ความบริบรูณ์ของพรหมจรรย์


    ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาสาทิกสูตร กล่าวด้วยเรื่องพุทธบริษัท สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทในสวนอัมพวันของเจ้าศากยะ มีนามว่า เวธัญญา ในแคว้นสักกะชนบท เมื่อนิครณฐ์นาฏบุตรสิ้นชีวิตแล้วไม่นาน พวกสาวกนิครณฐ์ก็แตกแยกกัน แม้สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ก็เบื่อหน่าย ท้อถอยในความแตกแยกแก่งแย่งของพวกสาวกนิครณฐ์ เพราะว่าธรรมนั้นประกาศไว้ไม่ดีไม่ใช่ธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่ใช่ธรรมที่พระผู้มีพระภาคประกาศไว้ ครั้งนั้น สามเณรจุนทะ อยู่จำพรรษาในเมืองปาวา ได้เข้าไปหาท่านพระ อานนท์ซึ่งอยู่ในรามคาม กราบไหว้ท่านพระอานนท์ แล้วพูดเรื่องสาวกนิครณฐ์ที่แตกแยกกัน ท่านพระอานนท์ชวนสามเณรจุนทะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์และท่านสามเณรจุนทะว่า ข้อนี้ย่อมมีได้อย่างนั้น

    ประการที่ ๑ เพราะว่าศาสดาไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น ศาสดาก็ควรติ ธรรมก็ควรติ ใครชวนผู้ใดประพฤติปฏิบัติตาม ก็ประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็น อันมาก เพราะเหตุว่าไม่ใช่ธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศ ฉะนั้น ทั้งศาสดาก็ควรติ ธรรมก็ควรติ สาวกผู้ประพฤติตามก็ควรติ แม้ผู้ที่สรรเสริญการปฏิบัติของสาวกนั้น ก็จะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก (เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ธรรมใดไม่ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้ว ธรรมนั้นควรติจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่สมบูรณ์พร้อมด้วยพยัญชนะและอรรถ)

    ประการที่ ๒ พระศาสดาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศธรรมไว้ดีแล้ว แต่สาวกไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ศาสดาควรสรรเสริญ ธรรมควรสรรเสริญ สาวกควรติ ผู้ชักชวนให้ปฏิบัติธรรมจะประสบบุญเป็นอันมาก (สิ่งที่ควรสรรเสริญก็ยังควรแก่การสรรเสริญนั่นเอง คือศาสดาควรสรรเสริญ ธรรมควรสรรเสริญ แต่สาวกควรติ ส่วนผู้ชักชวนให้ปฏิบัติธรรมนั้นจะประสบบุญเป็นอันมาก เพราะเหตุว่า ธรรมนั้นเป็นธรรมที่ พระผู้มีพระภาคได้ประกาศไว้ดีแล้ว)

    ประการที่ ๓ ศาสดาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศธรรมไว้ดีแล้ว สาวกปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และสรรเสริญการปฏิบัติเช่นนั้น ศาสดาก็ควรสรรเสริญ ธรรม สาวก และผู้ที่สรรเสริญธรรมนั้นก็ควรได้รับการสรรเสริญด้วย

    ประการที่ ๔ ศาสดาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศธรรมไว้ดีแล้ว สาวกไม่รู้แจ้งธรรม เมื่อศาสดาอันตรธานแล้ว สาวกย่อมเดือดร้อน

    ประการที่ ๕ ศาสดาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศธรรมไว้ดีแล้ว สาวกรู้แจ้งธรรม เมื่อศาสดาอันตรธาน สาวกไม่เดือดร้อน

    สมัยนี้สาวกจะเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน พระศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว เหลือพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ ตราบใดที่พระธรรมวินัยยังไม่อันตรธาน ย่อมเป็นความอุ่นใจได้ สำหรับผู้ที่ศึกษาและเข้าใจ ประพฤติปฏิบัติตามโดยถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยความประมาท

    ประการที่ ๖ พรหมจรรย์บริบรูณ์ เพราะว่าศาสดาเป็นเถระ บวชนาน

    ประการที่ ๗ พรหมจรรย์ไม่บริบรูณ์ เพราะเหตุว่าศาสดาเป็นเถระ แต่ ภิกษุไม่เป็นเถระ ไม่เชี่ยวชาญ

    ประการที่ ๘ พรหมจรรย์บริบรูณ์ ศาสดาเป็นเถระ ภิกษุก็เป็นเถระ เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย ทั้งภิกษุเถระ ภิกษุปานกลาง ภิกษุใหม่ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งที่ครองเรือนและทั้งที่ไม่ครองเรือน และทั้งที่บริโภคกาม

    นี่เป็นความบริบรูณ์ของพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ใดไม่ประกอบด้วยบรรดาสาวกผู้เชี่ยวชาญ พรหมจรรย์นั้นก็ย่อมไม่บริบรูณ์ และสาวกผู้เชี่ยวชาญนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ทั้งภิกษุเถระ ปานกลาง ใหม่ ภิกษุณีเถระ ปานกลาง ใหม่ อุบาสก อุบาสิกา ผู้ประพฤติพรหมจรรย์คือผู้ที่ไม่ครองเรือน และผู้บริโภคกามด้วย


    หมายเลข 2154
    3 ก.ย. 2565