พระวินัยปิฏก


    พระธรรมที่ทรงแสดงไว้มี ๓ ปิฏก คือ

    พระวินัยปิฏก

    พระสุตตันตปิฏก

    พระอภิธรรมปิฏก

    พระวินัยปิฏก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติ ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพราะอัธยาศัยของคนในโลกนี้ต่างกัน พุทธบริษัทจึงมี ๒ พวก คือบรรพชิต พวก ๑ และ คฤหัสถ์ พวก ๑ บรรพชิตเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างของพระผู้มีพระภาค คืออบรมเจริญ ปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยละอาคารบ้านเรือน แต่ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่สะสมอุปนิสัยเป็นผู้ครองเรือน ก็อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศคฤหัสถ์ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขามิคารมารดา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนต่างอัธยาศัยจริงๆ

    พระวินัยส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต แต่คฤหัสถ์ก็ควรศึกษาเพื่อให้รู้ว่าควรปฏิบัติต่อบรรพชิตอย่างไร จึงจะอนุเคราะห์แก่บรรพชิตได้ถูกต้องตามพระวินัย ซึ่งจะเป็นการดำรงพระพุทธศาสนาด้วย เมื่อรู้ว่าการประพฤติอย่างไรเป็นบรรพชิต ประพฤติอย่างไรไม่ใช่บรรพชิต ก็จะรู้ว่ามีกิจของภิกษุในพระพุทธศาสนาต่างกับกิจของคฤหัสถ์อย่างไร

    แต่ถ้าไม่รู้เรื่องพระวินัย คฤหัสถ์บางคนอาจจะมีความเลื่อมใสในภิกษุ ซึ่งไม่ได้ทำกิจของพระภิกษุตามพระวินัย นอกจากนั้น คฤหัสถ์ที่รู้พระวินัยก็ยังประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย เช่น กิริยาอาการของกาย วาจา ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตอย่างไร คฤหัสถ์ก็กระทำตามได้แม้ว่าจะไม่ใช่เพศบรรพชิต เพราะเป็นมารยาทที่ดีงามของสังคมทั่วๆ ไป มารยาทที่เหมาะที่ควรนั้นไม่จำกัดเชื้อชาติ สิ่งใดที่ดีก็ควรจะประพฤติปฏิบัติตามได้ ซึ่งในพระไตรปิฏกนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติความประ พฤติทางกายทางวาจาที่เหมาะที่ควรไว้


    ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6


    หมายเลข 2161
    17 ต.ค. 2566