เหล่านั้นจะแก่กล้า ๑ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง แล้วทรงมีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จจาริกไป เมื่อทรงจาริกไปที่ใดนั้น มิใช่จาริกไปเพราะเหตุแห่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น โดยที่แท้เสด็จจาริกไปเพื่อทรงอนุเคราะห์
อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๔ ประการ
เพื่อประโยชน์แก่ความสุขของสรีระ ๑
เพื่อประโยชน์ คือ รอการเกิดอัตถุปปัตติ (คือ เกิดเรื่องอันเป็นเหตุให้ตรัสธรรมเทศนา) ๑
เพื่อประโยชน์แก่การทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับภิกษุทั้งหลาย ๑
เพื่อประโยชน์โปรดสัตว์ที่ควรตรัสรู้ ผู้มีอินทรีย์ แก่กล้าแล้วในที่นั้นๆ ให้ได้ตรัสรู้ ๑
พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกด้วยเหตุ ๔ ประการอย่างอื่นอีก คือ
สัตว์ทั้งหลายจักถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะบ้าง
จักถึงพระธรรมเป็นสรณะบ้าง
จักถึงพระสงฆ์เป็นสรณะบ้าง
แล้วพระองค์จักทรงทำบริษัท ๔ ให้เอิบอิ่มด้วยการฟังธรรมครั้งใหญ่บ้าง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ
เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากปาณาติบาตบ้าง
เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากอทินนาทานบ้าง
เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารบ้าง
เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากมุสาวาจาบ้าง
เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากสุราเมรัยบ้าง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๘ ประการอย่างอื่น คือ เขาจะได้ปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง อากาสานัญจายตนฌานบ้าง วิญญาณัญจายตนฌานบ้าง อากิญจัญญายตนฌานบ้าง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง คือ เขาจะบรรลุโสดาปัตติมัคคจิต โสดาปัตติผลจิตบ้าง เขาจะบรรลุสกทาคามิมัคคจิต สกทาคามิผลจิตบ้าง เขาจะบรรลุอนาคามิมัคคจิต อนาคามิผลจิตบ้าง เขาจะบรรลุอรหัตตมัคคจิต อรหัตตผลจิตบ้าง
การจาริก มี ๒ คือ นิพันธจาริก การจาริกโดยมีเหตุผูกพัน ๑ อนิพันธจาริก การจาริกโดยไม่มีเหตุผูกพัน ๑ ในจาริก ๒ อย่างนี้ การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปโปรดสัตว์ ผู้ควรตรัสรู้ผู้เดียวเท่านั้น ชื่อว่า นิพันธจาริก การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามลำดับตามนิคมนคร ชื่อว่า อนิพันธจาริก แสดงให้เห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคซึ่งสำเร็จเป็นสัตตูปการสัมปทา ในการที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงขัยแสนกัปป์ ฉะนั้น ชีวิตของผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมประเสริฐเลิศกว่าชีวิตของบุคคลอื่น